สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ “7 ปี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ: ศักดิ์ศรี เสมอภาค เป็นธรรม?” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 9.30-12.30 น. Facebook Live ทาง Facebook Page : ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดการเสวนา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)
- อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณชิษณ์ชาภา พานิช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงของ SHero Thailand / กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า
- คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอรุณ วรรณสงวน นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้กล่าวเปิดการเสวนา) :
กล่าวสวัสดีผู้เข้าร่วมงานเสวนาและวิทยากร ในนามศูนย์นิติศาสตร์ ตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งในการจัดงานเสวนา โดยการเสวนาวันนี้เป็นหนึ่งในภารกิจที่ศูนย์นิติศาสตร์ดำเนินการมาโดยตลอด กล่าวคือ นอกจากการให้ความช่วยเหลือทางด้านคดีแก่ประชาชน ก็คือการเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายที่ทำในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีการไปเผยแพร่ความรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแบบออนไลน์แทน และอีกบทบาทหนึ่งก็คือการจัดงานเสวนาทางวิชาการ เพื่อนำเสนอประเด็นทางกฎหมายในหลากหลายด้านอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมทุกท่าน
หัวข้อในวันนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินและอาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ฉบับนี้ว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร มีบทบาทอย่างไร มีหลายคนอาจจะถูกกระทบสิทธิด้วย ในวันนี้จึงมีวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาให้ความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์นิติศาสตร์ก็เคยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นกัน กล่าวคือ การแข่งขันโต้เถียงปัญหาทางกฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจา (ศาลจำลอง) โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมในบทบาทสมมติว่าเป็นทนายความ ทางศูนย์นิติศาสตร์จึงอิงระเบียบของสภาทนายความเกี่ยวกับการแต่งกายในชั้นศาล กรรมการที่จัดการแข่งขันก็มีการอภิปรายในเรื่องนี้ว่าเหตุใดระเบียบจึงกำหนดให้ทนายความผู้หญิงต้องสวมกระโปรงเท่านั้น และเห็นว่าไม่น่าจะสมเหตุสมผล และตามเหตุผลแล้วก็สามารถสวมชุดสุภาพที่ไม่ถูกจำกัดด้วยการสวมกระโปรงเท่านั้นก็ได้ กรรมการจัดการแข่งขันจึงมีการแก้ไขระเบียบการแข่งขันศาลจำลองให้สามารถแต่งชุดสุภาพอย่างไรก็ได้ โดยให้หมายเหตุไว้ว่าระเบียบการแข่งขันเรื่องการแต่งกายนี้แตกต่างจากระเบียบของสภาทนายความ และไม่นานมานี้ก็มีข่าวเกี่ยวกับการยื่นเรื่องระเบียบการแต่งกายของสภาทนายความต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งในวันนี้จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย และสุดท้ายนี้ในนามของศูนย์นิติศาสตร์ ตนก็ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การเสวนาวิชาการในครั้งนี้ จะแบ่งการเสวนาออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมา กลไก ขั้นตอน องค์กรที่เกี่ยวข้องของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 (กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ) และในช่วงที่สองจะเป็นเรื่องของความก้าวหน้าจากการใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ที่ได้ประกาศใช้บังคับในวันที่ 9 กันยายน 2558 ตลอดจนทิศทางในอนาคตเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว
โดยตนจะขอกล่าวถึงกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศในเบื้องต้นว่า ใจความสำคัญของกฎหมายนี้ คือ การขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศซึ่งได้บัญญัตินิยามไว้ในมาตรา 3
กฎหมายฉบับนี้มีกลไกที่สำคัญ ดังนี้
1) คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) มีอำนาจหน้าที่ในเชิงรุกเกี่ยวกับผลักดันนโยบาย มาตรการเชิงโครงสร้าง
2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) มีอำนาจหน้าที่ในเชิงรับเกี่ยวกับรับคำร้องของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีอำนาจออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเยียวยาความเสียหาย หากการเลือกปฏิบัติมาจากตัวกฎหมายก็มีอำนาจยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งเรื่องไปต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในลำดับถัดไป
ในการดำเนินพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการ วลพ. จะมีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวทำงานสนับสนุนเป็นฝ่ายธุรการ รวมถึงมีหน้าที่รับคำร้องของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศด้วย
3) กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีอำนาจหน้าที่ในการเยียวยาผู้เสียหายในกรณีที่ความเสียหายเป็นตัวเงิน และรวมไปถึงมีหน้าที่ในการส่งเสริมความรู้ ส่งเสริมการวิจัย ส่งเสริมการสร้างคุณค่าใหม่เกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมด้วย
อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านใช้การบังคับใช้มาแล้ว 7 ปี มีความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ
การมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาเป็นข้อยืนยันว่ารัฐไทยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศด้วยการออกกฎหมายคุ้มครอง แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยมีความก้าวหน้าในทางความเท่าเทียมระหว่างเพศ สอดคล้องกับพันธสัญญาระหว่างเพศที่ไทยได้เป็นภาคี คือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ.1979 (Convention on the Elimination of All forms of Discrimination against Women)
ในช่วง 10 ปีก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้ประกาศนั้น (ประกาศใช้ในปี 2558) ได้เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศแล้ว จึงมีความพยายามร่างกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศขึ้นมา โดยในเวลานั้น ความเสมอภาคทางเพศไม่ได้หมายถึงแค่มิติทางด้านความเท่าเทียมเฉพาะหญิงกับชาย แต่รวมไปถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย ช่วงเวลานั้นนับว่าเป็นแสงสว่างของความเท่าเทียมทางเพศที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเป็นระบบ
ในช่วงนั้น ได้มีการให้นิยามความหมายเรื่องเพศกว้างขวางมากขึ้น และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ว่า เพศ หมายความรวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีด้วย เป็นจุดเริ่มต้นอันเป็นเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายคุ้มครองความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นที่มาของกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้ ซึ่งมีกลไกต่าง ๆ ในการคุ้มครองการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศให้ได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคตามกฎหมาย
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การเปลี่ยนจากคำว่า ‘ความเสมอภาค’ เป็น ‘ความเท่าเทียม’ มีนัยยะอย่างไรบ้าง
อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
ความเท่าเทียม (equality) ช่วยทำให้เห็นเรื่องความเท่าเทียมได้ดีกว่า สอดคล้องกับหลักการสากล ซึ่งเห็นถึงความเท่าเทียมในมิติอื่น ๆ นอกจากเพศด้วย กล่าวคือ ความเท่าเทียมทำให้เห็นภาพที่กว้างกว่า
คุณชิษณ์ชาภา พานิช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงของ SHero Thailand / กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า (วิทยากร) :
ตนเห็นด้วยกับ อ.เคท เนื่องจากคำว่า ‘เพศ’ ซึ่งปัจจุบันได้เท้าความมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยในการประชุมยกร่างมีเจตนารมณ์ในการกำหนดเรื่องเพศด้วยถ้อยคำว่า ‘เพศ’ ‘เพศสภาพ และความหลากหลายทางเพศ’ เข้าไปด้วย แค่ถูกกรรมการร่างตัดถ้อยคำให้สั้นลงด้วยเหตุว่าเพศมีความหมายรวมไปถึงความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดความสับสนได้ ดังนั้น จึงเหลือเพียงคำว่า ‘เพศ’ เท่านั้น
หลักการดังกล่าวข้างต้นได้ถูกหยิบยกมาอีกครั้งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2561 (ร่างก่อนฉบับปัจจุบันโดยคณะของศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) อีกด้วย
คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วิทยากร) :
กล่าวถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
คณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศนี้ที่สำคัญมีทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการ สทพ. คณะกรรมการ วลพ. และคณะกรรมการบริการกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
คณะกรรมการ สทพ. มีผลงานสำคัญ คือ กำหนดแนวปฏิบัติในการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มีชื่อว่า ข้อเสนอแนะว่าด้วยแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ประกอบด้วย 6 เรื่อง ได้แก่ การแต่งกาย การจัดพื้นที่ให้เหมาะสม สัดส่วนในคณะกรรมการ การกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน การใช้ภาษา การป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ซึ่งทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐสามารถประกาศเจตนารมณ์ให้ระเบียบเป็นไปตามแนวปฏิบัตินี้ได้
คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคำร้องของบุคคลที่ร้องเข้ามาว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม คณะกรรมการก็จะมีคำสั่งไปยังผู้ถูกร้องหรือกระทำการให้ปรับปรุงแก้ไขมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นมาอีก
คณะกรรมการบริการกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีหน้าที่เยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ผู้เสียหายสามารถยื่นขอชดเชยเยียวยาจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศก็ได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมกิจการหรือโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่ร้องขอ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การจัดประกวดสื่อโฆษณา หนังสั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีผู้เสียหายเพียงแค่ 2 จาก 51 เรื่องที่ได้ถูกร้องเรียนเข้ามาที่ขอยื่นเยียวยาความเสียหายจากคณะกรรมการกองทุนฯ เนื่องจากในทางปฏิบัติ ผู้เสียหายมักไม่ขอชดเชยเยียวยา เพราะต้องการได้ศักดิ์ศรีคืนมามากกว่าการได้รับชดเชยเป็นเงิน ดังนั้น เมื่อไม่มีการขอชดเชยเยียวยา คณะกรรมการกองทุนฯก็ไม่มีอำนาจชดเชยเยียวยาในกรณีนั้น ๆ ได้
สำหรับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ทำหน้าที่เป็นเสมือนเลขาของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ เช่น การจัดประชุม หาข้อมูลต่าง ประสานกับหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ทำงานด้านวิชาการด้วย และรวมถึงการรับคำร้องจากผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วย
สำหรับการยื่นคำร้องกรณีบุคคลผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ผู้แจ้งสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเอง ณ กรมกิจการสตรีและครอบครัวด้วยตนเอง โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับคำร้องเหมือนกับการรับแจ้งความคดีอาญาของตำรวจ คือ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการด้านเอกสารให้ ผู้แจ้งเพียงแค่เล่าข้อเท็จจริงและลงชื่อยืนยันความถูกต้อง แต่หากไม่สะดวกในการเดินทางมาแจ้งด้วยตนเอง ก็สามารถโทรปรึกษาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 026596757-8 ทางเจ้าหน้าที่จะส่งเอกสารกลับไปให้ลงชื่อยืนยันความถูกต้องแล้วส่งกลับคืนมา ซึ่งจะทำด้วยวิธีการทางไปรษณีย์หรืออีเมลหรือวิธีการอิเล็กทรอนิกส์อื่นก็ได้
คำร้องไม่ได้มีแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถเขียนได้เอง โดยมีสาระครบถ้วนก็เพียงพอ ได้แก่ ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญว่าถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม คำขอ และลงลายมือชื่อ แม้ปรากฏว่าคำร้องไม่ครบถ้วน ก็จะมีเจ้าหน้าที่จะติดต่อมาปรึกษาและให้การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกเพื่อให้คำร้องครบถ้วนถูกต้อง อย่างไรก็ดี ในการยื่นคำร้อง ผู้แจ้งควรเขียนหมายเลขโทรศัพท์ไว้ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ในการติดต่อกลับด้วย
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) (วิทยากร) :
กล่าวถึงหลักการและแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ วพล.
กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหมดสิ้นไป ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการทำให้บรรลุตามเจตนารมณ์นั้นนอกจากจะต้องมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติแล้ว จะต้องมีกลไก ระบบ และกระบวนที่มีความเป็นรูปธรรมในการบังคับใช้กฎหมายด้วย
สำหรับกลไกในทางกฎหมายนอกจากการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง หรือศาลปกครอง แล้วยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการรับคำร้องและออกคำวินิจฉัยได้ แต่ผลของคำวินิจฉัยจะส่งไปยังรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ถึงกระนั้นก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการแก้ไขหรือไม่
สำหรับกลไกตามกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศก็คือ คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะ ในกระบวนการพิจารณาคำร้องจึงมีรูปแบบคล้ายกับการพิจารณาคดีของศาล ที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ร้องถูกเลือกปฏิบัติหรือมีแนวโน้มที่จะถูกเลือกการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เป็นไปตามนิยามมาตรา 3 อย่างไรก็ดี ก็มีปัญหาของการนิยามอยู่เช่นกัน คือ คำว่า “ไม่เป็นธรรม” ที่มีทั้งปัญหาในแง่การตีความ และในแง่ข้อยกเว้นตามกฎหมายให้สามารถกระทำได้
นอกจากนี้ ยังอาจมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นรายละเอียด ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะเรื่องจากตัวบุคคลซึ่งเป็นอนุกรรมการ ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และวิเคราะห์ข้อเท็จจริงด้วยหลักการต่าง ๆ และทำคำวินิจฉัยในประเด็นนั้น ๆ ส่งต่อไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่
เพื่อให้ผู้ร้องได้รับความเป็นธรรมในระยะเวลาอันสมควร กฎหมายได้กำหนดระยะเวลาในการทำคำวินิจฉัยเอาไว้อีกด้วย เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องได้ทันท่วงที
ในส่วนของการยื่นคำร้องมีสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ เป็นผู้ที่ถูกกระทำจากการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เรื่องนั้นเป็นคดีในศาลหรือไม่ กล่าวคือ ผู้มีอำนาจยื่นคำร้อง ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ถูกหรืออาจถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่กฎหมายยังให้อำนาจแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคหรือการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างเพศยื่นคำร้องแทนได้ด้วย แต่ทั้งนี้ ประเด็นที่จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. จะต้องไม่เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลหรือยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยของศาล
เมื่อคณะกรรมการ วลพ. ได้มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติแล้ว จะมีมาตรการบังคับต่อไปตามมาตรา 20 โดยแบ่งออกตามเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ ดังนี้
1. ถ้าเหตุนั้นเป็นการกระทำของบุคคลหรือหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ หรือเป็นของภาครัฐหรือเอกชน ก็จะมีคำสั่งให้บุคคลหรือหน่วยงานนั้นกระทำให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามความเหมาะสม กล่าวคือ เป็นคำสั่งเพื่อระงับหรือป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ
2. ถ้าเหตุนั้นเป็นการขอการเยียวยาความเสียหาย เมื่อมีคำวินิจฉัยให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายแล้ว ให้ผู้ร้องไปยื่นต่อคณะกรรมการกองทุนฯได้ ทั้งนี้ การได้รับความเยียวยาความเสียหายในกรณีนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดีต่อศาล โดยมีกำหนดเวลาให้ฟ้องได้ภายใน 2 ปี ซึ่งศาลอาจกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ถึง 4 เท่าให้อีกด้วยก็ได้
นอกจากอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศแล้ว คณะกรรมการ วลพ. ยังมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน เนื่องด้วยประเทศไทยอยู่ในบริบทที่มองว่าเพศชายเป็นใหญ่ หลักเกณฑ์ตามกฎหมายบางอย่างที่เกิดขึ้นจึงทำให้เสมือนว่าเกิดการเลือกปฏิบัติในทางอ้อม
การห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายได้แล้วแต่กรณี โดยคณะกรรมการ วลพ. มีหน้าที่ส่งเรื่องให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา หากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่อไป และไปยังศาลต่อไป
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในกรณีที่ผู้ร้องได้รับผลกระทบอันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมมาจากกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 21 ทางคณะกรรมการ วลพ. จะสามารถพิจารณาตัดสินปัญหาได้หรือไม่ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือจะต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลเสียก่อน
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) (วิทยากร) :
คณะกรรมการ วลพ. ทำได้เพียงการวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำหนึ่งการกระทำใดที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายใดเป็นการเลือกปฏิบัติที่จะมีผลอันเป็นการต้องแก้ไขกฎหมายได้ แต่หากคณะกรรมการ วลพ. เห็นว่ากฎหมายนั้นมีลักษณะเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมระหว่างเพศ ก็จะต้องส่งเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
คุณชิษณ์ชาภา พานิช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงของ SHero Thailand / กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า (วิทยากร) :
กล่าวถึงประสบการณ์การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. และสาเหตุที่เลือกใช้การร้องเรียนความเป็นธรรมด้วยช่องทางตามกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้
โดยส่วนตัวตนมีประสบการณ์การการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากระเบียบการแต่งกายของสภาทนายความ ที่กำหนดให้ต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดในการเข้าสอบใบอนุญาตว่าความ โดยหากเข้าสอบโดยแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด จะถูกถือว่าเป็นการแต่งกายผิดระเบียบ ส่งผลให้อาจถูกหักคะแนนหรือห้ามเข้าสอบได้
แม้ว่าทางสภาทนายความจะมีการให้ยื่นคำร้องเพื่อขอแต่งกายตามเพศสภาพได้ โดยจะต้องมีการยื่นหนังสืออนุญาตพร้อมเหตุผลและใบรับรองแพทย์ว่าได้รับการแปลงเพศแล้วเสียก่อน ถึงกระนั้นแม้ว่าจะได้รับอนุญาตแล้ว ก็ยังถือเป็นการแต่งกายผิดระเบียบอยู่ที่คณะกรรมการคุมสอบหรือคณะกรรมการตรวจข้อสอบที่จะใช้ดุลพินิจหักคะแนนได้
ตนได้ทราบมาว่า สภาทนายความได้มีการลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศไว้ก่อนที่จะมีผลบังคับ แต่ในทางปฏิบัติ สภาทนายความก็ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากใช้ระเบียบข้อบังคับที่ยึดติดกับเพศกำเนิดอยู่เช่นเดิม ทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จึงส่งผลให้เป็นการกีดกันการได้รับการศึกษาของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ตนได้รู้จักช่องการทางร้องเรียนตามกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศตั้งแต่ในช่วงที่จะเข้ารับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งในเวลานั้น ตนได้ถูกปฏิเสธไม่ให้แต่งกายตามเพศสภาพ แต่ภายหลังได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะจากทางมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้ใช้กระบวนการตามกฎหมายนี้ แต่ในเวลานั้นได้มีความรู้และได้ศึกษาขั้นตอนระเบียบวิธีการในการยื่นคำร้องไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุนี้ ในกรณีของการถูกปฏิเสธไม่ให้แต่งกายตามเพศสภาพของสภาทนายความ ตนจึงได้ยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการ วลพ.
ในการยื่นคำร้องก็ประสบปัญหาอยู่เช่นกัน แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้คณะกรรมการ วลพ. ต้องรับคำร้องไว้พิจารณาภายใน 3 วัน และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้แล้วเสร็จรวมระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน แต่ในความเป็นจริงเวลานั้น กระบวนการพิจารณาใช้เวลาเกินกว่า 90 วัน ทำให้คำวินิจฉัยหรือคำสั่งออกมาไม่ทัน ด้วยเหตุว่าประธานคณะกรรมการ วลพ. ว่างลง รวมทั้งการขอมาตรการคุ้มครองก็ทำไม่ได้ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน จึงต้องใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อกดดันและสร้างหลักประกันให้ไม่ถูกลงโทษหรือหักคะแนนตามระเบียบดังกล่าว
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
หลังจากได้รับคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการ วลพ. แล้ว คุณชิษณ์ชาภา (วิทยากร) มีความพึงพอใจหรือไม่อย่างไรบ้าง
คุณชิษณ์ชาภา พานิช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงของ SHero Thailand / กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า (วิทยากร) :
ในมุมดี ตนมองว่า แม้จะมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. ออกมาล่าช้า แต่ก็เป็นที่พอใจ มีคำบังคับตรงตามวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ กล่าวคือ ทำให้เกิดการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ หรือออกมาตรการเพิ่มเติมให้ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ทำให้ตนรู้สึกได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา
นอกจากนี้คำวินิจฉัยยังได้มีการวางแนวบรรทัดฐานถึงเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศด้วย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่บุคคลมีสิทธิที่จะกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเลือกเป็นชาย หญิง หรืออัตลักษณ์ทางเพศอื่นใด นอกจากนี้ยังได้ขยายความคุ้มครองของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไปถึงสิทธิในการได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม เพราะการถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นไม่เป็นธรรมด้วยเหตุทางเพศอันมีผลเสมือนเป็นการกีดกันการเข้าถึงการศึกษาทางอ้อมด้วย กล่าวคือ ระเบียบไม่ได้ห้ามให้บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างห้ามเข้าศึกษาหรือเข้าสอบ แต่เป็นการกำหนดว่าผู้ที่จะมีสิทธิเข้าศึกษาหรือเข้าสอบจะต้องแต่งกายเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น ดังนั้น เมื่อนำมาบังคับใช้กับบุคคลทั่วไปจึงมีผลกีดกันบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทางอ้อม
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่พึงพอใจก็คือ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. มีสภาพบังคับให้เกิดผลได้จริง เนื่องจากมีโทษอาญากำหนดไว้ หากผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามย่อมมีโทษทางอาญาด้วย และนอกจากนี้ การยื่นคำร้องยังมีช่องทางร้องเรียนได้หลากหลาย ทั้งการไปยื่นด้วยตนเอง หรือส่งเป็นจดหมาย หรืออีเมลก็ได้ รวมถึงให้องค์กรอื่นร้องแทนผู้เสียหายได้อีกด้วย
ในมุมเสีย ตนมองว่า การจะร้องตามกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้ได้ จะต้องปรากฏก่อนว่า มีความเสียหายแก่บุคคลก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ และการร้องเรียนนั้น จะต้องมีการระบุชื่อของผู้ร้อง อาจทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าหรือกลัวที่จะใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น กรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ถูกลงโทษหรือถูกบังคับอันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากกฎระเบียบของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา อาจไม่กล้าดำเนินการเพราะอาจถูกกลั่นแกล้งหรือถูกกดดันจากองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ก็ได้
ดังนั้น จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากจะมีการบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์จากผู้เสียหายก่อน กล่าวคือ ให้แต่ละหน่วยงานต้องมีหน้าที่หรือความผูกพันจะต้องตรวจสอบแก้ไขกฎระเบียบภายในของตนเอง ไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศขึ้น
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) (วิทยากร) :
แนวคิดในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นแนวคิดที่เพิ่งเริ่มได้รับการยอมรับกันมาไม่นานนัก ด้วยเหตุนี้ กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในหน่วยงานต่าง ๆ จึงยังมักยึดตามแนวคิดเดิมที่ว่าเพศมีเพียงแค่ชายและหญิงเท่านั้น
การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. ผู้เสียหายอาจมอบอำนาจให้องค์กรอื่นหรือ NGO ยื่นคำร้องแทนผู้เสียหายก็ได้ แต่ว่าจะต้องปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมมาก่อนแล้ว นอกจากนี้คำวินิจฉัยของ วลพ. ผูกพันเฉพาะกรณีเท่านั้น ไม่ได้ผูกพันองค์กรอื่น ๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ หากจะให้อำนาจของคณะกรรมการ วลพ. มีขอบเขตที่กว้างขึ้น เพื่อตัดปัญหาเงื่อนไขผู้ร้องก็คือ จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้คณะกรรมการ วลพ. สามารถหยิบยกกรณีปัญหาที่เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอจากผู้เสียหาย
สำหรับแนวคิดในเชิงป้องกันการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทางคณะกรรมการ วลพ. ยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ เนื่องจากว่ากฎหมายและระเบียบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่เปิดช่องให้กระทำได้ แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ สทพ. มีอำนาจตามมาตรา 10 (2) ในการเสนอนโยบาย การปรับปรุงกฎหมาย หรือข้อบังคับต่าง ๆ ต่อคณะรัฐมนตรีได้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเพื่อนำไปแก้ไขกฎหมาย หรือบังคับใช้กับหน่วยงายภายใต้สังกัดต่อไป วิธีการนี้จะช่วยให้เกิดหลักเกณฑ์ที่เป็นการทั่วไปได้
คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วิทยากร) :
ประเด็นแรก เรื่องการต้องระบุตัวผู้เสียหายที่ยื่นคำร้อง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ วลพ. ที่จะหยิบประเด็นปัญหาขึ้นมาพิจารณาเองได้นั้น ในส่วนนี้ได้มีความพยายามที่จะขอแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ทางคณะกรรมการ สทพ. ยังไม่ได้อนุญาตให้มีการแก้ไข
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา มีการยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมด 61 คำร้อง มีผู้ชายยื่นคำร้องเพียง 1 คำร้อง และผู้หญิงยื่นคำร้องเพียง 8 คำร้อง ที่เหลือเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยจากการที่ได้สอบถามกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศถึงเหตุผลที่มายื่นคำร้อง ได้คำตอบว่า เพราะพวกเขาหลังชนฝาจนไม่มีช่องทางหรือวิธีการอื่น ๆ แล้วที่จะป้องกันหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายได้ ภายหลังที่ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมาย ได้มีความเห็นตรงกันให้มีการแก้ไขในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ วลพ. ให้สามารถหยิบยกประเด็นปัญหาขึ้นมาพิจารณาเองได้
ประเด็นที่สอง ปัญหาในการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการ วลพ. ถูกกำหนดขึ้นมาโดยเลียนแบบมาจาก สทพ. ที่กำหนดให้ประธานเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ สทพ. จะว่างลง แต่ในกรณีของประธานคณะกรรมการ วลพ. ไม่ได้มีข้อกฎหมายให้บุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทนประธานได้ในกรณีที่ตำแหน่งประธานว่างลง จึงเกิดเป็นช่องว่างของกฎหมายขึ้นมา ส่งผลทำให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต้องสะดุดลงเพราะเหตุจากการที่ไม่มีประธานคณะกรรมการ วลพ.
ประเด็นที่สาม แม้ในการวินิจฉัยคำร้องโดยคณะกรรมการ วลพ. จะได้มีการกล่าวถึงเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ คุณลักษณะทางเพศ แต่ก็เกิดขึ้นจากการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาประเด็นปัญหา อันเนื่องจากว่า นิยามมาตรา 3 ครอบคลุมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแต่เฉพาะกรณี ‘การแสดงออกที่แตกต่างจากเพศที่กำเนิด’ แต่ไม่รวมถึง อัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ คุณลักษณะทางเพศ รวมไปถึงบุคคลที่มีเพศกำกวมด้วย
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
องค์ประกอบของคณะกรรมการ วลพ. ว่าจะต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยหรือไม่ อย่างไร
คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วิทยากร) :
กฎหมายได้กำหนดคุณลักษณะของบุคคลที่จะเป็นกรรมการ วลพ. ไว้เพียงว่าต้องมีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา และแรงงาน อย่างน้อยด้านละ 1 คน อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ กระบวนการในการสรรหาคณะกรรมการได้มีการตั้งเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น สัดส่วนที่เหมาะสมของคณะกรรมการที่จะต้องประกอบไปทั้ง ชาย หญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การที่บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติได้มีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. น้อยมากอาจจะเพราะถูกมองว่าร้องเรียนไปเพื่อจะได้รับเงินเยียวยาความเสียหาย คุณชิษณ์ชาภา (วิทยากร) มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
คุณชิษณ์ชาภา พานิช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงของ SHero Thailand / กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า (วิทยากร) :
โดยส่วนตัวแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนเองไม่ใช่ความเสียหายที่เป็นตัวเงิน แต่เป็นความเสียหายในเชิงความรู้สึกที่ถูกละเมิดความเท่าเทียมจากกฎระเบียบของสภาทนายความ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า การเยียวยาในความเสียหายที่เป็นตัวเงินก็เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญสำหรับบุคคลอื่น เพราะเขาอาจจะได้รับความเสียหายในเรื่องที่เป็นตัวเงินโดยตรงก็ได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ถูกเหยียดด้วยเหตุทางเพศ ถูกมองว่าเป็นโรคจิต ทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการปกป้องจนกระทั่งมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา มีข้อมูลในทางการแพทย์ระบุด้วยว่าผู้ที่เข้ารักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตมีสัดส่วนเป็นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นจำนวนมากที่สุด
ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการเรียกร้องก็คือต้องการให้มีการแก้ไขระเบียบ และเหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่เราจะได้เข้าถึงสิทธิหรือประโยชน์ตามกฎหมาย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในมาตรฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
อ.เคท มีความมุ่งหวังหรือมีภาพปลายทางที่คาดหวังไว้จากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศนี้อย่างไร
อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
สิ่งที่ตนคาดหวังจากการมีกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศนี้ก็คือ กลไกอันเป็นช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะความเป็นธรรมในเรื่องทางเพศ เพื่อขจัดหรือลบล้างมายาคติหรืออคติทางสังคมอันส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างระหว่างเพศ โดยแนวคิดในการวิเคราะห์ปัญหานี้จะต้องเข้าใจเสมอว่า ในความแตกต่างจะมีความสัมพันธ์อยู่เสมอที่จะต้องมีฝ่ายได้เปรียบและฝ่ายเสียเปรียบเสมอ โดยฝ่ายที่มักจะเสียเปรียบก็คือ ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ในช่วงของการร่างกฎหมายฉบับนี้มีความกังวลว่าจะมีเกิดการเลือกปฏิบัติที่ถูกซ่อนรูป หรือเป็นการเลือกปฏิบัติทางอ้อม ซึ่งภายหลังก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เป็นต้นว่า การไม่ได้รับพิจารณาใบสมัครงาน หากปรากฏว่ารูปในใบสมัครไม่ตรงกับคำนำหน้านาม
ในระยะแรกของการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ มีความเข้าใจผิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองแก่เฉพาะกลุ่ม LGBT เท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือคุ้มครองบุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร มิให้ถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ
นอกจากนี้ ตนยังมีความกังวลในประเด็นข้อยกเว้นที่ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ตามมาตรา 17 ว่าจะถูกตีความขยายจนกว้างเกินไปเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ มาพิจารณาด้วยอย่างไรก็ดี ได้ปรากฏแล้วว่าตลอด 7 ปีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่พบว่ามีการตีความข้อยกเว้นตามมาตรา 17 เป็นผลลบกับผู้ร้องที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีอิทธิพลทางด้านบวกต่อการพัฒนาสังคมไทยให้มีความตระหนักถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้น เห็นได้จากเมื่อมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. เกี่ยวกับความเท่าเทียมในการแต่งกายขึ้นมาบังคับกับองค์กรแห่งหนึ่งแล้ว ได้เกิดกระแสสังคมอันเป็นพลังผลักดันให้ให้องค์กรอื่น ๆ ต้องแก้ไขปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องตามไปด้วย เช่น หลายมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพในการเข้าพิธีรับปริญญาบัตรได้ เป็นต้น
กระแสในเรื่องความตระหนักความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศกำลังได้รับการพูดถึงและรับรู้ของสังคมปัจจุบัน การกระทำใดที่เป็นการปฏิบัติต่อความแตกต่างทางเพศด้านลบจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมว่าเป็นสิ่งซึ่งยอมรับมิได้ ด้วยเหตุนี้ ในอนาคต ตนจึงมองว่า ปัญหาอันเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศโดยไม่เป็นธรรมจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อาจมีการขยายขอบเขตของความหลากหลายทางเพศไปถึงความหลากหลายในรสนิยมทางเพศด้วยก็ได้
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในส่วนของ “ข้อยกเว้น” ตามมาตรา 17 ทางคณะกรรมการ วลพ. มีความเห็นหรือแนวทางในการตีความอย่างไร
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) (วิทยากร) :
ในส่วนแรก นิยามของการเลือกปฏิบัติทางเพศและข้อยกเว้น จะต้องมีการบัญญัติให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสภาพสังคมที่มีวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากว่าเป็นขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายหากมิได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรย่อมเกิดปัญหาในการปรับใช้กฎหมายได้ หากมีการแก้ไขเพื่อให้กรอบขอบเขตทางกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติเข้าใจได้
การแก้ไขกฎหมายจะต้องครอบคลุมข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ครบถ้วนที่สุด ตนเห็นว่า การพิจารณาเพียงว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยตรง เป็นความหมายที่หยาบเกินไป ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงบางอย่างได้ เช่น การคุกคาม การเหยียดเพศ กฎหมายจึงควรเปิดช่องให้คณะกรรมการ สทพ. ออกประกาศ หรือมีกฎกระทรวงขึ้นมากำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้
ในส่วนที่สอง จะต้องมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติเพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้อคติของบุคคลมีผลต่อการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับบุคคลอื่นได้ เช่น การสมัครงาน มีเพียงแค่การระบุชื่อก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้รูปประกอบ เพราะจะทำให้เกิดจากการเลือกปฏิบัติทางอ้อมที่ผู้สมัครจะไม่ได้รับการพิจารณาเพียงแค่การพิจารณาจากรูปที่ไม่ตรงกับคำนำหน้านามได้
ในส่วนนี้เอง คณะกรรมการ สทพ. จะต้องดำเนินงานในเชิงการป้องกันเพิ่มมากขึ้น เช่น การออกคู่มือหรือคำอธิบายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ การสร้างเสริมจิตสำนึกให้กับสังคมก็จะกลายเป็นแบบแผนของสังคมในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเป็นมติมหาชนที่สังคมจะเคารพต่อความหลากหลายทางเพศ
อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุดที่จะบังคับไปตามสิทธิของผู้ร้องได้ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง แม้จะมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ผู้รับคำร้องก็มีสิทธิที่จะนำไปอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาไปอีกจนกว่าการพิจารณาตัดสินจะสิ้นสุดลง และยังมีข้อจำกัดในทางกฎหมายที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. ไม่ผูกพันองค์กรอื่น ๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม แต่ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติองค์กรของรัฐอื่น ๆ ก็มักจะดำเนินให้ถูกต้องเช่นกัน แต่หากมิใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐแล้วจะเกิดปัญหาได้ว่าอาจจะไม่ยอมดำเนินการตามสอดคล้องกับหลักการตามกฎหมายฉบับนี้ก็ได้
นอกจากในส่วนที่ได้กล่าวมาข้างต้น การออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะมีวิธีการอย่างไรให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีประสิทธิภาพ กฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดไว้ ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียดให้ครบถ้วนยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับการกำหนดอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจในการยกปัญหาขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ รวมไปถึงกระบวนการรวบรวมหลักฐานในการพิจารณาคำร้องอาจต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากข้อมูลในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นตลอดเวลา การสืบสวนสอบสวนจึงมีความแตกต่างจากคดีแพ่งหรือคดีอาญาในเชิงที่ว่ามีขอบเขตของข้อเท็จจริงและประเด็นที่กว้างกว่า
อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาตรา 22 (1) ได้กำหนดให้อำนาจกับคณะกรรมการ วลพ. มอบหมายให้บุคคลสามารถเข้าไปในเคหะสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้ ตนจึงอยากทราบว่าที่ผ่านมามีการใช้อำนาจตามมาตรานี้หรือไม่ อย่างไร
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) (วิทยากร) :
มาตรา 22 (1) เป็นอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่กระนั้นกฎหมายยังไม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้มีการการเก็บรักษาพยานหลักฐาน จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้อำนาจในเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและการยึดเอกสารได้
คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วิทยากร) :
ที่ผ่านมา คณะกรรมการ วลพ. ยังไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 22 (1) เนื่องจากยังไม่ได้จัดทำอนุบัญญัติเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ของการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ตลอดจนยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องขอหมายศาลหรือไม่ อีกทั้งอำนาจตามมาตราดังกล่าวมีหลักการเบื้องหลังเป็นระบบกล่าวหา แต่ลักษณะการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะกรรมการ วลพ. ที่เป็นระบบไต่สวน ซึ่งอาจมีปัญหาว่าจะมีลักษณะที่ขัดกันได้ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการทำงานของคณะกรรมการก็ดำเนินการในเชิงรุกด้วยลงพื้นที่ค้นหาพยานหลักฐานมาโดยตลอด
ในส่วนของการของมาตรการเชิงป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ สทพ. ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการจะเห็นว่าเอื้อต่อการดำเนินการด้วย เนื่องจากผู้ที่เป็นคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลในระดับปลัดกระทรวงต่าง ๆ เข้ามาเป็นคณะกรรมการ แต่ในทางปฏิบัติ คณะกรรมการหลายท่านยังไม่มีความเข้าใจ หรือยังไม่ตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศมากนัก จึงไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่ได้ ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้เสนอยังคณะกรรมการ สทพ. เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเสนอได้แนวทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อให้คณะกรรมการ สทพ. มีมติส่งเรื่องต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อออกมาเป็นมติ ครม. มาบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐโดยทั่วไป แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญมากนัก จนสุดท้ายเหลือเพียงเป็นข้อเสนอแนะแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น
ในประเด็นปัญหาที่ว่าแม้จะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้ว แต่ยังมีหน่วยงานของรัฐจำนวนมากที่ยังมีกฎระเบียบหรือแนวทางในการปฏิบัติที่ยังเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศอยู่
ในช่วงมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้ส่งตัวกฎหมายนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐในระดับกรม และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศแล้ว เพื่อแจ้งให้ทราบและให้แก้ไขกฎระเบียบและออกมาตรการให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ทางอนุกรรมการด้านกฎหมายของ สทพ. ได้มีทำหนังสือถึงหน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบว่ามีกฎหรือระเบียบขัดกับพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ แต่ปรากฏว่ามีเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่ยอมรับว่ามีกฎระเบียบที่ขัดกับพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งแน่นอนว่าในทางความเป็นจริงย่อมเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ได้เริ่มมีการยื่นคำร้องถึงกฎระเบียบการแต่งกายของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่าขัดกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อคณะกรรมการ วลพ. มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเดียวกับที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ออกประกาศให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพหรือตามอัตลักษณ์ได้ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตามประกาศนี้มิเช่นนั้นจะถือเป็นความผิดวินัย ประกาศดังกล่าวนี้ ทางมหาวิทยาลัยทักษิณได้ออกมาเองโดยมิได้ถูกร้องเรียนมาก่อน
ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจึงได้นำประกาศของมหาวิทยาลัยทักษิณส่งเป็นตัวอย่างของการแก้ไขกฎระเบียบ ให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประกาศได้ปฏิบัติตามโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ถูกร้องเรียนก่อน แต่ถึงกระนั้นก็มีเพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ปฏิบัติตาม
ปัญหาจากความเป็นหน่วยงานราชการอย่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวไม่มีลักษณะที่จูงใจให้หน่วยงานอื่นเกิดความสนใจในกิจกรรมหรือนโยบายที่ได้จัดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ามีปัญหาในการเชิญชวนให้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ หรือภาคเอกชน หรือตลอดจนสื่อเข้ามาร่วมมือเป็นเรื่องที่ยาก อย่างไรก็ดี ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวและกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศก็ยังมีความพยายามที่จะส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศมาโดยตลอด มีความพยายามนำเสนอสื่อในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ หากหน่วยงานหรือบุคคลใดมีวิธีการนำเสนอใหม่ ๆ สามารถนำเสนอต่อกองทุนฯเพื่อขอรับงบประมาณในการดำเนินโครงการได้
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU health & Wellness /อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การที่มีพระราชบัญญัติจำนวนมากที่ยังมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมมีผลบังคับใช้อยู่ รวมไปถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าด้วยการสมรส จึงขอสอบถามว่า การมีอยู่ของกฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคณะกรรมการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) (วิทยากร) :
เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำหนึ่งสามารถกระทำได้ซึ่งมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศแล้ว ก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายฉบับนั้นว่ามีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้จึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น บรรดากฎหมายที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ เนื่องจากหากไม่มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการย่อมไม่อาจปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ได้
ในส่วนนี้ ตนเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้มีคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการ วลพ. เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเช่นนั้นก็ได้ โดยอาจให้กองทุนฯ มีการดำเนินการวิจัยหรือส่งเสริมงานวิชาการว่ากฎหมายปัจจุบันฉบับใดบ้างที่มีลักษณะขัดหรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายนี้หรือรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมารวบรวมและเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายต่อไป
คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วิทยากร) :
กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการ วลพ. เคยมีคำวินิจฉัยและส่งเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว แต่ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือตอบกลับแล้วว่า ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
คุณชิษณ์ชาภา พานิช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงของ SHero Thailand / กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า (วิทยากร) :
กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า ตนหวังว่าประเทศไทยจะเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง การออกกฎหมาย ระเบียบ หรือนโยบาย จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างไม่ให้ถูกหลงลืมจากผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บุคคลทุกคนสามารถได้รับสิทธิ ประโยชน์ หรือเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่สมควรได้จะรับอย่างเท่าเทียมกัน และอยากให้ภาครัฐมีการทำงานเชิงรุกที่มากขึ้นโดยเฉพาะคณะกรรมการ สทพ. ควรมีนโยบายส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้นด้วย