สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “เกษตรพันธสัญญา (contract farming) กลไกที่ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรผันผวน?” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30-16.30 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วิทยากร
- คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
- คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง และศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
กล่าวว่า ก่อนมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ 2560 (พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา) ประเทศไทยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกับเรื่องการเกษตร ซึ่งระเบียบดังกล่าวยังขาดประสิทธิภาพไม่สามารถคุ้มครองเกษตรกรได้ เนื่องจากโดยสภาพเกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมักทำสัญญากันด้วยวาจา ทำให้เวลาเกิดข้อพิพาทเกษตรกรมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะไม่มีสัญญาหรือรายละเอียดของสัญญาที่เป็นพยานหลักฐานไปสู้กับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในชั้นศาล ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการจัดทำ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ขึ้น
ใน พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา มีการกำหนดนิยามคำว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ไว้ในมาตรา 4 ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ (1) เป็นระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร (2) เกิดขึ้นจากสัญญาประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกรตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกร หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่กฎหมายรองรับ (3) มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ (4) ผู้ประกอบการทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และ (5) ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต จะเห็นได้ว่า สัญญาตาม พ.ร.บ. เกษตรพันธกรณีมีลักษณะเป็นลูกผสมจากลักษณะของหลาย ๆ สัญญา ไม่ได้เป็นสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญารับซื้อโดยตรง ดังนั้น ในการตีความว่าสัญญาใดเป็นสัญญาตาม พ.ร.บ.เกษตรพันธกรณี จึงต้องพิจารณาองค์รวมของสัญญาทั้งหมดว่าเข้าลักษณะดังกล่าวหรือไม่
สัญญาในระบบเกษตรพันธะสัญญา สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ (1) สัญญาประเภทพืช (2) สัญญาประเภท
ปศุสัตว์ และ (3) สัญญาประเภทการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจก่อนเริ่มประกอบกิจการตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เกษตรพันธกรณี ซึ่ง ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 มีผู้ประกอบธุรกิจจดแจ้งแล้วเป็นจำนวน 441 ราย แบ่งเป็น ด้านพืช 379 ราย ด้านปศุสัตว์ 48 ราย และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 44 ราย
เมื่อผู้ประกอบธุรกิจจดแจ้งแล้ว ก่อนทำสัญญาต้องมีเอกสารสำหรับการชี้ชวนเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยรายละเอียดของเอกสารสำหรับการชี้ชวนต้องเป็นตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.เกษตรพันธกรณี ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจออกเอกสารสำหรับการชี้ชวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถทำสัญญาได้ ทั้งนี้ สัญญาต้องมีรายละเอียดข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามมาตรา 20 ถึงมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.เกษตรพันธกรณี
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
ถามคุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล ว่า เมื่อการจดแจ้งสามารถทำที่ส่วนกลางหรือที่ต่างจังหวัดได้ หากเกิดข้อพิพาทขึ้น สถานที่จดแจ้งจะส่งผลต่อสถานที่ไกล่เกลี่ยหรือไม่
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
อธิบายว่า ไม่ว่าจะจดแจ้งที่ส่วนกลางหรือส่วนจังหวัด หากเกิดข้อพิพาทขึ้น ต้องมีการไกล่เกลี่ยกันก่อนโดยพิจารณาสถานที่ไกล่เกลี่ยจากสถานที่ที่เกิดการพิพาท (ไม่ได้พิจารณาจากสถานที่จดแจ้ง) ที่ผ่านมาเคยเกิดข้อพิพาทโดยมีสถานที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน 10 จังหวัด ในกระบวนการไกล่เกลี่ยสามารถเลือกจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งที่มีผู้เสียหาย (เกษตรกร) จำนวนมากที่สุดเป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่คู่พิพาทและเป็นการเพิ่มโอกาสให้กระบวนการไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จมากขึ้น
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
ถามคุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐมีฐานข้อมูลสัญญาของเกษตรกรหรือไม่ และสามารถตรวจสอบได้อย่างเปิดเผยหรือไม่
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
ในปัจจุบันฐานข้อมูลสัญญาเกษตรกรยังไม่สามารถตรวจได้อย่างเปิดเผย เพราะข้อมูลต่าง ๆ หน่วยงานเพิ่งเริ่มเก็บรวบรวม (ไม่มีฐานข้อมูลเก่า) แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานมีแผนที่จะทำฐานข้อมูลสัญญาเกษตรกรเพื่อใช้ในการวางแผนการดำเนินงานของหน่วยงานและเพื่อขยายองค์ความรู้ด้านกฎหมายตาม พ.ร.บ.เกษตรพันธกรณีให้แก่เกษตรกร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ถามคุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุลว่า พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา แตกต่างจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม อย่างไร และรัฐมีเครื่องมือใดที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากที่ช่วยดูเรื่องเนื้อหาของสัญญา
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องของกระบวนการฟ้องร้องโดยมีการกล่าวอ้างเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ส่วน พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา มีกลไกในส่วนของการไกล่เกลี่ยอันเป็นการระงับข้อพิพาทวิธีหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา โดยระยะเวลาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพ.ร.บ.เกษตรพันธกรณี จะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 30 วัน ซึ่งมีความรวดเร็วและช่วยรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรได้ดีกว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาความแพ่งที่มีขั้นตอนมากและต้องจ้างทนายความเพื่อต่อสู้คดี นอกจากนี้ พ.ร.บ.เกษตรพันธกรณี ยังมีกลไกที่เข้ามากำหนดรายละเอียดของสัญญาและลักษณะต้องห้ามของข้อความในสัญญาด้วย ซึ่งกลไกนี้มีหลักการคล้ายกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ตาม พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา มาตรา 21 มีหลักการคือในสัญญาต้องมีรายละเอียดขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด โดยมาตรา 21(10) กำหนดให้ในสัญญาต้องรายละเอียดเรื่อง “ผู้รับความเสี่ยงภัยในผลิตผลทางการเกษตรและความเสี่ยงทางการค้าในกรณีที่ผลิตผลทางการเกษตรไม่สามารถจำหน่ายได้ตามราคาที่กำหนดไว้” อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายให้กำหนดผู้รับความเสี่ยงภัยในสัญญา แต่หากเกิดกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้รับความเสี่ยงเองทั้งหมด กรณีนี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาสามารถเข้าไปแทรกแซงสัญญาให้เป็นธรรมต่อเกษตรกรได้หรือไม่
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
เดิมทีก่อนมี พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรส่วนใหญ่มักผลักภาระความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้กลไกไกล่เกลี่ยได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับผลของสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนมีพ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ภายหลังจากที่มี พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ไม่ค่อยปรากฏถ้อยคำในสัญญาให้เกษตรกรเป็นผู้รับความเสี่ยง เพราะปัจจุบันมักใช้คำว่า “อยู่ที่ความตกลงกันของทั้งสองฝ่าย” ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดข้อพิพาทในประเด็นนี้ขึ้น
ในเรื่องผู้รับความเสี่ยงตามมาตรา 21(10) นั้น กฎหมายเพียงกำหนดรายละเอียดขั้นต่ำในสัญญา ส่วนการกำหนดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับความเสี่ยง หน่วยงานรัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงสัญญาได้ เพราะการทำสัญญาเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน ดังนั้น จึงแนะนำว่าในเวลาทำสัญญาเกษตรกรควรรวมตัวกันทำสัญญาเป็นกลุ่มกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร (ไม่ควรทำสัญญาเพียงลำพัง) เพราะจะได้มีอำนาจต่อรองและไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเอาเปรียบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ในเรื่องการรับความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องแบกรับหรือในเรื่องการเกิดภัยพิบัติ เช่น โรคระบาด จนทำให้เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้ หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา คณะกรรมการไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงข้อสัญญาหรือสิ่งที่เกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงกันได้ แต่หากพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ข้อสัญญาที่เกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงกันอาจถูกศาลพิพากษาได้ว่าข้อสัญญานั้นไม่เป็นธรรม จึงเกิดคำถามว่ากรณีปรับใช้ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา แก่สัญญาแต่ไม่เป็นผล สามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยขอสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นอีกทางเลือกได้หรือไม่
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
ที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรมของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาไปสู่ศาล เพราะหากข้อสัญญานั้นไม่เป็นธรรมกันจริง ๆ เกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจะเจรจาหรือกลับไปตกลงข้อสัญญากันใหม่ เพื่อปรับให้ข้อสัญญาเป็นธรรมแก่คู่สัญญาให้มากที่สุด ยิ่งถ้าเกษตรกรรวมตัวกันทำสัญญาเป็นกลุ่มย่อมมีอำนาจในการเจรจาขอปรับแก้ข้อสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่สัญญาอาศัยการเจรจาตกลงกันตามปกติ โดยไม่ต้องอาศัยกลไกหรือกระบวนการใด ๆ จากภาครัฐ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
สรุปว่า ปัจจุบันยังไม่มีการใช้กลไกทางศาลเพื่อปรับแก้ข้อสัญญาทางการเกษตรที่ไม่เป็นธรรม จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสามารถนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมมาปรับใช้แก่ข้อสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาได้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถเจรจาปรับแก้ข้อสัญญาให้เป็นธรรมแก่กันได้ จึงยังไม่มีข้อพิพาทไปสู่ชั้นศาล
มีคำถามว่า (1) กระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเกิดขึ้นเมื่อใดและมีขึ้นตอนอย่างไร (2) กรณีเกษตรกรไม่ยอมส่งมอบหรือไม่ยอมขายผลผลิตตามที่ตกลงกันในสัญญาให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ๆ สามารถทำอย่างไรกับเกษตรกรต่อไปได้บ้าง (3) เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและความชัดเจนในกระบวนการไกล่เกลี่ยของแต่ละจังหวัด กระทรวงหรือสำนักงานที่ดูแลมี Guideline หรือแนวปฏิบัติที่วางกรอบให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ของแต่ละจังหวัดปฏิบัติตามหรือไม่
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
ตอบคำถามที่ (1) : ผู้ที่ได้รับความเสียหายและประสงค์จะใช้วิธีการไกล่เกลี่ยตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา สามารถยื่นคำร้องไปที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ของแต่ละจังหวัดได้ (ยื่นคำร้องในจังหวัดเดียวกับสถานที่ที่เกิดปัญหาหรือข้อพาทขึ้น) ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า “สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ของแต่ละจังหวัด” เป็นคนละหน่วยงานกับ “สำนักงานเกษตรจังหวัด” หรือ “สำนักงานเกษตรอำเภอ” ดังนั้น การยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยต้องยื่นให้ถูกหน่วยงาน (ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานเกษตรจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรอำเภอได้) เมื่อยื่นคำร้องเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำเสนอข้อพิพาทไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่เป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และดำเนินการนัดวันไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีต่อไป หากสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยจะให้คู่กรณีทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แต่หากไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ ก็ต้องนำคดีไปสู้ที่ชั้นศาลต่อไป
ตอบคำถามที่ (2) : ที่ผ่านมา สำนักงานยังไม่เคยเจอกรณีที่เกษตรกรไม่ยอมส่งมอบผลผลิต เจอแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรไม่มารับผลผลิตหรือรับผลผลิตแล้วแต่ไม่ชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน จนนำไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ตอบคำถามที่ (3) : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ของแต่ละจังหวัดที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร มีแนวปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นสำนักงานเกษตรจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรอำเภอที่ขึ้นตรงต่อกรมส่งเสริมการเกษตร อาจไม่มีแนวทางไกล่เกี่ยตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา แต่อาจมีแนวทางการไกล่เกี่ยตามวิธีอื่น
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมักเกิดจากอำนาจในการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งบางครั้งเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีอิทธิพลในตลาดมากหรือมีการผูกขาดสินค้าในตลาด เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาที่ครบด้าน จึงเสนอให้หน่วยงานหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา หรือตามกฎหมายอื่น เช่น คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาโครงสร้างอำนาจในตลาดด้วย
นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะว่า (1) การตีความสัญญาหรือการบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ควรตีความหรือบังคับใช้ให้เป็นคุณแก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา และลดอำนาจหรืออิทธิพลของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มีในตลาด (2) ในเรื่องสัญญาตัวอย่าง (สัญญากลาง) ที่หน่วยงานกำลังทำ อยากให้สัญญาตัวอย่างมีบทบาทที่ชัดเจนในการเอื้อเฟื้อประโยชน์ให้แก่เกษตรกร (3) ในการบังคับใช้พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา อยากให้มีการคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของทรัพย์กรทางธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรด้วย และ (4) เรื่องระบบฐานข้อมูลที่จะเก็บข้อมูลสัญญาของเกษตรกร หากหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลได้เร็วและเปิดเผยต่อสาธารณชน จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะจะได้ทราบปัญหาของการทำสัญญาและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวเสริมคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ว่าแม้มาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ไม่ได้เขียนให้อำนาจสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจจัดทำฐานข้อมูลสัญญาไว้โดยตรง แต่เห็นว่า (1) อยากให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสัญญาของเกษตรกร เช่น จำนวนของผู้มาจดแจ้ง จำนวนของสัญญาเกษตรพันธสัญญาที่เกิดขึ้น และ (2) หากเป็นไปได้ ควรมีระเบียบหรือนโยบายที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มของเกษตรกร เช่น เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันสามารถเสนอร่างสัญญาแล้วให้กระทรวงช่วยตรวจทานดูได้ เพื่อนำร่างสัญญานั้นเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจลงนาม หรือเพื่อใช้ในการเทียบเคียงกับสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจจะเสนอให้เกษตรกรลงนาม
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
ในส่วนของระบบฐานข้อมูล ณ ขณะนี้ หน่วยงานมีเพียงฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มาจดแจ้งต่อสำนักงาน ซึ่งรายละเอียดมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ สามารถตรวจสอบดูได้ แต่ฐานข้อมูลด้านการทำสัญญาของเกษตรกรอยู่ระหว่างการรวบรวมและศึกษาข้อมูล ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรต้องติดตามต่อไป
ส่วนเรื่องระเบียบหรือนโยบายการรวมกลุ่มของเกษตร จะนำเสนอในที่ประชุมของคณะกรรมการหรือผู้ที่ทำงานด้านนี้ในหน่วยงานว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ถามว่า ตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้รับประโยชน์อย่างไรบบ้าง
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
ในภาพรวม เป็นการยกระดับให้เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้ามาสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้การทำสัญญามีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนทำให้การดำเนินธุรกิจมีความเป็นระบบแบบแผนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เดิมก่อนมีพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรอาจมีภาพลักษณ์ในแง่ลบ แต่พอมีพ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถสื่อสารแก่สังคมได้ว่าตนได้สร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้เอาเปรียบหรือสร้างภาระให้แก่เกษตรกรมากเกินความจำเป็น อันทำให้ธุรกิจภาคเอกชนมีความยั่งยืนขึ้น
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
การมี พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ช่วยทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ตามที่ตกลงกันในสัญญากับเกษตรกร อันทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับการขายหรือแปรรูปต่อไป นอกจากนี้ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ยังช่วยให้เกษตรกรมีความเอาใส่ใจในผลผลิตมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจถูกเรียกเก็บค่าปรับจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
เป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานจะมีโครงการจัดอันดับหรือให้คะแนนแก่ผู้ประกอบการทางการเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา และในขณะเดียวกันเมื่อได้รับผลการประเมินจากหน่วยงานรัฐและผลคะแนนเป็นที่น่าพอใจ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรก็สามารถนำผลคะแนนนั้นไปอ้างได้ว่าบริษัทของตนมีการปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทสู่สายตาของสังคม
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
เห็นด้วยกับโครงการที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง เสนอ แต่อาจต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เช่น หน่วยงานรัฐอาจประกาศรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ทำตามเกณฑ์กฎหมายลงบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือมีการโฆษณาแก่สังคมว่าผู้ประกอบธุรกิจรายใดปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น ซึ่งทางสำนักงานจะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมต่อไป
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยในต่างประเทศมีการทำ The Supermarket Scorecard ซึ่งเป็นคะแนนที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจมีการปฏิบัติต่อเกษตรกรอย่างไร มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือแรงงานหรือไม่ อันเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลผลิตหรือสินค้าจากห้างสรรพสินค้าที่มีคะแนนภาพรวมดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ในปัจจุบัน ภาพรวมของการดำเนินการตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ท่านวิทยากรมีความพึงพอใจหรือไม่ มีความเห็นอย่างไร หรือควรปรับปรุงสิ่งใดบ้าง
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
แม้พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ยังไม่ถูกประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย แต่ภาพรวมหลังจากมีพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีบางเรื่องที่ควรปรับปรุง คือ อำนาจในการต่อรองระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรรายใหญ่ ที่อำนาจในการต่อรองทำสัญญายังมีความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาจะแก้ไขปัญหาเรื่องอำนาจในการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างไรให้มีความเป็นรูปธรรมและเกิดผลในทางปฏิบัติจริงมากยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ในเดือนที่ผ่านมาเกิดปัญหาเรื่องราคาหมู คือ ราคาหมูหน้าฟาร์มมีความแตกต่างกับราคาที่ขายอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอิทธิพลในตลาดของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร กฎหมายเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญาจะเข้ามามีบทบาทหรือส่งผลทางลบต่อเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (วิทยากร) :
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่มีอิทธิพลในตลาด ซึ่งการที่รัฐออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าหรือนำสัตว์เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาการผูกขาดสินค้าโดยตรง ในเรื่องนี้ต้องแก้ที่ระบบเกษตรพันธสัญญาด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ระบบเกษตรพันธสัญญาสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เรื่องนี้ไม่ได้แก้ไขได้โดยอาศัยพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาอย่างเดียว เพราะต้องอาศัยกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าหรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ณ ปัจจุบัน พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญามุ่งเน้นที่การกำกับหรือพัฒนาระบบมากกว่าการควบคุมระบบ จึงอาจทำให้บางเรื่องไม่ถูกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ในอนาคตมีแนวโน้มหรือไม่ที่จะแก้ไขพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา โดยเพิ่มบทบาทการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐให้มีบทบาทมากขึ้น เช่น คณะกรรมการอาจมีบทบาทในการตีความหรือวินิจฉัยว่าข้อสัญญาในสัญญาเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (วิทยากร) :
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ให้คำตอบยาก เพราะการเพิ่มอำนาจควบคุม แม้จะเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจคัดค้านหรือพยายามหาช่องทางหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้การดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจไม่เข้าข่ายตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจพยายามออกจากระบบเกษตรพันธสัญญา เกษตรกรอาจได้รับผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันก็ได้ จึงเห็นว่าก่อนการออกมาตรการที่เข้มงวดต้องศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบให้รอบด้านเสียก่อน