สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของทนายความในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” ซึ่งจัดในวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17.00-18.30 น. ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง การบรรยายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชา น.472 การให้บริการทางกฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วิทยากร
- คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอธิป ปิตกาญจนกุล (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวว่า สำหรับการบรรยายพิเศษนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณพูนสุข พูนสุขเจริญ ซึ่งทำงานด้านทนายความที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ฟังถึงเรื่องของการทำงานในภาคปฏิบัติ เนื่องจากนักศึกษากฎหมายมักจะคุ้นเคยว่าเวลาเราเรียนกฎหมายส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานเป็นผู้พิพากษา อัยการ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถที่จะนำความรู้กฎหมายไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในอีกหลายด้าน และงานที่น่าสนใจด้านหนึ่งก็คือ ทนายสิทธิ และเรื่องของการเอากฎหมายลงไปช่วยผู้ด้อยโอกาส หรือคนที่ได้รับความเดือดร้อนในสังคม ซึ่งแนวคิดเรื่องการให้บริการทางกฎหมายเพื่อสังคมก็เป็นแนวคิดที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยให้ความสนใจ และนำมาทำเป็นคลินิกกฎหมายด้วย สำหรับในวิชา น.472 ก็มีนักศึกษาหลายท่านที่ลงทะเบียน และอยากจะทำโครงงานที่นำความรู้ทางกฎหมายไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เราจึงได้เชิญผู้บรรยายหลายท่านมาให้ความรู้ ประสบการณ์ ให้เห็นมุมมอง และสิ่งที่เป็นบทเรียน โดยการเรียนรู้จากคนอื่น
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวแนะนำตัวว่า ตนจบนิติศาสตรบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียนประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชนอีกฉบับหนึ่ง เคยฝึกงานเป็นทนายความอยู่ช่วงหนึ่ง และมาเข้าโครงการเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตนมีความตั้งใจที่อยากลองงานทางด้านทนายความอยู่ก่อนแล้ว ณ ช่วงที่จบ ตนมีความคิดว่าถ้างานสนุก อาจจะไปสอบเป็นอัยการด้วย แต่เมื่อมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้วก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์ความต้องการ จึงทำงานต่อมาเป็นสิบปี แต่ก็มีงานด้านอื่น ๆ อีก เช่น งานวิชาการ การให้ความเห็นต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันนี้ตนทำงานอยู่ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะ แต่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแสดงออกทางการเมือง
คุณพูนสุขกล่าวถึงประวัติของตนเพิ่มเติมว่าตนทำงานมาตั้งแต่เป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภายใต้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (เดิมคือเครือค่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน) ซึ่งทำอยู่ประมาณสามปี หลังจากนั้นก็ไปทำงานกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเน้นเรื่องการให้ความเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในตอนนั้น ตนได้ทำโปรเจคเรื่องการป้องกันการทรมาร ต่อมาก็มาเป็นเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายประมาณสองปี ซึ่งเน้นในเรื่องของการทำความเห็นเสนอแนะข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันตนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทำงานอยู่ที่นั่น
การเริ่มต้นเข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จริง ๆ เข้าผ่านโครงการของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ประมาณสิบปีก่อน นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขาดแคลน มอส. เปรียบเสมือนเป็นคนกลางในการเปิดรับสมัครนักกฎหมาย เมื่อได้นักกฎหมายมาจำนวนหนึ่ง ก็จะมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ มารับไปทำงานประมาณหนึ่งปี ซึ่งตนก็เลือกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน งานที่ทำตอนนั้นมีทั้งงานเสริมสร้างศักยภาพนักกฎหมายด้วยกันเอง มีการอบรมนักกฎหมายในการว่าความ และงานคดี ซึ่งจะไม่ได้รับเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างสภาทนายความฯ แต่จะรับเป็นคดีเฉพาะ มีการเลือกทำคดียุทธศาสตร์บางคดี ซึ่งตอนนั้นสมาคมสนใจประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน เราจึงได้เลือกคดีแม่อมกิขึ้นมา ซึ่งเป็นกรณีที่คนในชุมชนไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่นั้น โดยพวกเขายืนยันว่าอยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องความทับซ้อน เช่น ที่ดิน ป่าไม้ อุทยาน เป็นต้น จึงถูกฟ้องว่าบุกรุกอุทยาน ในช่วงนั้นมีการพยายามใช้สิทธิชุมชนเข้าไป กระบวนการทำงานมีทั้งการลงพื้นที่จริง สอบข้อเท็จจริง แม้จะมีคนถูกฟ้องเพียงสองคนก็ตาม แต่คนทั้งชุมชนเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจึงต้องลงไปให้ความรู้ถึงกระบวนการทางกฎหมายที่พวกเขาเผชิญอยู่ เช่น ถ้าไปศาลจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ใครเป็นใคร ให้การอย่างไร มีการซ้อมกันเพื่อไปต่อสู้คดีที่ศาล คดีนี้ไปถึงชั้นฎีกาและยกฟ้องเพราะขาดเจตนา จำเลยไม่ติดคุก แต่ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนก็ยังคงไม่ถูกรับรอง
นอกจากนี้ยังมีคดีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นคดีที่สมาคมเข้าไปช่วย มีกระบวนการทำงานที่คล้ายกัน แต่คดีนี้ตอนเริ่มทำ พวกของตนมีความเชื่อว่ามีความรู้ด้านกฎหมาย และจะไปช่วยเหลือพวกเขา แต่ก็ได้เรียนรู้จากคดีนี้ว่าชาวบ้านสู้มาเยอะมากแล้ว มีหนังสือร้องเรียน ชุมนุม หาผู้ว่า ทุกรูปแบบแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเลย หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมในกระบวนการทางกฎหมายในการที่จะออกใบอนุญาต เรื่องการรับฟังความเห็น เขาก็ไปคัดค้านความผิดปกติ โดยที่ไม่มีนักกฎหมายเข้าไปช่วยเลย คดีนี้สมาคมเข้าไปช่วยแล้วไปฟ้องคดีที่ศาลเชียงใหม่ ท้ายที่สุดศาลก็เพิกถอนใบอนุญาตให้ คดีนี้เปลี่ยนความคิดตนที่ว่าตนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่จริง ๆ แล้วกฎหมายเป็นอุปสรรคแล้วเขาเข้าไม่ถึงมากกว่า แต่เขาก็มีศักยภาพ คุณพูนสุขกล่าวว่านอกจากชาวบ้านจะได้เรียนรู้จากนักกฎหมายแล้ว ตัวนักกฎหมายเองก็ได้เรียนรู้จากชาวบ้านเช่นกัน
คดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นเรื่องการต่อต้านการทรมาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่สมาคมช่วยเหลือ คดีนี้เขาถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในระหว่างเจ็ดวันแรก เขาจะไม่มีสิทธิพบทนาย แม้ว่าจริง ๆ จะมี แต่ไม่มีการแจ้ง และเขาร้องเรียนว่าระหว่างนั้นมีการทรมารเกิดขึ้น คดีนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ที่ศาลปกครองได้ เพราะไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้ชนะคดี ผู้ฟ้องคดีได้เงินค่าชดเชยมา แต่มันทำให้เห็นว่าแม้เขาจะได้เงินเยียวยาเป็นแสน แต่ระหว่างทางเขาเสียโอกาสเยอะมาก ถูกคุมตัวระหว่างเป็นนักศึกษา เรียนไม่จบ ต้องไปทำงานอย่างอื่น และเผชิญความหวาดกลัวที่จะเจอเจ้าหน้าที่รัฐ คุณพูนสุขอธิบายให้ได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของเงินค่าชดเชยจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก
สำหรับงานในส่วนอื่น ๆ เช่น การติดตามเรื่องร่างพรบ.ชุมนุมสาธารณะ ขณะนั้นภาคประชาชนไม่เห็นด้วย มีการทำความเห็นคัดค้านตั้งแต่ปี 2554-2555 ก่อนรัฐบาลยุบสภา ร่างพรบ.ฯ ดังกล่าวจะผ่านวาระสามแล้ว แต่ยุบสภาก่อนเลยมาผ่านปี 2558 หรือเคยมีกรณีที่รัฐพยายามจะมีร่างกฎหมายเพื่อจะโยกเรื่องละเมิดทางปกครองไปให้ศาลยุติธรรมพิจารณา งานประเภทนี้เป็นกรณีที่เป็นปัญหาว่าถ้ากฎหมายเหล่านี้ผ่านออกมา จะเกิดการละเมิดสิทธิโดยรัฐมาขึ้น จึงต้องมีการทำความเห็น ซึ่งเป็นงานที่เป็นการให้บริการทางกฎหมายอีกรูปแบบหนึ่งที่ตนทำ ไม่ใช่เพียงงานว่าความ
ต่อมาคุณพูนสุขได้กล่าวถึงงานที่ตนเคยทำที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมช่วงสิบกว่าปีก่อน ซึ่งจะเน้นเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคดีร้องเรียนในเรื่องของการทรมารหลายคดี ขาหนึ่ง มูลนิธิฯ ก็จะทำหน้าที่ฟ้องคดี อีกขาหนึ่งร่วมกับสมาคมนักกฎหมายฯ ช่วยกันร่างพรบ. ป้องกันการทรมารขึ้นมา เพราะพวกเขาเห็นปัญหา หากมองกลับไปที่ฐานสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันคือเรื่องของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ตอนนั้นยังไม่มีประเด็นเรื่องของกฎหมายอุ้มหาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่จบที่ตัวกฎหมาย หรือการฟ้องคดี แต่อุปสรรคบางอย่างมันเกิดจากการที่เราไม่มีฐานความผิดรับรอง หรือกลไกที่มีอยู่ไม่ดีพอ เช่น ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ทั้งที่ตำรวจเป็นผู้ซ้อม เป็นต้น การทำร่างกฎหมายในลักษณะนี้ก็เป็นงานที่ทนายสิทธิมนุษยชนพยายามผลักดันนอกเหนือจากการว่าความด้วย ซึ่งปัจจุบันตัวร่างกฎหมายก็ถูกพัฒนาทั้งจากภาคประชาชน และภาครัฐเอง จนกระทั่งมีร่างของภาคประชาชนเข้าไปแล้ว โดยกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมผลักเข้าไปในสภา และรอพิจารณากับร่างของรัฐ ซึ่งร่างปัจจุบันจะรวมอนุสัญญาสองฉบับด้วยกัน คือเรื่องการต่อต้านการทรมารและบังคับให้บุคคลสูญหาย มีการผลักดันกันเป็นสิบปี งานส่วนนี้จึงเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่อาจสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งนี้ คุณพูนสุขก็มองว่าเป็นความท้าทายในการทำงานให้บริการทางด้านกฎหมายที่จะต้องเกาะติด และผลักดันเป็นรายประเด็น
สำหรับงานปัจจุบันของคุณพูนสุข คืองานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งงานชิ้นแรกที่ตอนนั้นออกในนามของสมาคมนักกฎหมาย คือคู่มือการถูกเรียกรายงานตัว แต่บทบาทต่อ ๆ มาในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ก็ทำในนามของศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ตอนแรกพวกตนคิดว่าจะตั้งเพียงชั่วคราว แต่ปรากฏว่าคสช. ก็อยู่มาหลายปี ปัจจุบันจึงไม่ใช่องค์กรชั่วคราวแล้ว แต่ต้องให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อไป
โดยคุณพูนสุขเล่าว่าคดีแรกเริ่มจาก มีคนถูกจับวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ตนไปตามแล้วพบว่าเขาถูกกองปราบคุมขังแทนโดยกฎอัยการศึก และมีการแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง ครั้งแรกศาลแขวงปทุมวันยกฟ้อง เนื่องจากตำรวจไม่ได้ส่งระเบียบเรื่องคดีสำคัญ กองปราบไม่มีอำนาจสอบสวน ศาลอุทธรณ์ยกกลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษใหม่ จึงมีการอุทธรณ์อีกรอบหนึ่ง ลงโทษเช่นกัน คดีห้ามชุมนุมทางการเมืองเช่นนี้ คำสั่งคสช.ที่ 7/2557 ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์รับรองว่าประกาศดังกล่าวชอบด้วยประกาศรัฐประหารแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นส่วนใดของกฎหมาย ศาลฎีกา ณ ตอนนั้นมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ที่ 3/2558 แล้ว เมื่อยกเลิกการห้ามชุมนุมแล้ว ศาลควรต้องยกฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลอ่านคำพิพากษาว่าผิดตามคำสั่งที่ 3/2558 จึงมีการยื่นคำร้องก่อนพิพากษาไม่นานว่าคำสั่งดังกล่าวยกเลิกแล้ว ก็มีการปรึกษากัน แต่ก็ยังลงโทษเช่นเดิม โดยอ้างวรรคสองว่าไม่กระทบกระเทือนกับคดีเดิม แม้ท้ายที่สุดฐานความผิดไม่มีแล้ว แต่ศาลก็ยังลงโทษว่ามีความผิดเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ตนจึงมองว่าการทำงานมีความท้าท้ายทั้งเรื่องกฎหมาย อคติ และคำพิพากษาศาลฎีกา
นอกจากงานคดีซึ่งมีข้อจำกัด ก็มีงานข้อมูลที่สร้างความรับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง โดยนำประเด็นการละเมิดเหล่านี้ไปใช้เรื่องอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นงานของศูนย์จึงมีทั้งงานคดี งานข้อมูล และงานที่เอาข้อมูลคดีไปผลักดันในเชิงระหว่างประเทศในเรื่องของสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกของสหประชาชาติ ซึ่งเราเป็นภาคีของอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนประมาณเจ็ดฉบับด้วยกัน แต่เราโฟกัสไปที่ ICCPR คือสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก และยังมีงานวิจัยด้านกฎหมาย ซึ่งทำเป็นความเห็น แถลงการณ์ กรณีที่เกิดการละเมิดตามมา
คดีที่ศูนย์ฯ ดูแลในปัจจุบัน แม้กลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยแล้ว มีรัฐบาล รัฐธรรมนูญแล้ว แต่กลับพบว่างานไม่ได้น้อยลงเลย เพราะผูกกับสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อมีคนออกไปชุมนุมถูกจับ คดีเกิดหลายร้อยคดี ลูกความก็เช่นกัน คดีส่วนใหญ่ก็คือการฝ่าฝืนพรก. เช่น การชุมนุม มาตรา 112 ยุยงปลุกปั่น คดีเรื่องชุมนุมมั่วสุม มาตรา 215 และคดีประทุษร้ายพระราชินี ซึ่งเป็นคดีความมั่นคงที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนเลย งานของศูนย์ๆ คือจะให้ความช่วยเหลือกับคนเหล่านี้
สำหรับคดีหมิ่นคุณทองแดง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2015 เขาถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เริ่มให้การช่วยเหลือตั้งแต่ญาติเขามาร้องเรียนว่าลูกถูกจับไป และหาตัวไปเจอว่าถูกความคุมตัวไปที่ไหน มีการตามหาแต่ไม่พบ และไม่มีการยืนยัน 7 วันผ่านไป ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 ศูนย์ฯ เริ่มช่วยเหลือตั้งแต่ต้นเลย ตามตัวไม่ได้ก็ออกแถลงการณ์เรื่องการอุ้มหายเช่นว่านี้ให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งเรามีการลงนาม จึงมีพันธกรณีบางอย่าง คดีนี้เพิ่งมีการยกฟ้องโดยศาลอาญาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกินระยะเวลาหลายปี ระหว่างถูกควบคุมตัว เขาร้องเรียนว่าถูกทรมาร เมื่อออกมาก็กลัวจนต้องไปบวช เขาได้รับผลกระทบเยอะมาก แต่สุดท้ายยกฟ้อง ในสมัยคสช. คดี มาตรา 112 ต้องขึ้นศาลทหาร แม้ภายหลังจะโอนมาที่ศาลยุติธรรมก็ตาม แค่คดีหมา คุณพูนสุขตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้เขาชนะคดีจริงหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมดีพอที่จะคัดกรองคดีหรือไม่ ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้น และผ่านกระบวนการมาหลายปีกว่าจะชนะ
คดีต่อมา ซึ่งเป็นช่วงที่ควรต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาแล้ว แต่คดีนี้เขาถูกจับตอน 21:00 น. แม้ยังไม่ทำบันทึกการจับกุม ก็มีสิทธิพบทนายตั้งแต่วินาทีที่เขาสูญเสียเสรีภาพแล้ว แต่ปรากฏว่าเคสนี้ กว่าตนจะได้เจอก็เกือบเที่ยงคืนแล้ว ทั้งที่เขาขอโทรแล้ว และโดนยึดมือถือด้วย เมื่อมีพยาบาลไปตรวจร่างกายจึงได้โทร ซึ่งยังคุยไม่รู้เรื่องเลย ตนไปตามก็ไม่เจอ ทั้งที่ปกติควรจะอยู่ที่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แต่หลายคดีในช่วงปลายปี ถูกนำตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ประกันสิทธิการเข้าถึงทนายความและความโปร่งใส มิฉะนั้น เขาอาจถูกละเมิดสิทธิอื่น ๆ ได้ คุณพูนสุขอธิบายในส่วนนี้ว่าทนายความทั่วไปอาจจะแค่รอไปร่วมกระบวนการ แต่นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนต้องทำมากกว่านั้น ต้องชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงของกระบวนการดังกล่าว การไปแจ้งความเป็นอีกคดีหนึ่ง หรือดำเนินคดี ก็เพียงแต่เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถูกจับ นอกจากไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกและถูกจับ ยังต้องไปฟ้องเจ้าหน้าที่ว่าทำตัวไม่ชอบอีก ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางศูนย์กำลังผลักดันอยู่ มีการตั้งภาคีนักกฎหมายในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติไม่ชอบดังกล่าว
งานอีกส่วนหนึ่ง คืองานของข้อมูล ในสมัยคสช. ตนดูแลส่วนของงานข้อมูลเป็นหลัก สุดท้ายแล้วงานคดีไม่พอที่จะให้ความช่วยเหลือ งานที่ศูนย์ทำอีกงานหนึ่งคืองานสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ การให้ความรู้ทางกฎหมาย เช่น ถูกจับต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการละเมิดจากรัฐก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มีการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ จึงต้องให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ก็มีรายงานประจำปีเผยแพร่ สรุปสถานการณ์การละเมิด มีหนังสือที่พูดถึงปัญหาของตุลาการที่รับรองกระบวนการการรัฐประหาร และมีการจัดทำข้อเสนอในการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร รายงานที่ทำโดยใช้กลไกระหว่างประเทศ เรื่องของ UPR หรือการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน กับการรีวิวเรื่องของ ICCPR คู่มือเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม พรบ. ชุมนุมมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างของเอกสารเผยแพร่ข้อมูลที่ศูนย์พยายามทำ ซึ่งเป็นงานที่นอกเหนือจากการว่าความในศาล ทั้งนี้เนื่องจากการร้องเรียนต่าง ๆ คนที่ถูกละเมิดจะมาถึงศูนย์ ก็จะต้องมาจากความรับรู้ว่ามีศูนย์ทนายที่ทำหน้าที่อยู่ และเขาสามารถที่จะเข้ามาร้องเรียนหรือขอคำปรึกษาได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในส่วนของงานข้อมูล
ในเว็บไซต์จะมีทั้งงานข่าวที่เผยแพร่ว่าแต่ละวันมีคดี หรือใครถูกดำเนินคดีอะไร ซึ่งจะเน้นเป็นงานคดีที่ศูนย์รับผิดชอบเป็นหลัก และจะมีบทความที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล สถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานเชิงวิเคราะห์ และยังมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีงานที่ศูนย์ฯ พยายามผลักดัน โดยที่เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงานภายใต้กรรมาธิการกฎหมาย และศึกษาเรื่องผลกระทบของการออกประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. เพราะศูนย์เห็นแล้วว่าถึงแม้ว่าช่วงนั้นประกาศคำสั่งออกมากว่า 1,000 ฉบับ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ เราก็ไม่ได้แก้ไขกฎหมายพวกนั้น ซึ่งมองว่ามันยังคงมีผลกระทบกับประชาชนอยู่ จึงหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา รายงาน ศึกษา และผลักดันผ่านสภา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ก็ยังมีงานที่เข้าไปทำงานกับส่วนต่าง ๆ โดยใช้กลไกของ UN มีคดีที่คนโดนดำเนินคดี มาตรา 112 และถูกจำคุก เพราะศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ได้รับประกันหลังจากที่พวกตนได้ร้องเรียนไปยัง UN โดย UN ให้ความเห็นว่าการควบคุมตัวตาม มาตรา 112 เป็นเรื่องไม่ชอบ ซึ่งไม่มีผลกับกฎหมายบ้านเรา แต่ก็สามารถนำความเห็นนี้ยื่นต่อศาลทหารไป ปรากฏว่าศาลทหารให้ประกันตัวเพราะความเห็นนั้น คุณพูนสุขกล่าวว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำกลไกระหว่างประเทศมาใช้ในงานคดี โดยให้ข้อสังเกตว่า ถ้าเขาไม่ได้รับการประกันตัว จะถูกจำคุกนานกว่าคำพิพากษาของศาล ซึ่งตนอยากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิในการประกันตัว โดยเฉพาะประเด็นของ มาตรา 112
สำหรับขั้นตอนการทำงานของศูนย์ฯ ลำดับแรก คือการรับเรื่องร้องเรียน ไม่ว่าจะผ่านทางสายด่วน การติดตามของทีมข้อมูลผ่านแหล่งต่าง ๆ หรือทางทนายความของศูนย์เอง เช่น ลูกความเดิมที่ถูกดำเนินคดีซ้ำ หรือคดีเดิม และยังมีการลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่จะเข้ามาศูนย์ เมื่อรับเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในขอบเขตการทำงานของมาแล้ว ถ้าลูกความยินยอมศูนย์ฯ จึงจะเผยแพร่ได้ หากไม่เป็นคดี ก็อาจจะทำเป็นบทความ ความเห็น หรือแถลงการณ์สำหรับเรื่องที่รุนแรง หรือการรณรงค์ระหว่างประเทศ อีกส่วนคืองานคดี ทำตั้งแต่ชั้นของตำรวจ ซึ่งต้องมีการประสานงานกัน หรือแม้กระทั่งถูกจับไปไว้ที่ไหน บางคดีมีความไม่แน่นอน ให้ประกันหรือไม่ ขั้นตอนสำหรับการฝากขัง ศูนย์ฯ มีนโยบายว่า คดีเสรีภาพควรจะคัดค้านการฝากขัง ขอให้ศาลไต่สวนเลยว่าไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัว ซึ่งทำให้ทนายอย่างตนแตกต่างจากทนายทั่วไป ซึ่งหลายคดีศาลก็ไม่อนุญาตให้ฝากขัง ทำให้ไม่ต้องใช้เงินในการประกันตัว มิฉะนั้นเราก็ขอประกันตัวแทน แล้วก็มีงานรวบรวมพยานหลักฐาน เหมือนทนายทั่วไป แต่งานสื่อสาร เผยแพร่ข่าว และการใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาปรับ เป็นสิ่งที่ทำให้ทนายสิทธิมนุษยชนแตกต่าง
สำหรับความท้าทาย เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำตามกฎหมายจะทำอย่างไร ทนายความเข้าไม่ถึงลูกความ แม้กระทั่งการทำงานของศูนย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของตนก็ถูกเหมารวมเช่นกัน ว่าการสังเกตการณ์ของพวกตนคือการร่วมการชุมนุม แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ต้องเจอ การทำหน้าที่ทนายความในศาลทหาร ตำรวจก็พยายามมายึดมือถือโดยไม่มีอำนาจ เมื่อทนายไม่ยอม ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหา หรือข้อท้าทายที่ต้องเจอในสื่อ บางคนแยกไม่ออกว่าทนายความแยกจากตัวความ ทนายให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนบางครั้งอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นทนายโจร ล้มเจ้า ซึ่งเป็นข้อท้าทายที่ต้องอธิบายกับสังคม ว่าทนายไม่ใช่ตัวความ แต่เป็นตัวแทนด้านกฎหมาย อาจจะเห็นด้วยกับบางประเด็น แต่ก็ไม่ได้ร่วมกระทำกับเขา นี่ก็เป็นสิ่งที่ทนายสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ หรือข้อกล่าวหาอื่น ๆ เช่น แหล่งทุน อย่าง iLaw ที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินต่างชาติมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างศูนย์ฯ ก็รับทุนจากต่างชาติเช่นกัน ไม่ว่าจะรับตรงจากสถานทูตต่าง ๆ หรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสัญชาติอื่น ๆ แต่เมื่อพิจารณาจากการช่วยเหลือด้านกฎหมายของศูนย์ฯ มีนำเงินเหล่านี้มาใช้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ซึ่งตนคิดว่าโดยสภาพงานไม่ผิดกฎหมายใด ๆ อีกทั้ง รัฐควรต้องรับผิดชอบคดีต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น และศูนย์ทนายไม่ควรจะมีขึ้นมาด้วยซ้ำ เพราะไม่ควรมีการละเมิดเกิดขึ้น ข้อท้าทายคือทำให้คนกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร
จากการทำงาน ถึงแม้ว่าสิทธิมนุษยชนจะถูกรับรองแล้ว เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าไม่มีความโปร่งใส หรือหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิ ก็ยังคงเป็นปัญหาในสังคมเรา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ทนายความทุกคนล้วนเป็นหลักประกันที่จะต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส และทำให้ตัวความเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้
คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษ
คำถาม (1) : อะไรคือสาเหตุหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณพูนสุขมาเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวว่า ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเป็นพิเศษ แต่น่าจะเป็นลักษณะนิสัยของตนมากกว่า เวลาเห็นเหตุการณ์ที่ตนไม่ชอบหรือแตกต่างจากที่เรียนมาแล้วทนไม่ได้กับมัน ก็อยากผลักดัน อย่างที่บอกไว้ตอนแรกว่าเคยมีความคิดอย่างจะเป็นอัยการ เพราะผู้พิพากษาคงจะไม่เหมาะกับตนในแง่ของบุคลิก กล่าวคือไม่ชอบเป็นคนตัดสินจากข้างบนลงมา แต่อัยการน่าจะใกล้เคียงกับงานทนายความ แต่พอมาทำด้านนี้ก็ค้นพบว่าตนมีความสุขกับงาน อัยการก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่อาจจะมีข้อจำกัดมากกว่านี้ งานปัจจุบันของตนสามารถทำได้หลายรูปแบบมากกว่า จึงชอบและทำมาจนถึงปัจจุบันกว่า 10 ปี
คำถาม (2) : การที่คุณพูนสุขเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน การทำงานจึงต้องเจอปัญหากระทบกระทั่งกับผู้ที่มากระทำละเมิดในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น เคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้คุณพูนสุขถูกคุกคามบ้างหรือไม่ แล้วหากเจอเหตุการณ์เช่นว่า เราควรที่จะถอยไป หรือพยายามทำต่อไปให้ถึงที่สุด
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวว่า สำหรับการถูกคุกคาม ส่วนตัวไม่ได้เจอในลักษณะนั้น แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องหน้างานเวลาที่เราเข้าไม่ถึงลูกความ เคยมีครั้งหนึ่งที่ญาติของลูกความมาร้องเรียนว่าลูกความถูกจับ ซึ่งตอนนั้นทหารควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกไปเจ็ดวัน และนำตัวมากองปราบ พอมาถึงที่กองปราบ มันไม่ใช่เรื่องอำนาจตามกฎอัยการศึกแล้ว การจะรับทราบข้อกล่าวหานั้น เขาจำเป็นต้องมีทนาย แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทนายความให้เขา ซึ่งแท้จริงแล้วสิทธิในการเข้าถึงทนาย ไม่ใช่แค่ว่ามีทนายไปนั่งข้าง ๆ แต่จำเป็นต้องเป็นทนายความที่เขาได้รับความไว้วางใจด้วย กรณีนั้นมันแปลกประหลาดถึงขั้นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาตั้งแถวกั้นทนายของศูนย์ฯ ที่กองปราบ ตนกับลูกความอยู่ห่างกันประมาณ 5-10 เมตร แต่เขาไม่ให้เข้าไป ซึ่งก็ฝ่าเข้าไปไม่ได้ แต่ว่าตอนนั้นก็มีสื่อ สิ่งที่ทำเป็นอันดับแรก คือทนายความของศูนย์ฯ ตะโกนบอกลูกความว่าต้องทำอย่างไรบ้าง สอง แถลงข่าวว่าพวกตนเป็นทนายความที่ญาติติดต่อมา แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวลูกความได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ ณ จุดนั้น และก็รู้สึกว่าการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยในกระบวนการยุติธรรมนั้นควรจะเคารพซึ่งกันและกัน แต่ตนกลับพบว่ามีอุปสรรคในการเข้าถึง ส่วนตัวรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ ประเด็นอื่น ๆ ในนามของศูนย์ฯ เอง ก็มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่หรือทนายของศูนย์ฯ ที่ไปทำหน้าที่ ซึ่งเป็นการคุกคามในรูปแบบที่เขาทำกับประชาชน ก็คือใช้กฎหมายเพื่อปิดปาก หรือจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่
คำถาม (3) : คุณพูนสุขเคยมีความท้อใจในการที่เจออุปสรรคหรือปัญหาดังกล่าวหรือไม่
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวว่า ความท้อใจเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะการทำงานในด้านนี้ และรู้สึกว่าเราทำอะไรอยู่ บางทีก็รู้สึกว่า ถ้าพูดถึงช่วงที่ทำงานศูนย์ทนายฯ ส่วนหนึ่งก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานด้านนี้ บันทึกประวัติศาสตร์ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในการประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน แต่อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าทำไมประเทศเราต้องมาอยู่ในจุดนี้ และทำไมตนถึงต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ จริง ๆ ถ้าไม่มีการละเมิดแบบนี้ ตนอาจจะไปทำอย่างอื่นหรือไม่ ต้องมาอยู่ตรงนี้ เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้หรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น บางช่วงตนรู้สึกว่ากำลังสู้กับอะไรที่ใหญ่มาก อย่างเช่น โครงสร้างของกฎหมาย ระบบอำนาจนิยม แต่สิ่งที่ทำให้ยังอยู่ เพราะส่วนหนึ่งก็เชื่อมันในกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมควรจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายจริง ๆ ถ้าพ้นจากตรงนี้ไป ประเทศจะมีปัญหามากกว่านี้ ตนจึงพยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ในช่วงปีที่ผ่านมา งานด้านสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น คนเริ่มสนใจและถกเถียงประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น มีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เปิดโอกาสให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น และยืนยันว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเทศเราดีกว่านี้ได้ บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันน่าหมดหวังและท้อแท้ แต่ตนทำงานนี้มานาน และมองว่ามันมีความหวังเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำกับการที่คนเข้ามาสนใจให้ความสนใจและพูดถึงมันในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
คำถาม (4) : มีกรณีที่ได้เข้าไปช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนแล้วประทับใจหรือไม่ ที่เห็นลูกความได้รับเสรีภาพ
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวว่าตนประทับใจหลายเคส มีหลายเคสที่เขาได้รับการปล่อยหรือประกันตัวออกมา แค่นั้นตนก็ดีใจแล้ว ที่ศูนย์ทนายมีการฉลองกันบ่อยมาก มันเป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ชนะคดี พวกตนก็จะกลับมาฉลองกัน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย แต่ เคสที่เป็นประสบการณ์สำหรับตนอย่างรุนแรงมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือที่ตนได้เป็นทีมทนายคดีอากงที่ส่ง SMS แล้วถูกดำเนินคดี มาตรา 112 จริง ๆ คดีนี้พวกตนเข้าไปตั้งแต่ต้น อากงถูกฝากขังอยู่ก่อนระยะหนึ่งแล้ว แม้จะไม่ได้เข้าไปตั้งแต่ชั้นจับกุม พวกตนก็ไปคัดค้านฝากครั้งในทุก ๆ ฝากเท่าที่เป็นไปได้ และขอประกันอีกทางหนึ่งด้วย ช่วงที่ได้รับการประกันตัวออกมา ก็รู้สึกดีใจมาก แต่สุดท้ายเมื่อถึงวันฟ้อง มันก็ทำให้ตนตั้งคำถาม คือคนที่ถูกปล่อยออกมา พอวันฟ้องก็เดินไปศาลเพื่อให้อัยการสั่งฟ้องเอง ทำไมเขาจะต้องหนี ก่อนจะมีคำพิพากษา คนก็ไม่ได้รับรู้เท่าไหร่ มารับรู้ 20 ปีให้หลัง สำหรับคนที่เป็นทนายนั้นเจ็บปวดมาก เพราะลูกความเสียชีวิตแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ อากงถอนอุทธรณ์ออกมา เพราะร่างกายไม่ไหว และขอพระราชทานอภัยโทษ แต่อากงก็เสียไปก่อน เรื่องนี้เป็นทั้งความเจ็บปวดและแรงผลักดันให้ตนยังทำงานอยู่
คำถาม (5) : ในทุก ๆ ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีการเปิดรับสมัครทนายความหรือไม่
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
ไม่ได้เปิดรับทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าหน้างานมีงานมากขนาดไหน แต่พยายามรับอาสาสมัครนักกฎหมายที่ผ่านโครงการมอส. ทุกปี โดยมองว่าเป็นการฝึกคน และนักศึกษาฝึกงานก็มีการสมัครมาบ้าง ส่วนใหญ่จะส่งใบสมัครมาให้ศูนย์พิจารณาเลย ซึ่งต้องพิจารณาเรา ณ ตอนนั้นสามารถดูแลน้อง ๆ ได้ขนาดไหนในการฝึกงาน ซึ่งฝ่ายคดีก็จะรับเรื่อย ๆ ในช่วงนี้เองคดีเพิ่มขึ้นเยอะบ้าง แต่มีทนายส่วนกลางประจำไม่เยอะ และให้ความช่วยเหลือในลักษณะของ Pro Brono และมีทนายความเครือค่ายมาให้ความช่วยเหลือด้านคดีกับเราด้วยในลักษณะเดียวกัน ทางศูนย์ฯ ใช้ระบบนี้เป็นหลัก ซึ่งทำให้มีศักยภาพที่จะรองรับคดีเพิ่มมากขึ้น ถ้าใครสนใจก็ส่ง cv มาให้พิจารณาได้ แต่ศูนย์ฯ คงรับไม่ได้เยอะ อย่างมากก็ 2-3 คน แต่มอส. ก็ยังเปิดโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนอยู่ ซึ่งจะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ด้วย ที่ต้องการนักกฎหมาย ถึงแม้ว่าบางองค์กรอาจจะไม่ได้เป็นองค์กรด้านกฎหมาย แต่ก็สามารถไปทำด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนเขาได้เช่นกัน แล้วแต่ความสนใจ ทางศูนย์ฯ ของตนไม่ได้เปิดเป็นโครงการชัดเจน แต่ลองส่งมาได้ โอกาสผิดหวังก็มี
คำถาม (6) : คิดว่าในอนาคตปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องด้วยมีกฎหมายเข้ามาใช้ หรือมีนักสิทธิมนุษยชนเข้ามาเยอะขึ้น ปัญหาก็น่าจะน้อยลง
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวว่า ตนเห็นว่าจะมีคนเข้ามาเรียนรู้ ร่วมถกเถียงปัญหามากขึ้น แต่มันคงไม่หมดไป กลับกัน จะพัฒนาไปในเรื่องอื่น ๆ ที่เราต้องถกเถียงกันมากขึ้น ประเทศอื่นอาจจะเถียงเรื่องเพศ แท้งเสรี แต่บ้านเรายังเถียงเรื่องคนเท่ากัน เสรีภาพในการชุมนุม การแสดงออกอยู่ ตนจึงคิดว่าเป็นประเด็นท้าทายถ้าเราก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ได้ และมันยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกเยอะเลยในสังคม เพราะมีความท้าทายในการอยู่ร่วมกันตลอดเวลา คงไม่หมดไป แต่หวังว่าเราคงจะไม่ต้องมาเถียงในเรื่องพื้นฐานกันอีก
คำถาม (7) : หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชนเปลี่ยนไปมากหรือไม่
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
เปลี่ยนไปเยอะเลย ตอนเรียนมหาลัย เช่น คดีป่าไม้ หรือบุกรุก เรียนกฎหมายวันแรกกับอาจารย์สมยศ อาจารย์บอกว่ากฎหมายมันไม่ได้มีไว้แค่ความยุติธรรมเท่านั้น แต่มันมีเพื่อความสงบเรียบร้อยด้วย ตนรู้สึกว่ามันเป็นการตอกหมุดเรา ทำให้การเรียน 4 ปีอยู่ในกรอบแบบนั้น แต่พอมาทำงาน เห็นปัญหาและข้อเท็จจริง พบทางว่าควรจะทำในเรื่องอื่น ๆ ได้อีก หรือการเรียนการสอนในมหาลัย มันก็ถามตอบเลยว่าถ้าเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินอย่างไร ซึ่งอยู่บนฐานการเรียนรู้ของการตัดสินผิดถูกตลอดเวลา แต่ถ้าเราตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าคุณเป็นทนายความคุณจะให้คำปรึกษาในเรื่องนี้อย่างไร อาจจะทำให้เราต้องถามตัวเองมากขึ้น มีมุมมอง หรือเครื่องมืออื่นมากกว่ากฎหมาย หรือการตัดสินถูกผิด หรือแม้กระทั่งที่เราเรียนกฎหมายได้แค่ถูกผิด แต่เราร่างกฎหมายในแต่ละเรื่องไม่เป็น ไม่รู้ว่าต้องพิจารณาด้านใดได้บ้าง ไม่ใช่เรียนจบแล้วจะมาทำงานต่าง ๆ ได้เลย การทำงานจะเปิดโลกให้เรามากขึ้น อีกเรื่องคือเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม ตอนสมัครมอส. เขาถามว่าตนมีความคิดเห็นอย่างไร ตนบอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับเสรีภาพในการชุมนุม เพราะเป็นการนำความเดือดร้อนคนอื่นมาเป็นประกัน แต่พอทำงาน ก็ได้รู้ว่าการชุมนุมไม่ได้เกิดโดยง่าย พวกเขาเผชิญปัญหา และพยายามแก้ไขแล้ว แต่ไม่มีใครรับรู้ปัญหาของพวกเขา การทำงานและได้สัมผัสปัญหาจริง ทำให้ตนได้เข้าใจว่าเสรีภาพในการชุมนุมมันจำเป็น
คำถาม (8) : ถ้าอยากจะเข้าไปทำงานในองค์กรหรือสายงานระหว่างประเทศในเรื่องนี้ ควรทำอย่างไรบ้าง
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
ต้องเก่งภาษา และมีความรู้ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ แต่สุดท้ายแล้วเรื่องพื้นฐาน ปัญหาภายใน ประเด็นที่เราต้องการผลักดันยังต้องเป็นฐาน ตั้งต้นจากสิ่งที่เราอยากทำก่อน แล้วนำความสามารถทางภาษา หรือกฎหมายระหว่างประเทศของเราไปตอบโจทย์ประเด็นของเราในเรื่องนั้น ๆ ไม่ใช่ตั้งเป้าแค่อยากไปทำงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เรามองข้ามปัญหาและข้อเท็จจริง
คำถาม (9) : ทำไมการประกันตัวกรณี มาตรา 112 หรือเรื่องอื่น ๆ สส. ต้องมาประกันตัวตลอดทุกคดี และทำไมเป็น สส. ฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ ฝ่ายอื่นประกันตัวได้หรือไม่
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
กล่าวว่า การประกันตัวมีหลายวิธี เช่น เงินสด หลักทรัพย์อื่น ๆ แม้กระทั่งตำแหน่ง ไม่ใช่แค่ สส. แต่เป็นตำแหน่งข้าราชการก็ได้ รวมถึงกรมธรรม์ประกันเสรีภาพ กำไล EM สำหรับเรื่องการประกันตัว ควรจะตั้งหลักตั้งแต่ความจำเป็นของการฝากขัง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีเรื่องการประกันตัว เพราะไม่ใช่แค่คดีการเมืองเท่านั้น แต่การประกันตัวเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินประกันตัว บางคนก็ไม่มีญาติเป็นพนักงาน หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องปฏิรูปเหมือนกันเรื่องระบบการประกันตัว สำหรับประเด็นที่ว่าทำไมต้องเป็นตำแหน่ง สส. อันนี้เป็นเรื่องความสมัครใจของ สส. เองที่จะใช้ตำแหน่งของตัวเอง มีข้อดีคือ ไม่ต้องหาเงินมาวาง หรือหลักทรัพย์มาประกัน อย่างคดีของศูนย์ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการประกัน เท่าไหร่ก็ไม่พอ การใช้ตำแหน่งหรือการมี สส. มาประกันก็ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ส่วนลูกความบางคนที่ไม่สะดวกใจที่จะใช้ตำแหน่ง สส. เขามีหลักประกันของเขาเอง มีความพร้อม เขาก็ใช้หลักทรัพย์ของเขาได้ ของศูนย์ทนายให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ในเรื่องการประกันตัว จะไม่ได้จัดหาเงินหรือหลักประกันให้ เป็นภาระของลูกความที่จะต้องหาอยู่ดี แต่ ณ ตอนนี้มีกองทุนที่พยายามรวบรวมเงินบริจาคไว้อยู่สำหรับคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก เขาจะใช้เงินตรงนี้ สอง คือมี สส. ที่อาสามาว่าจะให้ใช้ตำแหน่งประกันได้ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับการชุมนุม สาม จะเห็นว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง หลายคดีที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ อาจารย์ก็จะใช้ตำแหน่งอาจารย์ในการประกันตัว ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับตัวลูกความ จริง ๆ หลักก็คือจะต้องได้ประกันตัวในคดี แต่ตนก็มองว่าหลายคดีไม่จำเป็นแต่แรกที่จะต้องประกันตัวหรือเปล่า ส่วนทำไมถึงเป็น สส. ฝ่ายค้าน คงต้องไปถามเขาเอง แต่ก็มีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุนหรือไม่ กรณีเดียวกับที่คนมองว่าทนายสนับสนุนลูกความ นายประกันสนับสนุนหรือไม่ ทั้งที่เป็นการประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนอยากจะฝากเรื่องนี้ไว้ให้คิด ว่าเราต้องแยกแยะให้ออก
คำถามสุดท้ายโดย ผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง (ผู้ดำเนินรายการ) : คิดว่าจะทำงานนี้ไปอีกนานแค่ไหน หรือเคยคิดจะเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ :
จริง ๆ ความฝันสูงสุดคืออยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำงาน แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ ณ ตอนนี้ ตนมองว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนยังมีงานให้ทำอีกเยอะมาก แค่เรื่องในกระบวนการยุติธรรมก็เยอะมากแล้ว คิดว่ามันสามารถทำได้ในหลายมิติ ตนอาจจะไม่ได้ทำงานทนายความไปตลอดก็ได้ แต่งานในด้านสิทธิมนุษยชนก็เป็นเรื่องที่อยากทำ และยังให้ความสนใจและอยากผลักดัน แต่ถ้าวันหนึ่งประเทศเป็นประชาธิปไตย ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีสวัสดิการที่ดี ตนก็อยากจะไปใช้ชีวิตเล่น ๆ ในเรื่องอื่น ๆ ของเหมือนกัน
ทั้งนี้ คุณพูนสุขได้กล่าวปิดท้ายว่า ถ้าใครสนใจด้านสิทธิมนุษยชนจริง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนไหน หรือแม้กระทั่งไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้พิพากษา อัยการ ทุกคนสามารถสนับสนุนกระบวนการยุติธรรม ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง ตนไม่ได้เรียกร้องว่าทุกคนจะต้องมาทำงานทนายความสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ว่าถ้าเชื่อมั่นในเรื่องกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ก็จงใช้มันกับชีวิตประจำวันและการทำงานของเรา แล้วสังคมเราจะดีขึ้น