สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” ช่วงที่ 2
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 เวลา 9.00-12.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนตำรา
- รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ช่วงที่ 2 การร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยคณาจารย์ผู้สอนสอนกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ
คำถามที่ 1 : ความเป็นมาก่อนที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์ผู้สอนกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้สอนในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อนั้น ตนเองเป็นผู้สอนในรายวิชากฎหมายลักษณะหนี้ กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่มีการทำสัญญากันจริง ๆ นั้นจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับบรรพสาม ซึ่งจะต้องนำเอาหลักกฎหมายของบรรพหนึ่งและบรรพสองมาใช้บังคับด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์กันระหว่างบรรพหนึ่ง บรรพสอง และบรรพสาม ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ จึงมีความประสงค์ที่จะเข้ามาเป็นผู้สอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับบรรพสาม โดยกฎหมายลักษณะซื้อขายเป็นวิชาที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ มีความสนใจมากที่สุด ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นมากที่สุดในทางปฏิบัติ ประกอบกับในรายวิชากฎหมายเอกเทศสัญญา 1 ประกอบไปด้วยกฎหมายลักษณะซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จึงทำให้ต้องสอนในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อด้วย ในส่วนนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลักษณะการสอนกฎหมายดังกล่าวของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ มีการบรรยายถึงบรรพหนึ่งและบรรพสองด้วย
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ ยังเป็นผู้สอนเพียงคนเดียวในรายวิชาหนึ่ง ๆ เนื่องจากเห็นว่า เรื่องต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ หากต้องมีการแบ่งการสอนระหว่างอาจารย์สองท่านขึ้นไป จะทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนขาดความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องในเนื้อหา เพราะฉะนั้น ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ จึงเลือกที่จะเป็นผู้สอนเพียงคนเดียวเรื่อยมา และเริ่มมีการสอนร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นเนื่องจากมีข้อบังคับของทบวงมหาวิทยาลัยว่า อาจารย์พิเศษไม่สามารถสอนเกินกว่ากึ่งหนึ่งได้
ผศ.ดร.เอมผกาฯ กล่าวว่า ในระดับชั้นปริญญาโทนั้นตนเองศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่ในช่วงแรกเริ่มของการเป็นอาจารย์ ผศ.ดร.เอมผกาฯ เริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์สัมมนาในกฎหมายเอกเทศสัญญาเป็นระยะเวลา 1 ปีก่อนที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยหลังจากกลับมาจากการศึกษานั้น ผศ.ดร.เอมผกาฯ ยังคงรับหน้าที่เป็นอาจารย์สัมมนาในกฎหมายเอกเทศสัญญา 1 และกฎหมายเอกเทศสัญญา 2 จนในท้ายที่สุด ผศ.ดร.เอมผกาฯ ก็เข้ามารับหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าว ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ยังรับหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ทำให้ตนเปลี่ยนแนวทางการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอกจากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น จึงเลือกที่จะสอนในรายวิชากฎหมายลักษณะเอกเทศสัญญาและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่อยมา ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงกัน
คำถามที่ 2 การบรรยายในรายวิชาต่าง ๆ อาจารย์แต่ละท่านใช้ตำราเล่มใดเพื่อเตรียมการสอนและประกอบการบรรยายในรายวิชานั้น
ผศ.ดร.เอมผกาฯ กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ตนเองเป็นอาจารย์สัมมนาให้กับอาจารย์หลายท่าน จึงใช้ตำราของอาจารย์หลายท่านเพื่อใช้ในการเตรียมการสอน
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า ตำราที่จะแนะนำให้นักศึกษาอ่านประกอบการเรียนคือตำราของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่มใดเล่นหนึ่งก็ได้ เช่น ตำราของอาจารย์ไผทชิต เอกจริยกร อาจารย์ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ เป็นต้น ส่วนในสมัยที่ตนเองเป็นนักศึกษานั้น ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ ใช้เอกสารของอาจารย์อำนัคฆ์ คล้ายสังข์ เพื่อประกอบการศึกษากฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ตนเองเป็นอาจารย์สัมมนาให้กับ ผศ.ดร.สุรศักดิ์จึงได้แนะนำตำราประกอบการเรียนเช่นเดียวกันกับผศ.ดร.สุรศักดิ์
คำถามที่ 3 รูปแบบการสอนกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ของอาจารย์แต่ละท่านเป็นอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า การเรียนกฎหมายในวิชาใดวิชาหนึ่งนั้น ผู้เรียนใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 40 ชั่วโมงจากเวลาทั้งหมดของชีวิตเท่านั้นเอง แต่สามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้ได้ตลอดชีวิตของการเป็นนักกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯจึงพยายามทำให้นักศึกษาสนใจและสนุกไปกับสิ่งที่ตนเองสอน โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่า การนำสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันมาประกอบการสอนจะทำให้นักศึกษาสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมักจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีบุคคลใดนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องศาล ในส่วนนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ จึงมองว่า เป็นความท้าทายในการพยายามหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น แนวทางการสอนของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ จึงมีการนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันมาประกอบการสอน เช่น ผู้ซื้อสั่งกล้วยไม่ไหม้ แต่ผู้ขายเข้าใจว่ากล้วยไหม้ไหม้ ซึ่งก็จะเป็นประเด็นปัญหาที่สามารถพิจารณาได้ทั้งบรรพหนึ่ง บรรพสอง และบรรพสาม
ผศ.ดร.เอมผกาฯ กล่าวว่า ด้วยความที่ตนเองมีการทำงานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั้งภาครัฐและภาคประชาชน จึงมีการนำเอาตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาใช้ในการสอนและการออกข้อสอบกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ แต่ตัวอย่างดังกล่าวจะต้องไม่เกินขอบเขตของกฎหมายเอกเทศสัญญา ทั้งนี้ เนื่องจากในความเป็นจริงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันมักจะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายพิเศษอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า รูปแบบการสอนของตนเองนอกจากจะเป็นการอธิบายการใช้การตีความกฎหมายแล้ว จะมีการยกตัวอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้เนื้อหาของการบรรยายมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการอธิบายกฎหมายอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ มิได้จำกัดแต่อยู่เฉพาะภายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายเฉพาะอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วนเค้าโครงการบรรยายของรศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ นั้น จะมีการอธิบายก่อนว่า สัญญาเช่าทรัพย์สิน สัญญาเช่าซื้อ เป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้บังคับของบรรพสามและก่อให้เกิดหนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้องค์ประกอบของสัญญาดังกล่าวเสียก่อน โดยตัวอย่างการบรรยายของรศ.ดร.เฉลิมวุฒิ เช่น การทำสัญญาเช่าทรัพย์สินหากพิจารณาแต่เฉพาะบรรพสามจะเห็นว่า กฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องทำตามแบบ แต่หากพิจารณากฎหมายทั้งระบบจะเห็นว่า แบบของสัญญาเช่าทรัพย์สินอาจเกิดขึ้นจากเจตนาของคู่สัญญาหรือกฎหมายเฉพาะก็ได้ เช่น การทำสัญญาเช่าหอพัก ซึ่งเมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วสิทธิหน้าที่และความรับผิดระหว่างคู่สัญญามีอย่างไรบ้าง และสัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด อันเป็นการอธิบายในลักษณะวงจรของสัญญาว่ามีทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด
คำถามที่ 4 เหตุใด ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร จึงมีแนวทางการสอนในลักษณะที่เชื่อมโยงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วยกัน เช่น รายวิชากฎหมายเอกเทศสัญญาก็จะมีการบรรยายถึงบรรพหนึ่งและบรรพสองด้วย
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า การบรรยายกฎหมายเอกเทศสัญญาจะต้องมีการบรรยายที่เชื่อมโยงถึงบรรพหนึ่งและบรรพสองด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายที่มีการบัญญัติเอาไว้ในบรรพหนึ่งหรือบรรพสองก็จะไม่มีการบัญญัติซ้ำเอาไว้ในบรรพสามอีก เว้นเสียแต่จะเป็นเรื่องที่มีความพิเศษ เพราะฉะนั้น หลักกฎหมายใดที่มิได้มีการบัญญัติเอาไว้ในบรรพสามก็จะต้องนำเอาหลักการของบรรพหนึ่งและบรรพสองมาใช้บังคัง ซึ่งการอธิบายเฉพาะบรรพสามจะทำให้นักศึกษาไม่สามารถตอบปัญหาได้ทั้งหมด หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แยกต่างหากจากกัน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วกฎหมายต่างเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ ยังอนุญาตให้นักศึกษาสามารถใช้ตัวบทบัญญัติประกอบการทำข้อสอบได้ เนื่องจากเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายในแต่ละรายวิชามีจำนวนมาก เช่น กฎหมายแรงงานที่มีทั้งส่วนที่เกี่ยวข่้องกับบรรพหนึ่ง บรรพสอง และบรรพสามแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติอื่น ๆ อีกมากมาย ประกอบกับต้องการวัดความสามารถในการเข้าใจหลักกฎหมาย มิใช่ความสามารถในการจำตัวบทบัญญัติของกฎหมาย
คำถามที่ 5 เหตุใดรูปแบบการสอนรวมถึงการออกข้อสอบของ ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ ส่วนหนึ่งจึงมักจะนำเอาคำพิพากษาของศาลมาให้นักศึกษาวิเคราะห์
ผศ.ดร.เอมผกาฯ กล่าวว่า ตนเองต้องการให้นักศึกษาวิเคราะห์ว่า ในคำพิพากษานั้นศาลใช้หลักกฎหมายในเรื่องใดมาบังคับกับข้อเท็จจริงในคดี หรือเหตุใดศาลในคดีนี้จึงมีคำพิพากษาที่แตกต่างจากศาลในคดีก่อน ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากการเรียนการสอนกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส โดยการเรียนการสอนวิชากฎหมายของประเทศฝรั่งเศสนั้นจะมีการทดสอบนักศึกษาอย่างหนึ่งคือการให้นักศึกษาวิเคราะห์ว่า คำพิพากษาต่าง ๆ ที่ยกมาศาลใช้หลักกฎหมายในเรื่องใดตัดสินคดี มีประเด็นใดที่น่าสนใจบ้าง หรือเป็นการสร้างแนวบรรทัดฐานขึ้นใหม่หรือไม่ เป็นต้น
คำถามที่ 6 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และ ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ มีมุมมองต่อตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” อย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.เอมผกาฯ กล่าวชื่นชม รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม ถึงความขยันในการผลิตผลงานทางวิชาการออกมาอย่างมากมาย ซึ่งผลงานของท่านจะสร้างความแตกต่างให้กับวงการวิชาการ ทั้งนี้ เนื่องจากรศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ สำเร็จการศึกษาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงทำให้มีแนวความคิดเพิ่มเติมจากนักกฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี หรืออังกฤษ โดยผลงานทางวิชาการบางส่วน ผศ.ดร.เอมผกาฯ ได้นำส่งองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป
สำหรับส่วนที่ผศ.ดร.เอมผกาฯ ชื่นชอบนั้นแบ่งออกเป็นสี่ประการ ประการที่หนึ่ง ตำราเล่มนี้จะมีมุมมองจากกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งแตกต่างจากตำราฉบับอื่นที่มักจะเป็นมุมมองจากประเทศฝรั่งเศสหรือเยอรมนี อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ยังกล่าวถึงมุมมองของกฎหมายเปรียบเทียบเอาไว้ในตำราของท่านด้วย เนื่องจากท่านได้มีการศึกษากฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาต่าง ๆ ภายในตำราสามารถนำเสนอให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย และได้ตั้งประเด็นคำถามเอาไว้อย่างหลากหลายเพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้ ประการที่สอง เป็นตำราที่นำเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาใช้ประกอบการอธิบาย เช่น ประเด็นของสัญญาเช่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดิจิทัล หรือสถานการณ์โควิด 19 กับสัญญาเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น ประการที่สาม รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ มีการนำเสนอมุมมองของตนเองต่อประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ รวมถึงการนำเอาความคิดเห็นของนักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกามาวิเคราะห์เอาไว้ในตำรา และประการที่สี่ มีการอธิบายกฎหมายอย่างเป็นระบบ เช่น การกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า ตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” เล่มนี้จัดทำขึ้นมาได้ตรงตามความต้องการของผู้อ่าน กล่าวคือ สื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า กฎหมายในเรื่องเช่าทรัพย์ เช่าซื้อคืออะไร มีการใช้การตีความอย่างไร ศาลมีแนวทางในการบังคับใช้อย่างไร และมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายอย่างใดบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่การอธิบายถึงความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับมุมมองในทางกฎหมายจากประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษากฎหมายในเชิงเปรียบเทียบ
ประการต่อมาก็คือเป็นตำราที่ออกมาในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พอดี ซึ่ง รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ได้ให้ความเห็นประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เคยมีการถกเถียงกันอยู่ และมีการตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ เพราะฉะนั้น หากมีการแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ตำราฉบับนี้ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปรับปรุงปัญหาต่าง ๆ เช่น การเช่าที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม หากต่อมาเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งจนไม่สามารถใช้ที่ดินดังกล่าวประกอบอาชีพได้ มีประเด็นปัญหาว่า ผู้เช่ายังคงมีหน้าที่ในการชำระค่าเช่าอยู่หรือไม่ หรือกรณีของการขอลดค่าเช่าในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 เป็นต้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ ยังแนะนำว่า ในบางประเด็นยังสามารถเพิ่มเติมในส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างการใช้กฎหมายได้ และในประเด็นปัญหาใหม่ ๆ สามารถศึกษาวิทยานิพนธ์ประกอบเพื่อใช้ในการตอบปัญหาให้ดียิ่งขึ้นได้ เช่น ประเด็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า ส่วนการอธิบายนิติสัมพันธ์ของคู่สัญญาในเอกเทศสัญญานั้น ควรจะเริ่มต้นจากการอธิบายว่า หน้าที่หลักของคู่สัญญาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้นคืออะไร ซึ่งบางกรณีเป็นเรื่องที่มิได้มีการบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายเอกสัญญา เช่น เรื่องความรับผิดของผู้ให้เช่าซื้อควรจะเริ่มต้นอธิบายจากหน้าที่หลัก คือการส่งมอบทรัพย์และการโอนกรรมสิทธิ์
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 2 และ 3 จะเผยแพร่ในลำดับต่อไป