สรุปสาระสำคัญจากเสวนาออนไลน์ เรื่อง “การประกันตัวในคดีอาญา: การปฏิบัติที่ต่างจากกฎหมาย?” ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต/อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา/อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอธิป ปิตกาญจนกุล (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวเปิดงานว่า หัวข้อในการจัดเสวนา คือ “การประกันตัวในคดีอาญา การปฏิบัติที่ต่างจากกฎหมาย?” โดยกล่าวแนะนำวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ซึ่งจะมาแลกเปลี่ยนมุมมองของกฎหมายที่หลากหลาย ทั้งกฎหมายมหาชน กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กับการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ว่าทฤษฎี ความคาดหวัง หลักกฎหมาย และทางปฏิบัติ มีความสอดคล้องหรือมีปัญหาอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล :
กล่าวในมุมมองของกฎหมายมหาชนในประเด็นที่ว่า ความคาดหวังหรือตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่สอดคล้องกันมากแค่ไหน เราพูดกันมาตลอดว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด แต่ในทางปฏิบัติเราอาจจะทำตรงกันข้าม เรื่องของหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) อยู่ที่มาตรา 29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยมาตั้งแต่ฉบับ 2492 โดยบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หลักข้อนี้มาจากหลักการปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) ซึ่งต้องมีหลักการแบ่งแยกอำนาจ การที่ฝ่ายบริหารหรือเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนได้จับกุมผู้ต้องหามาตั้งข้อหาส่งอัยการเพื่อฟ้องต่อศาล เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่บังคับใช้กฎหมายที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ แต่หลักที่สำคัญที่สุดของฝ่ายตุลาการ คือหลักความเป็นอิสระของตุลาการ เพื่อให้เกิดหลักประกันว่าการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหารจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นศาลจะเป็นคนพิพากษาเท่านั้น ฝ่ายบริหารไม่ใช่ผู้พิพากษาว่าประชาชนทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทำได้มากสุดคือตั้งข้อหาและส่งฟ้องต่อศาล เพราะฉะนั้นก่อนศาลพิพากษา ต้องถือว่าบริสุทธิ์ หลักการแบ่งแยกอำนาจนี้จะเป็นหลักประกันที่ทำให้เราทุกคนมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกรังแกหรือเป็นแพะจากฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคดีการเมือง เพราะฉะนั้นหลักของศาลที่จะเป็นคนพิพากษาเท่านั้นจึงเป็นหลักการสำคัญที่สุด และทำให้เกิดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์
ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่านักโทษล้นคุกประมาณ 370,000 คน ร้อยละ 25 ของคนที่ติดคุกอยู่เป็นผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวน ชั้นการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการ หรือระหว่างพิจารณาคดีก่อนพิพากษา คนเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ ผศ.ดร.ปริญญาตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดคนเหล่านี้ถึงถูกปฏิบัติอย่างนักโทษ รวมกับนักโทษ ตนกล่าวว่าปัญหาเกิดจากพ.ร.บ. ราชทัณฑ์ฯ ที่คงหลักการเดิมมาตลอด คือราชทัณฑ์จะดูแลผู้ต้องขังทุกคนเสมือนเป็นนักโทษเด็ดขาด ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งมีหลักว่า “ผู้ต้องขัง” หมายความรวมถึง นักโทษเด็ดขาด คนต้องขัง และคนฝาก แปลว่าคุกของเราไม่ได้ขังเฉพาะนักโทษเด็ดขาดเท่านั้น ทุกคนถูกขังรวมกันหมด ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ โดยไม่ให้ประกันตัว หรือให้ประกันด้วยหลักทรัพย์จำนวนมากและจำเลยก็ไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง และเป็นต้นเหตุของปัญหานักโทษล้นคุก
ผศ.ดร.ปริญญากล่าวเพิ่มเติมในส่วนของหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ว่า เดิมตนเข้าใจว่ากฎหมายไทยใช้หลักหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์มาตลอด แต่เมื่อศึกษาก็พบว่าเราปฏิบัติตรงกันข้าม เช่น ในคดีอาญา ในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 12 การพิมพ์ลายนิ้วมือ กำหนดให้นำรายชื่อและประวัติของผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร กล่าวคือ ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ชั้นตำรวจ เราทำให้ผู้ต้องหากลายเป็นอาชญากร ระเบียบนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ยังคงใช้บังคับอยู่ ปัจจุบันมี 17 ล้านแผ่นลายนิ้วมือ นับเป็นจำนวนอาชญากรประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยมีอาชญากรไม่ถึงแน่นอน และจำนวนกว่าครึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือพิพากษาเพียงแค่โทษปรับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนเองที่ต้องไปขอกระดาษจากศาล หรืออัยการ เพื่อเอามาแจ้งตำรวจสน. ต้นทางว่าศาลสั่งยกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง และให้สน. ต้นทางทำเรื่องไปถึงกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดแยกออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่การลบหรือทำลาย เป็นเพียงการแยกออกมาเป็นความลับเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด (Presumption of Guilt) ยิ่งไปกว่านั้นบางทีศาลพิพากษาเพียงโทษปรับ พวกเขาไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นอาชญากร แต่กลับคัดแยกชื่อออกไม่ได้ ก็ต้องปรากฏในทะเบียนต่อไป นี่น่าเป็นเหตุผลของการปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนเป็นอาชญากรจึงนำไปขังไว้ในคุกแต่แรกหรือไม่
นอกจากนี้ ยังกล่าวต่อไปว่า แนวคิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรียกการประกันตัวว่า “ปล่อยตัวชั่วคราว”เท่ากับการไม่ปล่อยตัวเป็นเรื่องหลัก แต่ปล่อยเป็นเรื่องชั่วคราวหรือข้อยกเว้น ซึ่งควรจะกลับกัน ให้การขังเป็นเรื่องชั่วคราวหรือไม่ แล้วการปล่อยตัวเป็นเรื่องหลัก ผศ. ดร.ปริญญาตั้งคำถามว่าตกลงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จริงหรือ รัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราประกาศใช้ปี 2477 ในขณะที่หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์มาในรัฐธรรมนูญปี 2492 ในมาตรา 30 แปลว่าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์มาหลังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 15 ปี กระบวนการในทางอาญาเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดมาตั้งแต่แรก คำถามคือทำไมจึงไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ประเด็นนี้ตนเข้าใจว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญของเราที่เป็นฉบับถาวรไม่เคยมีอายุยืนยาวเลย จึงไม่ทันได้แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เป็นไปตามหลักดังกล่าว จึงเป็นคำว่าปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี แม้ในโครงใหญ่จะยังไม่มีการแก้ไข แต่ก็มีการแก้ไขเป็นลำดับมาในหลักต่าง ๆ มีการปรับให้กลายเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์มากขึ้น ในแง่ที่ว่าให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก เช่น มาตรา 107 แก้ไขในปี 2547 และการจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีเหตุชัดเจน ไม่ใช่เรื่องอำเภอในอีกต่อไป ต้องเข้าเหตุตามที่มาตรา 108/1 กำหนดไว้ ซึ่งแก้ไขในปีเดียวกัน ซึ่งการไม่ปล่อยกลายเป็นข้อยกเว้นแทน และมาตรา 108 วรรคสาม มีมาตรการต่าง ๆ มาสนับสนุนการปล่อยชั่วคราว เช่น การใช้ EM (Electronic Monitoring) เป็นต้น ทำให้การประกันตัวกลายเป็นเรื่องหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากกับการที่ศาลสามารถตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีการตีความกฎหมายโดยฝ่ายตุลาการที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ โดยการใช้พยานหลักฐานตามฟ้องของพนักงานสอบสวนมาใช้ในการไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเป็นข้อที่ถูกตั้งคำถามว่าการที่ไม่ให้ประกันตัว ศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ขัดกับหลักการต่าง ๆ และยังไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 108/1 ทั้งนี้ ตนมองว่าการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวคือการให้ติดคุกก่อนพิพากษา จึงควรมีการปล่อยตัวชั่วคราวให้มาก หรือควรมีที่อื่นในการกักขังหรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ยังไม่แก้ ซึ่งทุกคนในกระบวนการยุติธรรมก็ควรตระหนักว่าเขาถูกปฏิบัติเสมือนศาลมีคำพิพากษาแล้ว อันเป็นการสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ข้อสังเกตประการสุดท้ายที่ ผศ.ดร.ปริญญากล่าว คือ ตนอยากให้แยกแยะระหว่างความผิดตามข้อหาที่ผู้ต้องหาได้กระทำกับเรื่องสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว เขาจะผิดจริงหรือไม่เป็นเรื่องของศาลในการพิพากษา แต่จะไปถือว่าเขาผิดแล้วไม่ได้ เพราะเขาอาจจะถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายพนักงานสอบสวนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะตำรวจไม่ได้อิสระจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ให้คุณให้โทษโดยตรงกับตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายหากศาลจะไปเชื่อถือพยานหลักฐานที่มาจากพนักงานสอบสวน จึงต้องกลับมาที่หลักมาตรา 28 วรรคสอง แล้วผิดไม่ผิดเป็นเรื่องที่ทุกคนมีโอกาสที่จะสู้คดีให้ศาลพิพากษา เป็นเรื่องของศาล เราพูดในมุมที่ว่าก่อนศาลพิพากษา ทุกคนหรือทุกข้อหาพึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สู้คดีนอกคุกก่อนศาลพิพากษา และถ้าหากจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวต้องเคร่งครัดต่อเหตุตามมาตรา 108/1 ทั้ง 5 ประการอย่างเคร่งครัดข้อใดข้อหนึ่ง และหากเกรงว่าจะมีการหลบหนี อันตราย หรือกระทำความผิดซ้ำ ก็มีเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ตามมาตรา 108 วรรคสาม ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นความผิดตามมาตราใด ตนมองว่าแต่ทุกคนมีสิทธิได้สู้คดีนอกคุกก่อนศาลพิพากษา
ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ :
การที่เข้าไม่ถึงการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นช่องว่างที่ทำให้รู้สึกว่าความยุติธรรมเป็นของคนรวย และความอยุติธรรมเป็นของคนจน อีกทั้งยังถูกตอกย้ำด้วยสถานการณ์การเมือง และอาจจะมีมิติข้ามแดนด้วย เช่น ผู้อพยพลี้ภัย ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้หรือกันไม่ให้เกิดความอยุติธรรม คำตอบไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ต้องเป็นคำตอบทางการเมือง และสังคมที่สร้างสรรค์ด้วย
หลักสากล ไม่ได้ตอบเรื่อง Presumption of Innocence แต่อย่างเดียว จริง ๆ มีถึง 3 สิทธิ คือบุคคลไม่มีสิทธิที่จะได้รับประกันอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่สิทธิที่จะได้รับการประกันทุกกรณี แต่เป็นโอกาสที่จะได้รับการอนุญาตให้มีการประกันตัวหรือปล่อยตัว ซึ่งเป็นส่วนของสิทธิสามสิทธิ 3 สิทธิในหลักสากล ได้แก่
1. สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย ซึ่งไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด สามารถถูกจำกัดได้ โดยรัฐต้องให้หลักฐานว่ามีความจำเป็น และได้สัดส่วน
2. บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ถูกจำกัดสิทธิตามอำเภอใจของฝ่ายเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ รัฐหรือเจ้าหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่ามีกฎหมายที่เชื่อถือในเวทีสากล และสมเหตุสมผลว่าจะไปจำกัดสิทธิเขาได้ มิฉะนั้นจะเป็นการกระทำโดยอำเภอใจ ซึ่งไม่ยุติธรรม
3. หลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าพิสูจน์เป็นอย่างอื่น
สำหรับพันธกรณี ตามกติระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 วรรคหนึ่ง “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” กล่าวคือรัฐต้องพิสูจน์ว่ามีกฎหมายที่ยุติธรรมที่จับต้องได้ แน่นอน และสมดุลตามหลักสากล ไม่ใช่เพียงแต่ดุลพินิจและอำเภอใจ วรรคสามระบุว่า “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี” กล่าวคือ ถ้าเขาเป็นผู้ต้องหา หรือกรณีพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นผู้ต้องสงสัย ตามกระแสสากลไม่น่าจะถูกกักเลย นอกจากพิสูจน์ว่าเป็นอย่างอื่น สำหรับ Presumption of Innocence หรือสิทธิที่ 3 กติกาดังกล่าวก็ระบุไว้ในข้อ 14 วรรคสอง “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด”
นอกจากนี้ มีอีก 2 หลักที่เข้ามาเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ ทั้งสิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่ม และสิทธิในเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลด้วย คือถ้ารัฐจะจำกัดสิทธิทั้งหลาย รัฐต้องพิสูจน์ว่าจำเป็นจริง ๆ ที่ยอมรับได้ในเวทีสากล และรัฐต้องพิสูจน์ว่าการกระทำสมส่วนแก่ภัยที่มีหรือที่จะตามมา ถ้ารัฐพิสูจน์ไม่ได้ และจับตัวคน ก็จะถูกติงในเวทีสากล ทั้งนี้ โลกไม่ได้บอกว่ากักไม่ได้เลย หรือต้องมีการปล่อยชั่วคราวเสมอไป
ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวเสริมถึงมิติทางสังคมว่า การไปกักตัวคนที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ มีแรงกดดัน 3 อย่างที่ไม่ยุติธรรมในเวทีสังคม นอกจากกฎหมายและการเมือง คือ หนึ่ง การกักตัวคน โดยเฉพาะคนยากคนจน ทำให้เขายากจนมากขึ้น สอง การกักตัวคนที่ยังไม่ได้พิสูจน์หลักฐานเต็มที่ หรือผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย เช่น กรณีของพ.ร.ก. ฉุกเฉิน กันไม่ให้เขาพิสูจน์หลักฐานว่าตนเองบริสุทธิ์ ไม่ให้เข้าถึงทนาย ทุกเวทีสหประชาชาติทุกเวทีจะติงเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มีมากเกินไปตาม พ.ร.ก. เช่นว่า สาม การไปกักตัวคนในสถานที่แคบ โดยเฉพาะในยุคโควิด มันเป็นการบีบทางสังคมให้เขายอมรับผิดได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้ผิดก็ตาม เพราะฉะนั้น ตัวชี้ของเราก็มีอยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ตามการที่เราร่วมในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ และพ.ร.บ. กองทุนยุติธรรมฯ ที่เปิดโอกาสให้คู่ความขอความช่วยเหลือได้ รวมทั้งการประกันตัว แต่ในทางปฏิบัติคนยากคนจนจะเข้าถึงสิทธิได้หรือไม่ การที่กฎหมายมีเจตนาที่ดี ทุกฝ่ายต้องช่วยให้เข้าถึงสิทธิได้ด้วย
ศ.กิตติคุณ วิทิต ฝากไว้ 5 ประเด็นสุดท้าย ดังต่อไปนี้
1. คนยากคนจนเข้าไม่ถึงการปล่อยตัวชั่วคราว และยากขึ้นไปอีกสำหรับผู้ขออพยพลี้ภัยในประเทศที่ถูกกักอยู่ ตนอยากขอให้ลดจำนวนวงเงินประกัน
2. การกักตัวคนวันศุกร์ โดยเฉพาะคนจน เข้าไม่ถึงการประกันตัวจนวันจันทร์ อยากให้คำนึงว่าคนที่รอการประกันตัว ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดโดยผ่านการสืบพยาน เขาต้องได้รับความคุ้มครองโดย Presumption of Innocence
3. ในทางใต้ของประเทศไทยที่มีการใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก การที่ไปกักตัวคนนอกสถานที่ราชการ ถือว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัย พอเขามาถึงศาลเป็นผู้ต้องหาก็อาจจะไม่ได้รับการประกันตัว ก่อให้เกิดความห่างเหินทางจิตใจอย่างยิ่งระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับเราทุกคนเนื่องจากความอยุติธรรมก่อให้เกิดความไร้สันติภาพ และต้องพยายามลดวงเงินประกัน เพื่อความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของประเทศ
4. ในกรณีที่เกี่ยวกับการแสดงออก และการรวมกลุ่มโดยสันติ มีคำถามมาจากทุกกรรมการของสหประชาชาติที่เกี่ยวกับประเทศไทย และเวทีอื่นของสหประชาชาติที่เกี่ยวกับไทย ว่ากฎหมายที่ใช้ไปนั้น การจำกัดสิทธิ พิสูจน์ได้จริงหรือไม่ว่ามีกฎหมายที่เป็นธรรม โปร่งใส แน่นอน และเป็นไปตามหลักสากล คำตอบในหลายกรณีคือ ไม่ โดยเฉพาะพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทั้งที่ พ.ร.บ. ก็มีให้ใช้ ซึ่งดีกว่า แต่กลับใช้พ.ร.ก. เพราะง่ายสำหรับบางฝ่าย แต่ยากสำหรับสิทธิมนุษยชน พิสูจน์ได้หรือไม่ว่าจำเป็น และได้สัดส่วน หากดูรายงานสหประชาชาติเกี่ยวกับประเทศไทย หลายกรณีโดยเฉพาะการใช้กฎหมายนั้นพิสูจน์ไม่ได้ ดังนั้น ตนจึงอยากเชิญชวนให้ไม่ฟ้อง ถ้าประชาชนที่กำลังจะถูกฟ้องเขาใช้สิทธิเสรีภาพอย่างสมเหตุสมผล และถ้ามีเรื่องที่จะต้องมาสู่กระบวนการยุติธรรม ก็อยากเชิญชวนให้คำนึงถึงเรื่องสิทธิในการประกันตัวที่กฎหมายรับรองไว้ และตามหลักสากล ถ้าเขาถึงสิทธิดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขบางอย่าง สามารถทำได้ แต่ขอให้ถือว่าการเข้าถึงสิทธินั้นเป็นโอกาสที่ต้องเอื้อ ซึ่งจะต้องเป็นกฎ แต่ไม่ใช่ข้อยกเว้น
5. ในการแสดงออก และในการรวมกลุ่มโดยสันติ โลกสากลฝากมาว่า ถ้ามีการกระทำผิดขอให้เป็นกรณีคดีแพ่ง ไม่ใช่อาญา เช่น เรื่องหมิ่นประมาทในหลักสากล ข้อ 19 ของกติกาที่เราเป็นภาคี เขาฝากไว้แล้วว่าน่าจะเป็นในเรื่องแพ่งไม่ใช่อาญา
ท้ายที่สุด ศ.กิตติคุณ วิทิต ฝากไว้ว่าคุกเราล้นโดยคนที่ไม่น่าอยู่ที่นั่น เราควรคืนพวกเขากลับสู่สังคมด้วยดี ประเทศเรามีสถิติที่แปลกมาก เป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนที่จำคุกคนมากที่สุด และเป็นเบอร์สิบในโลก ท่านอยากจะภูมิใจกระบวนการเช่นนี้หรือ หรืออยากจะเอื้อเฟื้อด้วยการร่วมกันของทุกฝ่าย ช่วยกันให้โปร่งใสและเอื้อกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษา ซึ่งจะเป็นการมุ่งสู่การปฏิรูปกฎหมายอาญา กฎหมายวิทธิพิจารณาความอาญา และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทางปฏิบัติ รวมทั้งการกักตัวที่มากเกินไปสำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาในเรื่องยาเสพติด ทั้งที่มีทางออกอื่น ๆ อย่างเรื่อของงการบำบัด ไม่ต้องนำไปล้นคุก เราน่าจะภูมิใจถ้าเรามุ่งสู่ความยุติธรรม หลักนิติธรรม ที่เชื่อมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
จากสถิติผู้ต้องขังระหว่าง (การดำเนินคดี) เมื่อเป็นผู้ต้องหาแล้ว ตำรวจสามารถขออำนาจศาลฝากขัง ขั้นตอนของการถูกดำเนินคดีอาจจะเป็นแค่ผู้ถูกจับ เมื่อถูกแจ้งข้อหาก็จะกลายเป็นผู้ต้องหา ฟ้องแล้วจะเป็นจำเลย แต่เราสามารถนำคนเข้าไปในระบบหรือฝากขังได้ตั้งแต่ถูกตั้งข้อหาโดยยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดใด ๆ ไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุด ระหว่างฝากขังอยู่นั้นยังไม่มีคำชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดขริงหรือไม่ ยกตัวอย่างคดีเชอรี่แอน ดันแคน ซึ่งจำเลยในคดีมี 4 คน ถูกขังระหว่างพิจารณา สุดท้ายศาลยกฟ้อง แต่ก็มีบางคนตายในเรือนจำ และมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยมีการจ่ายเงินชดเชย จากสถิติตนมองว่ากระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจจะเพราะกฎหมาย ตามตารางที่ ศ.ดร.สุรศักดิ์แสดง ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนสูงที่สุด และลดลงตามลำดับ แต่ ณ วันนี้ จากผู้ต้องขังทั้งหมดประมาณ 300,000 กว่าคน มีผู้ต้องขังซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาอยู่ประมาณร้อยละ 17 ของทั้งหมด แต่หากเราพอในกับตัวเลขดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่อันตราย
ศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวถึงความพยายามแก้ไขปัญหาข้างต้นว่า หากดูจากตัวเลขจะพบว่าผู้ต้องขังระหว่างคดีตอนนี้ลดลงเหลือร้อยละ 17 จากสูงสุดร้อยละ 28 เมื่อปี 2551 แต่ก็ยังคงสูงอยู่ ตนมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือเราต้องหาสาเหตุว่าทำไมไม่ได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน สำหรับในฝ่ายศาลเอง ตั้งแต่ท่านไสลเกษมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ก็ได้มีความพยายามที่จะทำยังไงให้เป็นไปตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ โดยมีการหาสาเหตุต่าง ๆ และจากการติดตามข่าวศาลของศาลยุติธรรม ก็มีการทดลองในศาล 10 แห่ง ซึ่งพบว่าคนจนแทบจะไม่มีสิทธิอะไรเลย ไม่รู้แม้กระทั่งตนเองมีสิทธิอะไรบ้าง มีการสำรวจจากเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี โดยสอบถามคนที่ต้องขังในชั้นสอบสวนว่าทำไมถึงไม่ประกันตัว ทำไมไม่ออกไป ทำไมถูกฝากขังที่นี่ พบว่าบางคนไม่ทราบว่ามีสิทธิประกันได้ ในส่วนนี้ ศ.ดร.สุรศักดิ์ให้ข้อสังเกตว่ากฎหมายรับรองสิทธิไว้หลายอย่าง แต่เราจะต้องช่วยให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิที่มีให้ได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การที่มีการตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้นมา เพื่อเอาเงินรัฐบาลไปช่วยคนไม่มีเงิน กับการแก้ไขปัญหาระยะยาวต้องไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวว่าเรามีการพยายามแก้ไขกฎหมายหลายครั้ง เช่น มาตรา 110 แต่เดิมบอกว่า ถ้าเป็นระวางโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป จะปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน จะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ตอนนี้เราแก้เป็นสิบปี แต่โดยส่วนตัวมองว่า ในแง่วัฒนธรรมองค์กร แก้เป็นกี่ปีก็ปัญหาเดิม หากไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทุกคนอยู่เป็นหมด ไม่มีใครอยากเสี่ยงปล่อยชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามา โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านทรัพย์สินมาเป็นข้อพิจารณา เราเคยมีปัญหาเรื่องนายหน้าประกัน มีการตีราคา เราแก้กันมาจนถึงกรมธรรม์เสรีภาพ ซึ่งบริษัทประกันได้ประโยชน์ที่สุด แต่เดิมแม้การออกหมายจับ หมายค้นทำ 24 ชั่วโมง หมายค้นต้องออกโดยศาล แต่หมายจับเพิ่งมาเริ่มใช้ ตนไม่เคยรู้จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดคดีเสือดำขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกไม่รอ ทนายรีบไปยื่นขอประกัน ตนตกใจว่าหมดเวลาทำการ ประกันตัวไม่ได้ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการจับ การค้น การปล่อยคือกระบวนการเดียวกัน แต่ท่านไสลเกษเพิ่งมาเปิดให้มีการขอประกันตัว 24 ชั่วโมง เมื่อปีที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่าไม่เคยมีใครแก้ปัญหาเรื่องนี้ ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา
ความพยายามดังกล่าวมีเป็นระยะ ๆ ช่วงปีกว่าที่ผ่านมามีคำแนะนำของประธานศาลฎีการเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ปี 2563 ซึ่งตนมองว่าโดยหลักการแล้ว ที่บอกว่าการขอปล่อยควรจะมีการประเมินความเสี่ยง ปัญหาคือเราจะมีกระบวนการหรือเครื่องมืออะไรในการประเมินความเสี่ยง และที่สำคัญคือ ศาลพึงอนุญาตถ้าโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน เว้นแต่มีความจำเป็น แต่ถ้าเกิน 10 ปี ก็มีหลักว่าอาจอนุญาตปล่อยชั่วคราวได้ทุกประเภทคดี แต่ต้องมีประกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุล แต่ไม่ได้บอกว่าจะต้องขังไว้เป็นหลัก ซึ่งตนชื่นชมหลักนี้ ที่ทำให้เกิดการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก แต่จะทำยังไงให้เกิดขึ้นได้จริง ตนมองว่ายังเป็นปัญหาใหญ่มาก ในทางปฏิบัติ หากลองวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงเกิดความเหลื่อมล้ำ ทำไมผู้อนุญาตให้ประกันไม่อยากเสี่ยงกับการให้ประกัน ถ้าเราดูคดีการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อขอฝากขังหรือประกันตัว ศาลก็อนุญาต ตนแยกคดีที่เกิดขึ้น เป็น 2 ประเภท ถ้าเป็นคดีอาญาทั่วไป อาจจะเป็นเรื่องที่เขาไม่ทราบสิทธิ หรือไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะต้องพยายามร่วมกันให้เขาทราบสิทธิ เพราะการให้ประกันทำได้ในทุกขั้นตอน แต่มักไปจบที่ศาล การแจ้งสิทธิจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก สิ่งที่กฎหมายเขียนไม่ควรปฏิบัติเป็นพิธีกรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมทำได้ดีขึ้น แต่ปัญหาใหญ่คือความยากจน ไม่มีหลักประกัน ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน สำหรับปัญหาที่มีการออกแถลงการณ์ คือคดีเฉพาะเกี่ยวกับการเมือง เพราะเหตุใดจึงแตกต่างจากคดีอื่น หากสามารถพิสูจน์ได้ตามมาตรา 108/1 คนที่สั่งต้องให้เหตุผลให้ชัดเจน ไม่ใช่ใช้กระแสสังคม อีกทั้ง มาตรา 187 กำหนดรูปแบบของคำสั่งไว้ชัดเจนว่าต้องให้เหตุผลตามกฎหมายในการสั่ง ตนมองว่ากรณีไม่อนุญาตให้ประกันก็เป็นปัญหาที่เกิดข้อสงสัย และต้องตอบสังคมนานาชาติของเราให้ได้
สำหรับคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองทั้งหลาย ศ.ดร.สุรศักดิ์มีข้อเสนอดังนี้ ประการแรก ควรกลับมาที่หลักกฎหมาย ให้ชัดเจนว่าเหตุผลที่เราจะไม่ปล่อยมีอะไรบ้าง เราจะตั้งธงไว้เลยหรือไม่ว่าจะไม่ปล่อย ประการที่สอง ควรทำเป็นองค์คณะ สิ่งหนึ่งที่ตนเชื่อว่าถ้าตนเป็นคนที่จะต้องสั่งปล่อยไม่ปล่อยในคดีเฉพาะนี้ ก็อาจจะหวั่นไหวได้ แม้ศาลจะถูกสอนว่าจะต้องไม่มีอคติ แต่กรณีซับซ้อนแบบนี้ ไม่ควรเป็นคนคนเดียวที่สั่ง ควรจะรอบคอบมากขึ้นหรือไม่ มีองค์คณะได้หรือไม่ เพื่อความรอบคอบ ประการที่สาม คือการให้เหตุผลในคำสั่ง ประการที่สี่ คือความเป็นอิสระของตุลาการ ภายใต้กฎหมาย คือ จะต้องถูกตรวจสอบได้ ต้องให้เหตุผลตาม 108/1 ประการที่ห้า เราเคยตรวจสอบการตั้งข้อหาพนักงานสอบสวนหรือไม่ หรือว่าเราเชื่อข้อหาที่พนักงานสอบสวนตั้งขึ้นมาทั้งหมดได้หรือไม่ บางกรณีพนักงานสอบสวนอาจตั้งข้อหาเกินเลยกว่าความเป็นจริง หรือเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ นี่เป็นข้อเสนอเพื่อพิจารณาสำหรับคดีเฉพาะทั้งหลาย
ศ.ดร.สุรศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกฎหมายของไทย การที่เราจะปล่อยคนไปโดยไม่มีอะไรต่าง ๆ ในระหว่างดำเนินคดี มักจะมีอยู่ 2 คำ มีการประกันตัวโดยมีประกัน คือมีบุคคลมาค้ำประกันว่าถ้าถึงเวลาแล้วเขาไม่กลับมาจะจัดการให้ อีกกรณีหนึ่งคือ หลักประกัน คือต้องไปหาทรัพย์สินมา ซึ่งแต่เดิม เช่น ต้องเอาสมุดเงินฝากมา เอาโฉนดที่ดินไปตีราคามา ถ้าตนมองในแง่ของแนวทางซึ่งเพิ่งออกมาใหม่เกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจำเลย ตนถือว่าเป็นการส่งสัญญาณ ว่าถ้าหัวไม่ส่าย หางจะไม่ขยับ หากตนเป็นคนในระบบก็จะไม่กล้าทำอะไรมากเช่นกัน แต่คำแนะนำดังกล่าวอาจจะใช้ได้ดีกับคดีที่ตนเรียกว่าคดีทั่วไป เพราะในข้อ 2 ถ้าเป็นโทษปรับสถานเดียวหรือมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี พึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น แต่ต้องไม่มีหลักประกัน มีคนมาประกัน โดยไม่เรียกหลักประกัน แต่หากเกิน 10 ปีขึ้นไป ตนเข้าใจว่าทางศาลเองก็คงจะออกเกณฑ์ตามที่ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในมาตรา 110 วรรคแรก ที่จาก 5 ปี ยกเพดานไปเป็น 10 ปี บอกว่าศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ทุกประเภทคดี เพราะฉะนั้นคดีที่มีความละเอียดอ่อนก็ทำได้ ถ้าไม่มีเหตุผลอื่น ๆ ตามมาตรา 108/1 และต้องระบุถึงเหตุผลความจำเป็นในการเรียกประกัน หลักประกันในคำสั่งโดยชัดแจ้ง ที่ตนเสนอว่าทุกอย่างต้องกลับไปที่กฎหมาย ตนรู้สึกว่าพัฒนาการต่าง ๆ คือการเปลี่ยนแนวคิด ที่ว่าถ้าเราปล่อยใครไป ถ้าเขาหนีไปเราโดนสอบสวน ตนมองว่าไม่เป็นธรรม ตนเคยตั้งคำถามว่าทำไมคดีนี้ ก.ต. มีมติให้ปลดออกจากราชการ ก็เพราะเป็นการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งเป็นคดีที่สำคัญยิ่งว่าคดีเฉพาะตอนนี้เสียอีก นี่เป็นตัวอย่างว่าทำไมบางอย่างเรากล้าที่จะปล่อย แต่คดีทั่วไปเราไม่กล้าปล่อย ตนจึงคิดว่าคำแนะนำนี้น่าจะนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่น่าจะเกิดจริง คือผู้พิพากษาจำนวนมากจะกล้าปล่อยเฉพาะคดีทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับคดีที่ละเอียดอ่อนทั้งหลาย ตนอยากจะเสนอว่าควรจะเป็นองค์คณะ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะการตั้งข้อหาจากพนักงานสอบสวนอาจจะเกินเลยกว่าความเป็นจริงก็ได้
คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา
คำถาม (1) : สมมติว่ามีพยานหลักฐานชัดเจน ไม่ว่าอาจจะเป็นกล้องวงจรปิด หรือว่าแม้มีคำรับสารภาพแล้วก็ตาม จำเป็นจะต้องปล่อยชั่วคราวอีกหรือไม่ ในเมื่อระบบสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ผู้ถูกจับสารภาพแล้วว่าเขาทำผิด ยังจะต้องปล่อยชั่วคราวหรือไม่
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
กล่าวว่า มี 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่ง ถ้ามีคำรับสารภาพ ตนคิดว่าคดีจะไปได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นที่สอง คือ ถ้าเขาขอปล่อยชั่วคราว ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา 108/1 ถ้าไม่มีเหตุตามมาตรานี้ก็ต้องปล่อย เพราะมาตรา 187 ก็เขียนชัดเจนเรื่องการทำคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการสั่งขังด้วย จะต้องให้เหตุผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ การปล่อยหรือไม่ปล่อยคือเหตุในอนาคตว่าเขาจะทำหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำมาแล้วในอดีต ตามคำแนะนำก็คือการประเมิณความเสี่ยง
คำถาม (2) : ถ้ากฎหมายไทยไม่ได้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ การที่เราเข้าร่วมเป็นภาคีของกติการสากลระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาต่าง ๆ ก็ดี จะมีผลกระทบอะไรกับประเทศไทยเมื่อเรายืนในเวทีนานาชาติบ้างหรือไม่
ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ :
กล่าวว่า ส่วนมากจะเป็นการเรียกร้อง เชิญชวนให้เปลี่ยนแปลง และเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความจริงแล้วประเทศไทยก็ทำได้ดีในหลายส่วน ตนมองว่าไทยเยี่ยมมากในสิทธิบางส่วน เช่น เรื่องสาธารณสุข หรือนโยบายเรื่อง HIV ที่เราถูกตำหนิมากที่สุด คือเรื่องสิทธิทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย การพัฒนาที่ยั่งยืน และสันติภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ที่เขาเชิญชวนให้เปลี่ยนก็ตามลำดับ และเราจะทำตามหรือไม่ เขาก็ไม่ถึงขั้นที่จะมีนโยบายมาลงโทษ นอกจากหนักหนามาก ๆ อย่างกรณีของพม่า เป็นต้น แต่จะไม่มีสภาพหรือบทบังคับใด ๆ เพียงแต่จะเป็นการกดดันไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี กระแสสากลก็ชี้ว่าสิ่งที่ดีกว่าน่าจะเป็นอะไร เราก็ควรจะรับฟัง เพราะอาจจะจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในระดับสากลได้
คำถาม (3) : หากจะออกหมายจับเฉพาะสำนวนการสอบสวนถูกส่งไปที่อัยการแล้วได้หรือไม่ เพราะว่าถ้าจับตั้งแต่ต้นก่อนที่จะส่งสำนวนไปให้อัยการ แล้วอัยการขอสอบสวนเพิ่มเติม ก็ยังจะต้องถูกขังไปยาวนาน เราค่อยรอตอนนั้น หรือสามารถแยกกันได้
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
กล่าวว่า ถ้าสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วโดยหลัก พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมกับสำนวนการสอบสวน เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าส่งไปที่อัยการแล้ว ก็อยู่ที่ดุลพินิจของอัยการว่าเขาจะนำตัวไปฝากขังต่อที่ศาลหรือไม่ เพราะฉะนั้นอำนาจการความคุมตัวในคดีอาญา ต้องยอมรับว่าการมีตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในชั้นต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีตัว เราสอบสวนไม่ได้ เช่น คดีที่หลบหนีไป ไม่มีทางไปถึงศาลจนกว่าจะได้ตัว เพราะว่ายังไม่มีการแจ้งข้อหา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดมาแล้วเราจะสอบสวนไม่ได้ เราสอบสวนได้ แต่ไม่มีทางที่จะนำคดีไปสู่ศาลได้ถ้าไม่ได้ตั้งข้อหา เพราะฉะนั้น พอตั้งข้อหาแล้ว เขาจะให้การยอมรับ หรือปฏิเสธ หรือสู้ดีอะไรก็ว่าไป เพราะฉะนั้นเวลาจะส่งตัวไปที่อัยการ ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปพร้อมสำนวนการสอบสวน ในชั้นศาลก็เช่นกัน ถ้าอัยการจะฟ้องคดีแล้ว เช่น ฟ้องคดีนัดแรก ถ้ามีการประกันตัวไป ต้องนัดหมายกันว่าวันนี้ เวลานี้ คุณต้องไปรอที่ศาล เรียกว่าเป็นคดีนัดแรกต้องไปรอ ถ้าไม่มา อัยการไปยื่นฟ้องศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะไม่มีตัวมา แต่ถ้าเป็นผู้เสียหายฟ้องกันเอง ไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ต้องหา ไปว่ากัน จะออกหมายจับในภายหลังได้
คำถาม (4) : ประเด็นเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งมีการควบคุมตัวยาวนานมากถึง 37 วัน ก่อนที่จะมีการปล่อยตัวชั่วคราว มีความสอดคล้องมากน้อยแค่ไหน หรือสามารถทำได้ในข้อยกเว้นของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ :
กล่าวว่า ในข้อยกเว้นของกฎหมายระหว่างประเทศกล่าวไว้ในมาตรา 4 ของกติกาที่ตนได้กล่าวไป โลกยินดีเปิดช่องให้ทำได้ โดยมีเงื่อนไข ได้แก่ หนึ่ง ถ้าจะประกาศเหตุฉุกเฉิน มีสิทธิบางสิทธิที่จำกัดไม่ได้เลย ซึ่งเราต้องแถลงและยอมรับ สื่อสารในสังคมเราด้วย เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน เป็นสิทธิเด็ดขาด สิทธิที่จะไม่ถูกกฎหมายอาญาย้อนหลัง และต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เหตุฉุกเฉิน และความมั่นคงก็นำมายกเว้นไม่ได้ เขาระบุไว้เจ็ดสิทธิ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิต ไม่ถูกวิสามัญฆาตรกรรม สิทธิที่จะไม่เป็นทาส สิทธิที่จะไม่ถูกกฎหมายอาญาย้อนหลัง สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่ต้องถือว่าเป็นคน ซึ่งไม่ค่อยชัดว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำตามอย่างเด็ดขาด และถ้าจะจำกัดสิทธิอื่นที่ไม่เด็ดขาด เช่น สิทธิในการแสดงออก สิทธิในความมั่นคงที่จะไม่ถูกจับ สิทธิในการแสดงออก รวมกลุ่ม รัฐต้องพิสูจน์ว่ามีกฎหมายรับรอง ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ กฎหมายต้องชัดเจนเที่ยงธรรม ตรงตามหลักสากลและนิติธรรม สอง การจำกัดสิทธิต้องพิสูจน์ว่าจำเป็นจริง ๆ ตามภัย สาม การจำกัดสิทธิต้องได้สัดส่วนกับภัยเช่นว่า ส่วนมากพิสูจน์ไม่ค่อยได้ เวทีสากลก็ไม่ค่อยไว้ใจ อีกทั้ง สมาชิกต้องแจ้งให้สหประชาชาติทราบทุกครั้งที่มีการใช้เหตุฉุกเฉิน ซึ่งเราน่าจะไม่ได้แจ้งก่อน ตนยังเชื่ออีกว่าประเทศไทย คราวหน้าที่จะถูกติงโดยสหประชาชาติภายใต้กติกานี้ ถูกถามแน่เรื่องโควิด และกฎหมายฉุกเฉิน ซึ่งมีผลระยะยาวต่อความน่าเชื่อถือของโลก ทุกเวทีสหประชาชาติต้องมีการพูดถึง พ.ร.ก. เหตุฉุกเฉินฯ ของไทย
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
กล่าวเสริมในประเด็นของ ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ว่า ในระดับนานาชาติ จริง ๆ ในเชิงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีการสำรวจ World Justice Project ซึ่งจะสำรวจประมาณ 130 กว่าประเทศ ประเทศไทยเราก็มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง ดัชนีชี้วัดของเราในเรื่อง The Rule of Kaw ก็อยู่กลาง ๆ แต่ตัวเลขที่ไม่ดีมาก ๆ คือเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) คะแนนเต็ม 1 เราได้ 0.43 ซึ่งต่ำสุดในบรรดาทั้งหลายจากดัชนีชี้วัด 8 ตัว เทียบในอาเซียน จีน และโอเชียเนีย เราอยู่อันดับที่ 11 จาก 15 และอันดับโลกเราอยู่อันดับที่ 70 จาก 128 ประเทศ แต่ปัญหาใหญ่ของเราคือกระบวนการยุติธรรม ตนคิดว่าทั้งข้าราชการ และภาคส่วนอื่น ๆ ก็มีความพยายามที่จะแก้ไข หลาย ๆ อย่างเราพยายามทำมาก สิ่งหนึ่งที่เราทำและประสบความสำเร็จ คือเราพยายามแก้กฎหมายให้ดีขึ้น แต่ทุกคนกลับพอใจกลับสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ สิ่งนี้คือปัญหาใหญ่ มีการเลือกปฏิบัติ และการบิดเบือน เช่น กรณีของ SLAPP และบางครั้งการใช้กฎหมายก็ขึ้นอยู่กับความกดดันทางการเมืองและสังคมด้วย