สรุปสาระสำคัญจากรายการถามทุกข์ ตอบสุข Special: “รู้กฎหมาย ไร้ปัญหาหนี้” ตอนที่ 3 มีปัญหาค้ำประกัน มีหนี้นอกระบบ ไม่รู้วิธีเขียนสัญญากู้ยืม
จัดโดย noburo Wealth-Being ร่วมกับ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนับสนุนโดย มูลนิธิสะสางและสร้างสรรค์
วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 เวลา 19.00-20.00 น. ทาง Facebook Page : noburo Wealth-Being
วิทยากรโดยทนายความศูนย์นิติศาสตร์
- คุณณัฐ จินตพิทักษ์กุล
- คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์
- คุณณัฐพงศ์ รงค์ทอง
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล noburo Wealth-Being
ประเด็นที่ 1 ข้อพิจารณาในการเขียนสัญญากู้ยืมเงิน
1) พิจารณายอดของจำนวนเงินที่ต้องการกู้ยืม
กฎหมายได้กำหนดให้การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อลูกหนี้ซึ่งต้องรับผิด มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
ดังนั้นแล้ว กู้เงินตั้งแต่ 2,001 บาท จะต้องมีการทำสัญญาให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะต้องมีลายมือชื่อลูกหนี้เป็นอย่างน้อย จึงสามารถฟ้องศาลได้ อย่างไรก็ดี แม้การกู้เงินที่จำนวนเงินที่ไม่เกิน 2,000 บาท สามารถฟ้องร้องคดีได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติก็ควรมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือเช่นกันเพื่อความสะดวกและชัดเจนในการดำเนินกระบวนพิจารณา
2) มีหลักฐานของสัญญากู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการฟ้องร้องบังคับคดี
แม้สัญญากู้ยืมเงินจะไม่ได้มีแบบของสัญญากำหนดตายตัว แต่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือที่สามารถสื่อให้เข้าใจถึงมูลหนี้กู้ยืมเงิน โดยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินสามารถเขียนขึ้นเองแบบง่าย ๆ ก็ได้ หรือใช้สัญญาสำเร็จรูปที่ขายกันตามร้านค้าทั่วไปก็ได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ มีการส่งมอบเงินให้กัน และมีข้อตกลงว่าจะคืนเงินให้ในภายหลัง โดยมีลายมือชื่อของลูกหนี้เป็นสำคัญ ก็เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องได้
ในส่วนของดอกเบี้ยจะกำหนดหรือไม่ก็ได้ แต่มากที่สุดต้องไม่เกินร้อยละ 15 หากกำหนดเกินดอกเบี้ยจะตกเป็นโมฆะทั้งหมด เสมือนไม่ได้มีการกำหนดดอกเบี้ย
ข้อความแชทในแอปพลิเคชันเป็นหลักฐานได้ตามกฎหมายได้เช่นกัน แต่ว่าข้อความที่ปรากฏในแชทจะต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ ยอดเงินที่กู้ยืม สามารถรู้ได้ว่าผู้ยืมคือใคร วันที่ที่กู้ยืม หลักฐานการโอนเงิน หรือข้อความอื่น ๆ ที่สื่อได้ว่ามีการกู้ยืมกันขึ้น เช่น ได้รับเงินแล้ว จะคืนเงินเมื่อไหร่
แม้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือของสัญญากู้ยืมเงินซึ่งจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เมื่อผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ในทางปฏิบัติก็ต้องพิจารณาว่าการฟ้องคดีจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ เนื่องจากว่าในการดำเนินการย่อมมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าส่งหมาย ค่าทนายความ เป็นต้น ทั้งนี้ ความคุ้มค่าอาจไม่ใช่ขึ้นอยู่ตัวเงินเท่านั้น แต่อาจเป็นวัตถุประสงค์อื่นในการฟ้องก็ได้ เช่น ฟ้องเพื่อแสดงสิทธิให้เพื่อนที่เป็นลูกหนี้ของเราได้รู้ว่า ถ้าคุณไม่จ่ายหนี้ ฉันที่เป็นเพื่อนคุณก็ฟ้องได้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ เป็นต้น
3) บทบาทของพยานในสัญญากู้ยืมเงิน
ในสัญญากู้ยืมเงินประกอบด้วยสาระสำคัญของสัญญากู้ยืมเงิน คือ เจ้าหนี้ และ ลูกหนี้ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีพยานบุคคลก็ได้ อย่างไรก็ดีพยานบุคคลก็มีความสำคัญในทางปฏิบัติ กล่าวคือ พยานในสัญญาเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในเวลาที่คู่สัญญาทำสัญญากันขึ้น เช่น คู่สัญญาได้กู้เงินกันจริง มีการส่งมอบเงินกู้ให้ตามสัญญากู้ยืมแล้ว คู่สัญญาไม่ได้มีข่มขู่หรือหลอกลวงกัน
ดังนั้น พยานจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกันลูกหนี้ เนื่องจากพยานไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญานั่นเอง อย่างไรก็ดี หากพยานเป็นคู่สมรสของผู้กู้ยืม ต้องระมัดระวังว่าการเข้ามาเป็นพยานมีลักษณะในลงลายมือชื่อซึ่งเป็นการยินยอมหรือให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินของคู่สมรสของตนหรือไม่ หากมีลักษณะเป็นการยินยอมหรือให้สัตยาบัน หนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงินจะกลายเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ส่งผลให้คู่สมรสที่เข้าไปลงลายมือชื่อเป็นพยานในลักษณะนี้ต้องรับผิดร่วมด้วย
ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ฟ้องคดีขึ้นสู่ศาล ผู้ที่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะต้องไปเบิกความศาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ว่าในกระบวนการพิจารณาคดีนั้นมีคู่ความฝ่ายใดได้เรียกให้พยานเข้าไปเบิกความกับศาลหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องไป ในส่วนของการเบิกความนั้นอาจเป็นการเบิกเพื่อความสนับสนุนพยานเอกสาร เช่น ยืนยันว่าการกู้ยืมเงินที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ระบุในเอกสาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร เช่น เบิกความเพื่อให้ศาลเห็นว่าตัวเลขหรือข้อความใดที่ปรากฏในหนังสือไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือพฤติการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน เจ้าหนี้ได้มีการปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ไปแล้ว
4) ทรัพย์จำนำที่ได้ให้ไว้กับเจ้าหนี้เสียหายหรือบุบสลาย หรือไม่สามารถติดตามเอาทรัพย์จำนำคืนได้
ผู้รับจำนำจะต้องดูแลทรัพย์อย่างวิญญูชน กล่าวคือ ดูแลทรัพย์เสมือนบุคคลทั่วไปดูแลทรัพย์ของตัวเอง เช่น ลูกหนี้จำนำไมโครเวฟเอาไว้ เจ้าหนี้ก็ต้องเก็บรักษาไมโครเวฟนั้นไว้ในบ้านเช่นเดียวกับของตนเอง ไม่ใช่นำไปวางไว้ที่นอกบ้าน ซึ่งการดูแลทรัพย์ที่ไม่เป็นไปตามระดับวิญญูชนจนทรัพย์นั้นเกิดความเสียหาย หรือบุบสลายขึ้นมา เจ้าหนี้ซึ่งรับจำนำทรัพย์ไว้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเจ้าของทรัพย์จำนำ
ทรัพย์จำนำยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนำ ไม่ใช่เป็นของเจ้าหนี้ผู้รับจำนำ ดังนั้น หากลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปแล้ว เจ้าหนี้จะต้องคืนทรัพย์จำนำกลับไป การที่เจ้าหนี้หนีหายไป หรือหลีกเลี่ยงการคืนทรัพย์ หรือไม่ยอมคืนทรัพย์ให้ ย่อมเข้าลักษณะที่เป็นการเบียดเบียนเอาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตน ซึ่งเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ได้
ประเด็นที่ 2 ปัญหาเกี่ยวกับการค้ำประกัน
ลักษณะการค้ำประกัน เป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งเข้าตกลงยินยอมที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แทนลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันมีเพียงหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ โดยยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ตามมูลหนี้หลักหรือของตนเองตามสัญญาค้ำประกันต่อเจ้าหนี้ได้ และเมื่อได้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ไปแล้วไม่ว่าจำนวนเท่าใด จะมีสิทธิไล่เบี้ยเอาคืนจากลูกหนี้ได้ตามจำนวนนั้น
ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันได้รับหมายศาลเนื่องจากเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีขึ้นสู่ศาล ให้พิจารณาว่าเจ้าหนี้ฟ้องถูกต้องหรือไม่ มีการทำหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วหรือยัง และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปไปแล้วบางหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการตรวจสอบหรือสอบถามลูกหนี้ว่าได้มีการชำระหนี้ไปแล้วบ้างหรือยัง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากในความเป็นจริงเจ้าหนี้มักจะเรียกให้ชำระเต็มจำนวนเสมอ เป็นหน้าที่ของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันที่จะยกอ้างข้อต่อสู้ว่าได้มีการชำระหนี้ไปแล้วบางส่วนเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระเต็มจำนวน
สัญญาค้ำประกันผูกพันเฉพาะตัวผู้ค้ำประกัน คนในครอบครัวของผู้ค้ำประกันไม่เกี่ยวด้วย กล่าวคือ ฟ้องได้แต่คนที่ค้ำประกันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะค้ำประกันไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากคู่สมรสของตน แต่หากว่าคู่สมรสเข้ามามีพฤติการณ์ที่เป็นการยินยอมหรือให้สัตยาบันในการทำสัญญาค้ำประกัน เช่น เข้ามาเป็นพยานและมีพฤติการณ์ในเชิงยอมชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ก็จะทำให้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ทำให้ทั้ง 2 คนต้องร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ กล่าวคือ ฟ้องได้ทั้งผู้ค้ำประกันและคู่สมรสของผู้ค้ำประกัน
การถอนการค้ำประกันไม่มีบทกฎหมายที่จะบังคับให้เจ้าหนี้ให้ปลดผู้ค้ำประกันออกจากสัญญาค้ำประกันได้ โดยการถอนค้ำประกันจะต้องอาศัยความตกลงยินยอมระหว่างเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน หรือตามระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงิน (ถ้ามี) ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมด้วย ดังนั้น ผู้ค้ำประกันอาจจะต้องหาวิธีหรือแนวทางเพื่อจูงใจให้เจ้าหนี้พอใจและปลดให้ตนหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกัน เช่น การยื่นข้อเสนอว่าจะหาบุคคลคนอื่นที่มีฐานะการเงินดีมาค้ำประกันให้แทนตนเอง การยินยอมชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ไปเลยจำนวนหนึ่งเท่าที่เจ้าหนี้พอใจโดยไม่ต้องฟ้องร้องบังคับคดีและให้ตนหลุดพ้นจากการค้ำประกัน เป็นต้น
สำหรับความตายของคู่กรณีในสัญญาค้ำประกัน ความตายของลูกหนี้ ไม่มีทำให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด และเช่นเดียวกัน ความตายของผู้ค้ำประกัน ไม่ทำให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันระงับไป แต่ทั้งนี้เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในอายุเรื่องความมรดก 1 ปี
ประเด็นที่ 3 หนี้นอกระบบ
หนี้นอกระบบ เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่ได้มีการกำหนดดอกเบี้ยไว้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ร้อยละ 15 ต่อปี (1.25 ต่อเดือน) หากมีการกำหนดดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้จะทำให้ข้อตกลงส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ กล่าวคือ เสมือนว่าสัญญากู้ยืมเงินนั้นไม่ได้มีการกำหนดดอกเบี้ยไว้เลย
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้จะไม่ได้มีการระบุข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยไว้ในเอกสารหรือสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งจริง ๆ แล้วลูกหนี้ก็รู้ว่าดอกเบี้ยที่กำหนดนั้นเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต แต่ลูกหนี้อยู่ในภาวะจำยอม
แนวทางในการแก้ไขกรณีที่ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้สูงเกินกว่าที่ลูกหนี้จะแบกรับไหว กล่าวคือ จ่ายไปเท่าไหร่ก็หักดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ทำให้เงินต้นลดลงสักที
แนวทางแรก พูดคุยกับเจ้าหนี้ ให้เจ้าหนี้เห็นใจ
แนวทางที่สอง รีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารจะมีสินเชื่อสำหรับหนี้นอกระบบไว้บริการอยู่แล้ว การนำหนี้กลับมาเข้าในระบบจะทำให้ลดภาระดอกเบี้ยไปได้อย่างมาก
แนวทางที่สาม ถ้าไม่มีทางเลือกใดแล้ว ให้จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้เต็มจำนวนเท่าต้นเงินจริง แล้วหยุดส่งส่วนที่เหลือ แม้เจ้าหนี้จะฟ้องคดี แต่เมื่อดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนดก็ทำให้ในส่วนของดอกเบี้ยเป็นโมฆะ เท่ากับว่าเงินที่ลูกหนี้ได้จ่ายไปนั้นก็จะนำไปหักกับต้นเงินนั่นเอง
หลักฐานการชำระเงินให้กับเจ้าหนี้เป็นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกรณีที่มีการฟ้องร้องบังคับคดีขึ้นในภายหลัง การเก็บหลักฐานการชำระเงินจึงควรทำอย่างรัดกุมที่สุด คือ การชำระหนี้ด้วยการโอนเงิน เนื่องจากมีวันและเวลาที่ชัดเจน หรือในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะโอนเงินให้ทำหลักฐานการรับเงินขึ้นมา โดยอาจใช้วิธีเขียนลงกระดาษว่าได้มีการชำระหนี้แล้วในวันที่และเวลาใดพร้อมลานเซ็นผู้รับเงินกำกับไว้
การทวงหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจาข่มขู่ การใช้กำลังทำร้าย การทวงหนี้ที่ทำให้อับอาย เช่นทำหนังสือส่งไปยังที่ทำงาน มีโทษอาญา พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
หากลูกหนี้ประสบเหตุการณ์ที่เป็นการทวงหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้รวบรวมหลักฐานไว้ เช่น หลักฐานการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ภาพวงจรปิดที่ถูกทำร้ายร่างกาย แชทข้อความที่เป็นการข่มขู่ หลักฐานการเข้ารักษาพยาบาล หนังสือรับรองของแพหนังสือที่เจ้าหนี้ส่งทวงหนี้ไปยังที่ทำงาน เป็นต้น โดยลูกหนี้สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ต่อสถานีตำรวจในท้องที่ ศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ของกระทรวงยุติธรรมก็ได้
ในมุมของเจ้าหนี้ต้องพึงระวังเอาไว้ว่า เจ้าหนี้มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าลูกหนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่เจ้าหนี้ใช้วิธีผิดกฎหมายขึ้นมาแล้ว ลูกหนี้จะกลายเป็นผู้ที่เหนือกว่าทันที กล่าวคือ การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นเพียงเรื่องในทางแพ่งซึ่งเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การกระทำของเจ้าหนี้มีโทษอาญาซึ่งเป็นการจำคุก