สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 1
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 17.30-20.30 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนตำรา
- ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- – รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่างอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- – ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ช่วงที่ 3 เสวนาวิชาการเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมรดกในปัจจุบันรวมถึงแนวทางการแก้ไข ในวาระครบรอบ 100 ปีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
รศ.ดร.กฤษรัตน์ กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับผู้จัดการมรดกว่า ในทางปฏิบัติเสมือนเป็นการบังคับว่าจะต้องมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยศาล ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกนั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวต้องการคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นทายาทของเจ้ามรดก ซึ่งประชาชนโดยส่วนมากจะไม่ทราบถึงองค์ความรู้ดังกล่าวว่า ภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น กรณีที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติที่ทายาทประสงค์จะเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของในทางทะเบียน จึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่และเพิ่งจะทราบ ณ เวลานั้นว่าต้องมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยศาลมาแสดง ซึ่งประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือจากสำนักงานอัยการจังหวัดได้โดยเสียค่าธรรมเนียมไม่มากนัก แต่สิ่งที่จะตามมาสำหรับประชาชนไม่ทราบถึงข้อมูลดังกล่าวคือ ภาระค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากระบวนการในการไต่สวนคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยศาลนั้น จะกระทำในรูปแบบของออนไลน์และใช้ระยะเวลาในการไต่สวนไม่นานนัก แต่สำหรับประชาชนบางส่วนยังมีข้อติดขัดในเรื่องของระบบอินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับปัญหาด้านระยะเวลาของวันนัดไต่สวนคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งกว่าจะถึงวันนัดไต่สวนค่อนข้างจะใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น รศ.ดร.กฤษรัตน์ จึงตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตจะมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะด้านขึ้นมาทำหน้าที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแทนศาล ซึ่งในส่วนนี้ศ.ดร.ไพโรจน์กล่าวเสริมการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวว่า อาจจะต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดย “โนตารีปับลิก” แบบยุโรป
ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวว่า กฎหมายลักษณะมรดกมีการแก้ไขเพิ่มเติมน้อยมาก แต่กลับมีปัญหามากในทางปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับพินัยกรรม ซึ่งผศ.ดร.ธนภัทรได้ยกตัวอย่างจากข่าวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เช่น กรณีทายาทของเจ้ามรดกโต้แย้งเกี่ยวกับสัดส่วนของทรัพย์มรดกที่ตนเองมีสิทธิที่จะได้รับตามพินัยกรรม ซึ่งท้ายที่สุดกลับเป็นประเด็นเรื่องของการแบ่งมรดก กล่าวคือ ไม่ว่าทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมจะมีสิทธิรับมรดกอย่างไร ถ้าทายาททุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตกลงรับมรดกให้แตกต่างจากสิ่งที่กฎหมายกำหนด หรือแตกต่างจากพินัยกรรมอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น หรือกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมทั้งหมด 19 ฉบับ โดยศาลได้ทำการสืบพยานจากเอกสารประกอบกับเข้าไปพิจารณาสภาพบ้านของเจ้ามรดก และพิพากษาว่า เจ้ามรดกเป็นบุคคลที่ไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรม พินัยกรรมทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพหนึ่ง ที่มีการประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2468 มาตรา 35 ซึ่งวางหลักว่า การรับเอาทรัพย์มรดกนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ส่งผลให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพหก ที่มีการประกาศใช้ในปี พ.ศ.2478 ต้องบัญญัติตามหลักกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ในตำรากฎหมายลักษณะมรดกของท่านว่า เป็นสิ่งที่ผิดหลักกฎหมาย เนื่องจากการรับมรดกเป็น “ความสามารถในการมีสิทธิ” เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแสดงเจตนาสนองรับและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมในการรับมรดก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทารกที่มีอายุเพียง 1 วันก็สามารถรับมรดกได้ เพราะมรดกตกทอดทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จะไม่มีช่องว่างในแดนกรรมสิทธิ์หลังวินาทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายจรดวินาทีที่ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมรับเอามรดก ส่วนมรดกที่ได้รับมานั้นหากจะดำเนินการทำนิติกรรมอย่างไรต่อไป ในส่วนนี้จึงจะนำเรื่องความสามารถมาใช้ในการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นในเรื่อง “ความสามารถในการใช้สิทธิ” ดังนั้น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี พ.ศ.2535 จึงเป็นไปในแนวทางที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งข้อสังเกตไว้
นอกจากนี้ ศ.ดร.ไพโรจน์ ยังกล่าวถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับหนึ่ง ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า เจ้ามรดกทำสัญญาค้ำประกันฉบับหนึ่ง ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และลูกหนี้ได้ผิดนัดภายหลังจากเจ้ามรดกผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย โดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับนี้วางบรรทัดฐานว่า กรณีดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะฉะนั้น ทายาทของเจ้ามรดกที่เป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว ซึ่งขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาในปัจจุบันที่วางบรรทัดฐานว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันนั้นเจ้ามรดกไม่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวในการชำระหนี้ กล่าวคือ ไม่ใช่หนี้เฉพาะตัว ดังนั้น แม้ลูกหนี้จะผิดนัดภายหลังจากเจ้ามรดกที่เป็นผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ทายาทของเจ้ามรดกที่เป็นผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แนวคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวได้รับการกล่าวอ้างโดยผู้ฟ้องคดีปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับดังกล่าวไม่ผูกพันศาลปกครองสูงสุดให้ต้องวินิจฉัยตาม
ในช่วงท้ายของช่วงที่ 3 รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ได้สอบถามผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ ว่า การตกลงแบ่งทรัพย์สินมรดกให้แตกต่างจากข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้น เป็นกรณีของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใช่หรือไม่
ในส่วนนี้ผศ.ดร.ธนภัทรกล่าวว่า เป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 1750 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่ามาตรา 1750 “ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม”
นอกจากนี้ รศ.ดร.สมเกียรติ ยังสอบถามรศ.ดร.กฤษรัตน์ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติที่รศ.ดร.กฤษรัตน์พบเจอว่า หากต้องการดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะกำหนดให้ทายาทของเจ้ามรดกต้องนำคำสั่งศาลในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาแสดง ซึ่งอาจจะมีประชาชนบางส่วนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงกรณีของที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ บัญชีเงินฝากธนาคาร หรือรถยนต์นั้น ประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 24 วางหลักว่า ทายาทของเจ้ามรดกสามารถดำเนินการขอรับมรดกได้โดยตรง ซึ่งในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรมก็สามารถแสดงบัญชีเครือญาติและพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายลักษณะมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับคำสั่งศาลแต่งตั้งมรดกหรือการดำเนินการแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการดังกล่าว
ในส่วนนี้รศ.ดร.กฤษรัตน์ ตอบว่าเป็นไปตามข้อมูลเชิงลึกที่รศ.ดร.สมเกียรติ ได้กล่าวไว้ข้างต้น และกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เจ้าพนักงานที่ดินเป็นกังวลมากที่สุดคือ การที่ทายาทของเจ้ามรดกพาบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมายืนยันข้อเท็จจริงว่าตนเองเป็นทายาทของเจ้ามรดก ซึ่งอาจจะส่งผลให้เจ้าพนักงานที่ดินถูกตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวน
ช่วงสุดท้ายผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวขอบคุณบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งทำให้เกิดงานในครั้งนี้ และกล่าวปิดงาน