สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการเรื่อง “บ้าแล้วไง?: กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช” จัดโดยศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-16.00 น. จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านทางระบบ Cisco Webex Meetings และ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
- คุณสุพรรณี แสงรักษา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล (ผู้อำนวยการประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา) :
กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า เป็นหน้าที่ของศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาที่ต้องทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากเกิดเหตุของ “เค ร้อยล้าน” ขึ้น ประเด็นของงานสัมมนาครั้งนี้จึงเกี่ยวกับเรื่องผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก เพราะเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดยากหรือไม่สามารถรักษาได้ ปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมายอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องของทางการแพทย์ด้วย ในการนี้ จึงขอขอบคุณท่านวิทยากรทุกท่าน ผู้ดำเนินรายการ และผู้เข้าร่วมงานสัมมนาที่ให้ความสนใจกับงานสัมมนาในครั้งนี้
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
เมื่อกล่าวถึงผู้กระทำความผิด คนทั่วไปมักนึกถึงแค่ประมวลกฎหมายอาญาเป็นหลัก แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชนั้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ประการ คือ (1) พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (3) ประมวลกฎหมายอาญา (4) พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
ประเด็นเรื่องผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน เพราะกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิด แต่หากผู้กระทำความผิดเป็นผู้ป่วยจิตเวช อาจเกิดคำถามว่าสมควรให้ผู้ป่วยจิตเวชรับโทษหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องศึกษาเพื่อหาจุดสมดุลว่ากรณีใดที่ผู้ป่วยจิตเวชควรได้รับโทษหรือกรณีใดที่ผู้ป่วยจิตเวชไม่ควรรับโทษ
ประเด็นแรก หากพบผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือมีความผิดปกติทางจิต สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง กฎหมายที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ คือ มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดว่าในกรณีฉุกเฉินได้รับแจ้งว่ามีบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีภาวะอันตรายหรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา หรือพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายใกล้จะถึง ให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ โดยบุคคลที่สามารถนำตัวผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้ ได้แก่ (1) พนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข (2) พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ (3) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่พบบุคคลที่มีอาการทางจิต แต่ยังไม่ได้กระทำความผิด เช่น เดินพูดคนเดียว บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวส่งสถานพยาบาลได้ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตจริง คณะกรรมการสถานบำบัดสามารถออกคำสั่งให้บุคคลนั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ ซึ่งการรักษามี 2 รูปแบบ คือ แบบผู้ป่วยในกับแบบผู้ป่วยนอก มีข้อสังเกตว่า การออกคำสั่งของคณะกรรมการสถานบำบัดสามารถออกคำสั่งได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล
ประเด็นที่สอง หากขณะจับตัวผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดไม่ได้แสดงอาการทางจิต แต่เมื่ออยู่ในชั้นสอบสวนหรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณา ผู้กระทำความผิดเริ่มมีอาการทางจิตจะสามารถดำเนินการอย่างงไรได้บ้าง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 กับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 35 ซึ่งต้องพักการสอบสวนหรือพักการพิจารณาคดีไว้หรืองดการไต่สวนมูลฟ้องตามแต่ละกรณี เพราะหากดำเนินการในขณะที่ผู้กระทำความผิดมีอาการทางจิต อาจเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ กฎหมายจึงให้ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคก่อน เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีอาการทางจิตจริงหรือไม่ หากมีอาการทางจิตจริง ต้องรักษาให้หายก่อนเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยบุคคลที่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ได้แก่ (1) เจ้าหน้าที่ตำรวจ (2) ศาล (3) ราชทัณฑ์
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
โดยทั่วไปหากพบผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต สิ่งที่ต้องคำนึงคือการรักษาความลับหรือไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยให้ผู้อื่นทราบ แต่วันนี้สามารถกล่าวถึงกรณีของ “เค ร้อยล้าน” ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสังคมแล้ว จากข่าวคุณเคได้ก่อความเดือดร้อนให้แก่ห้างสรรพสินค้าและสี่แยกต่าง ๆ ก่อให้เกิดความกลัวแก่ประชาชน เมื่อพิจารณานิยามของคำว่า “ความผิดปกติทางจิต” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 แล้ว กฎหมายกำหนดนิยามไว้ว่า “อาการผิดปกติของจิตใจที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ความจำ สติปัญญา ประสาทการรับรู้ หรือการรู้เวลา สถานที่ หรือบุคคล รวมทั้งอาการผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากสุราหรือสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท” ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีความผิดปกติทางจิต ก็ควรเข้ารับการรักษาเพราะโรคทางจิตเวชเกิดจากสมองมีภาวะการทำงานที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุร่วมกัน แม้ว่าอาการทางจิตบางโรคจะหายเองได้ แต่หากรอเวลาซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะหายจากอาการทางจิตเมื่อใด อาจเกิดความล่าช้าและเกิดความเสียหายขึ้นกับบุคคลที่มีอาการทางจิตที่ต้องถูกล้อเลียน ครอบครัวของผู้มีอาการทางจิต และสังคมได้
กรณีที่ปรากฏบ่อยครั้งคือในระยะแรกของการเป็นผู้ป่วยทางจิต ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ทำให้ผู้ป่วยมักขู่หรือด่าแพทย์ว่าแพทย์วินิจฉัยผิดหรือทำการรักษาโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นเรื่องยากต่อการรักษา เพราะการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอ ในทางปฏิบัติหากผู้ป่วยไม่ให้ความยินยอมในการรักษาเพราะขาดความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองเป็นหรือขาดความสามารถในการตัดสินใจ โรงพยาบาลต้องพูดคุยหารือกับครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ป่วยก่อน เช่น ทางครอบครัวมีความเห็นอย่างไร ทางโรงพยาบาลมีความเห็นอย่างไร เพราะอะไรถึงต้องเข้ารับการรักษา เป็นต้น หากครอบครัวยินยอม ก็สามารถให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างผู้ป่วยในได้โดยต้องทำหนังสือให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากครอบครัวไม่ยินยอม โรงพยาบาลต้องให้คณะกรรมการบำบัดรักษาออกความเห็นจึงจะรักษาผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ดี หากครอบครัวไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการบำบัดรักษา ครอบครัวอาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อกรมสุขภาพจิตได้เพื่อให้คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป
สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจคือการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชน สังคม รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่นอกเหนือจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขุดคลอง การสร้างสนามเด็กเล่น ควรหันมาสนใจเรื่องคุณภาพของประชาชนและเรื่องสุขภาพจิตให้มากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ควรได้รับความรู้เช่นกันว่าหากพบผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติทางจิต ไม่ได้มีแต่ประมวลกฎหมายอาญากับประมวลวิธีพิจารณาความอาญาที่บังคับใช้กับผู้กระทำความผิดเท่านั้น แต่มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่ควรคำนึงถึงด้วย เพื่อให้การจับกุมและการนำส่งตัวผู้กระทำความผิดที่มีอาการทางจิตมีความถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานที่ควรเป็น
อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ถามว่า สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตได้อย่างไร เพื่อที่จะได้ดำเนินการต่อผู้มีอาการได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
คุณสุพรรณี แสงรักษา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
ปัจจุบันเราสามารถพบผู้ป่วยจิตเวชได้ทั่วไป ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลากหลาย เช่น พูดขึ้นมาลอย ๆ หรือพูดพึมพำอยู่คนเดียว หรือเดินหน้าตาเคร่งเครียดระหวาดระแวง เป็นต้น
ตัวอย่างกรณีแรก คือ ผู้ป่วยพูดพึมพำอยู่คนเดียว มีถุงเท้าเหน็บไว้ที่เอว เมื่อเขาไปคุยด้วย ผู้ป่วยบอกว่าตนเองเป็นเจ้าหญิงและกำลังดูแลเจ้าชายอยู่ในบ้าน ตนเองไม่สามารถไปไหนได้เพราะระแวงว่าจะมีคนขโมยกุญแจของเขาเข้าไปในบ้าน โดยบริเวณบ้านมีการพูดเชือกปอไว้เพื่อกั้นระหว่างบ้านตนเองกับข้างบ้านเพื่อป้องกันคนข้างบ้านมาทำร้าย จากกรณีดังกล่าว เห็นได้ว่า ผู้ป่วยมีอาการระหวาดระแวงและมีความคิดที่ผิดปกติไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของโลกแห่งความเป็นจริง
ตัวอย่างกรณีที่สอง คือ บ้านของผู้ป่วยกับผู้ตายอยู่ติดกัน แต่บ้านทั้งสองมีความบาดหมางไม่ลงรอยกัน ซึ่งเดิมทีผู้ป่วยอยู่กับภรรยา แต่ต่อมาผู้ป่วยกับภรรยาแยกทางกัน ทำให้ผู้ป่วยอยู่บ้านเพียงลำพังและไม่ได้รับการรักษาอาการทางจิต พฤติการณ์ของคดี ณ วันที่เกิดเหตุ คือ ผู้ป่วยกำลังถือกรรไกรตัดหญ้าอยู่หน้าบ้าน ส่วนผู้ตายกำลังเก็บกระถินอยู่หน้าบ้านและถมน้ำลายใส่ ผู้ป่วยมองว่าผู้ตายดูถูกเหยียดหยามตนว่าครอบครัวไม่รักเพราะปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตัวคนเดียว ผู้ป่วยจึงใช้กรรไกรตัดหญ้าแทงผู้ตายอย่างไม่ยั้งด้วยความคับแค้นใจ เมื่อแทงเสร็จผู้ป่วยหนีข้ามจังหวัดไปอยู่ที่วัดบนภูเขาแห่งหนึ่ง ต่อมา พระบนวัดได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยมอบตัวจนผู้ป่วยยอมมอบตัวและถูกดำเนินคดีในที่สุด ผู้ป่วยถูกขังในเรือนจำและได้รับการรักษาอาการทางจิตจนทำให้อาการทางจิตค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยขึ้นศาล ผู้ป่วยสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ต่อศาลได้ ครอบครัวผู้ตายจึงเข้าใจว่าขณะกระทำความผิดผู้ป่วยไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากการรักษาอาการทางจิตของผู้ป่วยแล้ว ต้องรักษาหรือเยียวยาครอบครัวผู้ตายด้วย เพราะครอบครัวผู้ตายก็ได้รับบาดแผลทางจิตใจเช่นเดียวกัน หากครอบครัวผู้ตายไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ เช่น การนอนไม่หลับ การฝันร้าย การหวาดกลัวว่าผู้ป่วยจะกลับมาทำร้ายคนในครอบครัวคนอื่นต่ออีก เป็นต้น และการรักษาเยียวยาครอบครัวผู้ตายช่วยให้ผู้ป่วยที่รักษาหายดีแล้วกลับเข้าสู่สังคมหรือชุมชนเดิมที่ผู้ป่วยเคยอยู่ได้
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
มีคำถามจาก Facebook Live ถามว่า “ในชั้นของการพิจารณาคดีเมื่อผู้ป่วยสามารถตอบคำถามแก่ศาลได้ ผู้ป่วยสามารถอ้างว่าขณะกระทำความผิดผู้ป่วยมีอาการทางจิตได้จริงหรือไม่” หลักคิดเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 และข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 มีความแตกต่างและสามารถแยกการใช้บทบัญญัติกันได้ เพราะข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตเป็นการพิจารณาย้อนกลับไปในช่วงเวลาขณะกระทำความผิด กล่าวคือ แม้ในชั้นพิจารณาผู้ป่วยสามารถโต้ตอบตอบคำถามต่าง ๆ ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะกระทำความผิดผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางจิต
ในชั้นพิจารณาคดี หากจำเลยยกข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ต้องพิสูจน์ด้วยการสืบพยาน โดยอาศัยพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นแพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นบุคคลที่มีจิตบกพร่องตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ หรือขณะกระทำความผิดจำเลยเกิดอาการทางจิตจริงหรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าขณะกระทำความผิดจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือมีจิตบกพร่อง ผลคือจำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง แต่หากพิสูจน์ได้ว่าขณะกระทำความผิด จำเลยรู้ผิดชอบหรือสามารถบังคับตนเองได้อยู่บ้างเพราะมีจิตบกพร่อง ผลคือจำเลยได้รับการลดโทษตามดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ดังนั้น ข้อเท็จจริงของคดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผลทางกฎหมายที่จำเลยได้รับแตกต่างกัน
คำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน” ไม่มีการกำหนดนิยามอย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องพิจารณานิยามตามตำรา ซึ่งคำว่า “จิตบกพร่อง” หมายความว่า บกพร่องทางสติปัญญา มันสมองมีปัญหา สมองเสื่อม คำว่า “โรคจิต” หมายความว่า จิตเภท และคำว่า “จิตฟั่นเฟือน” หมายความว่า ประสาทหลอน ภาพหลอน หลงผิด จากนิยามทางตำราดังกล่าว กล่าวได้ว่า คำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน” คือ โรคทางจิตเวชที่มีความหมายอย่างกว้าง เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชประเภทใด
ตัวอย่างโรคทางจิตเวชที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาฎีกา ได้แก่ บกพร่องทางสติปัญญา (ฎ.3106/2535 ฎ.8743/2544) โรคจิตเภท (ฎ.1074/2506 ฎ.733/2521 ฎ.5058/2531) โรคจิต (ฎ.2128/2522 ฎ.321/2535) โรคจิตหวาดระแวง (ฎ.9264/2551 ฎ.1226/2547) โรคจิตพิษสุราเรื้อรัง (ฎ.371/2527) โรคเลือดหลังคลอดบุตร (ฎ.331/2513) โรคประสาท (ฎ.530/2542 ฎ.809/2548) โรคซึมเศร้า (ฎ.1609/2544)
ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามคือคำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน” รวมถึงโรคทางกายที่กระทบถึงสมองหรือจิตใจด้วยหรือไม่ ตามหลักการกฎหมายอาญาต้องตีวามโดยเคร่งครัด ดังนั้น คำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน” จึงไม่รวมถึงโรคทางกายที่กระทบถึงสมองหรือจิตใจ
โดยทั่วไปหากศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด จำเลยก็ต้องจำคุกตามคำพิพากษา แต่หากพบว่าจำเลยควรได้รับการรักษา ก็สามารถคุมตัวจำเลยไว้ในสถานพยาบาลและรายงานผลทุก ๆ 180 วันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 ประกอบพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ซึ่งสมัยที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิตบังคับใช้ กฎหมายไทยมีเพียงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 มาตราเดียวที่ใช้สำหรับการรักษาจำเลยที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายอาญา กล่าวคือ การบังคับใช้มาตรา 48 จำเลยต้องยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 65 ก่อน มิเช่นนั้นศาลจะสั่งให้จำเลยเข้ารับการรักษาที่สถานพยานบาลไม่ได้ ดังนั้น จึงมีมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตขึ้นเพื่อแก้ไขช่องว่างดังกล่าวให้จำเลยสามารถเข้ารับการรักษาได้แม้จำเลยไม่ได้ยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายอาญาขึ้นในชั้นพิจารณา
กรณีที่จำเลยเป็นผู้ต้องขังแล้วมีอาการวิกลจริต หากผู้ต้องขังจะทำอันตรายต่อชีวิตร่างการของตนเองหรือผู้อื่น ผู้ต้องขังอาจถูกพันธนการได้ตามมาตรา 21(2) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ดีผู้ต้องขังสามารถเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อส่งตัวไปบำบัดรักษานอกเรือนจำได้ตามมาตตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
ส่วนกรณีที่จำเลยถูกตัดสินโทษประหารชีวิตและมีอาการวิกลจริตอยู่ก่อนถูกประหารชีวิต ให้ศาลงดการประหารชีวิตไว้จนกว่าจำเลยจะหาย หากหายภายหลัง 1 ปี นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ให้ศาลลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 248
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
สิ่งสำคัญของการวินิจฉัยอาการทางจิต คือ ต้องอธิบายได้ว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติอย่างไร และเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์แห่งคดีที่ได้กระทำไปหรือไม่ ในทางนิติจิตเวชการพิจารณาว่าผู้กระทำความผิดแกล้งป่วยหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าผู้กระทำมีความคิดอย่างไร เพราะนอกจากการคุ้มครองผู้กระทำผิดที่มีอาการป่วยทางจิต ต้องคำนึงถึงผู้เสียหาย สังคม และความยุติธรรมด้วย
ตัวอย่างที่เคยพบ คือ ผู้กระทำความผิดป่วยเป็นโรคจิต แต่ในขณะกระทำความผิด (ขโมยของ) รู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะขณะเข้าไปขโมยโทรศัพท์ ผู้กระทำความผิดหันดูรอบ ๆ ก่อนว่ามีใครอยู่บริเวณโดยรอบหรือไม่ เมื่อไม่เห็นใครจึงเปิดประตูห้องของผู้เสียหายและใช้เท้าเขี่ยโทรศัพท์ออกมาแล้วเตะโทรศัพท์ออกไปไกล ๆ จึงหยิบโทรศัพท์ไป เห็นได้ว่า แม้เวลาอื่นผู้กระทำความผิดจะมีอาการทางจิต แต่ในขณะกระทำความผิดผู้กระทำความผิดไม่ได้มีอาการทางจิต จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายอาญา การดำเนินคดีต้องดำเนินไปอย่างคนทั่วไป
ตัวอย่างที่สอง คือ ผู้กระทำความผิดมีอาการทางจิตเรื้อรัง แต่พฤติกรรมขณะกระทำความผิด ผู้กระทำได้วางแผนล่วงหน้าโดยเลือกเวลาและสถานที่ในการลงมือมาอย่างดี อีกทั้งยังมีการทำลายพยานหลักฐาน ดังนั้น การที่จำเลยไม่ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องความบกพร่องทางจิตในชั้นพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะพฤติการณ์ขณะกระทำความผิดไม่ได้มีอาการทางจิตแต่อย่างใด
ผู้มีอาการทางจิตก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เหมือนกับคนทั่วไปที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากเขากระทำความผิดโดยรู้สำนึกก็ต้องถูกดำเนินคดีอย่างคนทั่วไป แต่หากขณะกระทำความผิดเขามีจิตบกพร่อง ผู้กระทำความผิดก็ควรได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายเช่นเดียวกัน หน้าที่ของแพทย์คือการสืบหาความจริงและให้ข้อมูลต่อศาลตามหลักวิชาการว่าผู้กระทำความผิดมีอาการทางจิตอย่างไร อาการทางจิตนั้นเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์แห่งคดีหรือไม่ อะไรที่แพทย์ไม่ทราบหรือไม่สามารถให้ข้อมูลได้ก็ให้รายงานหรือทำความเห็นตามความเป็นจริง แม้ว่าแพทย์จะไม่ได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงก็ตาม
คุณสุพรรณี แสงรักษา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
เดิมที (ก่อนการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงยุติธรรม) ด้วยข้อจำกัดบางอย่างบางครั้งเรือนจำไม่มียาตามแผนการรักษาของแพทย์ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาตามแผน หรือผู้ป่วยได้รับยาตามแผน แต่กินยาไม่ตรงเวลาเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เพราะข้อจำกัดของเรือนจำที่ต้องทำกิจวัตรตามเวลาที่กำหนด ทำให้การรักษาขาดประสิทธิภาพ หรือเรือนจำส่งตัวผู้ป่วยกลับบ้านโดยที่ไม่แจ้งสถานพยาบาล ทำให้สถานพยาบาลไม่สามารถติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยได้ ปัญหาต่าง ๆ เหล่าได้รับการแก้ไขเมื่อมีการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงยุติธรรม เช่น การส่งตัวผู้ป่วยกลับบ้าน เรือนจำต้องแจ้งสถานพยาบาลหรือสถานอนามัยในท้องที่ให้ทราบด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่คือการติดตามผลการรักษาภายหลังจากที่ผู้ป่วยออกจากเรือนจำ เพราะบางครั้งผู้ป่วยไม่ได้กินยาตามแผนการรักษา แนวทางการแก้ไขคือต้องให้สถานพยาบาลหรือสถานอนามัยในพื้นที่คำนึงถึงองค์ประกอบ 5 ข้อ ได้แก่ (1) ยา ดูว่าผู้ป่วยกินยาครบตามที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือมีการใช้ยาเสพติดหรือไม่ (2) จิต ดูว่าผู้ป่วยมีอาการทางจิตอย่างไร มีความทุกข์มีความสุขหรือไม่อย่างไร (3) กิจวัตร ดูว่าผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองหรือไม่หากผู้ป่วยมีอาการทางจิตดี ผู้ป่วยก็จะประกอบกิจวัตรประจำวันดีด้วย (4) ปรับ ดูว่าเมื่อผู้ป่วยกลับเข้าสู่สังคม ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้หรือไม่ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ และ (5) เตือน คือ การสังเกตอาการเตือนก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวร้าวรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ เดินไปเดินมา ดังนั้น ก่อนมีอาการก้าวร้าวรุนแรง ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดกับทางสถานพยาบาลในคราวถัดไป
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาถามว่า กรณีผู้ป่วยมีญาติดูแลอยู่ที่บ้าน แต่ดูแลไม่สม่ำเสมอ เช่น ให้กินยาไม่ตรงเวลา ควรทำอย่างไร และผู้ดูแลต้องรับโทษหรือไม่
ในฐานะแพทย์ต้องถามครอบครัวหรือผู้ดูแลก่อนว่าทราบหรือไม่ว่ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เพราะบางทีคนในครอบครัวไม่ทราบและไม่รู้ว่าผู้ป่วยสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น หากทราบแล้ว ครอบครัวอาจเข้าไปคุยกับแพทย์อนามัยในพื้นที่ หรืออสม. หรือตำรวจ แล้วจึงพาผู้ป่วยไปรักษาที่สถานพยาบาล ส่วนการดูแลผู้ป่วย ต้องพูดคุยกันเองในแต่ละบ้านเพราะวิถีชีวิตของแต่ละครอบมีความแตกต่างกัน
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
จากคำถามที่แล้ว การไม่ดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ผู้ดูแลมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น ผู้ดูแลอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 373 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดควบคุมดูแลบุคคลวิกลจริต ปล่อยปละละเลยให้บุคคลวิกลจริตนั้นออกเที่ยวไปโดยลำพัง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท” ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นความผิดลหุโทษที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้อันทำให้คดีอาญาระงับสิ้นไป ตัวอย่างกรณีของ “เค ร้อยล้าน” เคยมีข่าวว่าตำรวจสั่งเปรียบเทียบปรับทั้งตัวคุณเคกับครอบครัวของคุณเคเหมือนกัน อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายอาญาควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะทางเลือกที่ดีที่สุดคือการที่ครอบครัวช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ป่วยว่ามีอาการอย่างไร
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
อยากประชาสัมพันธ์ว่าทางสถาบันได้ทำคลิปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 บน Youtube โดยมีชื่อคลิปว่า “คือความหวัง คือกำลังใจ” “ดูแลผู้ป่วยทางจิตและทุกชีวิตรอบข้าง” และ “ดูแลเธอด้วยรัก ตอนที่ 1” ภายในคลิปได้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงสอดแทรกไปในเนื้อหาและได้สาธิตการปฏิบัติตัวเมื่อเจอเหตุการณที่เกี่ยวกับผู้ป่วยไว้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปรับฟังและช่วยกันเผยแพร่ได้ เพราะเมื่อเราทราบวิธีการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยหรือปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ สังคมก็จะรับรู้ว่าผู้ป่วยไม่ใช่คนน่ากลัวและสังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้น
อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาถามว่า
(1) ในแง่ของคนที่คลุกคลีกับผู้ป่วยในฐานะหมอและอาจารย์ เราจะเปลี่ยนภาพชุดความคิดของสังคมได้อย่างไรเพื่อให้เห็นว่าผู้ป่วยจิตเวชสามารถได้รับการลงโทษได้
(2) หลายครั้งที่คนมักอ้างว่าทำความผิดเพราะโรคซึมเศร้า อยากให้วิทยากรช่วยเล่าว่าเคยมี Case ผู้ป่วยซึมเศร้าถูกดำเนินคดีหรือไม่ เพราะคนในสังคมมีความเชื่อว่าผู้ป่วยซึมเศร้าจะไม่ทำร้ายคนอื่น แต่จะทำร้ายตัวเองเป็นส่วนใหญ่
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
(1) ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยก็คือคน ๆ หนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมาย หากผู้ป่วยกระทำความผิดโดยที่ขณะกระทำความผิดไม่ได้มีความผิดปกติทางจิต ก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองได้ทำความผิดลงไปและคราวหน้าจะได้ไม่กระทำความผิดอีก แต่หากผู้ป่วยกระทำความผิดไปในขณะจริตวิกล ก็ต้องอธิบายให้เขาทราบว่าตนทำสิ่งใดลงไป การที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ที่มีอาการทางจิต ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะทำอะไรก็ได้ หรือได้รับสิทธิพิเศษโดยไม่ถูกตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม ในฐานะแพทย์นอกจากการรักษาผู้ป่วย ต้องคำนึงถึงผู้เสียหายและความยุติธรรมด้วย
คุณสุพรรณี แสงรักษา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
(2) ผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าหากอยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง ก็จะคิดทำร้ายตนเองถึงขั้นอยากตาย ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น คือ แม่อยู่กับลูกเพียงลำพัง 2 คน โดยแม่ถูกสามีทิ้งและคิดว่าชีวิตบนโลกนี้โหดร้ายกับเขามาก ทำให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย และเมื่อตนเองจะตาย ก็ต้องให้ลูกตายด้วย เพราะไม่อยากให้ลูกอยู่บนโลกใช้ชีวิตลำพังเพียงคนเดียว แม่จึงก่อคดีด้วยการพยายามฆ่าลูก
อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ถามว่า ถ้าผู้ป่วยเห็นเด็กเป็นไก่ จึงฆ่าเด็กเพราะคิดว่าเป็นไก่ ผู้ป่วยขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดเรื่องเจตนาหรือไม่
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
ขาดองค์ประกอบความผิดทางกฎหมาย เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าตนเองกำลังฆ่าผู้อื่น
พญ. ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
กล่าวเสริมว่า มีโรคที่เห็นภาพหลอนหรือเห็นภาพแล้วแปลภาพผิดอยู่จริง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมว่ามีอาการทางจิตจริงหรือไม่ โดยดูพฤติกรรมก่อนเกิดคดี พฤติกรรมขณะก่อเหตุ และพฤติกรรมภายหลังก่อคดี
อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การสืบคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 หลักฐานประเภทใดที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีจริง ๆ และศาลมแนวโน้มยกฟ้อง
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
ไม่มีหลักฐานที่วัดได้แน่นอนตายตัว เพราะพฤติการณ์แต่ละคดีมีความแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือแพทย์อยากได้ประวัติการรักษาตั้งแต่ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กเพื่อดูอาการทางจิตก่อนก่อคดี อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ต้องคำนึงว่าบุคคลที่ให้ข้อมูลมีส่วนได้เสียกับผู้กระทำความผิดที่อ้างว่าตนมีอาการทางจิตหรือไม่ หรือบุคคลที่ให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
มีกรณีที่ผู้ป่วยบำบัดรักษาอย่างไรก็ไม่หายหรือไม่ และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (วิทยากร) :
มี ซึ่งต้องรักษาต่อไปและอาจต้องรักษาตลอดชีวิต