สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-14.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนและผู้แปลตำรา
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์กิตติภพ วังคำ (ช่วงที่ 1 และ 3) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ช่วงที่ 2) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์กิตติภพ วังคำ กล่าวเบื่องต้นเกี่ยวกับรายละเอียดของานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” โดยผู้เขียนและผู้แปล ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งฯ ว่างานดังกล่าวจัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ซึ่งภายในงานจะแบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงที่หนึ่งจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการเขียนตำรา ช่วงที่สองจะเป็นการพูดคุยกับอาจารย์ทั้งสองท่านคือ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ในฐานะอาจารย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการศึกษาวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาของผู้เขียน และช่วงที่สามจะเป็นการร่วมเสวนากับ Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt ในหัวข้อ “The Doctrine of the Juristic Acts from European Legal Perspectives”
รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่งฯ กล่าวเปิดงานว่า งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ซึ่งภายในเดือนเมษายนจะมีงานเสวนาในโครงการดังกล่าวอีกสองครั้ง คือวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยจะเป็นการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องการครอบครองปรปักษ์ และวันที่ 18 เมษายน 2567 จะเป็นงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของ ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
ช่วงที่หนึ่ง : การพูดคุยเกี่ยวกับการเขียนตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” โดยอาจารย์กิตติภพ วังคำ เป็นผู้ดำเนินรายการ
คำถามที่ 1 : เหตุผลที่ทำให้ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง เลือกเขียนตำราเล่มนี้
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นเหตุผลซึ่งทำให้ตนเองเลือกเขียนตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” แบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยในส่วนของปัจจัยภายนอกนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวไม่สามารถใช้เพียงงานวิจัยอย่างเดียวได้ นอกจากนี้ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ยังกล่าวถึงตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์เช่นกัน กล่าวคือ งานทางวิชาการในลักษณะตำราที่จะขอตำแหน่งดังกล่าวได้จะต้องประกอบด้วยตำราจำนวนสองเล่ม ซึ่งในตอนแรกตนมีความสนใจที่จะเขียนตำราคำอธิบายในเรื่องอื่น ๆ เช่น กฎหมายลักษณะมรดก กฎหมายลักษณะซื้อขาย แต่ด้วยเหตุผลด้านระยะเวลาในการเขียนตำราที่ใช้เวลานาน ประกอบกับตำรากฎหมายที่ใช้ศึกษาในหลักสูตรภาษาอังกฤษของคณะฯมีจำนวนน้อย จึงได้มีการเขียนตำราแปลดังกล่าวขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ศึกษาในวิชา Contract Law หรือในวิชากฎหมายLaw of Succession ซึ่งจะมีส่วนที่เชื่อมโยงกับข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม และในภายหลัง ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า สามารถใช้ตำราในลักษณะดังกล่าวเพื่อขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการเขียนตำราแปลเล่มนี้
ส่วนปัจจัยภายในจะเป็นเรื่องของความต้องการในการผลิตงานวิชาการ ซึ่งก็จะเป็นตำราเล่มแรกของ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ โดยเหตุผลที่เลือกเขียนกฎหมายลักษณะนิติกรรม สัญญา และคำมั่นนั้นก็เนื่องมาจากเป็นสิ่งที่ตนเองรู้สึกคุ้นเคยที่สุด ซึ่งก็มีที่มาจากเหตุผลหลายประการ เช่น การได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สัมมนาในวิชาดังกล่าวในช่วงระยะเวลาแรกเริ่มของการเป็นอาจารย์ ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ตนเองศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกก็ได้เลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องการเกิดสัญญาและคำมั่นตามลำดับ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ รู้สึกคุ้นเคยที่สุด
คำถามที่ 2 : กระบวนการในการจัดทำตำราทั้งฉบับภาษาไทยและฉบับแปลนั้นมีกระบวนการอย่างไร
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2559 ตนเองมีความประสงค์จะเขียนตำราคำอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะคำมั่นขึ้นมาหนึ่งเล่ม แต่ก็มิได้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องจากมีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยแนะนำว่า งานที่จะนำไปใช้เพื่อขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์นั้นไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้ (ผศ.ดร.กรศุทธิ์ จัดทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคำมั่นในสมัยชั้นปริญญาเอก) เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการจัดทำตำราให้มีความแตกต่างออกไปจากวิทยานิพนธ์ ต่อมาจึงได้มีการขอทุนจากโครงการตำราเพื่อเขียนหนังสือขึ้น ซึ่งในตอนแรกใช้ชื่อว่า “กฎหมายสัญญา ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และแนวคิดเชิงทฤษฎี” แต่ก็เขียนไม่สำเร็จเนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ภาระทางด้านการสอนที่มากจนเกินไป การเข้าไปช่วยงานบริหารของคณะ ส่งผลให้ต้องมีการคืนทุนพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โครงการตำราไป เพราะฉะนั้น ผศ.ดร.กรศุทธิ์ จึงเน้นย้ำว่าการบริหารเวลาที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในช่วงระยะเวลา 3 ปีถัดมาหลังจากคืนทุนให้แก่โครงการตำรา ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้ริเริ่มเขียนตำราขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “กฎหมายสัญญา และแนวคิดเชิงทฤษฎี” โดยมิได้เขียนเรื่องความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เพราะคาดว่าจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกลับประสบปัญหาเช่นเดิมคือการบริหารเวลาที่ไม่ดีพอ หรือแม้กระทั่งมีเวลาว่างเพียงพอแต่อยู่ในช่วงเวลาที่ไม่มีแรงบันดาลใจในการเขียน กรณีดังกล่าวก็ทำให้ไม่สามารถลงมือเขียนตำราได้เช่นกัน ดังนั้น จึงใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ทุกอย่างลงตัวและสามารถริเริ่มเขียนตำราต่อไปได้ ซึ่งในการเขียนครั้งนี้ผู้เขียนพบว่า การที่จะอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจกฎหมายลักษณะสัญญาได้ดีนั้นจำเป็นจะต้องเขียนเรื่องนิติกรรมและการแสดงเจตนาด้วย เช่น การตีความสัญญาซึ่งมีความเชื่อมโยงกับมาตรา 171 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือเหตุที่ทำให้สัญญามีความบกพร่องซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายลักษณะนิติกรรม นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เพิ่มเติมในส่วนของกฎหมายลักษณะคำมั่น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสัญญาและคำมั่น ส่งผลให้การเขียนตำราในครั้งหลังมีเค้าโครงดังต่อไปนี้
บทที่ 1 การแสดงเจตนา / บทที่ 2 นิติกรรม / บทที่ 3 เงื่อนไขความมีผลของนิติกรรม / บทที่ 4 เหตุบกพร่องของการแสดงเจตนา / บทที่ 5 โมฆะกรรมและโมฆียะกรรม / บทที่ 6 เงื่อนไขความเป็นผลของนิติกรรม / บทที่ 7 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของสัญญาและคำมั่น / บทที่ 8 ความหมาย องค์ประกอบพื้นฐาน และการแบ่งประเภทของสัญญา / บทที่ 9 การเกิดสัญญา / บทที่ 10 คำมั่น / บทที่ 11 การตีความการแสดงเจตนา / บทที่ 12 การตีความสัญญา / บทที่ 13 ผลของสัญญา / บทที่ 14 มัดจำและเบี้ยปรับ / บทที่ 15 การเลิกสัญญา
ในส่วนของตำราฉบับแปลนั้นผู้เขียนกล่าวว่า ใช้ระยะเวลาในการจัดทำไม่มากนัก เนื่องจากมีความแตกต่างจากตำราฉบับภาษาไทยในแง่ที่ว่า ตำราฉบับภาษาไทยนั้นจะต้องมีการวางเค้าโครง สร้างความเชื่อมโยง หรือมีการอ้างอิงให้ถูกต้อง เป็นต้น แต่ในส่วนของตำราฉบับแปลนั้นไม่มีอะไรเพิ่มเติมนอกจากการแปลภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับเป็นคำศัพท์ที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงส่งผลให้สามารถดำเนินการจัดทำตำราฉบับแปลได้ค่อนข้างเร็ว
คำถามที่ 3 : ลักษณะของตำราเล่มนี้เป็นอย่างไร และผู้อ่านจะได้อะไรจากตำราเล่มนี้บ้าง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ตำราเล่มนี้เป็นตำราที่อธิบายข้อความคิดทางกฎหมายของนิติกรรม สัญญา และคำมั่น ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการอธิบายหลักกฎหมาย (doctrine) โดยจะมีการยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย ซึ่งหลากหลายตัวอย่างจะมีที่มาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อของโดยที่มิได้ตกลงกันว่า ผู้ขายจะต้องใส่ถุงพลาสติกให้หรือไม่ กรณีดังกล่าวก็จะเกิดประเด็นในทางกฎหมายว่า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ หรือแม้กระทั่งตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกา หรือข่าวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เช่น สถานบันเทิงแห่งหนึ่งประกาศในสถานการณ์โควิด-19 ว่า ถ้าผู้ใช้บริการท่านใดมาใช้บริการและได้รับเชื้อโควิด-19 สถานบันเทิงจะให้เงินจำนวนหนึ่ง กรณีดังกล่าวก็จะมีประเด็นให้พิจารณาในทางกฎหมายว่า มีสถานะเป็นคำมั่นว่าจะให้รางวัลหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการอ้างอิงทางทฤษฎี (theory) ประกอบด้วย เช่น ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการแสดงเจตนา ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนา เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ตำราเล่มนี้มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดก็คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นเพียงตัวอย่างการปรับใช้กฎหมายมาตรานั้น ๆ ซึ่งผู้เขียนจะอ้างอิงเฉพาะเลขของคำพิพากษาศาลฎีกา เพราะหากนำเนื้อหาของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่มีประเด็นมากล่าวถึงโดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมจะทำให้ตำรามีความหนาจนเกินจำเป็น เว้นแต่เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้เขียนต้องการจะวิเคราะห์ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า ศาลมีคำพิพากษาที่แตกต่างไปจากหลักกฎหมาย กรณีดังกล่าวก็จะมีการกล่าวถึงเนื้อหาของคำพิพากษาศาลฎีกาบางส่วนเอาไว้ในตำรา
คำถามที่ 4 : ในการเขียนตำราฉบับภาษาไทยและฉบับแปลนี้ประสบปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ในการเขียนตำราครั้งนี้ ตนเองต้องการให้ผู้อ่านทราบว่า ในเรื่องเหล่านี้มีคำอธิบายที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะมีทั้งความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่ ความเห็นของนักกฎหมายที่แตกต่างออกไป และความเห็นของศาล โดยที่ผู้เขียนจะพยายามอ้างอิงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ครบถ้วน และเพิ่มเติมความเห็นของผู้เขียนบ้างในบางประเด็น ประกอบกับขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องการจะนำเสนอนั้นกว้างกว่าที่ตั้งใจในตอนแรก ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนได้เพิ่มเติมในส่วนคำอธิบายของกฎหมายลักษณะนิติกรรมและคำมั่นเข้ามา ในแง่นี้จึงมีความยากในส่วนของการรวบรวมเนื้อหาและการอ้างอิง นอกจากนี้ ความยากอีกประการหนึ่งก็คือการจัดสมดุลระหว่างความเห็นของผู้เขียนและสิ่งที่ต้องการนำเสนอในตำราเล่มนี้ เนื่องจากการเขียนตำรานั้นมีความแตกต่างจากงานวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์ที่สามารถนำเสนอความเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ในตำราฉบับนี้จึงมีทั้งส่วนที่นำเสนอความเห็นของผู้เขียนและส่วนที่มิได้นำเสนอความเห็นของผู้เขียน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักกฎหมายไทยยังมีความเห็นแตกต่างกัน ประกอบกับผู้เขียนยังมีความเห็นไม่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว หรือแม้กระทั่งจะมีความเห็นที่ชัดเจนแล้ว แต่กลับไม่สามารถนำเสนอแบบกระชับในรูปแบบของตำราได้เพราะอาจจะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในส่วนนี้จึงมีความจำเป็นจะต้องจัดทำในรูปแบบของงานวิจัย หรือศึกษาเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน
ในส่วนของตำราฉบับแปลนั้นผู้เขียนไม่ค่อยประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากนัก เนื่องจากเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ประกอบกับสามารถตรวจสอบคำศัพท์ต่าง ๆ ได้จากต้นร่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น ในส่วนที่เป็นคำศัพท์ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีความยากเกี่ยวกับการเลือกใช้คำศัพท์ในการสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจในส่วนของคำอธิบายเชิงทฤษฎี ซึ่งเป็นคำที่มิได้รับการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น คำว่า เงื่อนไขความมีผลของนิติกรรม เงื่อนไขความเป็นผลของนิติกรรม สิทธิก่อตั้ง เป็นต้น
คำถามที่ 5 : หน้าปกของตำราฉบับนี้มีที่มาอย่างไร
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า เป็นความต้องการที่จะออกแบบหน้าปกของตำราด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้มีความแตกต่างจากแนวทางการออกแบบของสำนักพิมพ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวผู้เขียนได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาท่านหนึ่งในการช่วยออกแบบหน้าปกของตำรา โดยหน้าปกของตำราฉบับนี้มีที่มาจากแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงเจตนาและนิติกรรม ซึ่งผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจาก ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการออกแบบหน้าปกนั้นผู้เขียนประสงค์จะให้มีวงกลมวงใหญ่อีกวงนึง ซึ่งก็คือวงกลมที่มีชื่อว่า “การแสดงเจตนา” แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านความสวยงามจึงทำให้หน้าปกของตำราฉบับนี้ออกมาในลักษณะดังกล่าวตามที่ปรากฎ และในส่วนของโทนสีนั้นผู้เขียนต้องการสีฟ้าหรือน้ำเงิน เนื่องจากเป็นสีที่มองแล้วให้รู้สึกสบาย ส่วนปกหลังของตำราฉบับนี้จะเป็นการออกแบบโดยนำคำอธิบายของ Stair นักกฎหมายของสกอตแลนด์ซึ่งอธิบายว่าคำมั่นคืออะไรมาใส่ไว้
คำถามที่ 6 : ตำราฉบับนี้จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการวิชาการอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการพูดถึงคุณประโยชน์ของตำราฉบับนี้ ตนอาจกล่าวถึงลักษณะเด่นจำนวน 3 ประการของตำราฉบับนี้ เนื่องจากผู้เขียนเคยถูกตั้งคำถามดังกล่าวโดย Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt ก่อนที่จะมีการพิมพ์ตำราฉบับนี้ ประการแรกคือ เป็นตำราที่มิได้รวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากโดยปราศจากคำอธิบาย หรือการวิเคราะห์จากผู้เขียน เนื่องจากกรณีดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้อ่านแต่อย่างใด ประการที่สองคือ เป็นตำราที่มีการอธิบายเรื่องคำมั่น การตีความการแสดงเจตนา และการตีความสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคำอธิบายโดยละเอียดจากตำราทั่วไป และประการที่สามคือ เป็นตำราที่มีทั้งการนำเสนอความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่และความเห็นของนักกฎหมายที่แตกต่างออกไป เช่น ประเด็นเกี่ยวกับนิติกรรมฝ่ายเดียวสามารถก่อให้เกิดหนี้ได้หรือไม่
ในแง่คุณประโยชน์ของตำราฉบับนี้ก็จะประกอบไปด้วยสิ่งที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ มีการอธิบายความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่และความเห็นของนักกฎหมายที่แตกต่างออกไป และผู้เขียนยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจและสามารถนำเอาประเด็นต่าง ๆ ในตำราฉบับนี้ไปศึกษาต่อยอดได้ เช่น ประเด็นที่นักกฎหมายยังมีความเห็นไม่ตรงกันและยังหาข้อยุติไม่ได้ หรือแม้จะเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้ให้ความเห็นแล้ว แต่หากผู้อ่านเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ ผู้อ่านก็สามารถนำเอาเรื่องดังกล่าวไปศึกษาต่อยอดได้ นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถใช้ตำราฉบับนี้ในการอ้างอิงความเห็นของนักกฎหมายที่มีความเห็นแตกต่างจากความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่ได้ด้วย และผศ.ดร.กรศุทธิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการแก้ไขปรับปรุงตำราฉบับนี้ก็อยากจะมีการนำเอาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทซึ่งตนป็นอาจารย์ที่ปรึกษามาอ้างอิงเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อให้คำอธิบายของตำราฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ในตอนท้ายของช่วงที่หนึ่งมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังสอบสามารถสอบถามคำถามต่าง ๆ ซึ่ง รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ มีคำถามดังต่อไปนี้
คำถาม : การเขียนตำราฉบับนี้เรื่องใดเป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้สึกสนุกที่สุด เรื่องใดที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเขียนยากที่สุด และมีเรื่องใดบ้างที่ผู้เขียนเห็นว่า ยังเขียนไม่สมบูรณ์ หรือสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ในการเขียนตำราฉบับนี้ตนเองรู้สึกสนุกหลายส่วน แต่ถ้าต้องเลือกเพียงหนึ่งเรื่องก็จะเป็นเรื่องการตีความการแสดงเจตนา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการเขียนมานานแล้ว ส่วนเรื่องที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเขียนยากที่สุดคือเรื่องผลของสัญญา เนื่องจากต้องมีการอธิบายโดยเชื่อมโยงกับกฎหมายลักษณะหนี้
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังกล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนที่ผู้เขียนจะต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่น เรื่องเหตุบกพร่องของการแสดงเจตนาในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างมาตรา 156 มาตรา 157 และมาตรา 171 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนยังไม่ได้เขียนอย่างชัดเจน หรือในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทำสัญญาโดยสำคัญผิดซึ่งส่งผลให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะ โดยการแสดงเจตนาที่ตกเป็นโมฆะนี้หมายความว่า ไม่มีเจตนาอยู่ เท่ากับว่าไม่มีคำเสนอ เพราะฉะนั้น สัญญาจึงไม่เกิด หรือหมายความว่า สัญญาเกิดขึ้นแต่สัญญาตกเป็นโมฆะ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนได้ให้ความเห็นไว้ แต่ยังมิได้อธิบายเหตุผลโดยละเอียด
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” ช่วงที่ 2 และ 3 จะเผยแพร่ในลำดับต่อไป