สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “สัญญาสัมปทานและการกำกับดูแลของรัฐ” ซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ถ่ายทอดทาง Facebook Page : ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์/ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม/อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.บุบผา อัครพิมาน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสุพรรณบุรี
- รองศาสตราจารย์ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง/ศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายหัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้กล่าวเปิดงาน) :
กล่าวเปิดงานเสวนาด้วยการกล่าวถึงภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีทั้งภารกิจในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และยังมีการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย โดยการจัดงานเสวนาในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์ด้วย ซึ่งแรงบันดาลใจในการจัดเสวนาครั้งนี้เกิดจากข้อข้อกังขาของภาคเอกชนและประชาชนต่อการใช้อำนาจของภาครัฐให้ผู้รับสัมปทานหยุดการให้บริการสาธารณะซึ่งเกิดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากนั้นได้กล่าวขอบคุณวิทยากรที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และขอบคุณภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้หารือมายังศูนย์นิติศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และเป็นการจุดประกายให้เกิดงานเสวนาในครั้งนี้ รวมถึงขอบคุณคณะกรรมการฝ่ายวิชาการของศูนย์นิติศาสตร์ ได้แก่ อ.ดร.พนัญญา อ.ศุภวิช อ.ดิศรณ์ อ.เพียรรัตน์ อ.กิตติภพ ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวชี้แจงว่า เนื่องด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ไม่สามารถมาร่วมงานในวันนี้ได้ อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ต่อพงศ์ได้ฝากประเด็นในบางคำถาม ซึ่งอาจารย์ศุภวิชจะเป็นผู้กล่าวให้ฟังคร่าว ๆ จากนั้นอาจารย์ศุภวิชได้ถามคำถามวิทยากร ในประเด็นต่อไปนี้
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างการบริการสาธารณะกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นอย่างไร และหลักการพิจารณามีอยู่อย่างไร
(2) บริบทของการขนส่งมวลชนมีลักษณะอย่างไร และสัญญาสัมปทานที่ตั้งอยู่บนบริบทดังกล่าวควรเป็นอย่างไร
(3) การกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะโดยหน่วยงานของรัฐ กับเอกชนที่รับสัมปทานไปมีความแตกต่างกันหรือไม่
(4) ข้อยกเว้นที่ให้อำนาจรัฐเพื่อจำกัดสิทธิตามสัญญาสัมปทานที่ทำกับเอกชน ข้อยกเว้นตรงนี้สามารถมีได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกรณีที่่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
(5) เอกชนที่รับสัมปทานมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่คาดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่และจะมีความเสี่ยงในทางกฎหมายอย่างไร
(6) ผลกระทบและความเสียหายในภาคประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐคืออะไร และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง
(7) นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัย ยังมีเหตุที่สามารถสั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดให้บริการหรือไม่
(8) ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา รัฐควรใช้อำนาจตามข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างไร
(9) ความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจากการที่รัฐให้หยุดการบริการขนส่งมวลชนทางรถไฟฟ้า มีตัวเลขแสดงให้เห็นถึงความเสียหายดังกล่าวหรือไม่ และมีวิธีการดูอย่างไร
(10) ความเสียหายระหว่างคู่สัญญาสัมปทาน กับความเสียหายของประชาชนมีอะไรบ้าง ใครต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และมีแนวทางการเยียวยาความเสียหายอย่างไร
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ : (นำเสนอแทนโดยอาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน ผู้ดำเนินรายการ จากเอกสารของ รศ. ดร.ต่อพงศ์)
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างการบริการสาธารณะกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นอย่างไร และหลักการพิจารณามีอยู่อย่างไร
รศ.ดร.ต่อพงศ์ : ความสัมพันธ์เกิดขึ้นจากสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ส่งผลให้รัฐมีหน้าที่ต้องรับรองสิทธิดังกล่าวให้ปรากฏในกฎหมาย และต้องดำเนินกระบวนการต่างๆ เพื่อให้การแสดงออกซึ่งสิทธิในมุมต่างๆ สามารถเกิดขึ้นในความเป็นจริงด้วย โดยหนึ่งในการดำเนินการดังกล่าว คือ การจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชน
(3) การกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะโดยหน่วยงานของรัฐ กับเอกชนที่รับสัมปทานไปมีความแตกต่างกันหรือไม่
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ : เพื่อให้การบริการสาธารณะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และได้มาตรฐานตามสัญญา หน่วยงานของรัฐจึงมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเอกชนที่ได้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิดให้เกิดการให้บริการสาธารณะเฉกเช่นรัฐดำเนินการเอง โดยอำนาจดังกล่าวก็เป็นลักษณะสำคัญของสัญญาสัมปทานบริการสาธารณะที่รัฐได้มอบให้เอกชนไปดำเนินการแทนรัฐ นอกจากนั้น รัฐยังมีอำนาจออกข้อกำหนด และแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โดยสาเหตุสำคัญ คือ เอกชนอยู่ในฐานะผู้ที่รัฐได้มอบหมายให้ทำแทนเท่านั้น และค่อนข้างเป็นไปเพื่อความปลอดภัย
(7) นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัย ยังมีเหตุที่สามารถสั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดให้บริการหรือไม่
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ : ข้อจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ มีหลักการที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ หลักการไม่มีอำนาจกำกับดูแลโดยไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการชัดแจ้งซึ่งจะตรงกันกับการนำเสนอของวิทยากรที่ผ่านมาว่าการจะสั่งให้หยุดบริการจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ก่อน ในประการถัดมา อำนาจในการกำกับดูแลมีขอบเขตจำกัดอยู่ที่การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถที่จะนำมากำกับความเหมาะสมไม่ได้ ในประการสุดท้าย คือ การกำกับดูแลก็มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งก็ต้องอยู่บนความพอสมควรแก่เหตุ
ดร.บุบผา อัครพิมาน :
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างการบริการสาธารณะกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นอย่างไร และหลักการพิจารณามีอยู่อย่างไร
ดร.บุบผา อัครพิมาน : ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในหลักการทางกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะ คือ หลักบริการสาธารณะ ซึ่งจะประกอบด้วย 1) ความต่อเนื่อง 2) การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง (ให้ทันต่อความต้องการ กับเทคโนโลยี) และ 3) ความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณะ โดยหลักสุดท้ายนับเป็นหลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และรัฐอาจจะจัดทำเอง หรือให้เอกชนมาจัดทำให้ก็ได้
(2) บริบทของการขนส่งมวลชนมีลักษณะอย่างไร และสัญญาสัมปทานที่ตั้งอยู่บนบริบทดังกล่าวควรเป็นอย่างไร
ดร.บุบผา อัครพิมาน : รัฐไม่ได้มองการขนส่งมวลชนในฐานะการบริการสาธารณะระดับชาติ เห็นได้จากบริการสาธารณะด้านการขนส่งมวลชนโดยรัฐในหลากหลายนูปแบบมีเพียงในแค่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีทั้งรถเมล์ และรถไฟฟ้าที่ต่างก็ดำเนินการโดยภาครัฐ หรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานโดยตรง หรือได้รับสัมปทานจากภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ โดยรูปแบบของสัมปทานบริการสาธารณะที่ให้เอกชนจัดทำลงทุน และเข้ามาจัดเก็บค่าบริการที่มีปัญหาอย่างที่มีการกล่าวถึง คือ ค่าบริการที่เป็นธรรม และเหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยต่างประเทศจะมีการพิจารณาราคาให้ส่วนหนึ่งเก็บจากประชาชนเท่าที่เหมาะสม และรัฐจะอุดหนุนในส่วนที่เกินออกมาด้วยภาษีที่จัดเก็บ หากย้อนกลับมาที่บริบทที่สัญญาได้ตั้งอยู่ ก็จะเป็นอย่างที่เคยกล่าวในตอนต้นว่าภารกิจนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้หลักบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะหลักความต่อเนื่องกับหลักการปรับเปลี่ยน ตามกฎหมายมหาชนจึงให้รัฐมีอำนาจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาได้ฝ่ายเดียว และในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ผู้รับสัมปทาน รัฐก็จะต้องชดใช้ให้เอกชนด้วย ด้วยเหตุผลข้างต้น ตลอดระยะเวลาที่เคยศึกษาเรื่องบริการสาธารณะจึงไม่เคยพบการใช้อำนาจเพื่อหยุดบริการสาธารณะ มีเพียงแค่ให้ดำเนินการนอกเหนือไปจากกรณีที่กำหนดในสัญญา โดยเลอง บลูม (Léon blum) ตุลาการผู้แถลงคดีในคดีรถราง ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1910 ก็เคยกล่าวว่าถึงรัฐจะมีการมอบให้เอกชนจัดทำ แต่ก็ยังคงเป็นการให้บริการสาธารณะที่อยู่ภายใต้หลักบริการสาธารณะ รัฐจึงต้องรับผิดชอบดูแลให้บริการสาธารณะอยู่ภายใต้หลักากรดังกล่าวเพื่อให้ประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการอยู่ดี
(4) ข้อยกเว้นที่ให้อำนาจรัฐเพื่อจำกัดสิทธิตามสัญญาสัมปทานที่ทำกับเอกชน ข้อยกเว้นตรงนี้สามารถมีได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกรณีที่่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
ดร.บุบผา อัครพิมาน : อำนาจรัฐจำกัดสิทธิในตัว และข้อยกเว้นที่ให้รัฐมีอำนาจเหนือสิทธิของเอกชนในฐานะผู้ให้สัมปทานจะประกอบด้วยการจำกัดสิทธิโดยเงื่อนไขของสัมปทาน และการจำกัดสิทธิโดยหลักบริการสาธารณะ โดยการจำกัดสิทธิตามหลักบริการสาธารณะก็จะต้องเป็นไปเพื่อการบริการสาธารณะนั้นๆ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ เช่น การขนส่งมวลชนก็ต้องเป็นไปตามหลักการบริการสาธารณะในเรื่องการขนส่งเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถนำบริกสาธารณะอื่นๆ มาจำกัดสิทธิเอกชนบนหลักบริการสาธารณะได้ และจะต้องจำกัดสิทธิเอกชนในฐานะอื่นๆ ที่นอกเหนือจากผู้ให้สัมปทาน เช่น การควบคุมโรคก็จะต้องอาศัยกฎหมายเรื่องอื่นมาเป็นฐานอำนาจ โดยการใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
(5) เอกชนที่รับสัมปทานมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่คาดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่และจะมีความเสี่ยงในทางกฎหมายอย่างไร
ดร.บุบผา อัครพิมาน : ต้องแยกเป็น 2 กรณี ในกรณีที่รัฐสั่งในฐานะผู้ให้สัมปทาน เอกชนสามารถปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามภายใต้กรอบของสัญญาสัมปทานได้ แต่กรณีที่เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ได้อยู่ในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน ก็ไม่สามารถอาศัยสัญญามาเป็นฐานในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และกฎหมายก็สันนิษฐานให้คำสั่งทั้งหลายชอบด้วยกฎหมายไว้ก่อน โดยกรณีที่เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องเป็นเรื่องที่ไปต่อสู้โต้แย้งในภายหลัง ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวก็มีความเกี่ยวพันกับภาวะรัฐล้มเหลวในกรณีที่เอกชนต่างเลือกจะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งหลาย
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล :
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างการบริการสาธารณะกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นอย่างไร และหลักการพิจารณามีอยู่อย่างไร
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : ความสัมพันธ์ระหว่างบริการสาธารณะกับสิทธิขั้นพื้นฐานจะเห็นได้ชัดจากแนวความคิดเกี่ยวกับบริการสาธารณะในทางทฤษฎีของฝรั่งเศส ซึ่งมีความสำคัญต่อความชอบธรรมให้กับการมีอยู่ของรัฐ เพราะหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะเป็นผลลัพธ์ประการหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการประนีประนอมระหว่างประชาชนกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะการสร้างความชอบธรรมแก่อำนาจในการจัดเก็บภาษี โดยเวลาต่อมา ลักษณะ หรือสภาพ หรือจำนวนของการจัดทำบริการสาธารณะก็เริ่มขยายตัวมากขึ้นจากเรื่องความมั่นคง ก็ขยายถึงการคมนาคม สาธารณูปโภคทั้งหลาย หรือจนถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น โดยการขยายบทบาทดังกล่าวก็เป็นธรรมดาที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพ และสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : สัญญาสัมปทานบริการสาธารณะควรตั้งอยู่บนบริบทที่สอดคล้องกับหลักบริการสาธารณะที่ประกอบด้วย 1) ความเสมอภาคที่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน 2) ความต่อเนื่องซึ่งสื่อถึงการทำให้บริการสาธารณะมีคุณภาพ และสามารถใช้งานได้เป็นปรกติ และ 3) การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากธรรมชาติของการจัดทำบริการสาธารณะมีลักษณะเป็นพลวัตไปกับสภาพการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างบริการขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า ก็จะเห็นถึงความผิดพลาดหลายประการจนแม้ว่าจะไม่เคยเห็นสัญญาสัมปทานดังกล่าว แต่สภาพภายนอกก็ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่ารัฐไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวเลย โดยเห็นว่าระยะเวลานี้เป็นเวลาที่
รัฐจะต้องก้าวเข้ามาสู่ดินแดนของกฎหมายมหาชนที่จะต้องใช้อำนาจกำกับดูแลให้บริการเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรได้แล้ว นอกจากนั้น ขอบเขตความรู้ในต่างประเทศก็ได้พัฒนาจนก้าวสู่หลักการย่อยอีกหนึ่งประการหนึ่ง คือ การมีความโปร่งใส โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสในสายสีเขียวที่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็มาจากสื่อ ไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนจากภาครัฐเลย
(3) การกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะโดยหน่วยงานของรัฐ กับเอกชนที่รับสัมปทานไปมีความแตกต่างกันหรือไม่
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : เอกชนสามารถเข้ามาดำเนินบริการสาธารณะนอกจากความมั่นคงได้ เพราะในด้านหนึ่งก็ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะที่จะต้องใช้อย่างมหาศาลในกรณีที่จะต้องทำจัดทำทุกด้าน ในขณะเดียวกัน รัฐก็เล็งเห็นถึงเอกชนก็มีศักยภาพ ความรู้ และงบประมาณในการลงทุน แต่สัมปทานนี้เป็นสัญญาที่มีประโยชน์สาธารณะเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐจึงยังมีอำนาจที่จะเข้ามากำกับดูแลได้ เพื่อให้การดำเนินบริการสาธารณะ หรือเงื่อนไขใดๆ สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ และกรณีที่เอกชนรับภาระเกินสมควร ก็จะต้องมีการเยียวยาที่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
(5) เอกชนที่รับสัมปทานมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่คาดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่และจะมีความเสี่ยงในทางกฎหมายอย่างไร
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : โดยทั่วไป การใช้อำนาจสั่งให้เอกชนยุติการดำเนินการตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานชั่วคราวสามารถทำได้ แต่ถึงการออกคำสั่งให้เอกชนหยุดการเดินรถจะไม่เหมาะสมในความเห็นส่วนตัว ความไม่เหมาะสมดังกล่าวก็เป็นคนละเรื่องกัน และทำให้เอกชนที่ถูกใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินยังต้องปฏิบัติตามอยู่ โดยท้ายที่สุด เอกชนก็ได้รับคำวิจารณ์แทนพอสมควร และต้องแบกรับภาระรายได้ที่ขาดหายไป ตรงนี้ต้องตามฟ้องร้องต่อไป
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างการบริการสาธารณะกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นอย่างไร และหลักการพิจารณามีอยู่อย่างไร
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : มันมีความสัมพันธ์กันจากเป้าหมายของบริการสาธารณะที่ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ รัฐมีหน้าที่ต้องจัดทำ โดยการที่รัฐให้เอกชนรับสัมปทานดำเนินการแทนไม่ได้ทำให้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวสิ้นสุดลง เพราะรัฐยังมีหน้ากำกับดูแล เพื่อสร้างหลักประกันให้บริการสาธารณะมีคุณภาพและอยู่ในสภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะเรื่องราคา ทั้งนี้ หากพิจารณาบริการขนส่งมวลชนก็พบว่าประชาชนไม่เคยเห็นบทบาทของรัฐที่จะเข้ามากำกับดูแลตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่กลับเห็นบทบาทของรัฐในแง่อื่นเสียมากกว่า
(5) เอกชนที่รับสัมปทานมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่คาดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่และจะมีความเสี่ยงในทางกฎหมายอย่างไร
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : เห็นว่ารัฐจะเข้ามากำกับดูแล และเอกชนจะสามารถปฏิเสธมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของสัญญาสัมปทาน โดยเรื่องนี้ก็มีปัญหาต่อเนื่องจากความโปร่งใสที่ควรจะเปิดเผยสัญญาดังกล่าว ประชาชนจึงไม่สามารถทราบว่าขอบเขตอำนาจภายในสัญญา ตลอดจนผู้ที่มีอำนาจออกคำสั่ง และตนมีความเห็นต่างจากผู้ร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะข้อสันนิษฐานที่ทำให้ประชาชนต้องปฏิบัติจนกว่าจะมีการฟ้องร้องคดีนั้น ก็ทำให้เกิดความเสียหายเช่นกัน โดยบางกรณีก็เป็นความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาให้ฟื้นคืนเท่าที่เคยมีก่อนออกคำสั่งได้ ตนจึงเห็นว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวควรไปด้วยกันกับหลักการในกรณีที่ประชาชนเห็นว่ามันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับการสันนิษฐานว่าชอบด้วยกฎหมายไปก่อน และกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงค่อยมาฟ้องคดีในฐานการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานในภายหลัง ประชาชนก็ต้องไปพิพาทกับเจ้าหน้าที่ในศาล โดยประชาชนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในการต่อสู้คดีตรงนั้น เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นประชาชนทั่วไป หรือเอกชนที่เป็นผู้รับสัมปทานจึงไม่ควรทำตาม และภายหลังจึงพิพาทกันในศาลที่รัฐก็สามารถแพ้คดีได้เช่นกัน โดยดร.บุฝผาก็เห็นด้วยว่ามันเป็นเรื่องที่เอกชนจะต้องชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร และแต่ละฝ่ายมีจำนวนสนับสนุนมากน้อยเพียงใด เพราะมันมีความเสี่ยงทั้งกรณีที่ปฏิบัติตาม และไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
(6) ผลกระทบและความเสียหายในภาคประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐคืออะไร และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : การหยุดให้บริการขนส่งมวลชนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 ตั้งแต่ตอนที่ ค.ส.ช. ทำรัฐประหาร โดยกระยะเวลานั้นก็ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้มีอำนาจตามพระราชกำหนด มีเพียงกฎอัยการศึก กับคำสั่ง ค.ส.ช. และปรากฏว่าวิธีการนี้สามารถรับมือกับการชุมนุมในเวลานั้นได้ แต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา ก็กลับมีผลที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ถึงแม้ว่าจะมีการอาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง ประชาชนยังคงมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก และเกิดการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงไปเองในท้ายที่สุด โดยไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้บริการขนส่งมวลชนจะเกิดขึ้นในเวลาใดส่งผลกระทบเป็นวงกว้างซึ่งไม่กระทบแค่คนที่ไปชุมนุม แต่รวมถึงคนที่อยู่บริเวณนั้น และต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่ ๆ มีการชุมนุมอีกด้วย นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมาก็ทำให้มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบกับประชาชนโดยปราศจากผลสัมฤทธิ์อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย สิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่ต่อไปคือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ล่าสุดก็มีการฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว เพื่อให้เพิกถอนต่อให้มีการยกเลิก และยืนยันว่ามันไม่มีเหตุในการประกาศใช้ได้ เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรงจะนำมาใช้ในกรณีที่เป็นภัยความมั่นคงทางทหารดังที่จะเห็นได้จากพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ตราขึ้นใน พ.ศ. 2548 เพื่อใช้กับการปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอย่างที่เรียนไปในตอนต้นถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้รับสัมปทานทั้งสองแห่งปิดสถานีตามอำนาจใด หากเป็นไปตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกรณีที่ศาลมองว่าเป็นการประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งที่เคยอาศัยอำนาจดังกล่าวก็ต้องไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ทั้งสองสถานีจึงต่างได้รับความเสียหายอีกด้วยในมุมหนึ่ง เพราะมีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งที่ต้องการอาศัยรถไฟฟ้าในการเดินทางไปสถานที่ชุมนุม
(7) นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัย ยังมีเหตุที่สามารถสั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดให้บริการหรือไม่
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : คิดว่าเรื่องความปลอดภัยให้ความรู้สึกถึงความชอบธรรมที่จะกำกับดูแลมากกว่าเหตุอื่นๆ ที่อาจจะทำให้รู้สึกเป็นการแทรกแซงในเชิงลบ โดยมีตัวอย่างสำคัญ คือ กรณีรถเมล์ที่ปรากฏพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยของผู้ขับขี่ แต่ประชาชนก็ไม่ค่อยพบบทบาทนี้จากรัฐ และกรณีที่เกิดเหตุที่ต้องรักษาความปลอดภัย ก็ต้องพิจาณราการออกแบบคำสั่งให้ถี่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น กรณีน้ำท่วม หรือไฟไหม้ในบางสถานี รัฐก็ควรสั่งให้ผู้รับสัมปทานให้เพียงแจ้งคำเตือน และปล่อยให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจมากกว่า เพราะบางคนก็มีความจำเป็นจริงๆ เช่น สถานีดังกล่าวอยู่ใกล้ที่พักอาศัย หรือการไปรับบุตรของตนออกมา เป็นต้น หรือกรณีที่เป็นกังวลว่าการชุมนุมอาจจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน มันก็กลับมีความจำเป็นยิ่งกว่าแก่การปล่อยให้สถานีรถไฟฟ้าดำเนินการต่อไป เพื่อให้คนมีเสรีภาพที่จะหนีออกจากพื้นที่ดังกล่าว
(8) ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา รัฐควรใช้อำนาจตามข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างไร
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : ในกรณีเรื่องความเหมาะสมในการจัดทำบริการสาธารณะ รัฐจะต้องจัดทำบริการสาธารณะก็จะต้องมีความต่อเนื่อง โดยจะต้องให้มีบริการขั้นต่ำอยู่เสมอ แต่จะมีขบวนรถไฟกี่เที่ยวต่อชั่วโมง หรือทำนองเดียว ก็ขึ้นอยู่กับรายกรณีว่ามันกำลังเผชิญการจัดการแบบใด แต่การจะให้หยุดบริการโดยสิ้นเชิงก็ย่อมจะไม่สอดคล้องกับหลักบริการสาธารณะ และหน้าที่ของรัฐเอง
ดร.บุบผา อัครพิมาน : เนื่องจากบริการสาธารณะเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดทำโดยทั่วไป และในต่างประเทศ การชุมนุมก็มักจะยึดการขนส่งมวลชนไว้เป็นข้อต่อรองประการหนึ่งกับรัฐ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น กรณีของประเทศไทยที่รัฐยึดบริการสาธารณะให้หยุดบริการเสียเองจึงหาหลักการที่มีอยู่ในต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ยาก แต่หากจะให้พิจารณากรณีที่สามารถเทียบเคียง ก็จะมีเรื่องรัฐอ้างเรื่องความสงบ และบอกว่าความสงบยิ่งใหญ่กว่าสิทธิการเดินทาง มันก็ต้องถามว่าวิธีการที่รัฐใช้ให้ไม่มีการเดินรถเป็นสิ่งที่บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะรักษาความสงบจริงๆ หรือไม่ โดยการพิจารณาดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักความสมควรแก่เหตุ ด้วยเหตุนี้ ความปลอดภัยจึงไม่ใช่ข้อยกเว้นที่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน หากมันเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะดำเนินการต่อไปได้ และต่อเนื่อง รัฐก็ย่อมมีอำนาจที่นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยที่จะสามารถกำกับดูแลลงถึงรายละเอียด เช่น จำนวนเที่ยวรถ หรือรูปแบบการชำระค่าบริการ เป็นต้น โดยกรณีที่เอกชนจะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมีการชดเชย อย่างไรก็ตาม อำนาจดังกล่าวก็ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงขนาดหยุดการบริการสาธารณะโดยสิ้นเชิงได้
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : แสดงความเห็นด้วย และอธิบายเสริมว่า หลักการให้มีบริการสาธารณะขั้นต่ำก็เป็นไปเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างหน้าที่ของรัฐกับสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ดำเนินการบริการสาธารณะที่อาจต้องการเรียกร้องสวัสดิการของตนให้ดีขึ้น และอาจจะนำเรื่องการปฏิบัติภารกิจบริการสาธารณะมาเป็นตัวประกัน ผู้รับสัมปทานหรือรัฐก็ต้องหาวิธีการที่บริการสาธารณะในระดับขั้นต่ำยังสามารถดำเนินการต่อไปได้้ แต่ประเทศไทยกลับเป็นรัฐสั่งหยุดให้บริการเสียเอง และทำอย่างกระทันหันด้วย
(9) ความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจากการที่รัฐให้หยุดการบริการขนส่งมวลชนทางรถไฟฟ้า มีตัวเลขแสดงให้เห็นถึงความเสียหายดังกล่าวหรือไม่ และมีวิธีการดูอย่างไร
ดร.บุบผา อัครพิมาน : อำนาจของรัฐจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้บริการสัมปทานยังสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างดีขึ้น และต่อเนื่องขึ้น ส่วนหลักความพอสมควรแก่เหตุน่าจะนำมาใช้ในกรณีที่รัฐไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ให้สัมปทาน เช่น การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น โดยหลักความพอสมควรแก่เหตุจะประกอบด้วยแนวทางในการพิจารณาตามดังต่อไปนี้ คือ พิจารณาก่อนว่าการออกมาตรการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ (ประการถัดมา จะพิจารณาว่ามาตรการที่เสนอนั้นกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุดในบรรดามาตรการอื่นๆ แล้วหรือไม่ – ผู้สรุป) อีกประการหนึ่ง คือ การชั่งน้ำหนักที่่จะพิจารณาว่าอำนาจที่ได้ใช้ไป และผลที่เกิดขึ้น มันทำให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสียหรือไม่ และมีเพียงเฉพาะกรณีที่มีมากกว่าผลเสียจึงจะทำให้มาตรการดังกล่าวมีความสมควรแก่เหตุ โดยตัวอย่างในประเทศไทยยังไม่มีที่ปรากฏชัด จึงขอนำเสนอตัวอย่างในต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การนำสัญญามาชั่งน้ำหนักกับสิทธิ แต่เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าระดับรัฐธรรมนูญสองประการ คือ สิทธิในการชุมนุมกับอำนาจในการรักษาความสงบ โดยกรณีนี้จะเกิดจากการชุมนุมเพื่อปาฐกถาในเมืองหนึ่ง ซึ่งจะต้องแจ้งให้เทศบาลอนุญาต แต่ปรากฏว่าเกิดการพิพาทว่าหากผู้ปาฐกถาสามารถมาถึงที่ชุมนุมได้แล้ว จะเกิดความรุนแรง เทศบาลจึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม การพิพาทนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งรัฐฝรั่งเศส และมีคำวินิจฉัยว่าการรักษาความสงบยังต้องพิจารณาความพอสมควรแก่เหตุ โดยการรักษาความสงบก็ไม่อาจมีคุณค่าถึงขนาดทำให้งดเว้นการชุมนุมอย่างสิ้นเชิงได้ และยังสามารถอาศัยมาตรการอื่นๆ ได้ด้วย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่สมควรแก่เหตุ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : การแทรกแซงของรัฐควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกลับเป็นการที่รัฐกลายเป็นคู่กรณีของประชาชน และระยะเวลานั้นการพิสูจน์ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งก็ย่อมไม่ทันกาล เอกชนที่รับสัมปทานจึงต้องยอมปฏิบัติตามไปก่อน การแทรกแซงของรัฐในกรณีนี้จึงน่าจะไม่สอดรับกับหลักบริการสาธารณะ แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง การแทรกแซงที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วยังส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปเป็นวงกว้าง ตลอดจนมีลักษณะเป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้งยังไม่บรรลุผลของการสร้างมาตรการอีก การออกคำสั่งในกรณีที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างออกไปไกลกว่าวัตถุประสงค์ และประโยชน์สาธารณะ
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : เห็นว่าควรจะขีดเส้นให้ได้ก่อนว่าการระงับการขนส่งสาธารณะที่ไม่ว่าจะทำโดยรัฐ หรือเอกชนรับสัมปทานจากรัฐ เพื่อสร้างอุปสรรคแก่ประชาชนในการเข้าถึงการชุมนุมโดยสะดวกเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรือมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงอยู่บ้าง แต่เป็นคนละประเด็นกันที่จะต้องไปแก้ไขด้วยวิธีการอื่นๆ โดยนอกจากเรื่องการปิดกั้นด้วยการหยุดบริการขนส่งสาธารณะ ก็ยังปรากฏว่ารัฐเคยอาศัย “การขอความร่วมมือ” จากเอกชนที่ครอบครองพื้นที่การชุมนุมในการสร้างฉากให้เห็นว่าผู้ชุมนุมละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างร้ายแรง และก็มีความเป็นไปได้ว่ารูปแบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับการหยุดบริการสาธารณะ การสัมมนาในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่เป็นการใช้อำนาจแบบทางการจึงอาจจะไม่เพียงพอต่อสภาพทางปฏิบัติที่มีเรื่องการใช้อำนาจแบบไม่เป็นทางการอย่างการกดดัน วิธีการแก้ไขจึงอาจจะไม่ใช่เพียงการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของมาตรการที่รัฐประกาศออกมา แต่ต้องมีการเรียกร้องที่แบ่งออกเป็นการเรียกร้องมีรูปแบบเชิงลบ หรือวิจารณ์ผู้รับสัมปทาน ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการส่งแรงกดดันเชิงบวก ก็เป็นการเรียกร้องผู้รับสัมปทานไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : ไม่มีที่ชัดเจน แต่อาจจะอาศัยการคำนวนจึงเป็นการนำรายได้ต่อวันของเส้นทางที่ถูกปิดมาหักลบกับรายได้ของสายที่ถูกปิดไปในวันที่มีคำสั่ง โดยมีข้อสังเกตว่าวันที่มีการชุมนุม รายได้ควรจะมีสูงขึ้นจากการมีผู้เลือกมาโดยสารมากขึ้นเพื่อไปยังสถานที่ชุมนุม สำหรับส่วนของผู้ชุมนุม และผู้ที่เดินทางก็จะเผชิญความเสียหายที่ยากกว่านั้น เพราะจะต้องอาศัยวิธีการทั้งหลายที่จะทำให้ตนสามารถเข้าถึงพื้นที่ๆ อยากไป โดยอาจจะต้องใช้จ่ายมากขึ้น
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน : มีข้อสงสัยว่าการที่ประชาชนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้กับวิธีการเดินทางแบบอื่นอันเป็นผลจากการปิดบริการสาธารณะ จะสามารถนับเป็นความเสียหายได้ทุกกรณีหรือไม่ หรือจะต้องพิสูจน์เรื่องอื่นด้วย
ดร.บุบผา อัครพิมาน : ผลกระทบที่เป็นเรื่องความยากลำบากมากขึ้นโดยลำพัง มันก็คำนวนเป็นค่าเงินด้วยตัวเองไม่ได้ คงต้องกำหนดมาเฉกเช่นเดียวกับกรณีการเสียชีวิตที่คำนวณไม่ได้ แต่ค่าเสียหายที่กำหนดได้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการไม่สามารถเข้าบริการสาธารณะ ส่วนเกินนี้จะเป็นความเสียหาย โดยจะมีอยู่หลักคิดอยู่ว่ามันต้องมีความพิเศษที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากผลอย่างใดอย่างหนึ่งจริงๆ หรือผลโดยตรง แต่ด้วยจำนวนเงินที่จะเรียกคืนอาจจะน้อยกว่าทุนที่ต้องใช้ในการต่อสู้คดี การจะฟ้องหรือไม่ในทางพฤตินัยก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไป แต่หากจะฟ้องเป็นสัญลักษณ์ก็ย่อมสามารถจะทำได้ ส่วนเอกชนที่รับสัมปทานจะฟ้องได้หรือไม่ ก็ขิ้นอยู่กับว่ารัฐสั่งจริงหรือไม่ มิฉะนั้นความเสียหายจะกลายเป็นเรื่องที่เกิดจากความยินยอมของเอกชนเสียเอง
(10) ความเสียหายระหว่างคู่สัญญาสัมปทาน กับความเสียหายของประชาชนมีอะไรบ้าง ใครต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และมีแนวทางการเยียวยาความเสียหายอย่างไร
ดร.บุบผา อัครพิมาน : การเยียวยากับประชาชนในกรณีนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องทางนโยบายว่าจะมีการเยียวยาหรือไม่ และรูปแบบใด ในกรณีที่มีการฟ้องร้องในศาลก็จะปรากฏรูปแบบการเยียวยาแบบเดียว คือ การจ่ายตามคำพิพากษาที่จะต้องมีผู้เสียหายชัดเจน แต่การเยียวยาคนจำนวนมากในระดับประชาชนก็คงมีลักษณะเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อวไวรัสโคโรน่าที่เป็นเรื่องมาตรการทางนโยบาย และศาลจะมีบทบาทในการเข้ามาดูแลกรณีที่ประชาชนบางส่วนที่มีคุณสมบัติตามที่นโยบายกำหนดกลับไม่ได้รับการเยียวยา เพราะศาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจเชิงรับ (Passive) ที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นถึงความเหมาะสมได้ด้วยตัวเอง มิฉะนั้นศาลจะก้าวก่ายบทบาทของรัฐบาลที่่มีความชอบธรรมจากประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนก็ค่อนข้างจะฟ้องทั้งหน่วยงานภาครัฐกับเอกชนที่รับสัมปทาน และเอกชนก็มักจะอ้างว่าตนปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐที่ได้รับการสันนิษฐานว่ามีความถูกต้อง ผู้ที่รับผิดชอบจริงๆ จึงเป็นรัฐ และค่าเสียหายจึงเป็นภาษีจากประชาชนเอง อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐแค่ขอความร่วมมือจากเอกชน มันก็จะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ให้เอกชนสามารถฟ้องรัฐได้ และเอกชนที่รับสัมปทานก็จะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายของประชาชนด้วย
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน : ในกรณีที่เอกชนพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งของรัฐอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็เลือกที่จะปฏิบัติตามคำสั่งไปพลางก่อน มันจะมีความแตกต่างออกไปหรือไม่
ดร.บุบผา อัครพิมาน : จากการศึกษาของตนเกี่ยวกับตัวอย่างในต่างประเทศ การปฏิบัติตามคำสั่งจะนำมาซึ่งผล 2 ประการ ในเรื่องแรก คือ รัฐก็ยังมีหน้าที่ชดใช้เช่นกัน เพราะระบบกฎหมายก็สันนิษฐานให้คำสั่งทั้งหลายว่าให้ชอบด้วยกฎหมายอยู่ดี ในขณะที่อีกประการหนึ่ง คือหากทำให้เอกชนต้องรับภาระทางสาธารณะมากกว่าปรกติ รัฐก็ต้องชดเชยความเสียหายบนฐานความเสียหายที่ปราศจากความผิดในกรณีที่เป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือบนฐานละเมิดในกรณีที่เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
รศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : กรณีที่เป็นคู่สัญญา ก็จะเห็นได้ชัดว่ามีความเสียหายจากการสั่งให้ปิดหลายๆ ครั้ง โดยจะเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่จะมีความยากลำบากเล็กน้อยในเรื่องการคำนวณ ในส่วนของประชาชนก็อยู่ในฐานะผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถใช้ได้ตามปรกติ ก็น่าจะต้องเป็นเรื่องกระบวนการทางกฎหมายต่อผู้รับสัมปทานตามแต่ละกรณีไป แต่มีข้อสังเกตว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการพูดถึงหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 56 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดแลดำเนินการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง และอยู่ในหมวดของหน้าที่ของรัฐโดยตรงอีกด้วย เพราะฉะนั้นกรณีที่เกิดการติดขัดขึ้นมา และไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าว ประชาชนก็น่าจะฟ้องร้องรัฐได้ คำถามคือ มาตราดังกล่าวจะสามารถนำไปดัดแปลงอะไรต่อไปได้หรือไม่ ในฐานะสิทธิของประชาชนกับบริการสาธารณะที่เกิดหยุดชะงักในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน : กระบวนการในคดีปกครองมี “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” (Class Action) ที่มีอยู่ในระบบการพิจารณาคดีแพ่งหรือไม่
ดร.บุบผา อัครพิมาน : การรวมชื่อกันมาฟ้องก็มีปรากฏอยู่ในดีสิ่งแวดล้อม โดยยังไม่มีการกำหนดให้ชัดเจนอย่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะวิธีพิจารณาคดีในตอนนี้ก็ยังพอไปได้อยู่
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : ตั้งข้อสังเกตถึงความอิหลักอิเหลื่อถึงการต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้รับสัมปทานที่เกิดขึ้นจากความต้องการเพียงคนกลุ่มเดียว แต่กลับรับผิดชอบด้วยภาษีของประชาชนทุกคน และข้อสังเกตเกี่ยวกับความยากลำบากของประชาชนในการเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตน เพราะกระบวนการทางกฎหมายย่อมสร้างภาระให้แต่ละคน โดยปัญหาดังกล่าวก็สามารถบรรเทาด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม นอกจากนั้น ก็มีข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ที่ศาลจะกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเพื่อให้ไม่มีการอาศัยวิธีการหยุดบริการสาธารณะเช่นนี้อีก และอาจจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ดังกล่าวให้โจทก์ในคดีสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคมเท่านั้น และก็ได้กล่าวถึงภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่รวมถึงศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะคอยให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจากการใช้อำนาจโดยมิชอบในสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ที่จะเป็นโจทก์
ดร.บุบผา อัครพิมาน : ขอฝากเกี่ยวกับการฟ้องคดีแบบกลุ่มว่า มันจะมีความแตกต่างนิดหนึ่งระหว่างการฟ้องในศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง คือ การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เจ้าตัวไม่ต้องมาเอง แค่ส่งไปรษณีย์มา หรือฟ้องทางอิเล็คทรอนิกส์ก็ได้ และผู้เสียหายที่มีจำนวนมากก็สามารถมอบอำนาจให้คนใดคนหนึ่งฟ้องแทนได้ โดยครั้งแรกก็ทำหนังสือมอบอำนาจและติดสแตมป์ให้เรียบร้อย เนื่องจากกฎหมายยังเปิดช่องให้ทำแบบนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนาย และระบบการพิจารณาที่เป็นการไต่สวนที่ไม่ปล่อยให้เกิดการแพ้คดีด้วยเหตุกฎหมายวิธีพิจารณาคดีได้
รศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล : สัญญาสัมปทานกับการกำกับดูแลของรัฐน่าจะมุ่งหมายให้การที่รัฐจัดบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ รัฐจึงควรเป็นผู้ตอบคำถามประชาชนในแง่ของการเข้าถึง การปรับปรุง การบริหารจัดการให้ทันสมัย หรือการประมูลให้มีความโปร่งใส สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนน่าจะคาดหวังบทบาทของรัฐในการทำหน้าที่เกี่ยวกับสัมปทานบริการสาธารณะ โดยเฉพาะการป้องกันการผูกขาด มากกว่าที่จะดำเนินการหยุดเดินรถด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง และค่อนข้างเห็นว่ามันไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ รัฐจึงควรให้ความใส่ใจกับการพิจารณาบทบาทของตัวเองในฐานะผู้กำกับดูแลการให้สัมปทาน และผู้มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน : งานเสวนาในครั้งนี้ได้ทำให้ข้อสรุปประการสำคัญอย่างหนึ่งว่าทั้งกรณีที่รัฐไม่มีอำนาจชัดแจ้ง รวมถึงกรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจ แต่การดำเนินให้หยุดบริการสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร การสั่งให้บริการสาธารณะหยุดดำเนินการอย่างสิ้นเชิงย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่มีเหตุเรื่องความสงบเรียบร้อย ก็สามารถกล่าวได้ว่ารัฐไม่อาจหยุดให้บริการอย่างสิ้นเชิงได้ในเบื้องต้น เพราะยังคงมีหน้าที่ขั้นต่ำซึ่งจะต้องจัดให้มีบริการสาธารณะ เพื่อให้เป็นไปตามหลักความต่อเนื่อง และรับรองการใช้สิทธิเสรีภาพในการเดินทาง