สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” ช่วงที่ 2
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-14.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนและผู้แปลตำรา
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศรอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ช่วงที่สอง : ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และรศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ร่วมพูดคุยในฐานะอาจารย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการศึกษาวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาของผู้เขียน ซึ่งดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และรศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของผู้เขียนในแง่ของการศึกษา การสอนและการจัดทำตำราฉบับนี้ ซึ่งในระดับชั้นปริญญาตรีนั้นผู้เขียนไม่เคยศึกษากับ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ เนื่องจากถูกรุ่นพี่แนะนำว่า เป็นแนวทางการสอนที่เข้าถึงค่อนข้างยาก ซึ่งก็จะมีสิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวในสมัยที่ผู้เขียนเริ่มเข้ามาทำหน้าที่เป็นอาจารย์และได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สัมมนา กล่าวคือ ผู้เขียนได้ทำการรวบรวมข้อสอบเก่าและพบว่าไม่สามารถให้คำตอบข้อสอบของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ เช่น ข้อสอบถามว่าผู้โดยสารบอกกับคนขับแท็กซี่ว่า ให้ไปส่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคนขับแท็กซี่ได้พามาส่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งที่ภายในใจจริง ๆ ของผู้โดยสารประสงค์จะไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ หรือกรณีที่ลูกค้าบอกกับแม่ค้าว่า เอากล้วยไม่ไหม้ แต่แม่ค้ากลับทำกล้วยไหม้ไหม้ให้ ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ใหม่ไม่สามารถให้คำตอบได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาต่อมาผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สัมมนาในกลุ่มของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ประกอบกับในระดับชั้นปริญญาโทก็ได้ศึกษากับ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จึงทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจเรื่องการตีความการแสดงเจตนาและตีความสัญญามากยิ่งขึ้น
ในส่วนของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นั้น ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงภาคการศึกษาที่ 1 ปี พ.ศ. 2559 หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ตนได้รับโอกาสให้เข้ามาสอนแทน รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ในช่วงครึ่งเทอมหลัง ซึ่งเค้าโครงการบรรยายของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ จะมีความแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่น ส่งผลให้ผู้เขียนต้องเข้าฟังการบรรยายของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์เช่นกัน โดยในช่วงระยะเวลานี้เองที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจแนวทางของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ เนื่องจากในบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนกำลังพยายามหาคำตอบอยู่เช่นกัน เช่น การอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างคำเสนอที่ทำต่อสาธารณะชนและคำมั่นที่ทำต่อสาธารณะชนว่าสถานะในทางกฎหมายมีความแตกต่างกันอย่างไร จึงทำให้แนวทางการอธิบายของผู้เขียนในส่วนของนิติกรรมได้รับแรงบันดาลใจจาก รศ.ดร.กิตติศักดิ์
ช่วงต่อมาจะเป็นการพูดคุยกันระหว่าง ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ และผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
คำถามที่ 1 : ที่มาและที่ไปของการเข้ามาสอนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาของอาจารย์ทั้งสองท่านคืออะไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ระบบของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มีทั้งอาจารย์ที่ได้สอนในวิชาที่ตนเองต้องการ กับอาจารย์ที่ต้องสอนในวิชาที่คณะมอบหมายให้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีผู้สอนในวิชาดังกล่าว แต่วิชาที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ สอนในระดับชั้นปริญญาตรีทั้งหมดเป็นวิชาที่ตนเองตั้งใจจะสอนจริง ๆ โดยในส่วนของวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญานั้น เป็นวิชาที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ แจ้งต่อหัวหน้าภาควิชาว่า ต้องการตั้งกลุ่มบรรยายของตนเองขึ้นมาใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ใกล้ชิดกับอาจารย์มากยิ่งขึ้นและเป็นการแบ่งเบาภาระของอาจารย์ท่านอื่นในการดูแลนักศึกษา นอกจากนี้ ยังเป็นวิชาที่ตนเองชื่นชอบตั้งแต่สมัยเรียนกับอาจารย์ หยุด แสงอุทัย ประกอบกับการสอนในวิชาดังกล่าวทำให้ตนเองเข้าใจและตอบปัญหาในวิชาอื่น ๆ ที่สอนอยู่ก่อนหน้านี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะแต่ละวิชาที่ตนเองสอนนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น การเลิกสัญญาซื้อขายก็ต้องกลับมาพิจารณากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา หรือแม้กระทั่งคดีที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันก็มักจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับบรรพหนึ่ง บรรพสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จึงเข้ามาสอนในวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จะมีแนวทางการสอนที่เชื่อมโยงวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะหนี้ และกฎหมายลักษณะเอกเทศสัญญาเข้าด้วยกัน หรือแม้กระทั่งการใช้ข้อสอบชุดเดียวกันในการสอบวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญากับกฎหมายลักษณะเอกเทศสัญญา เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ เห็นภาพและสามารถเชื่อมโยงแต่ละวิชาเข้าด้วยกันได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองออกข้อสอบในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น การพิจารณาว่า ผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายมีหน้าที่ในการออกค่าขนส่งหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากกฎหมายลักษณะหนี้
ต่อมา รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกต กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมว่า ตำราของ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง เสมือนเป็นการตั้งคำถามกับวงการวิชาการว่า เป็นระยะเวลากว่า 100 ปีแล้วทำไมเรื่องลักษณะนี้ยังหาคำตอบกันไม่ได้เสียที ส่วนปัจจัยที่ทำให้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ต้องมาสอนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาคือ การถูกบังคับโดยทุนการศึกษาที่กำหนดให้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ต้องศึกษาในเชิงเปรียบเทียบและในเชิงสหวิทยาการว่า กฎหมายแพ่งและกฎหมายทั้งหลายในประเทศไทยนั้นเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางนิติปรัชญาอย่างไร ซึ่งหัวหน้าภาควิชานิติศึกษาและหัวหน้าภาควิชากฎหมายแพ่งกล่าวกับ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ว่า นอกจากการศึกษาปรัชญาแล้ว ให้ศึกษากฎหมาย ทฤษฎีกฎหมาย และหลักกฎหมายมาด้วย ต่อมา รศ.ดร.กิตติศักดิ์ จึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้สอนในวิชานิติปรัชญาและวิชากฎหมายแพ่งหลักทั่วไป
ส่วนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญานั้นตนได้รับหน้าที่ให้สอนในวิชาดังกล่าวในเวลาต่อมา เนื่องจากหัวหน้าภาควิชาและอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาอยู่ในขณะนั้น ขอความร่วมมือให้มาช่วยสอนวิชาดังกล่าวในระดับชั้นปริญญาโท และต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้มาสอนในระดับชั้นปริญญาตรีตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาระการสอนที่มากจนเกินไป เนื่องจากต้องรับหน้าที่สอนในวิชากฎหมายแพ่งหลักทั่วไป กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะทรัพย์ ประวัติศาสตร์กฎหมาย และนิติปรัชญา ประกอบกับเป็นช่วงระยะเวลาที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร รับหน้าที่สอนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาอยู่พอดี จึงทำให้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ พักการสอนในส่วนของวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาเป็นระยะเวลา 2-3 ปี และกลับมารับหน้าที่ดังกล่าวอีกครั้งในปี พ.ศ.2543 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เนื่องจากได้รับการร้องขอจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งช่วงระยะเวลานี้เองเป็นช่วงระยะเวลาที่ตนมีเวลาว่างเพียงพอในการเขียนเอกสารประกอบคำบรรยายวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาตามที่ปรากฏ
ส่วนสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาคือ ความสงสัยในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยตนเองศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาตรี ที่แม้ตนเองจะรู้วิธีตอบข้อสอบอย่างไรให้ได้คะแนนดี แต่กลับไม่รู้เหตุผลของคำตอบดังกล่าว ครั้นจะไปถามอาจารย์ผู้สอนก็กลับได้คำตอบว่า เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งเกินไปสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษากฎหมาย
คำถามที่ 2 : การที่ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ จัดเค้าโครงการสอนซึ่งแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่น เช่น การเริ่มอธิบายกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาด้วยเรื่องของการแสดงเจตนานั้น มีที่มาและที่ไปอย่างไร และอาศัยสิ่งใดในการอ้างอิงเพื่อใช้ในการสอน ทั้งนี้ เนื่องจากตำราบางเล่มไม่สามารถให้คำตอบในสิ่งที่ตนเองสงสัยได้
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเองศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาตรีนั้นมีคำถามหลายคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ซึ่งเมื่อนำคำถามต่าง ๆ ไปสอบถามกับอาจารย์ผู้สอนก็มักจะได้คำตอบว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้คำตอบของคำถามดังกล่าว เพราะจะทำให้ระบบทางความคิดปั่นป่วนไปหมด จนกระทั่ง รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาโท จึงจะเริ่มได้รับคำตอบหลัก ๆ จากอาจารย์ผู้สอน ซึ่งทำให้ตนเองนำไปคิดต่อยอดและตอบคำถามต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ ในระดับชั้นปริญญาโท รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ยังประสบปัญหากับการเขียนวิทยานิพนธ์ที่แม้จะอ่านตำราต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่า 9 เดือน แต่ไม่สามารถเริ่มลงมือเขียนวิทยานิพนธ์ได้ จนกระทั่งได้รับการชักชวนจากอาจารย์ผู้สอนให้มารับฟังการแปลสารบัญของคำอธิบายกฎหมายเยอรมันในเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ได้รับแนวทางในการเขียนวิทยานิพนธ์และรู้ถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าวว่า มีที่มาจากการจัดลำดับความคิดไม่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากตำราของนักกฎหมายเยอรมันจะมีเค้าโครงที่ละเอียดและมีการจัดลำดับความคิดอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้เค้าโครงของวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาจึงมีที่มาจากเค้าโครงแบบเยอรมนีด้วย
คำถามที่ 3 : เหตุใด ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร ถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการตีความสัญญา
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญานั้นตนเองสอนทุกเรื่อง ซึ่งอาจจะมีการสอนในส่วนของการตีความสัญญามากกว่าอาจารย์ท่านอื่น จึงทำให้ดูเหมือนว่าตนเน้นเรื่องการตีความสัญญา แต่ในความเป็นจริงแล้วตนให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง ต่อมา ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงอาจารย์ของตนเองสมัยที่ศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนีว่า ครั้งหนึ่งเคยเชิญทานมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ซึ่งอาจารย์ของผศ.ดร.สุรศักดิ์บอกกับคนขับแท็กซี่เมื่อตอนมาถึงประเทศไทยว่า ให้พาไปส่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่คนขับแท็กซี่พามาส่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งที่ท่านต้องการไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ซึ่งก็จะเป็นประเด็นเรื่องการตีความสัญญา
โดยสาเหตุที่ทำให้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ให้ความสำคัญกับการตีความสัญญานั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นสัญญาที่แตกต่างจากสิ่งที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจในการตกลงทำสัญญาให้แตกต่างจากสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ จะต้องห้ามเฉพาะการตกลงทำสัญญาให้แตกต่างจากกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น ประกอบกับสัญญาทุกฉบับจะมีปัญหาในเรื่องของการตีความเสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากคู่สัญญาไม่มีทางที่จะตกลงข้อสัญญาให้ครบทุกข้อได้ เพียงแต่เรื่องดังกล่าวไม่มีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลเท่านั้นเอง นอกจากนี้ การศึกษาในเรื่องของการตีความสัญญานั้นก็มีบทบัญญัติเพียงไม่กี่มาตรา แต่กลับนำเรื่องดังกล่าวไปใช้ได้ทั้งชีวิตของนักกฎหมาย เพราะฉะนั้นตนจึงสอนเรื่องดังกล่าวแก่นักศึกษาโดยละเอียด
คำถามที่ 4 : ในความเป็นจริงข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมนั้นถูกพูดถึงในทางทฤษฎีน้อยกว่าในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ในทางปฏิบัตินักปฏิบัติจะพูดถึงนิติกรรมน้อยว่านักวิชาการ เช่น มีโอกาสน้อยมากที่ลูกความจะให้ทนายความพิจารณาว่า สิ่งนี้เป็นนิติกรรมหรือไม่ ในขณะเดียวกันข้อพิพาทที่ขึ้นสู่ศาลว่า สิ่งนี้เป็นนิติกรรมหรือไม่ก็มีน้อยมากเช่นเดียวกัน จึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการมีกฎหมายลักษณะนิติกรรมในฐานะบททั่วไปอยู่หรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า หลักของนิติกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงเจตนา ความสมบูรณ์ของการแสดงเจตนา ความบกพร่องของการแสดงเจตนา การบังคับตามการแสดงเจตนา สิ่งเหล่านี้เป็นหลักการพื้นฐานของนิติกรรมและมีความเชื่อมโยงกับทุกบรรพของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น บทบัญญัติว่าด้วยเอกเทศสัญญาในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทำสัญญาโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ กรณีดังกล่าวก็ต้องพิจารณาตามหลักของนิติกรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องทรัพย์ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ หรือสละกรรมสิทธิ์ ก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องการแสดงเจตนา เพราะฉะนั้น หากปราศจากข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมย่อมก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อระบบกฎหมาย
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในระบบกฎหมายเยอรมันนั้นนิติกรรมจะเป็นหัวใจของระบบกฎหมายทั้งระบบ ซึ่งกฎหมายจะบัญญัติถึงข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวแบ่งออกเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และข้อเท็จจริงที่มิได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งในส่วนของข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1. ข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยความสมัครใจที่ประสงค์จะผูกพัน 2.ข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่แม้ไม่ประสงค์จะผูกพันแต่ก็เกิดผลในทางกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงในส่วนที่เกิดจากการกระทำด้วยความสมัครใจที่มุ่งจะก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายนั้น เป็นส่วนที่กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงเจตนา อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยใหม่และเริ่มรับรู้กันตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 จนก่อให้เกิดคำอธิบายในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญา ส่วนข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมนั้นต้องรอจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 จึงจะมีการวิเคราะห์กันว่า บรรดาสัญญาและสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้เรียกว่าสัญญานั้น มีหลักทั่วไปที่แฝงอยู่คือเรื่องนิติกรรม อันเป็นผลมาจากการถอดปัจจัยของความสัมพันธ์หรือนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายทั้งหมดที่เกิดจากเจตนาที่ประสงค์ต่อผลในทางกฎหมาย
ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสแม้จะมีการบัญญัติกฎหมายแล้วในศตวรรษที่ 19 แต่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนิติกรรม ส่งผลให้ในขณะนั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยนิติกรรม อย่างไรก็ตาม ในการทำความเข้าใจหรืออธิบายก็หลีกหนีไม่พ้นข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม เพียงแต่ประเทศฝรั่งเศสไม่มีการบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้น ประเทศฝรั่งเศสจึงใช้หลักการตีความกฎหมายอย่างกว้าง ซึ่งการเทียบเคียง (Analogy) ก็ถูกนับว่าเป็นการตีความกฎหมายอย่างหนึ่ง ในขณะที่ประเทศเยอรมนีมองว่าการเทียบเคียง (Analogy) ไม่ใช่การตีความกฎหมาย แต่เป็นการปรับใช้กฎหมายโดยการเทียบเคียง กล่าวโดยสรุป ข้อความคิดต่าง ๆ ในทางกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสจึงมักจะปรากฏอยู่ในรูปของคำสอน เช่น คำสอนเรื่องนิติกรรม ดังนั้น ต่อให้ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยนิติกรรมก็ต้องมีการพัฒนาทางด้านความคิดในเรื่องดังกล่าวอยู่ดี
คำถามที่ 5 : เนื่องจาก ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และรศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี จึงอยากสอบถามว่า กฎหมายไทยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายเยอรมันอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากกฎหมายแพ่งเยอรมันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพัฒนาการและที่มาของกฎหมายแพ่งเยอรมันเนื่องจากเป็นที่มาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งการศึกษาค้นคว้าก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากกฎหมายเยอรมันอธิบายเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับในปัจจุบันมีงานทางวิชาการระดับโลกของนักกฎหมายเยอรมันเป็นจำนวนมาก จึงง่ายต่อการค้นคว้าและสามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายแพ่งเยอรมันและไทยนั้นต่างก็ประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ความรู้ทางด้านวิชาการถูกพัฒนาไปเป็นจำนวนมาก เช่น ผลงานทางวิชาการของนักกฎหมายเยอรันและนักกฎหมายไทย หรือแม้กระทั่งผลงานของนักศึกษาในส่วนของวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก แต่บทบัญญัติของกฎหมายกลับไม่ได้ถูกพัฒนาตามแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น เนื่องในโอกาส 100 ปี ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีความทันสมัยเทียบเท่ากับความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบัน
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมนั้น เป็นผลมาจากการตกผลึกทางความคิดที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งแม้จะมีที่มาจากกฎหมายแพ่งเยอรมันแต่ก็ไม่ใช่เสียทั้งหมด เช่น การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม มาตรา 156 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ในขณะที่กฎหมายแพ่งของเยอรมันกำหนดให้ตกเป็นโมฆียะ หรือในเรื่องผลของโมฆียะกรรมที่กฎหมายแพ่งของเยอรมันกำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วให้กลับไปใช้ผลของโมฆะกรรม ในขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดว่า เมื่อบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วให้คู่กรณีกับคืนสู่ฐานะเดิม ซึ่งการกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นอย่างไร และจะต้องนำหลักการของโมฆะกรรมมาใช้ด้วยหรือไม่ กรณีดังกล่าวก็ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงของนักกฎหมายไทย
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” ช่วงที่ 3 จะเผยแพร่ในลำดับต่อไป