สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 1
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 17.30-20.30 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนตำรา
- ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- – รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่างอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- – ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของผู้เขียน ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะครบรอบ 100 ปีใน พ.ศ.2568 นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ แต่ทางศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องการให้งานดังกล่าวมีความต่อเนื่อง จึงเริ่มโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2567 ถึง พ.ศ. 2569 เพราะฉะนั้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็จะมีกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างมากมาย
ในส่วนของงานเปิดตัวตำราครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดก ช่วงที่ 2 เป็นการพูดคุยกับผู้เขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกทั้งสามท่าน ได้แก่ ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง และผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ และช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะมรดกในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในวาระครบรอบ 100 ปีของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ (ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่งฯ) กล่าวเปิดงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และประชาสัมพันธ์งานทางวิชาการของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ครั้งต่อไป ซึ่งเป็นงานทางวิชาการครั้งที่ 5 ของโครงการดังกล่าว โดยจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไปในอนาคต
ช่วงที่ 1 การเรียนการสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดก
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง กล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะมรดกโดยตรงทั้งหมด 3 วิชา ได้แก่
- 1. น.300 กฎหมายลักษณะมรดก ซึ่งเป็นวิชาบังคับของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โดยจะเป็นการศึกษาหลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพหก
- 2. LB304 Law of Succession ซึ่งเป็นวิชาเลือกของ Bachelor of Laws Program โดยจะเป็นการศึกษาหลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามบรรพหกเช่นเดียวกัน
- 3. น.716 กฎหมายครอบครัวและมรดกชั้นสูง ซึ่งเป็นวิชาเลือกของหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต โดยจะเป็นการศึกษาปัญหาอันเป็นรากฐานและปัญหาปัจจุบันในหลักกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก ตลอดจนปัญหาทางปฏิบัติ โดยเปรียบเทียบกับหลักกฎหมาย รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ ของกฎหมายครอบครัวและมรดกในต่างประเทศ
ในส่วนของวิทยานิพนธ์ของคณะนิติศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนั้น ในระดับชั้นปริญญาเอกจะมีวิทยานิพนธ์ 1 เล่มซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุ โดยจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะมรดก และในระดับชั้นปริญญาโทจะมีวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะมรดกประมาณ 26 เล่ม นอกจากนี้ ทางคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะมรดกจำนวนมาก เช่น การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ เสวนาวิชาการ หัวข้อ “เรื่องปวดหัวหลังความตาย ปัญหาการตีความพินัยกรรมในกฎหมายมรดก” ในเดือนเมษายน 2564 การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวับกฎหมายมรดก ในรายการ “Law To U by TU Law Centre Special Live EP: กฎหมายลักษณะมรดก” ในเดือนมีนาคม 2565 เสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาการตีความกฎหมายในการสละมรดก” ในเดือนกรกฎาคม 2566 และเสวนาวิชาการ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ในศตวรรษที่ 21” ในเดือนตุลาคม 2566
รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง กล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า มีลักษณะการเรียนการสอนในรูปแบบของชุดวิชา กล่าวคือ เป็นการศึกษาหลักกฎหมายทั้งบรรพห้าและบรรพหกของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วยกันในหนึ่งวิชา ประกอบกับมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบของ Active Learning ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างทักษะในทางปฏิบัติให้แก่นักศึกษา เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับการร่างพินัยกรรม กิจกรรมเผยแพร่ความรู้กฎหมายลักษณะครอบครัวและมรดกให้แก่ประชาชน เป็นต้น
ลำดับต่อมาจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางสู่การสอนกฎหมายลักษณะมรดกของวิทยากรแต่ละท่าน
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า เหมือนกับตนเองตกกระไดพลอยโจน เนื่องจากประมาณปี พ.ศ.2529 วิชากฎหมายลักษณะมรดกมีอธิบดีศาลอาญาในขณะนั้นเป็นผู้สอน ส่วนศ.ดร.ไพโรจน์ เป็นผู้สอนเฉพาะวิชากฎหมายลักษณะครอบครัว แต่ด้วยเหตุผลบางประการซึ่งทำให้ผู้สอนในวิชากฎหมายลักษณะมรดกว่างลง ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมอบหมายให้ศ.ดร.ไพโรจน์ เข้ามาสอนในรายวิชาดังกล่าว เนื่องจากทางคณะนิติศาสตร์มีความเห็นว่า ผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวสามารถสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกได้ โดยในการเตรียมการสอนนั้นศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้มอบหมายตำราของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร ซึ่งท่านใช้ในสมัยเป็นนักศึกษาให้แก่ศ.ดร.ไพโรจน์ เพื่อใช้ในการเตรียมการสอน
รศ.ดร.กฤษรัตน์ กล่าวว่า ในครั้งที่ตนเองเริ่มเข้ามาทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายในปี พ.ศ.2550 นั้น ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มอบหมายให้รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง เป็นผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะมรดก ทั้งนี้ เนื่องจากผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกท่านเดิมได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาให้รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง สอนวิชาดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน
ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวว่า ตนเองเหมือนกับตกกระไดพลอยโจนเช่นเดียวกับศ.ดร.ไพโรจน์ เนื่องจากผศ.ดร.ธนภัทร เลือกศึกษาต่อในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายลักษณะมรดกเป็นพิเศษ ประกอบกับในสมัยที่ผศ.ดร.ธนภัทรเป็นนักศึกษานั้น วิชากฎหมายลักษณะมรดกเป็นความไม่ชอบส่วนตัวของตนเอง เพราะรู้สึกว่าตัวละครในข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของวิชานี้มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2564 ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความประสงค์ในการรับสมัครอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะมรดก ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวิชาที่ขาดแคลนผู้สอน ซึ่งท้ายที่สุดผศ.ดร.ธนภัทรก็ได้สอบการสอนในวิชาดังกล่าวและเข้ามาเป็นอาจารย์ผู้สอนในที่สุด
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวถึงช่วงระยะเวลาที่ตนเองเข้ามาเป็นอาจารย์สัมมนาในวิชากฎหมายลักษณะมรดกว่า ตนเองได้เข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกทุกท่านและทุกคาบ ส่งผลให้เอกสารประกอบการสัมมนาของตนมีความละเอียดและสามารถใช้ศึกษาประกอบได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันผศ.ดร.ธนภัทรรับหน้าที่เป็นผู้สอนในวิชากฎหมายลักษณะมรดกทุกหลักสูตร
ในช่วงท้ายของช่วงที่ 1 จะเป็นการพูดคุยถึงรูปแบบการสอนกฎหมายลักษณะมรดกของวิทยากรแต่ละท่าน
ศ.ดร.ไพโรจน์กล่าวว่า ตนเองจะนำตำรากฎหมายลักษณะมรดกของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร ศาสตราจารย์เสนีย์ ปราโมช และศาสตราจารย์ ดร.พินัย ณ นคร มาใช้ในการเตรียมการสอน และจดสิ่งที่จะนำมาสอนลงในกระดาษเปล่า ซึ่งศ.ดร.ไพโรจน์ เรียกว่า “ใบเตรียมสอน” เพราะฉะนั้น รูปแบบการสอนของท่านจึงไม่มีเอกสารประกอบการสอนหรือสื่อ PowerPoint โดยศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า วิชากฎหมายลักษณะมรดกเป็นวิชาที่เตรียมการสอนง่าย เพราะเป็นกฎหมายที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงน้อยมาก นอกจากนี้ ในการสอนกฎหมายลักษณะมรดกของศ.ดร.ไพโรจน์ ท่านจะนำคำพิพากษาศาลฎีกามาประกอบการสอน ซึ่งก็จะมีทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตและปัจจุบันประกอบกัน
รศ.ดร.กฤษรัตน์กล่าวว่า ในช่วงแรกเริ่มของการเป็นอาจารย์ประมาณ 4-5 ปีนั้น ด้วยเหตุที่ประสบการณ์ในการสอนยังน้อย จึงมีความจำเป็นจะต้องศึกษาตำรากฎหมายลักษณะมรดกของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร และอาจารย์กฎหมายอีกหลาย ๆ ท่านเป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงสรุปออกมาเป็นหลักกฎหมายเพื่อใช้ในการสอนต่อไป ซึ่งรูปแบบการสอนของรศ.ดร.กฤษรัตน์จะมีการยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบคำอธิบาย ส่วนรูปแบบการสอนหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันจะมีการนำเอาปัญหาในทางปฏิบัติเข้ามาประกอบการเรียนการสอน ซึ่งปัญหาในทางปฏิบัตินี้บางส่วนก็จะมีที่มาจากการที่ประชาชนเข้ามาขอคำปรึกษากฎหมายลักษณะมรดกจากรศ.ดร.กฤษรัตน์
ผศ.ดร.ธนภัทรกล่าวว่า ตนเองจะมีการเผื่อเวลาให้นักศึกษาประมาณ 5-10 นาทีก่อนจะเข้าสู่การบรรยาย เพราะนักศึกษาบางท่านอาจจะเพิ่งเดินทางมาถึง หรืออยู่ในระหว่างการเดินไปห้องบรรยายอื่นในระหว่างเปลี่ยนวิชา เป็นต้น และจะนำเสนอสื่อต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่เนื้อหาของกฎหมายลักษณะมรดก ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักศึกษา ประกอบกับสะท้อนให้เห็นภาพในทางปฏิบัติเวลานำเอากฎหมายลักษณะมรดกไปปรับใช้ เช่น การนำเสนอละครและข่าวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมซึ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะมรดก
ในส่วนของเนื้อหากฎหมายลักษณะมรดกนั้น เนื่องจากเป็นวิชาที่มีความสลับซับซ้อนในแง่ของข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น เอกสารประกอบการบรรยายจึงมีการนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูน ซึ่งผศ.ดร.ธนภัทรจะค่อย ๆ นำเสนอทีละตัวละครเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ ประการต่อมาในส่วนของเนื้อหาที่มีความสำคัญก็จะมีบทบัญญัติของมาตรานั้น ๆ เพิ่มเข้ามาตรงมุมซ้ายล่างของเอกสารประกอบการบรรยาย นอกจากนี้ ในหน้าสุดท้ายของเอกสารประกอบการบรรยายจะมีการกล่าวถึงเนื้อหาที่จะบรรยายในครั้งหน้า และแนะนำตำราที่ต้องอ่านประกอบสิ่งที่จะบรรยายในครั้งหน้าด้วย รวมถึงประเด็นที่ผศ.ดร.ธนภัทรประสงค์จะให้นักศึกษาเตรียมตัวก่อนการบรรยายในครั้งหน้าด้วย
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 2 และ 3 จะเผยแพร่ในลำดับต่อไป