สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-14.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนและผู้แปลตำรา
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldtอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ช่วงที่สาม : เสวนาวิชาการในหัวข้อ “The Doctrine of the Juristic Acts from European Legal Perspectives” (เสวนาเป็นภาษาอังกฤษ และสรุปการแปลเป็นภาษาไทยโดยผศ.ดร.กรศุทธิ์)
คำถามที่ 1 : ในวงการวิชาการของนักกฎหมายไทยเคยมีประเด็นถกเถียงกันในเรื่องของข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมและกฎหมายลักษณะครอบครัว จึงสอบถาม Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt ว่า ในมุมมองของกฎหมายเยอรมัน การหมั้นและการสมรสนี้เป็นนิติกรรมหรือสัญญาหรือไม่
Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt กล่าวว่า ในมุมมองของกฎหมายเยอรมันนั้น การหมั้นและการสมรสเป็นนิติกรรมและสัญญา แต่เป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษ โดย Dr. Lasse อธิบายเพิ่มเติมว่า การแสดงเจตนาและนิติกรรมนั้นเป็นคนละอย่างกัน เช่น การที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขของการสมรสว่าต้องดำเนินการจดทะเบียน ซึ่งการจดทะเบียนสมรสนี้เป็นองค์ประกอบทางข้อเท็จจริงที่กฎหมายกำหนดเพิ่มเติม กล่าวคือ เจตนาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถก่อให้เกิดนิติกรรมการสมรสขึ้นได้ แต่จะต้องประกอบกับองค์ประกอบทางข้อเท็จจริงคือการแสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงาน และให้เจ้าพนักงานบันทึกความยินยอมนั้นไว้ เพราะฉะนั้น หากมิได้จดทะเบียนสมรสก็มิได้หมายความว่าการสมรสตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้ตรงกับคำอธิบายในตำราของผศ.ดร.กรศุทธิ์ แต่อาจแตกต่างจากความเห็นของนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ที่มองว่า การจดทะเบียนนั้นเป็นแบบของการสมรส
คำถามที่ 2 : นักกฎหมายสกอตแลนด์มีมุมมองต่อข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมอย่างไร
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า ระบบกฎหมายของสกอตแลนด์มีรากฐานมาจากระบบกฎหมาย Civil Law และได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมาย Common Law ในภายหลัง ในทางวิชาการจึงถูกจัดว่าเป็นระบบกฎหมายแบบผสม ซึ่งในระบบกฎหมายของสกอตแลนด์ ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมเป็นที่รู้จัก แต่เนื่องจากไม่มีการจัดทำประมวลกฎหมาย ประกอบกับตำราที่อธิบายถึงข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมนั้นมีจำนวนน้อยมาก ส่งผลให้คำอธิบายเกี่ยวกับข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมไม่ค่อยปรากฏอย่างชัดเจนและถูกพัฒนาเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ในทางตำราของกฎหมายสกอตแลนด์ก็ปรากฏการใช้คำว่า “juristic act” เช่นใน MacQueen and Thomson Contract Law in Scotland อธิบายว่า การโอนสิทธิเรียกร้อง (assignation) นั้นแตกต่างจากสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก (JQT) ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดสิทธิแก่บุคคลภายนอกเหมือนกัน แต่การโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะเป็นการทำนิติกรรมขึ้นใหม่อีกนิติกรรมหนึ่ง ในขณะที่สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจะไม่มีการทำนิติกรรมขึ้นใหม่แต่อย่างใด ซึ่งข้อสังเกตคือ นักกฎหมายสกอตใช้คำว่า “juristic act” ซึ่งเป็นคำเก่า เพราะในปัจจุบันในระบบกฎหมายยุโรปจะนิยมใช้คำว่า “juridical act” มากกว่า
TB Smith, A Short Commentary on the Law of Scotland, Edinburgh: W. Green & Son, Ltd. 1962 เป็นตำราที่อธิบายถึงภาพรวมของระบบกฎหมายสกอตแลนด์ ซึ่งมีการกล่าวถึง “juristic act” ว่า เป็นข้อความที่มีความซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมถึงสถานการณ์ที่บุคคลได้มีการแสดงเจตนาออกมาเพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน ระงับสิทธิ และ TB Smith ยังกล่าวถึงการแบ่งประเภทของนิติกรรม เช่น นิติกรรมที่เป็นผลระหว่างมีชีวิตอยู่และนิติกรรมที่เป็นผลเมื่อตายแล้ว นิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนและนิติกรรมที่มีค่าตอบแทน นิติกรรมฝ่ายเดียวและนิติกรรมสองฝ่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความเข้าใจในเรื่องข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมของนักกฎหมายสกอตคล้ายครึ่งกับนักกฎหมายไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ไม่ค่อยมีการพัฒนาข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมในสกอตแลนด์ เนื่องจากข้อความคิดดังกล่าวไม่ได้ถูกจัดทำในรูปแบบของประมวลกฎหมาย ในแง่นี้จึงคล้ายกับระบบกฎหมายฝรั่งเศสที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม ประกอบกับตำราในสมัยใหม่มักจะอธิบายในรูปแบบของสัญญา (Contract) มากกว่า ดังนั้น ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมในระบบกฎหมายสกอตแลนด์จึงไม่ได้ถูกพัฒนามากนัก
คำถามที่ 3 : ในมุมมองของ Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมนั้นยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่ อย่างไร
Asst. Prof. Dr. Lasse Schuldt กล่าวว่า ในชีวิตประจำวันสิ่งที่จะต้องเจอมากที่สุดก็คือสัญญา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ระบบกฎหมายฝรั่งเศสใช้ข้อความคิดว่าด้วยสัญญาเป็นหลักทั่วไป หรือแม้กระทั่งนักกฎหมายเยอรมันเอง สัญญาก็ยังคงเป็นสิ่งที่จะต้องเจอมากที่สุดเช่นกัน ส่วนสิ่งที่มิใช่สัญญาก็จะมีการกำหนดบทบัญญัติเอาไว้เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นหลักการร่วมกันของบทบัญญัติเฉพาะหรือสัญญาต่าง ๆ ก็คือข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม ดังนั้น ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมจึงยังมีประโยชน์ในแง่ของการปรับใช้และทำความเข้าใจในทางหลักการ หรือในทางทฤษฎี
คำถามที่ 4 : ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมในมุมมองของภาคพื้นยุโรปปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะใน Draft Common Frame of References (DCFR)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า Draft Common Frame of References (DCFR) ถือเป็นความพยายามในการสร้างหลักเกณฑ์ร่วมกันของภาคพื้นยุโรป ซึ่งก็จะต้องมีการพิจารณาว่า จะให้สัญญาหรือนิติกรรมเป็นข้อความคิดหลัก แต่เมื่อพิจารณาจะเห็นได้ว่า Draft Common Frame of References (DCFR) มีการรับรองข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม (juridical acts) ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า มีกรณีที่เจตนาฝ่ายเดียวก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายได้ หรือแม้กระทั่งธุรกรรมในทางปฏิบัติบางอย่างที่สามารถก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายได้ด้วยเจตนาฝ่ายเดียวโดยที่ไม่ต้องอาศัยการสนองรับ ซึ่งการอธิบายทุกอย่างผ่านข้อความคิดว่าด้วยสัญญาจะไม่สามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ในส่วนนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมในการอธิบาย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโครงสร้างของ Draft Common Frame of References (DCFR) จะเห็นได้ว่า ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมมิใช่ข้อความคิดหลัก เช่น บรรพที่สองซึ่งใช้คำว่า Contracts and Other Juridical Acts ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สัญญาเป็นข้อความคิดหลัก ส่วนข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมจะมาเพิ่มเติมในสิ่งที่สัญญาอธิบายไม่ได้ ซึ่งก็คือนิติกรรมฝ่ายเดียวนั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากนิติกรรมสองฝ่ายหรือนิติกรรมหลายฝ่ายจะอยู่ในความหมายของสัญญาอยู่แล้ว
คำถามที่ 5 : ในปัจจุบันนี้พัฒนาการของข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมในระบบกฎหมายต่าง ๆ ของทวีปยุโรปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสในช่วงที่มีการประกาศใช้เมื่อปีค.ศ. 1804 จะเห็นว่า ข้อความคิดว่าด้วยสัญญาเป็นข้อความคิดหลัก และมีบทบัญญัติว่าด้วยคำมั่นในการซื้อขาย แต่คำมั่นในการซื้อขายของระบบกฎหมายฝรั่งเศสจะเป็นนิติกรรมสองฝ่าย กล่าวคือ ต้องเกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ให้คำมั่นกับผู้รับคำมั่น และในปัจจุบันระบบกฎหมายของฝรั่งเศสก็ยังคงมีความเข้าใจว่า คำมั่นเป็นนิติกรรมสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือการแก้ไขประมวลกฎหมายของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 2016 เช่น มีบทบัญญัติว่า หนี้อาจจะเกิดจากนิติกรรม นิติเหตุ หรือโดยผลของกฎหมายก็ได้ โดยมีการให้คำนิยามของคำว่านิติกรรม (Juridical Act) เอาไว้เช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายฝรั่งเศสนั้นเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการรับรองข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า ระบบกฎหมายที่ไม่มีข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมจะมีปัญหาในการอธิบายว่า นิติกรรมฝ่ายเดียวหรือเจตนาฝ่ายเดียวนั้นก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างไร
ส่วนระบบกฎหมายอังกฤษนั้นจะไม่มีข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม เพราะฉะนั้น กฎหมายอังกฤษจึงอธิบายทุกอย่างในรูปแบบของสัญญา อย่างไรก็ตาม ในระบบกฎหมายอังกฤษนี้จะมีกรณีที่เจตนาฝ่ายเดียวก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายได้เช่นกัน เช่น กรณีเจตนาฝ่ายเดียวที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและคู่กรณีกระทำการสำเร็จตามเงื่อนไข กรณีดังกล่าวจึงมีความคล้ายคลึงกับคำมั่นที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่ในระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษจะเรียกว่า สัญญาฝ่ายเดียว (unilateral contract)
ในช่วงท้ายของงาน รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ กล่าวถึงความสำคัญของข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมในแบบฉบับคำอธิบายของนักกฎหมายเยอรมันว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมนั้น เปรียบเสมือนกับการที่นักฟิสิกส์ทำความเข้าใจว่า อะตอมและโมเลกุลคืออะไร หรือในมุมมองของนักชีววิทยาก็จะอธิบายว่า สิ่งมีชีวิตจะประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือน้ำ ซึ่งข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมจะเปรียบเสมือนน้ำ ส่วนการแสดงเจตนาจะเป็นการทำความเข้าใจว่า น้ำนั้นประกอบด้วยธาตุอะไรบ้างที่จำเป็น เพราะฉะนั้น หากไม่เข้าใจเรื่องนิติกรรมหรือการแสดงเจตนา ก็เหมือนกับการไม่เข้าใจเรื่องของสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ หากปราศจากความเข้าใจเกี่ยวกับข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรม ก็จะไม่มีทางเข้าใจธรรมชาติของสัญญาและธรรมชาติของนิติสัมพันธ์ที่เกิดจากการแสดงเจตนา
ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องนิยามความหมายของคำว่านิติกรรม และบัญญัติถึงข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมเอาไว้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ กล่าวว่า ในเรื่องนี้มีข้อคิดจากระบบกฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายนี้เช่นกัน โดยระบบกฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะไม่มีบทบัญญัติของนิติกรรมเป็นการเฉพาะ แต่ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมเป็นเรื่องสำคัญและมีการกล่าวถึงไว้ในกฎหมายลักษณะหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนประมวลกฎหมายแพ่งของสวิตเซอร์แลนด์เสียอีก และในส่วนของกฎหมายลักษณะหนี้ก็ยังใช้บังคับภายใต้แนวความคิดทั่วไปในเรื่องหนี้ในขณะนั้น ซึ่งแม้จะไม่มีการนิยามความหมายของคำว่านิติกรรมเอาไว้ แต่นักกฎหมายก็เข้าใจได้ว่า ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมนั้นเปรียบเสมือนโมเลกุลย่อยที่จำเป็นที่สุดในการก่อหนี้ที่เกิดจากการแสดงเจตนา เพราะฉะนั้น ข้อความคิดว่าด้วยนิติกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีการถามคำถามโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์ ว่า ถ้าหาก ผศ.ดร.กรศุทธิ์ มีโอกาสในการปรับปรุงและแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ท่านประสงค์ที่จะดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายลักษณะคำมั่นอย่างไร ?
ในส่วนนี้ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า อาจจะต้องมีการแยกหมวดระหว่างคำมั่นและสัญญาให้ชัดเจน เช่น ในประมวลกฎหมายแพ่งกฎหมายเยอรมันที่มีการแยกหมวดหมู่ดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่ระบบกฎหมายของประเทศไทยนั้น ข้อความคิดว่าด้วยคำมั่นว่าจะให้รางวัลถูกจัดให้อยู่ในหมวดก่อให้เกิดสัญญา จึงทำให้เกิดประเด็นว่า คำมั่นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและต้องการการสนองรับหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพิจารณาในทางประวัติศาสตร์จะพบว่า ข้อความคิดว่าด้วยคำมั่นบางส่วนได้รับอิทธิพลมาจากระบบกฎหมายเยอรมัน ซึ่งลักษณะของคำมั่นดังกล่าวมีความแตกต่างจากความเข้าใจของนักกฎหมายไทยบางส่วน
ส่วนประเด็นที่ว่า นิติกรรมฝ่ายเดียวสามารถก่อให้เกิดหนี้ได้หรือไม่นั้น ควรจะมีความชัดเจนและได้รับการบัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย มิฉะนั้น ปัก็จะเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่า หนี้ที่เกิดจากการแสดงเจตนานั้นจะมีได้แต่เฉพาะสัญญาหรือสามารถเกิดจากนิติกรรมฝ่ายเดียวได้ด้วย
ในช่วงสุดท้ายของงานเปิดตัวตำรา “นิติกรรม สัญญา และคำมั่น” และตำราแปล “Juristic Acts, Contracts and Promises” ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้กล่าวขอบคุณบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำผลงานทางวิชาการครั้งนี้ ได้แก่ โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอนที่ให้ทุนสนับสนุน ผศ.ดร.สุรศักดิ์และรศ.ดร.กิตติศักดิ์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการศึกษาวิชานิติกรรม อาจารย์กิตติภพ ซึ่งช่วยเป็นอาจารย์สัมมนาในกลุ่มบรรยายของผศ.ดร.กรศุทธิ์มาตลอด ทำให้นักศึกษาเข้าใจแนวทางที่ผศ.ดร.กรศุทธิ์สอนได้ดียิ่งขึ้น อาจารย์ Lasse ซึ่งร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นกฎหมายแพ่งกับผศ.ดร.กรศุทธิ์อยู่เสมอ แม้อาจารย์ Lasse จะออกตัวว่าตนมิใช่นักกฎหมายแพ่ง แต่เมื่อใดที่ผศ.ดร.กรศุทธิ์มีคำถามเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งเยอรมัน อาจารย์ Lasse ก็อธิบายได้ดีเสมอ
และขอบคุณนักศึกษาที่เคยศึกษากับผศ.ดร.กรศุทธิ์จำนวน 4 คน ได้แก่ คุณวิวัฒน์ คุณวัฒนกร คุณชญานนท์ และคุณจิรภัทร ซึ่งมีส่วนช่วยในการค้นคว้า ตรวจสอบความถูกต้องของภาษาและการอ้างอิงในตำราเล่มนี้