สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรม “แนะนำสถานที่ฝึกงาน ประจำปีการศึกษา 2564” วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 10.00 – 12.00 น. จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร
วิทยากร
- ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด
- คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด
- Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
- Mr. Piyasak Chotipruk, Executive Vice President, Corporate Affairs บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
- คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร (กล่าวเปิดงาน) :
กล่าวเปิดงานกิจกรรม “แนะนำสถานที่ฝึกงาน ประจำปีการศึกษา 2564” ว่า การแนะนำสถานที่ฝึกงานเป็นหนึ่งในภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว และได้รับความนิยมจากนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษานำความรู้จากการศึกษาไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาลงทะเบียนในวิชาปฏิบัติงานทางกฎหมาย งานสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะแนะนำหรือช่วยให้นักศึกษาตัดสินใจเลือกสถานที่ฝึกงานและงานที่เหมาะสมกับตนเองได้ดียิ่งขึ้น
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : เชิญวิทยากรแนะนำองค์กรและลักษณะงานของแต่ละองค์กร
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) :
บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับพลังงานทดแทน มีธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งนักศึกษาจะได้รับความรู้ในเชิงลึกด้านการปฏิบัติงานอย่างละเอียด ลักษณะงานมีความหลากหลาย บางครั้งนักศึกษาจะได้ทำงานร่วมกับแผนกอื่น ๆ ของบริษัทด้วย
Mr. Piyasak Chotipruk, Executive Vice President, Corporate Affairs บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) :
กล่าวเสริมถึงลักษณะงานฝ่ายกฎหมายของบริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ว่า ส่วนใหญ่งานจะเน้นไปที่กฎหมายธุรกิจ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายภาษี กฎหมายเฉพาะอื่น ๆ ซึ่งในการทำงานต้องใช้กฎหมายธุรกิจทั้งหมดมาประยุกต์และปรับใช้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาสัญญาการลงทุน สัญญาร่วมลงทุน สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น และเนื่องจากบริษัทมีหลายแผนก เช่น แผนกพัฒนาธุรกิจ แผนกการเงิน แผนกบัญชี แผนกบุคคล หากแผนกใดมีคำถามหรือขอหารือกับฝ่ายกฎหมาย นักศึกษาอาจได้ทำงานร่วมกับแผนกอื่น ๆ ด้วย
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัดเคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชี มีเครือข่ายบริษัทมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องฝ่ายตรวจสอบบัญชี บริษัทยังมีฝ่ายภาษีและฝ่ายกฎหมายด้วย ซึ่งฝ่ายกฎหมายของบริษัท เพิ่งมีการแยกเป็นฝ่ายออกมาจากฝ่ายภาษีอย่างเป็นทางการไม่กี่ปีที่แล้ว โดยฝ่ายกฎหมายจะดูกฎหมายด้าน M&A เช่น กรณีที่บริษัทจะร่วมลงทุนระหว่างกัน หรือกรณีที่บริษัทจะเข้า IPO เป็นต้น และดูกฎหมายด้าน Cooperate เช่น การตรวจร่างสัญญา การให้คำปรึกษาเรื่องสัญญา การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เป็นต้น
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
บริษัท SCG เป็นบริษัทที่มีกลุ่มธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง (2) ธุรกิจ Packaging และ (3) ธุรกิจเคมี โดยลักษณะงานกฎหมายของกลุ่มบริษัทมีความเป็น Hybrid คือ มีทั้งความเป็น In house และความเป็น Law firm เพราะบริษัทมีหลายธุรกิจและหลาย ๆ ธุรกิจมีการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในการลงทุนนั้น ฝ่ายกฎหมายจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การพิจารณากฎหมาย M&A กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายภาษี กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือการทำ Due Diligence การทำสัญญาทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้น ลักษณะงานของฝ่ายกฎหมายจึงมีความหลากหลาย หากนักศึกษามีโอกาสเข้ามาฝึกงาน นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างมาก เพราะการทำงานจะเน้นการให้ความเห็นทางกฎหมาย เพื่อให้ฝ่าย Business สามารถนำไปใช้ได้จริงและถูกต้องตามหลักกฎหมาย
ลักษณะงานของฝ่ายกฎหมายนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ (1) ส่วนที่ดูแลการลงทุนในต่างประเทศ เช่น การทำสัญญาร่วมลงทุน (2) ส่วนที่ดูแลองค์กรธุรกิจทั้งหมด เช่น การจัดตั้งบริษัท การประชุมของคณะกรรมการ การพิจารณากฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ (3) ส่วนที่ดูแลงานด้านภาษีอากร เช่น การวางแผนการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ การปรับโครงสร้างธุรกิจ (4) ส่วนที่ดูแลกฎหมายอื่น ๆ ที่ส่วนงาน (1) (2) (3) ไม่ได้ทำ
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ลักษณะงานมีทั้งการตรวจร่างสัญญา การตรวจร่างกฎหมาย เช่น ตรวจร่างกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐเสนอว่ามีความสอดคล้องกับกฎหมายอื่นหรือมีผลกระทบอย่างไร เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนหรือไม่ ตลอดจนการให้ความเห็นทางกฎหมาย เช่น หากมีหน่วยงานรัฐ 2 หน่วยงานตีความกฎหมายฉบับเดียวกันแตกต่างกัน หน่วยงานทั้งสองอาจมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ช่วยทำความเห็นว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้น หากนักศึกษามาฝึกงาน นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายและได้เห็นกฎหมายในหลายมิติ และในกรณีที่นักศึกษาอยากทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นักศึกษาสามารถสมัครงานได้โดยเป็นลูกจ้างประจำก่อน ๆ ที่จะสมัครสอบบรรจุเป็นนักกฎหมายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ในการเลือกบริษัทหรือหน่วยงาน นักศึกษาควรเตรียมตัวหรือจะสร้างแรงบันดาลใจอย่างไร เพราะนักศึกษาบางคนอาจไม่อยากฝึกงานหรืออยากฝึกงานเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำงานในอนาคต
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
การฝึกงานมีความสำคัญ เพราะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รู้ว่าหลังเรียนจบ นักศึกษาอยากทำงานหรือไม่อยากทำงานด้านใด เพราะแต่ละบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ มีลักษณะงานที่แตกต่างกัน การมีแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้นักศึกษารู้ตัวว่าอยากทำงานในสายอาชีพหรือจะเติบโตในสายงานอาชีพอย่างไร ดังนั้น นักศึกษาจึงควรวางแผนชีวิต เพื่อให้มีแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน อันทำให้นักศึกษาสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและก้าวไกล
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
นักศึกษาควรวางแผนและศึกษาก่อนว่าบริษัทหรือหน่วยงานที่จะฝึกงาน สามารถทำให้นักศึกษาเติบโตได้อย่างไร เพราะหากนักศึกษาเลือกสถานที่ฝึกงานได้ตามความต้องการของตัวเองและได้แสดงศักยภาพของนักศึกษาในขณะฝึกงาน นักศึกษาก็มีโอกาสที่จะได้ทำงาน ณ สถานที่ทำงานนั้นต่อไปหลังเรียนจบ ส่วนเรื่องการการเตรียมตัว นักศึกษาควรมีพื้นฐานทางกฎหมายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสัญญา กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท กฎหมายแรงงาน กฎหมายมรดก หรือกฎหมายเฉพาะทาง เช่น กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น เพราะในการทำงานนักศึกษาต้องแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ทางด้านกฎหมายกับพี่ ๆ ในสถานที่ทำงานด้วย
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
นักศึกษาที่ยังไม่ทราบว่าตนเองอยากงานด้านใด ควรใช้โอกาสในภาคฤดูร้อนฝึกงานให้เป็นประโยชน์เพื่อค้นหาตนเอง เพราะการจะทราบว่าตนเองอยากทำงานด้านใด บางครั้งต้องลงมือปฏิบัติงานจริง ส่วนเรื่องการเตรียมตัว หากนักศึกษาเริ่มรู้จักตัวเองแล้วว่าอยากทำงานด้านใด ตอนลงทะเบียนเรียน อาจเลือกลงทะเบียนเรียนในวิชาที่คิดว่าจะได้ใช้กับการทำงานในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
นักศึกษาบางคนอาจมีมุมมองต่อหน่วยงานราชการว่ามีความล่าหลังหรือไม่เหมาะกับตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงอยากให้นักศึกษาลองฝึกงานก่อนเพื่อค้นหาตนเองว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร และหากไม่ชอบ นักศึกษาก็สามารถเปลี่ยนไปลองฝึกงานในหน่วยงานภาคเอกชนได้ หรือจะฝึกงานภาคเอกชนก่อน แล้วมาฝึกงานในหน่วยงานรัฐก็ได้ เพราะ ณ ตอนนี้ นักศึกษาอายุยังน้อย สามารถทดลองเรียนรู้งานเพื่อหางานที่เหมาะสมกับตนเองได้ ดังนั้น หากนักศึกษามีโอกาสฝึกงาน อยากให้เปิดใจและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด
นอกจากนี้ นักศึกษาควรเตรียมตัวในเรื่องของภาษา ซึ่งมีความสำคัญไม่ว่าจะทำงานในหน่วยงานรัฐหรือเอกชน และในกรณีของหน่วยงานรัฐ หลาย ๆ หน่วยงานมีทุนให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานสำหรับการศึกษาต่อต่างประเทศ ดังนั้น หากนักศึกษาเตรียมตัวด้านภาษาตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเองในอนาคต
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อให้เป็นทีต้องการของบริษัทหรือหน่วยงานแต่ละแห่ง
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
อย่างแรกที่นักศึกษาต้องมี คือ ความรู้กฎหมายและความสามารถนำความรู้นั้นมาปรับใช้แก่การทำงาน และอย่างที่สอง คือ ต้องมีความใส่ใจอยากเรียนรู้งาน หรือที่เรียกว่า Passion ในการทำงาน
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
นอกจากนักศึกษาต้องมีความรู้กฎหมายพื้นฐานแล้ว นักศึกษาควรมีความรู้และทักษะต่าง ๆ เช่น ความรู้ด้านภาษี ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานอย่างเช่น Microsoft Office ความรู้ทางภาษาอังกฤษ ทักษะการอ่านงบการเงิน ทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงาน ทักษะการค้นคว้าหาข้อมูล การรักษาความลับของบริษัท เป็นต้น
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
นักศึกษาที่สนใจฝึกงานที่สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากกฎหมายที่ศึกษาในชั้นเรียน นักศึกษาควรมีความรู้กฎหมายอื่น ๆ อีก 4 เรื่อง ได้แก่ (1) กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน (2) กฎหมานวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (3) ประมวลรัษฎากร และ (4) รัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ นักศึกษาควรมีทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานด้วย
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
คุณสมบัติที่นักศึกษาฝึกงานต้องมี คือ ความรู้กฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะทาง เช่น กฎหมายภาษี กฎหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ซึ่งแม้ว่านักศึกษาจะไม่เคยศึกษาในชั้นเรียน แต่ก็ควรติดตามเนื้อหาของกฎหมายใหม่ เพื่อที่จะนำมาปรับใช้ในการทำงาน นอกจากนี้ นักศึกษาฝึกงานควรมีทักษะการนำเสนอ อันเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน เพราะต้องนำเสนอประเด็นปัญหาและทางแก้ไขให้แก่ลูกความ โดยเฉพาะการปรับการเขียนภาษากฎหมายให้ลูกความที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายเข้าใจได้
ส่วนคุณสมบัติที่นักศึกษาฝึกงานไม่ควรมี เช่น การไม่รักษาความลับของบริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในจรรยาบรรณของนักกฎหมาย การไม่เอาใจใส่ในงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : บริษัทหรือหน่วยงานแต่ละแห่งมีข้อแนะนำเรื่องการฝึกฝนทักษะการนำเสนออย่างไร เพื่อที่จะทำให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจในการใช้
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
ในการทำงาน การนำเสนองานต้องสามารถนำสิ่งที่เสนอไปปฏิบัติและใช้ได้จริง สิ่งที่จะทำให้การนำเสนอเป็นไปอย่างราบรื่น คือ ความรู้ ความเข้าใจ และความมั่นใจของผู้นำเสนอ ซึ่งการฝึกงานจะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะในเรื่องนี้ได้ โดยบริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ฝ่ายพัฒนาบุคลากรของบริษัทจึงมีการให้รุ่นพี่สอนรุ่นน้องและเชิญวิทยากรมาบบรรยาย
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
ทักษะการนำเสนอเป็นทักษะที่พัฒนาได้ โดยในการทำงานทักษะการนำเสนอเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการฝึกงาน บริษัทจะมีพี่ ๆ ช่วยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาฝึกงาน และในกรณีที่เป็นพนักงานประจำ บริษัทจะมีการสอนและเชิญวิทยากรมาให้ความรู้โดยเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสามารถเติบโตในสายงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
ทักษะการนำเสนอเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ช่วงแรก ๆ ในการนำเสนอ นักศึกษาอาจมีความกลัว แต่หากนักศึกษาฝึกฝนอยู่เรื่อย ๆ ความกลัวนี้เป็นสิ่งที่กำจัดออกไปได้ โดยนักศึกษาควรเริ่มจากการสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวเองด้วยการเตรียมความพร้อมและความเข้าใจในเรื่องที่จะนำเสนอให้ครบถ้วน
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
ทักษะการนำเสนอสามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่ช่วงชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรม การออกค่ายอาสา การเข้าร่วมกิจกรรม Moot court เป็นต้น ซึ่งการทำกิจกรรมควรทำควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ด้วยข้อจำกัดของระยะเวลาในการฝึกงาน (2 เดือน) นักศึกษาจะได้ฝึกฝนทักษะอะไรภายใต้ข้อจำกัดของระยะเวลาดังกล่าว
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
เนื่องด้วยระยะเวลาของการฝึกงานมีไม่นาน จึงควรมีการวางแผนให้ดี โดยทางบริษัทมีการวางแผนกับพี่ ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ว่าภายในระยะเวลา 2 เดือน นักศึกษาควรได้รับการเรียนรู้เรื่องใดบ้าง ส่วนนักศึกษาควรวางเป้าหมายของการฝึกงานว่านักศึกษาอยากเรียนรู้สิ่งใดจากบริษัทหรือหน่วยงานแต่ละแห่ง
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
เมื่อนักศึกษามาฝึกงานที่บริษัท นักศึกษาจะได้ร่วมงานกับพี่ ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในกฎหมายเฉพาะด้าน ซึ่งการทำงานในกฎหมายเฉพาะด้าน จะเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาทราบว่าชอบงานกฎหมายเฉพาะด้านนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการทำงานให้นักศึกษา ทำให้นักศึกษาเห็นภาพรวมของงานทั้งหมดและทำให้เข้าใจว่านักศึกษากำลังทำงานอยู่ส่วนใดของงานนั้น
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด มีแผนการทำงานให้นักศึกษา โดยบริษัทวางแผนให้นักศึกษาฝึกงานมีโอกาสได้ทำงานครบทั้ง 4 ส่วนของฝ่ายกฎหมาย และก่อนที่จะจบโครงการฝึกงาน นักศึกษาต้องทำ Project และนำเสนอให้แก่พี่ ๆ เพื่อฝึกทักษะการนำเสนอของนักศึกษา นอกจากนี้ บริษัทจะให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานจริง เช่น พานักศึกษาเข้าร่วมการประชุมงานกับพี่ ๆ เว้นแต่งานที่เป็นความลับเฉพาะ พานักศึกษาเข้าพบลูกความเพื่อซักถามประเด็นปัญหาต่าง ๆ จากลูกความ การพิจารณาร่างสัญญาต่าง ๆ เป็นต้น
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
เนื่องจากสถานการณ์โควิด ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีนโยบายปฏิบัติงานนอกสถานที่ การฝึกงานของนักศึกษาอาจมีความไม่สะดวก อย่างไรก็ดี หากนักศึกษาสนใจฝึกงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นักศึกษาสามารถแจ้งคณะได้ เพื่อพิจารณาว่าจะจัดโครงการฝึกงานอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ หากมีการฝึกงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้นักศึกษาเลือกกองกฎหมายตามความสนใจของนักศึกษา เช่น กฎหมายด้านเศรษฐกิจ กฎหมายด้านการเมือง กฎหมายด้านการปกครอง กฎหมายด้านการสาธารณะสุข เป็นต้น
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : บริษัทหรือหน่วยงานแต่ละแห่งมีความคาดหวังกับนักศึกษาฝึกงานอย่างไร
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
คาดหวังว่าพอนักศึกษาได้ลงมือทำงานจริง นักศึกษาจะรู้ตนเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร และอยากให้นักศึกษาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้แก่บริษัท แชร์ประสบการณ์และบรรยายการในทำงานที่ได้รับจากบริษัทนี้
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
คาดหวังว่า นักศึกษาจะสามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงศักยภาพของนักศึกษาให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการสมัครงานในอนาคต
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
ในด้านของนักศึกษา อยากให้นักศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่แตกต่างกับการเรียนรู้ในห้องเรียน ส่วนในด้านขององค์กร คาดหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนความคิดมุมมองของนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาองค์กรต่อไป
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
อยากให้นักศึกษาสร้างความสัมพันธ์กับพี่ ๆ ในองค์กร หรือกับเพื่อนที่ร่วมงานด้วย และอยากให้นักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : บริษัทหรือหน่วยงานแต่ละแห่ง คิดว่าปัญหาใดที่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกงานมากที่สุด
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
อุปสรรคที่สำคัญ คือ การรักษาไว้ซึ่งความตั้งใจและความใส่ใจของนักศึกษา และไม่ว่านักศึกษาจะฝึกงานที่ใด อยากให้นักศึกษาคิดไว้เสมอว่าตนเองเป็นตัวแทนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควรรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยไว้ด้วย
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
อุปสรรคที่พบบ่อย คือ เมื่อนักศึกษามีปัญหาในการทำงาน นักศึกษามักไม่กล้าพูดหรือไม่กล้าบอกพี่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีและอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังมีความไม่แน่นอน รูปแบบของการฝึกงานอาจมีทั้ง On-site และ Online ซึ่งอาจเกิดความไม่สะดวกในการทำงาน อย่างไรก็ดี บริษัทจะพยายามให้นักศึกษาได้เข้ามาทำงานที่บริษัทให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าการทำงานในรูปแบบ On-site ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า นอกจากนี้ นักศึกษาควรมีความเคารพต่อตนเองและเคารพต่องานที่นักศึกษาได้รับมา เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเอง
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
อุปสรรคของการฝึกงานในหน่วยงานราชการ คือ นักศึกษาต้องตั้งใจเรียนรู้การทำงานอย่างแท้จริง เพราะหน่วยงานราชการไม่มีค่าตอบแทนให้แก่นักศึกษา
……….
คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ขอให้วิทยากรกล่าวทิ้งท้ายถึงนักศึกษาที่ประสงค์จะฝึกงาน
Mr. Somprasong Panjalak, Chief Executive Officer (CEO) and Board of Directors บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (วิทยากร) :
การฝึกงานจะทำให้นักศึกษาได้รับประโยชน์ เพราะนักศึกษาจะได้รู้ว่าตนเองชอบกฎหมายใดหรืออยากทำงานสายกฎหมายหรือไม่
คุณวารี ชยานุวัฒน์ Legal Partner บริษัท กฎหมาย เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ภูมิไชย จำกัด (วิทยากร) :
บริษัทจะรับนักศึกษาฝึกงานประมาณ 6 คน โดยจะรับสมัครนักศึกษาที่มีคะแนนการเรียน 70% ขึ้นไป และมีระดับภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดี (บริษัทมีระบบวัดระดับภาษาให้แก่นักศึกษา) นักศึกษาที่สนใจสามารถยื่นใบสมัครได้ที่ฝ่าย HR หรือติดตามข่าวสารของบริษัทได้ที่ Page Facebook
คุณมณีรัตน์ พูนสินชูสกุล Senior Manager, Taxation บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด (วิทยากร) :
ไม่ว่านักศึกษาจะฝึกงานที่บริษัทหรือหน่วยงานใด อยากให้นักศึกษาใช้โอกาสที่มีเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานให้ได้มากที่สุด และตลอดระยะเวลาของการฝึกงาน อยากให้นักศึกษาสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่ ๆ และเพื่อนร่วมงานด้วย
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
อยากให้นักศึกษาใช้ช่วงเวลานี้ค้นหาตนเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรหรืออยากประกอบอาชีพใดในอนาคต และสำหรับนักศึกษาที่ฝึกงาน อยากให้มีความตั้งใจเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโทและการสมัครงานในอนาคต