สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” ช่วงที่ 3
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 เวลา 9.00-12.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนตำรา
- รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ผู้สรุปสาระสำคัญ)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ในช่วงท้ายของช่วงที่ 2 มีคำถามจากผู้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับการเลิกสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา 573 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า ไฟแนนซ์บางที่มักกำหนดเอาไว้ในข้อสัญญาในลักษณะที่ไม่ประสงค์ให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 573 หรือแม้จะไม่ได้กำหนดเอาไว้ในสัญญาก็จะหาวิธีหลีกเลี่ยงไม่รับคืน กรณีดังกล่าวสามารถใช้การวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ ซึ่ง รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ตั้งเป็นประเด็นว่า มาตรา 573 เป็นการให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยการแสดงเจตนาเลิกสัญญาและการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ แต่โดยลักษณะของการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนนั้นมิใช่การชำระหนี้ เพราะฉะนั้น การวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้จึงไม่น่าจะนำมาปรับใช้ได้โดยตรงกับกรณีนี้ ซึ่งก็จะเป็นประเด็นปัญหาต่อไปว่า สามารถใช้บทบัญญัติดังกล่าวในฐานะที่เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
ส่วน ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า คำถามดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง การตกลงให้แตกต่างจากบทบัญญัติมาตรา 573 ทำได้หรือไม่ กล่าวคือ มาตรา 573 ให้สิทธิในการเลิกสัญญา แต่ผู้ให้เช่าซื้อกลับตกลงว่าไม่สามารถใช้สิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวได้ ซึ่งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 573 มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะฉะนั้น จึงสามารถตกลงให้แตกต่างจากสิ่งที่มาตรา 573 กำหนดเอาไว้ได้ ประเด็นที่สอง การเลิกสัญญาตามมาตรา 573 สามารถใช้วิธีการวางทรัพย์ได้หรือไม่ ซึ่งการวางทรัพย์จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นลูกหนี้ แต่กรณีตามมาตรา 573 เป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญา เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าจะใช้การวางทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม สามารถใช้หลักความมีผลของการแสดงเจตนาตามมาตรา 168 หรือมาตรา 169 ได้ กล่าวคือ การแสดงเจตนามีผลตามมาตรา 168 หรือมาตรา 169 เมื่อใดก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนผู้ให้เช่าซื้อจะรับทรัพย์สินคืนหรือไม่ไม่สำคัญ
นอกจากนี้ อาจารย์ชวิน อุ่นภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนที่มีสถานะเท่าเทียมกันก็จะเป็นตามที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น แต่หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคจะต้องพิจารณาประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ส่วนที่ 2 ทวิ การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญา) แต่ถ้าไม่มีการกำหนดเอาไว้โดยประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ก็ต้องพิจารณามาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมประกอบ พ.ศ. 2540 ด้วย
ช่วงที่ 3 การเสวนาวิชาการเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ ถึงแนวทางการแก้ไขในวาระที่ครบรอบ 100 ปีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ เสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างของบทบัญญัติดังนี้ ส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน ซึ่งประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและมีลักษณะการบัญญัติที่เป็นนามธรรม ส่งผลให้ปัญหาในทางปฏิบัติบางเรื่องศาลต้องอาศัยการใช้การตีความกฎหมายจนเกิดเป็นคำพิพากษาบรรทัดฐานขึ้น (Case law) ซึ่งบางกรณีก็เป็นการวางหลักกฎหมายขึ้นใหม่ที่มิได้มีการบัญญัติเอาไว้ในบทบัญญัติของกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ต้องการปฏิรูปกฎหมายคือ การนำเอาคำพิพากษาบรรทัดฐานมาบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในประมวลกฎหมาย ซึ่งในกรณีของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน จะมีประเด็นเรื่องสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่เป็นคำพิพากษาบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการ ศาล และนักกฎหมายภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นที่เป็นความย้อนแย้งเชิงทฤษฎี รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ จึงตั้งเป็นประเด็นว่า ควรจะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาและบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ และจะกำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้อย่างไรบ้าง
ส่วนกฎหมายลักษณะเช่าซื้อในเชิงของโครงสร้างจะเห็นว่า มีบทบัญญัติเพียงสามมาตรา โดยกล่าวถึงนิยามและแบบของสัญญาเช่าซื้อ และสิทธิในการเลิกสัญญา ซึ่งการนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญามาใช้บังคับโดยอนุโลมก็จะเกิดปัญหาอีกว่า เรื่องใดใช้บังคับได้และเรื่องใดไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ เห็นว่าควรจะมีการบัญญัติเรื่องสิทธิหน้าที่ของผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อให้เกิดความชัดเจน
ผศ.ดร.เอมผกาฯ กล่าวถึงการทำสัญญาเช่าทรัพย์ในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเช่าเน็ตฟลิกซ์อันมีลักษณะเป็น Smart Contract อย่างหนึ่ง ซึ่งทำผ่านระบบออนไลน์และคู่สัญญาอาจจะไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ก็จะมีปัญหาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถใช้แก้ปัญหาได้ในทุกกรณีหรือไม่ หรือจะต้องบัญญัติกฎหมายพิเศษขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ จนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แทบจะไม่ต้องใช้บังคับแล้ว
นอกจากนี้ ปริมาณของคดีผู้บริโภคยังมีอยู่เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับคดีแพ่งอื่น ๆ โดยเฉพาะในกรณีของสัญญาเช่าซื้อ ส่วนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสารบัญญัติหรือกฎหมายวิธีสบัญญัติ ส่งผลให้นักกฎหมายต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนของเช่าซื้อที่มีเพียงสามมาตรา ซึ่งต้องอาศัยการตีความอีกว่า สามารถอนุโลมใช้บทบัญญัติอื่นที่กฎหมายอนุญาตได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงการพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวมีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควบคุมอยู่หรือไม่ ประกอบกับคำพิพากษาและกฎหมายพิเศษที่เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด
ดังนั้น ผศ.ดร.เอมผกาฯ จึงตั้งประเด็นว่า ควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนของเช่าทรัพย์ เช่าซื้อให้ทันสมัยมากขึ้นหรือไม่ หรือควรจะนำเอาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ หรือควรจะถึงขนาดบัญญัติเป็นประมวลกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเอาไว้โดยเฉพาะ
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ กล่าวถึงสามประเด็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ซึ่งตนเองเห็นด้วยว่า ควรจะมีการนำเอามาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ชัดเจน แต่จะต้องแยกออกเป็นสองส่วนคือ สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่ปฏิบัติตามมาตรา 538 และไม่ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งผลในทางกฎหมายจะต้องแตกต่างกัน ทั้งนี้ เนื่องจากในระบบธุรกิจมักจะมีความพยายามในการทำสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาโดยปฏิบัติตามมาตรา 538 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย เพื่อประสงค์ให้ตนเองได้รับความคุ้มครองยิ่งขึ้นไปอีก และต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า บุคคลที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 538 นี้ควรจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงจะมีทั้งชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้กฎหมายจึงมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 538 และบรรดานักธุรกิจที่รู้กฎหมายแต่กลับไม่ปฏิบัติตามมาตรา 538
ประเด็นที่สอง การชำระค่าเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้ เช่น ชาวนาเช่าที่ดินเพื่อทำนา แต่ต่อมาเกิดน้ำท่วมจนไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อปลูกข้าวได้ ซึ่งศาลตัดสินมาโดยตลอดว่า ผู้เช่ายังคงมีหน้าที่ชำระค่าเช่า จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาว่า ผู้เช่าไม่สามารถใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้เพราะมีพฤติการณ์มาขัดขวางโดยที่ผู้เช่ามิได้เป็นฝ่ายผิด เหตุใดผู้เช่าจึงยังคงมีหน้าที่ชำระค่าเช่า ซึ่งในปัจจุบันระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนีพัฒนาจนสามารถตอบปัญหาดังกล่าวได้แล้ว โดยแยกพิจารณาออกเป็น 2 กรณี กรณีที่ 1 หากเป็นพฤติการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น ที่ดินดังกล่าวไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาเป็นระยะเวลา 100 ปีแล้ว กรณีนี้ผู้เช่าไม่ต้องชำระค่าเช่า และกรณีที่ 2 หากเป็นพฤติการณ์ที่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งกรณีนี้ผู้เช่าย่อมรู้ถึงพฤติการณ์ดังกล่าวได้อยู่แล้วและเข้าเสี่ยงภัยด้วยตนเอง ประกอบกับค่าเช่าในกรณีนี้ย่อมถูกลงกว่ากรณีปกติ เพราะฉะนั้น ผู้เช่ายังคงมีหน้าที่ในการชำระค่าเช่าอยู่
ประเด็นที่สาม การเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ ซึ่งผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ ยกตัวอย่างในกรณีที่ผู้เช่าเช่าพื้นที่ของตลาดเพื่อขายสินค้า แต่ผู้เช่ากลับโกงราคาสินค้า อันเป็นการใช้ทรัพย์ที่ผิดปกติประเพณีนิยมตามมาตรา 552 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามมาตรา 554 ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าละเว้นการปฏิบัติ แต่ผู้ให้เช่าไม่สามารถแสดงเจตนาเลิกสัญญาในทันทีได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้เช่าแล้ว เช่น ผู้ให้เช่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ลูกค้าอาจจะมาตลาดน้อยลง หรือผู้เช่ารายอื่นอาจจะไม่สนใจเช่าพื้นที่ในตลาดอีกต่อไป เพราะฉะนั้นผศ.ดร.สุรศักดิ์ฯ จึงเสนอว่า ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาเช่าอย่างร้ายแรง ผู้ให้เช่าควรจะมีสิทธิในการเลิกสัญญาเช่าได้ทันที
ช่วงสุดท้าย รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมงานและกล่าวปิดงานดังกล่าว