สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 2
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 17.30-20.30 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนตำรา
- ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- – รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่างอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- – ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ช่วงที่ 2 ตำรากฎหมายลักษณะมรดกสามยุค
ลำดับแรกเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาในการเขียนตำราของวิทยากรแต่ละท่าน
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเองสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกคู่กับอาจารย์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นั้น อาจารย์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้เขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกขึ้นมาหนึ่งเล่ม ซึ่งศ.ดร.ไพโรจน์เห็นว่า เป็นการเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกที่ดีมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกขึ้นอีก ต่อมาหลังจากอาจารย์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ เข้ารับหน้าที่ที่ศาลปกครอง ศ.ดร.ไพโรจน์จึงมีโอกาสสอนกฎหมายลักษณะมรดกร่วมกับอาจารย์พินัย ณ นคร ซึ่งศ.ดร.ไพโรจน์เห็นว่า ตำราของอาจารย์พินัย ณ นคร เป็นตำรากฎหมายลักษณะมรดกที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกขึ้นอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2557 ซึ่งศ.ดร.ไพโรจน์เข้ามาเป็นผู้สอนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านจึงมีความคิดริเริ่มที่จะเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดก โดยกระบวนการในการจัดทำตำรานั้น ศ.ดร.ไพโรจน์อาศัยการจดคำบรรยายของนิสิตที่ได้คะแนนสูงที่สุดมาประกอบการจัดทำตำรากฎหมายลักษณะมรดกของท่าน
นอกจากนี้ ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองจะขอหน้าปกของตำราประมาณ 10 ชุดจากโรงพิมพ์ ทั้งนี้ เพื่อนำไปติดประชาสัมพันธ์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ท่านมีโอกาสไปสอน ประกอบกับในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีเพียงตนเท่านั้นที่เขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดก ส่งผลให้ตำรากฎหมายลักษณะมรดกของท่าน ขายดีเป็นอย่างมาก
รศ.ดร.กฤษรัตน์ กล่าวว่า ในช่วงแรกเริ่มของการเป็นอาจารย์ผู้สอนกฎหมายในปี พ.ศ.2550 นั้น ตนเองรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายในวิชากฎหมายลักษณะมรดก และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งรศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง ประสงค์จะเขียนตำรากฎหมายขึ้นมาเล่ม จึงเลือกเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดก ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นตำราที่เริ่มต้นเขียนได้ง่ายกว่ากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล โดยต้นฉบับของตำราดังกล่าวเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2551 แต่กลับถูกสำนักพิมพ์ตำราปฏิเสธการตีพิมพ์ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่า รศ.ดร.กฤษรัตน์ ในขณะนั้นยังมีประสบการณ์การสอนไม่มากนัก ประกอบกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่งเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนได้ไม่นาน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดต้นฉบับของตำรากฎหมายลักษณะมรดก ก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2551 โดยได้รับการสนับสนุนจากบิดาของรศ.ดร.กฤษรัตน์นั่นเอง และมีการปรับปรุงแก้ไขจนได้รับการตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ในปี พ.ศ. 2559 ในที่สุด ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการมีตำราในครั้งนี้ เกิดขึ้นในสมัยที่รศ.ดร.กฤษรัตน์ กำลังศึกษากับศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์และศาสตราจารย์ ดร.พินัย ณ นคร โดยทั้งสองท่านมีตำรากฎหมายลักษณะมรดกเป็นของตนเอง ในส่วนนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้รศ.ดร.กฤษรัตน์เขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกเป็นของตนเองในเวลาต่อมา
ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกนั้น เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ตนเองเป็นอาจารย์สัมมนาในวิชากฎหมายลักษณะมรดก ซึ่งจะต้องเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ทุกท่านเพื่อใช้ในการเตรียมเอกสารประกอบการสัมมนา อย่างไรก็ตาม เพื่อความสมบูรณ์ของเอกสารประกอบการสัมมนาผศ.ดร.ธนภัทรจึงใช้ระยะเวลาในการศึกษาตำรากฎหมายลักษณะมรดกของอาจารย์หลาย ๆ ท่านเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการจัดทำเอกสารประกอบการสัมมนาและเชื่อมโยงเนื้อหาของอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะมรดกแต่ละท่านเข้าด้วยกัน
จากนั้นผศ.ดร.ธนภัทรจึงมีโอกาสเข้ามาเป็นอาจารย์ผู้บรรยายในวิชากฎหมายลักษณะมรดกที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวตนเองมีการจัดเตรียมเอกสารประกอบการบรรยายที่ค่อนข้างละเอียด ถึงขนาดสามารถเรียบเรียงเป็นหนังสือได้หนึ่งเล่ม ประกอบกับในขณะนั้นมีผู้ช่วยอาจารย์อยู่หนึ่งท่าน ซึ่งทำหน้าที่ในการจดคำบรรยายและประเด็นต่าง ๆ จากการสอนของผศ.ดร.ธนภัทรจนท้ายที่สุดจึงตัดสินใจเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกโดยอาศัยสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นฐานในการเขียนตำรา
ลำดับถัดมาเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับรูปแบบและลักษณะของตำรากฎหมายมรดกของวิทยากรแต่ละท่าน รวมถึงภูมิหลังในการเขียนตำรา
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า ตนเองเคยได้รับมอบหมายให้เขียนแนะนำตำรากฎหมายลักษณะครอบครัวของอาจารย์ประสพสุข บุญเดช ท่านจึงค้นคว้าบทความของอาจารย์หยุด แสงอุทัย แล้วพบว่า การเขียนตำราในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองแบบ แบบที่หนึ่งคือการเขียนอธิบายแบบเรียงมาตรา เช่น ตำราของอาจารย์เสนีย์ ปราโมช แบบที่สองคือการเขียนอธิบายอย่างเป็นระบบ เช่น ตำราของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร ประกอบกับในการเตรียมการสอนกฎหมายลักษณะมรดกของศ.ดร.ไพโรจน์ใช้หนังสือของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร เป็นหลัก เนื่องจากเป็นตำรากฎหมายที่เขียนอย่างตรงไปตรงมาและง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ตำราของศ.ดร.ไพโรจน์จึงมีแนวทางเดียวกันกับตำราของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร
รศ.ดร.กฤษรัตน์ กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเองยังเป็นนักศึกษานั้นได้อ่านทั้งตำราของอาจารย์เพรียบ หุตางกูร และอาจารย์พินัย ณ นคร แล้วพบว่า ทำความเข้าใจค่อนข้างยาก เพราะเป็นการเขียนตำราโดยใช้ภาษาทางกฎหมาย ประกอบกับประสบการณ์ในการศึกษากฎหมายของตนเองในขณะนั้นยังไม่มากเมื่อเทียบกับผู้เขียนตำราซึ่งตกผลึกทางวิชาการแล้ว ในส่วนนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รศ.ดร.กฤษรัตน์ ผลิตตำรากฎหมายในลักษณะที่ประชาชนซึ่งมิได้เป็นนักกฎหมายก็สามารถทำความเข้าใจได้ ซึ่งในระยะแรกเริ่มจะเป็นตำราที่อธิบายหลักกฎหมายพร้อมยกตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบการอธิบาย ส่วนช่วงที่มีการแก้ไขจะมีการเพิ่มเติมในส่วนของประเด็นปัญหาทางกฎหมาย บทความทางวิชาการ งานวิจัยต่าง ๆ เป็นต้น
ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ กล่าวว่า ตนเองมีข้อสังเกตจากการอ่านตำรากฎหมายลักษณะมรดกของอาจารย์แต่ละท่านว่า ตำราแต่ละเล่มจะมีการอธิบายหรือให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น ผศ.ดร.ธนภัทร จึงพยายามรวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ของกฎหมายลักษณะมรดกให้ครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งตำราของตนก็จะมีสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ เช่น
- 1. การกล่าวถึงบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำอธิบายนั้น ๆ ทั้งนี้ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ทราบว่า คำอธิบายในส่วนนั้นเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใด
- 2. การยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบคำอธิบาย จะไม่ใช่การคัดลอกคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งฉบับมาไว้ในตำรา แต่จะเป็นการสรุปข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วชี้ให้เห็นว่าศาลมีความเห็นอย่างไร
- 3. การเพิ่มเติมในส่วนของประเด็นปัญหาทางกฎหมายในปัจจุบัน ทั้งนี้ เนื่องจากตำราของผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ เป็นตำราที่เพิ่งเริ่มเขียนในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น จึงมีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาทางกฎหมายในปัจจุบัน เช่น ทรัพย์สินดิจิทัลต่าง ๆ หรือคริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นทรัพย์สินที่ตกทอดสู่ทายาทเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้หรือไม่
- 4. การกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะมรดกแต่มิได้บัญญัติอยู่ในกฎหมายลักษณะมรดกโดยตรง เช่น ความหมายของการตายตามข้อบังคับแพทยสภา หรือกฎหมายลักษณะนิติกรรมในส่วนที่เชื่อมโยงกับกฎหมายลักษณะมรดก
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธนภัทรยังกล่าวถึงที่มาของชื่อตำราว่า มีที่มาจากคำอธิบายรายวิชาของกฎหมายลักษณะมรดกของหลักสูตรปริญญาตรี ส่วนหน้าปกของตำรานั้น ผศ.ดร.ธนภัทรเรียกว่า “สีดำสว่าง” ส่วนสันปกของตำราจะเป็นสีครีม ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตุ และในส่วนของรูปภาพหน้าปกซึ่งได้รับการออกแบบจาก AI นั้น เป็นความประสงค์ของผศ.ดร.ธนภัทรที่ต้องการให้ผู้อ่านตีความว่าแตกต่างกัน เช่น เป็นบิดากับบุตร เป็นปู่กับหลาน หรือคนใส่สูทอาจจะเป็นผู้หญิงก็ได้ เป็นต้น
ลำดับสุดท้ายของช่วงที่ 2 เป็นการแสดงความเห็นของศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ และรศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง ที่มีต่อตำรากฎหมายลักษณะมรดกของผศ.ดร.ธนภัทร
รศ.ดร.กฤษรัตน์ กล่าวว่า ในแง่ภาพรวมของตำราฉบับนี้ตนเองชื่นชอบในส่วนของบทนำ ซึ่งเป็นส่วนที่กล่าวถึงภาพรวมของตำราว่ามีส่วนประกอบอย่างไรบ้าง โดยจะเป็นตำราที่นำเสนอโดยใช้ภาษาซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย และรศ.ดร.กฤษรัตน์ ยังชื่นชมการกล่าวถึงบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในช่วงนั้น ๆ ไว้ว่า เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างดี ประกอบกับการยกตัวอย่างทั้งจากคำพิพากษากับตัวอย่างที่สมมติขึ้นใหม่ก็นำเสนอได้อย่างดีมากเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายส่วนของตำราที่รศ.ดร.กฤษรัตน์ชื่นชอบ เช่น
- 1. การจัดการดอกผลของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
- 2. การยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกในส่วนของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับรศ.ดร.กฤษรัตน์เช่นกัน เนื่องจากเคยมีประชาชนมาขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก โดยระบุถึงคอมพิวเตอร์ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก และกำหนดให้มีบุคคลหนึ่งมาดูแลข้อมูลในคอมพิวเตอร์ภายหลังจากเขาถึงแก่ความตาย
3. การนำเอกสารอื่นมาผนวกไว้ในพินัยกรรม
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวถึงข้อประเมินบางส่วนในช่วงที่มีการประเมินตำราของผศ.ดร.ธนภัทร ว่าตนเองชื่นชมในส่วนของการตั้งข้อสังเกตเชิงวิพากษ์ในประเด็นต่าง ๆ การจัดทำตารางประกอบคำอธิบาย การนำคำพิพากษาศาลฎีกามาวิเคราะห์และอธิบายในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ประกอบกับการกล่าวถึงความเห็นของศาลและความเห็นของนักกฎหมายที่มีต่อคำพิพากษาศาลฎีกานั้น เป็นต้น ซึ่งการเป็นอาจารย์ประจำและมีตำราเป็นของตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ศ.ดร.ไพโรจน์ให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง โดยศ.ดร.ไพโรจน์ยังนำเนื้อหาบางส่วนของตำราดังกล่าวมาใช้ในการสอนและเพิ่มเติมตำราของตนเอง
นอกจากนี้ ศ.ดร.ไพโรจน์ ได้มอบหมายให้นิสิตและนักศึกษาอ่านตำราของผศ.ดร.ธนภัทร และแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับความคิดเห็นของรศ.ดร.กฤษรัตน์ และความตั้งใจของผศ.ดร.ธนภัทรเช่นกัน อาทิ
- 1. ในส่วนของบทนำจะเป็นการนำเสนอถึงภาพรวมของตำราฉบับนี้ว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง
- 2. เป็นตำราที่รวบรวมความเห็นของนักกฎหมายหลากหลายท่านเอาไว้ในเล่มเดียว
- 3. มีคำอธิบายในส่วนของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 อย่างละเอียด
- 4. การนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาอธิบายประกอบกับเนื้อหาในส่วนต่าง ๆ โดยมิได้แยกคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต่างหากจากตัวเนื้อหา
นิสิตและนักศึกษาตั้งข้อสังเกตเพียงข้อเดียวคือเรื่องแบบของพินัยกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรจะนำมาอธิบายก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากตำราของผศ.ดร.ธนภัทรอธิบายเรื่องอื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาอธิบายเรื่องแบบของพินัยกรรม
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 3 จะเผยแพร่ในลำดับต่อไป