สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวและวิพากษ์ตำรา “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวมรดก (ภาคมรดก)” โดย ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตอนที่ 2
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวและวิพากษ์ตำรา “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวมรดก (ภาคมรดก)” โดย ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2567 ปรับปรุงแก้ไขโดย ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 – 14.00 น. ณ ห้อง SC 4023 อาคารบรรยายรวม 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และถ่ายทอดไปยังห้อง 3414 อาคารเรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมวิพากษ์โดยคณาจารย์ผู้สอนกฎหมายลักษณะมรดก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
– รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
– รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
– ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
– ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
– อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์
– อ.ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน
– ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
– อ.กิตติภพ วังคำ
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายจิรภัทร ชนะสิทธิ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
การวิพากษ์ช่วงที่ 3 (เนื้อหาบรรพ 6 ลักษณะ 3 พินัยกรรม)
ผู้วิพากษ์
– รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
– ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ผู้ดำเนินรายการ
– อ.กิตติภพ วังคำ
อ.กิตติภพ วังคำ (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานและแนะนำผู้วิพากษ์ อันได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง หลังจากนั้นเกริ่นนำภาพรวมเนื้อหาของบทบัญญัติบรรพ 6 ลักษณะ 3 พินัยกรรม และเรียนเชิญให้ผู้วิพากษ์เริ่มการวิพากษ์ตามลำดับ
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และเกริ่นนำว่ามีโอกาสได้อ่านตำรานิติกรรมและหนี้ของอาจารย์เสนีย์ฯ ซึ่งยอมรับว่าเป็นตำราทีทรงคุณค่าทางวิชาการและรู้สึกประทับใจ แต่ในบางประเด็นก็มีความเห็นที่แตกต่างจากอาจารย์เสนีย์ฯ เช่น ประเด็นเรื่องคำมั่นโฆษณาว่าจะให้รางวัลตามมาตรา 362 อาจารย์เสนีย์ฯ เห็นว่ามีลักษณะเป็นคำเสนอ คำมั่นจึงไม่ก่อหนี้ในตัวเอง โดยจะต้องมีการสนองรับเป็นสัญญาจึงจะก่อหนี้ ซึ่งในประเด็นนี้มีความเห็นที่ต่างออกไปโดยส่วนตัวมองว่าคำมั่นโฆษณาว่าจะให้รางวัลก่อหนี้ในตัวเอง และหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดจากคำมั่นมิใช่หนี้จากสัญญา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีโอกาสอ่านตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ของอาจารย์เสนียฯ ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่เล่มนี้ รู้สึกว่ามีความเห็นที่คล้อยตามอาจารย์เสนีย์ฯ หลายประเด็น เพราะอาจารย์เสนีย์ฯ อธิบายหลักกฎหมายไว้ละเอียดมาก มีการยกตัวอย่างจำนวนมาก และอธิบายถึงเหตุผลแวดล้อมเบื้องหลังของหลักกฎหมายไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้โน้มน้าวให้เห็นพ้องด้วยหลายประเด็น ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่องการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา ตามมาตรา 1663 ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางการตีความที่แตกต่างกันแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ตีความเคร่งครัดว่า การจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้นั้นมิได้ปรับใช้แก่การที่บุคคลจะถึงแก่ความตายได้ในทุกกรณี ซึ่งความเห็นนี้เป็นแนวทางเดียวกันกับการตีความของศาลฎีกาที่เคยวินิจฉัยว่า โรคลมจุกเสียดมิใช่พฤติการณ์พิเศษเพราะมิใช่โรคระบาด และหญิงที่กำลังจะคลอดบุตรก็มิได้ตกอยู่ในพฤติการณ์พิเศษเช่นเดียวกัน เป็นต้น ส่วนอีกแนวทางหนึ่งตีความกว้าง โดยมองว่าถ้อยคำว่า “พฤติการณ์พิเศษ” นั้น เป็นบทกฎหมายยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจในการตีความได้ โดยอาจารย์เสนีย์ฯ อธิบายตามแนวทางที่หนึ่ง กล่าวคือ บุคคลที่ใกล้จะตายย่อมกังวลว่าจะตายทั้งสิ้น หากกฎหมายเปิดช่องให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ทั้งหมด อาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้ก็เห็นว่าสมเหตุสมผล นอกจากนี้ ในเรื่องทรัสต์ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่มีที่มาจากกฎหมายคอมมอนลอว์ อาจารย์เสนีย์ฯ ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ก็อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างเข้าใจง่าย
ในส่วนรูปแบบนั้น แม้ตำราเล่มนี้จะอธิบายแบบเรียงมาตรา แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะในเนื้อหาแต่ละส่วนก็มีการเท้าถึงหลักกฎหมายเรื่องอื่น ๆ ในบรรพต่าง ๆ ไว้ด้วย
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวขอบคุณศ.ดร.ไพโรจน์ และคุณสุรดาฯ ที่แก้ไขปรับปรุงตำราเล่มนี้ รวมทั้งเกริ่นนำว่าตำรากฎหมายมรดกนับว่าเป็นตำราที่เขียนยาก เพราะโดยเนื้อหาแล้วประกอบไปด้วยกฎหมายแพ่งทุกแขนงที่ยกมาทำการศึกษารวมกันแบบสหวิทยาการ ตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ของอาจารย์เสนีย์เล่มนี้จึงนับเป็นวรรณกรรมทางกฎหมายที่ทรงคุณค่า
ในส่วนเนื้อหานั้น เนื่องจากอาจารย์เสนีย์ฯ สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ตำราเล่มนี้จึงมีข้อจำกัดในแง่ที่ขอบเขตเนื้อหาจะจำกัดอยู่เฉพาะการเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับกฎหมายอังกฤษ มิได้มีการกล่าวอ้างอิงถึงกฎหมายในภาคพื้นยุโรปประเทศอื่น ๆ เช่น กฎหมายฝรั่งเศส หรือกฎหมายเยอรมัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น กฎหมายฝรั่งเศสอาศัยหลักมรดกตกทอดแก่ญาติใกล้ชิด ในขณะที่กฎหมายเยอรมันถือหลักมรดกตกทอดแก่ญาติสืบสันดาน ในขณะที่กฎหมายไทยมีความผสมผสานของทั้งสองหลักการดังกล่าว ดังนั้น เมื่อมิได้มีการกล่าวถึงกฎหมายฝรั่งเศสและเยอรมันจึงอาจขาดเนื้อหาในส่วนนี้ไป ในแง่นี้เองตำราเล่มนี้จึงมุ่งเน้นในเชิงปฏิบัติมากกว่าคำอธิบายตามหลักการทางทฤษฎี โดยเล่าว่าครั้งหนึ่งศาสตราจารย์เพรียบ หุตางกูร เคยแนะนำนักศึกษาที่ศึกษาวิชากฎหมายลักษณะมรดกว่า หากต้องการตำรากฎหมายมรดกที่อ่านสนุกให้อ่านตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ แต่หากต้องการตำรากฎหมายมรดกที่เป็นหลักวิชาให้อ่านตำราของอาจารย์สะอาด นาวีเจริญ นอกจากนี้ ในฐานะที่อาจารย์เสนีย์ฯ เป็นหนึ่งในผู้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ซึ่งย่อมทราบถึงเจตนารมณ์และนิตินโยบายของบทบัญญัติต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่ในตำราเล่มนี้ยังขาดเนื้อหาในส่วนดังกล่าว
นอกจากนี้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลของพินัยกรรมที่มีเงื่อนไขว่า ความจริงจะต้องประสานกับบรรพ 1 ในเรื่องนิติกรรมอันมีเงื่อนไข แต่ว่าถ้อยคำที่ใช้ใน 1674 ในเรื่องพินัยกรรมอันมีเงื่อนไข จะบอกว่ามีผลเมื่อตาย แต่ความจริงต้องเป็นเรื่องเป็นผลเมื่อตาย และบังคับได้มีผลบังคับได้เมื่อเงื่อนไขสำเร็จ ซึ่งหากเป็นบรรพ 1 ก็ถ้าเงื่อนไขสำเร็จก็เรียกร้องกันได้ คือผลเกิดแล้ว ซึ่งมีปัญหาให้ต้องทำความเข้าใจ แต่ในตำราไม่ได้มีการเขียนอธิบายว่าสรุปแล้วพินัยกรรมมีผลตั้งแต่ทำแล้วยังไม่ตายก็มีผล แต่จะเป็นผลตายเมื่อตาย
ในตอนท้าย รศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษากฎหมายลักษณะมรดก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ เพราะในอนาคตอันใกล้การสมรสระหว่างคนต่างสัญชาติกันจะมีมากขึ้น ซึ่งย่อมทำให้เกิดประเด็นปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับครอบครัวมรดกในทางระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษากฎหมายมรดกในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ
การวิพากษ์ช่วงที่ 4 (เนื้อหาบรรพ 6 ลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก)
ผู้วิพากษ์
– อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์
– อ.กิตติภพ วังคำ
ผู้ดำเนินรายการ
– อ.ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน
อ.ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานและแนะนำผู้วิพากษ์ อันอาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ และอาจารย์กิตติภพ วังคำ หลังจากนั้นเกริ่นนำภาพรวมเนื้อหาของบทบัญญัติบรรพ 6 ลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก และเรียนเชิญให้ผู้วิพากษ์เริ่มการวิพากษ์ตามลำดับ
อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และเกริ่นนำว่าได้มีโอกาสบรรยายวิชากฎหมายลักษณะมรดกในเนื้อหาส่วนลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 ในฐานะอาจารย์สัมมนาวิชากฎหมายลักษณะมรดก กลุ่ม ศาสตราจารย์ ดร.พินัย ณ นคร จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสได้มาสอนวิชานี้คนเดียวในเนื้อหาทุกส่วน จึงต้องศึกษาตำรากฎหมายครอบมรดกของอาจารย์เสนีย์ฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบรรยาย
ในส่วนของรูปแบบนั้น เห็นว่าตำรากฎหมายครอบครัวมรดกของอาจารย์เสนีย์ที่เขียนเป็นคำอธิบายเรียงมาตรานั้น เป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้ามาก เพราะทำให้ง่ายและสะดวกต่อการค้นคว้าประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างดี ส่วนในด้านเนื้อหา เห็นว่าอาจารย์เสนีย์ฯ มักใช้ถ้อยคำและสำบัดสำนวนที่อ่านเข้าใจง่ายและเห็นภาพ เช่น ในตอนหนึ่งอธิบายลักษณะของผู้จัดการมรดกไว้ว่า “ผู้จัดการมรดกตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่งมีแต่กระดูกแขวนคอ” ซึ่งสะท้อนความเป็นผู้จัดการมรดกได้อย่างดี เพราะการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นไม่มีบำเหน็จ เว้นแต่พินัยกรรมกำหนดเอาไว้ อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายหลายประการ เช่น ทำบัญชีทรัพย์มรดก สืบหาตัวทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ รวบรวมทรัพย์มรดก และชำระหนี้กองมรดก เป็นต้น รวมทั้งหากทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็อาจถูกถอดถอนหรือมีความรับผิดตามกฎหมายได้
กล่าวประเด็นปัญหาในรายละเอียด เช่น ประเด็นปัญหาว่าการเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ประเด็นนี้อาจารย์เสนีย์ฯ เห็นว่ามีผลทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ โดยอธิบายเชื่อมโยงกับบทบัญญัติสองมาตรา ได้แก่ มาตรา 1728 (1) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจทำหน้าที่ได้ทันทีตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมาตรา 1717 ที่มีตีความได้ว่าผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมมีฐานะเช่นนั้นทันทีโดยไม่ต้องมีการตอบตกลงสนองรับจากบุคคลที่ถูกระบุให้เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อย่างไรก็ตาม มีนักกฎหมายที่ตีความแตกต่างออกไป เช่น ศาสตราจารย์เพรียบ หุตางกูร และศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มองว่าต้องใช้หลักความสมัครใจ กล่าวคือ บุคคลที่ถูกระบุให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมจะต้องตอบตกลงสนองรับที่จะเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน ฐานะผู้จัดการมรดกถึงจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าน่าจะต้องเป็นไปตามหลักความสมัครใจซึ่งสะท้อนผ่านบทบัญญัติหลายมาตรา เช่น มาตรา 1713 (2) หรือมาตรา 1727 วรรคสอง เป็นต้น นอกจากนี้ มีประเด็นต่อเนื่องในมาตรา 1717 ที่กำหนดให้ทายาทถามไปยังผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมว่าจะรับหน้าที่หรือไม่ภายหลังพ้นเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย 15 วัน ซึ่งมีข้อพิจารณาว่าเวลา 15 วันนี้มีที่มาอย่างไร ตามคำอธิบายของอาจารย์เสนีย์ฯ อธิบายว่า ที่ต้องรอให้พ้น 15 วันนับแต่เจ้ามรดกตายเสียก่อนนั้น เพราะหากมีการถามก่อนหน้านั้นจะเป็น “การแสดงความลุกลี้ลุกลนเห็นแก่สมบัติไม่อายผี เป็นการเสียหายทั้งแก่ผู้ตายและผู้อยู่…” ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่ง แต่นอกจากนี้ยังเห็นว่าเวลา 15 วัน น่าจะถูกกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับมาตรา 1728 ที่กำหนดหน้าที่ให้ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน และอาจมองได้ว่าเวลา 15 วันนี้เป็นนิตินโยบายในทางกฎหมายเท่านั้น เพราะกฎหมายก็มิได้บัญญัติผลที่เป็นการลงโทษหากมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด
อ.กิตติภพ วังคำ (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และเกริ่นนคุณูปการของอาจารย์เสนีย์ฯ ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเล่าว่าได้มีโอกาสอ่านตำรานิติกรรมและหนี้ของอาจารย์เสนีย์ฯ อย่างละเอียดครั้งแรกเมื่อทำวิจัยฉบับแรกในประเด็นกฎหมายหนี้ รู้สึกประทับใจกับแนวทางคำอธิบาย โดยเฉพาะการยกตัวอย่างที่ราวกับว่าคาดการณ์เหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า ในแง่นี้ โดยส่วนตัวจึงมองว่าอาจารย์เสนีย์เป็น “ผู้มาก่อนกาล” นอกจากนี้ เมื่อตำราเล่มนี้ได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยศ.ดร.ไพโรจน์ฯ และคุณสุรดาฯ ในครั้งนี้ มีการเพิ่มเติมแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาให้ทันสมัยหลายจุด ซึ่งมิใช่การเอาคำพิพากษาศาลฎีกามากล่าวถึงทั่วไป แต่เป็นการนำมาร้อยเรียงให้สอดรับกับคำอธิบายอย่างลงตัว และที่สำคัญในคำอธิบายส่วนใดที่มีความเห็นที่แตกต่างผู้แก้ไขปรับปรุงก็ได้ใส่ความเห็นนั้น ๆ ไว้ในเชิงอรรถอีกด้วย ซึ่งนับเป็นข้อเด่นและเป็นจะประโยชน์ในการศึกษาทำความเข้าใจได้อย่างดี
ในส่วนเนื้อหานั้น มีประเด็นพิจารณา เช่น ในมาตรา 1737 ที่วางหลักว่า เจ้าหนี้จะฟ้องทายาทคนใดคนหนึ่งก็ได้ ถ้ามีผู้จัดการมรดกเจ้าหนี้อาจเรียกเข้ามาในคดีก็ได้ ซี่งมีข้อพิจารณาว่าคำว่า “ให้เรียกเข้ามาในคดี” มีความหมายว่าอย่างไร สำหรับประเด็นนี้อาจารย์เสนีย์ฯ มีความเห็นว่าถึงแม้ตัวบทจะจะใช้ถ้อยคำดังกล่าว แต่ต้องตีความว่าจะต้องมีการฟ้องคดีตั้งแต่ต้นให้ผู้จัดการเป็นจำเลยร่วม มิฉะนั้นย่อมเป็นเหตุตัดฟ้อง หากมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว แต่ไม่ฟ้องเข้ามาในคดีตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม มีความเห็นแตกต่างออกไป เช่น ศาสตราจารย์เพรียบ หุตางกูร ที่เห็นว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดผลเสียหรือลงโทษไว้ว่าถ้าไม่ฟ้องผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีตั้งแต่แรกจะมีผลเป็นอย่างไร จึงไม่ถึงขนาดเป็นเหตุตัดฟ้องแม้ตอนแรกจะไม่มีการฟ้องผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีด้วยก็ตาม โดยอาจใช้วิธีการร้องสอดตามมาตรา 57 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีก็ได้
นอกจากนี้ เห็นว่าตำรากฎหมายครอบครัวมรดกของอาจารย์เสนีย์ฯ เล่มนี้ ได้มีการอธิบายถึงเหตุผลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายในหลายมาตราอย่างละเอียด ทั้งนี้ เพราะเหตุที่อาจารย์เสนีย์ฯ เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายจึงทำให้ทราบความเป็นมาอย่างชัดเจน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น เหตุผลของเรื่องการจัดลำดับชำระหนี้ตามมาตรา 1739 นั้น ถูกอธิบายว่าเป็นนโยบายในเรื่องกฎหมายบุริมสิทธิ ซึ่งเป็นเหตุผลในทางประศาสนศาสตร์ (รัฐประศาสนโยบาย) หลักมนุษยธรรมที่เจ้าหนี้แต่ละรายพึงได้รับชำระก่อนหลังไม่พร้อมกัน หรือมาตรา 1746 ที่กฎหมายต้องเน้นย้ำว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทายาทจะมีส่วนเท่า ๆ กันในมรดกนั้น ก็เนื่องจากบทบัญญัติเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกมีการเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายเก่าตามกฎหมายลักษณะมฤดก บทที่ 48 ซึ่งแต่เดิมมรดกที่จะตกได้แก่บุตรผู้ตายนั้นไม่เท่ากันสุดแล้วแต่ว่าบุตรคนใดจะมีความดีความชอบอย่างไร เป็นต้น
ช่วงที่ 3 กล่าวรำลึกถึงศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวเชิญทายาทของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ขึ้นกล่าวรำลึกถึงท่านอาจารย์เสนีย์กล่าวถึงตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ที่ได้แก้ไขปรับปรุง
คุณขวัญวลี ปราโมช ณ อยุธยา (ทายาทหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน และได้กล่าวถึงที่มาของตำราเล่มนี้โดยสังเขปว่า อาจารย์เสนีย์ฯ เคยเขียนไว้ในหนังสือชีวลิขิตตอนหนึ่งว่า ที่มาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ว่าด้วยมรดกนั้นมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยโดยตรง เนื่องจากในอดีตนั้น ประเทศไทย (สยาม) ถูกรุกรานจากชาติตะวันตกในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ด้านภาษี และสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายฉบับ ซึ่งบทบัญญัติในบรรพ 6 นี้ก็เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ร่างขึ้นด้วยเจตนารมณ์ให้กฎหมายของไทยมีความทันสมัยสามารถทัดเทียมกับอารยประเทศมิให้ชาติตะวันตกอ้างได้ว่ากฎหมายไทยมีความล้าหลัง หลังจากนั้น ได้กล่าวปรารภถึงศ.ดร.ไพโรจน์ฯ และทีมงานที่แก้ไขปรับปรุงตำราเล่มนี้ว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่แก้ไขปรับปรุงตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ของอาจารย์เสนีย์ฯ ในครั้งนี้ และกล่าวขอบคุณศ.ดร.ไพโรจน์ฯ และคุณสุรดาฯ ที่ได้แก้ไขปรับปรุงตำราเล่มนี้จนสำเร็จลุล่วง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวขอบคุณวิทยากรผู้ร่วมวิพากษ์ทุกท่าน ขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่าน และขอบคุณ คุณขวัญวลี ปราโมช ณ อยุธยา ทายาทของศาสตราจารย์เสนีย์ฯ ในนามของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์