สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการหัวข้อ “การตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา” จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 13.30-16.30 น. ทางระบบ Cisco Webex Meetings (สัมมนาวิชาการดังกล่าวเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของการเรียนวิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กลุ่ม ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง)
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผู้ดำเนินรายการ
กล่าวนำถึงความสำคัญของหัวข้อการสัมมนาว่าในชีวิตประจำวันของบุคคลอาจมีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงเจตนาในหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องเจตนาในใจกับเจตนาแสดงออกไม่ตรงกัน ปัญหาการค้นหาเจตนาที่แท้จริง ปัญหาการเกิดขึ้นของนิติกรรมสัญญา ปัญหาการตีความสัญญา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดเหล่านี้จะต้องอาศัยการตีความการแสดงเจตนาเพื่อพิจารณาผลทางกฎหมาย แต่ว่ามีคำอธิบายทางตำราค่อนข้างน้อย จึงทำให้นักศึกษามีอุปสรรคในการศึกษาทำความเข้าใจด้วยตนเอง
ในกลุ่มเรียนของ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ จึงให้ความสำคัญกับการสอนในเรื่องนี้ ซึ่งผศ.ดร.กรศุทธิ์ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางการสอนของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร ซึ่งในช่วงที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์เป็นอาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์ ก็ได้สอนเรื่องนี้มาตลอด และข้อสอบของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ หลาย ๆ ข้อก็ถูกนำมาใช้ในการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในปัจจุบันด้วย
โดยลำดับของงานสัมมนาครั้งนี้ จะแบ่งเป็นประมาณ 3 ช่วง ในช่วงแรก ผศ.ดร.กรศุทธิ์ จะอธิบายหลักการตีความการแสดงเจตนาและสัญญาโดยสังเขป ช่วงต่อมาจะเป็นช่วงการสัมมนาผ่านการเฉลยข้อสอบของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ โดยผู้ดำเนินรายการจะอ่านคำถามข้อสอบอุทาหรณ์ และ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จะเป็นผู้อธิบายถึงวิธีการตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา และช่วงสุดท้ายที่เป็นการตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา
ช่วงที่หนึ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (วิทยากร)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ อธิบายถึงหลักการตีความเจตนาและตีความสัญญาโดยสังเขปว่า ในเรื่องนี้ตนได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวทางการสอนของ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ โดยในประเด็นการตีความการแสดงเจตนา มีความสำคัญเนื่องจากนิติกรรมทุกชนิดเป็นผลมาจากการแสดงเจตนา การที่จะรู้ว่ามีนิติกรรมเกิดขึ้นหรือไม่ จึงต้องค้นหาเจตนาของผู้แสดงเจตนาว่าเขาประสงค์ต่อผลทางกฎหมายหรือไม่ เจตนาที่แสดงออกมามีผลอย่างไร เป็นการแสดงเจตนาชนิดใด เป็นคำเสนอ คำสนอง คำมั่น บางครั้งคำพูดอาจจะมีผลทางกฎหมายที่แตกต่างจากความหมายโดยปกติของคำนั้นก็ได้ เช่น พูดว่าขอทำสัญญา ในทางกฎหมายอาจจะหมายถึงทำคำมั่นก็ได้ หรือพูดว่าต้องการสนองรับ ในทางกฎหมายอาจเป็นการทำคำเสนอก็ได้ เพราะคำเสนอที่มีในตอนแรกได้สิ้นผลไปแล้ว
ในทางตำราจะมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า ควรตีความการแสดงเจตนาเมื่อใด ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเมื่อมีความชัดเจนแล้วห้ามตีความ จะตีความเมื่อไม่ชัดเจนเท่านั้น ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าต้องตีความเสมอที่เป็นแนวความเห็นของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ซึ่งตนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และตนเข้าใจว่า ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ก็เห็นด้วยเช่นกัน การที่ต้องตีความเสมอนี้เพราะว่าบางครั้งการแสดงเจตนามีความชัดเจนในตัวเอง แต่ก็อาจจะไม่ตรงกับเจตนาในใจก็ได้ จึงต้องตีความว่าต้องบังคับตามเจตนาแสดงออกหรือเจตนาในใจ เช่น พูดว่าขอซื้อชามะนาว แต่ในใจจริง ๆ คือต้องการซื้อน้ำผึ้งมะนาว จึงต้องพิจารณาว่าจะบังคับตามเจตนาใด หากมีพฤติการณ์ว่าร้านค้ามีแต่เมนูน้ำผึ้งมะนาว และผู้ซื้อมาซื้อประจำ ดังนี้ แม้จริง ๆ คำว่าชามะนาวจะมีความชัดเจนในตัวเอง แต่ก็ต้องตีความเพื่อหาเจตนาที่มีผลทางกฎหมาย เป็นต้น
เมื่อกล่าวถึงการตีความจึงมี 2 ทฤษฎีมาเกี่ยวข้องเสมอ กล่าวคือ ทฤษฎีอัตวิสัยที่บังคับตามเจตนาภายในกับทฤษฎีภาวะวิสัยที่บังคับตามเจตนาภายนอก ซึ่งคำว่า เจตนาในใจจริง ๆ หรือเจตนาภายใน จะมีความแตกต่างจากคำว่าเจตนาที่แท้จริงที่ถูกอธิบายในตำราหลาย ๆ เล่ม เพราะว่าในความหมายที่กำลังอธิบายในที่นี้ เจตนาที่แท้จริงอาจจะเป็นเจตนาในใจจริง ๆ หรือเจตนาที่แสดงออกก็ได้ ซึ่งระบบกฎหมายต่าง ๆ ก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกันในการตีความการแสดงเจตนา เช่น ในกฎหมายฝรั่งเศส ถือตามทฤษฎีอัตวิสัย ในขณะที่กฎหมายอังกฤษ ถือตามทฤษฎีภาวะวิสัย
สาเหตุในการตีความอาจจะเกิดจากกรณีเจตนาแสดงออกไม่ตรงกับเจตนาภายใน ข้อความที่แสดงออกมามีความไม่ชัดเจนหรือมีความหมายหลายนัย หรือการแสดงเจตนานั้นมีช่องว่าง (ซึ่งจะกล่าวต่อในช่วงต่อไป)
ในวิธีการตีความการแสดงเจตนา จะมี 2 วิธีคือ (1) การตีความตามปกติที่บังคับตามเจตนาภายในใจจริง ๆ จะใช้เมื่อการแสดงเจตนานั้นไม่มีคู่กรณีหรือผู้รับการแสดงเจตนา เช่น พินัยกรรม หรือแม้มีคู่กรณีหรือมีผู้รับการแสดงเจตนาแต่เขาไม่ควรได้รับการคุ้มครอง และ (2) การตีความตามมาตรฐานวิญญูชนที่บังคับตามเจตนาแสดงออกที่จะใช้ในกรณีการแสดงเจตนานั้นมีคู่กรณีหรือผู้รับการแสดงเจตนาที่ควรได้รับความคุ้มครอง
ในประเด็นการตีความสัญญา เมื่อสัญญาเกิดขึ้นตามการตีความการแสดงเจตนาแล้ว จะมีลำดับการตีความ ดังนี้ ลำดับแรกจะค้นหาเจตนาที่แท้จริงร่วมกันตามมาตรา 171 เสียก่อน หากไม่สามารถค้นหาได้ก็พิจารณาลำดับต่อมาว่ามีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร จะพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 10-14 ซึ่งเป็นเรื่องการตีความเอกสาร หากไม่สามารถค้นหาได้อีก ลำดับถัดมาจะเป็นการบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้บัญญัติบทสันนิษฐานไว้แล้ว และหากไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมาย ในลำดับสุดท้ายคือบังคับตามหลักสุจริตและปรกติประเพณีตามมาตรา 368 ซึ่งการตีความสัญญาตามลำดับนี้เป็นแนวทางที่อธิบายโดยผศ.ดร.สุรศักดิ์ โดยอาจจะแตกต่างจากแนวทางอื่น ๆ ที่อาจอธิบายว่าในการตีความสัญญาสามารถใช้มาตรา 171 กับมาตรา 368 พร้อมกันได้เลย
ช่วงที่สอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร (วิทยากร)
(1) คำถาม : ตามหลักการตีความสัญญา เป็นไปได้หรือไม่ที่ “เจตนาที่แท้จริง” (มาตรา 171) อาจจะขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขัดกับความประสงค์ในทางสุจริต หรือขัดกับปรกติประเพณี (มาตรา 368) และหากเป็นไปได้ จะถือหลักใดใหญ่กว่า
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ย่อมเป็นไปได้ที่ “เจตนาที่แท้จริงตามมาตรา 171” จะขัดกับ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขัดกับความประสงค์ในทางสุจริต หรือขัดกับปรกติประเพณี (มาตรา 368) เว้นแต่การแสดงเจตนานั้นมีเหตุแห่งโมฆะกรรมตามมาตรา 150 ที่วางหลักว่าการแสดงเจตนาที่ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย พ้นวิสัย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะเป็นโมฆะ
ถ้อยคำที่ว่า “ขัดต่อกฎหมาย” จะต้องพิจารณาตามมาตรา 151 ประกอบด้วย โดยมาตรานี้วางหลักว่าการที่แตกต่างจากกฎหมาย หากมิใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมไม่เป็นโมฆะ
ในมาตรา 150 จะมีเหตุโมฆะกรรมอยู่ 4 กรณี แต่ในมาตรา 151 จะมีเฉพาะที่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้นที่อาจจะไม่เป็นโมฆะได้ และเมื่อไม่เป็นโมฆะเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ย่อมต้องบังคับตามการแสดงเจตนานั้นเอง
พิจารณาต่อมาในเรื่องการตีความสัญญา ก็จะมีมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 171 กับมาตรา 368 จึงมีประเด็นว่า มาตรา 171 กับมาตรา 368 ควรถือหลักใดเหนือกว่ากัน กล่าวคือ มาตรา 368 ให้ใช้หลักสุจริต หรือปรกติประเพณี แล้วหากเจตนาที่แท้จริงตามมาตรา 171 ขัดกับมาตรา 368 จะพิจารณาอย่างไร สามารถบังคับได้หรือไม่
ในประเด็นนี้ จึงต้องพิจารณามาตรา 171 เสียก่อน ซึ่งวิธีคิดนี้ ตนไม่ได้คิดเอง เป็นความคิดของนักนิติศาสตร์เยอรมันที่พัฒนากันมายาวนาน และสองมาตรานี้ ไทยก็ลอกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันมาทุกถ้อยคำตัวอักษร โดยนักนิติศาสตร์เยอรมันก็อธิบายวิธีใช้ว่าใช้อย่างไร ซึ่งก็คือแบบที่ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้อธิบายไปบ้างแล้ว คือ พิจารณาตามมาตรา 171 เป็นลำดับแรก ซึ่งผู้ฟังจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ว่าตนเห็นด้วยกับแนวทางนี้และมีแนวคำพิพากษาที่เป็นไปตามนี้
หลักกฎหมายนิติกรรมสัญญารองรับการแสดงเจตนาที่แท้จริงของผู้แสดงเจตนาและบังคับการแสดงเจตนานั้นตามมาตรา 171 หากเจตนานั้นเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่ทำให้การแสดงเจตนาไม่ได้สะท้อนเจตนาที่แท้จริง กฎหมายก็กำหนดให้ไม่มีผลทางกฎหมายหรือสามารถบอกล้างได้ (โมฆะ/โมฆียะ)
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวต่อมาถึงตัวอย่างของการแสดงเจตนาที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดกับความประสงค์ในทางสุจริต หรือขัดกับปรกติประเพณี (มาตรา 368) แล้วสามารถบังคับได้ ดังนี้
ตัวอย่างที่ (1) ขาวเจ้าของร้านจำหน่ายรถยนต์ได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากดำผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยดำต้องการส่งเสริมการขายรถยนต์รุ่นนี้เพราะเพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ดำจึงตกลงว่าตนจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนแต่ผู้เดียว คู่สัญญาทำสัญญาเช่นนี้มายาวนาน ครั้งล่าสุดเมื่อขาวชำระราคาแล้ว ดำขอให้ขาวชำระเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นค่าฤชาธรรมเนียมกึ่งหนึ่งตามมาตรา 457 เช่นนี้ ขาวจะต้องชำระตามที่ดำต้องการหรือไม่
เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ขาวผู้ซื้อไม่มีหน้าที่จะต้องชำระตามมาตรา 171 เนื่องจากพฤติการณ์ก่อน ๆ ของคู่สัญญาได้ตกลงกันว่าดำผู้ขายจะออกค่าฤชาธรรมเนียมแต่เพียงผู้เดียวมาโดยตลอด และในครั้งนี้ยังไม่ได้มีการทำข้อสัญญาเรื่องนี้ขึ้นใหม่ เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาจึงเป็นกรณีที่ดำต้องชำระฝ่ายเดียวทั้งหมด
มีข้อสังเกตว่า ความตกลงข้อคู่สัญญาขัดต่อกฎหมาย คือ มาตรา 457 แต่มาตรานี้ก็ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงสามารถตกลงแตกต่างจากกฎหมายได้ ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นตามสื่อต่าง ๆ เช่น กรณีประกาศขายโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม จะมีการระบุว่าฟรีค่าโอนที่หมายความว่าผู้ขายจะออกค่าฤชาธรรมเนียมในการซื้อขายเพียงผู้เดียว เป็นต้น
ดังนี้แล้ว เจตนาที่แท้จริงจึงสามารถขัดกับกฎหมายได้และสามารถบังคับได้
ตัวอย่างที่ (2) ขาวเจ้าของธุรกิจอุปกรณ์การกีฬาจ้างดำทนายความให้ฟ้องคดีผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตน โดยกำหนดสินจ้างแต่ละครั้งให้ครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินการนอกศาล ในศาลทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ตลอดจนการบังคับคดีตามคำพิพากษา คู่สัญญาได้ว่าจ้างกันแบบนี้มาหลายครั้งและยาวนานหลายปี ในการว่าจ้างครั้งล่าสุด ไม่ได้ตกลงว่าให้ครอบคลุมงานระดับใดบ้าง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 10 ล้านบาท จนพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยก็ยังไม่ชำระ ดำทนายความจึงแจ้งให้ขาวทราบว่าจะต้องยื่นคำร้องขอบังคับคดีและขาวต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีอีก 300,000 บาท เช่นนี้แล้ว ขาวจะต้องจ่ายเพิ่มหรือไม่
สัญญาจ้างทนายความนั้น หากไม่ได้ระบุว่าเป็นการทำงานถึงระดับใด ตามปกติประเพณีของธุรกิจทนายความ ย่อมหมายความเพียงการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่รวมถึงชั้นอุทธรณ์ ฎีกาและการบังคับคดี เนื่องจากว่าการฟ้องร้องต่อสู้คดีในศาลจะค่อนข้างซับซ้อน บางคดีหากต่อสู้จนถึงชั้นฎีกาอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปี ซึ่งค่อนข้างนาน เมื่อไม่ได้ตกลงกันไว้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รับจ้างจะตกลงผูกพันตนเองในระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ และคดีส่วนมากก็จะยุติในชั้นศาลชั้นต้น ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีก
เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ขาวไม่มีหน้าที่ต้องชำระเพิ่มตามมาตรา 171 เนื่องจากพฤติการณ์ก่อน ๆ ของคู่สัญญาได้ตกลงกันว่าการว่าจ้างครอบคลุมไปจนถึงชั้นบังคับคดีแล้ว และในครั้งนี้ยังไม่ได้มีการทำข้อสัญญาเรื่องนี้ขึ้นใหม่ เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาจึงเป็นกรณีที่ขาวไม่ต้องชำระเพิ่มเติม
มีข้อสังเกตว่า ความตกลงครั้งก่อน ๆ ของคู่สัญญาขัดต่อปรกติประเพณีของธุรกิจทนายความ แต่คู่สัญญาย่อมสามารถตกลงกันได้ และจากพฤติการณ์ครั้งก่อน ๆ ก็กลายมาเป็นเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาในครั้งล่าสุดนี้ด้วยตามมาตรา 171
ตัวอย่างที่ (3) ขาวเจ้าของร้านขายยาซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากดำเป็นประจำ ในต้นปี 2563 เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 ดำจึงฉวยโอกาสขึ้นราคาขายสินค้าให้ขาวอีก 100% เพราะรู้ว่าประชาชนมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าเหล่านี้จำนวนมาก ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต แต่ขาวยินยอมเข้าทำสัญญาด้วย ย่อมผูกพันคู่สัญญาเช่นนั้น
มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้ การแสดงเจตนาขัดกับความประสงค์ในทางสุจริตก็สามารถบังคับได้
กล่าวโดยสรุป เจตนาที่แท้จริงจึงสามารถขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขัดกับความประสงค์ในทางสุจริต หรือขัดกับปรกติประเพณี (มาตรา 368) ได้ และจะถือหลักเจตนาที่แท้จริงใหญ่กว่าตามหลักอิสระทางแพ่งนั่นเอง (มาตรา 151 กับมาตรา 171)
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากมีข้อพิพาทในสัญญา ฝ่ายใดมีสิทธิหน้าที่อย่างไร ฝ่ายใดถูกหรือผิด ย่อมพิจารณาสัญญาก่อน เนื่องจากว่าข้อสัญญาจำนวนมาก จะเขียนยกเว้นหรือตกลงแตกต่างไปจากกฎหมาย และมาตรา 151 ได้รับรองผลไว้ จึงเกิดสำนวนว่า “สัญญามาก่อนกฎหมาย”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า เคยนำข้อสอบข้อนี้ไปอภิปรายในการสอน และนักศึกษาบางส่วนจับประเด็นของคำถามไม่ได้ โดยตอบมาเพียงว่า เจตนาที่แท้จริงสามารถขัดกับกฎหมายหรือปกติประเพณีหลักสุจริตได้ โดยไม่ได้อธิบายผลของการขัดว่าทำให้การแสดงเจตนาสมบูรณ์หรือบังคับได้หรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ นักศึกษาบางส่วนตอบว่า หากเจตนาที่แท้จริงขัดกับหลักสุจริตย่อมไม่อาจบังคับได้ เพราะหลักสุจริตเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายแพ่ง
(2) คำถาม (สรุปโดยย่อ) : แดงยืนอยู่หน้าร้านขายผลไม้ของดำที่ท่าพระจันทร์ และบอกว่า “ขอส้มสองกิโล” ดำชั่งเสร็จใส่ถุงแล้วส่งให้ พอรับมาแดงก็เดินผละไป ดำจึงกล่าวว่า “นี่คุณ สองกิโลห้าสิบบาทครับ” แดงตอบว่า “ผมขอคุณ ไม่ได้ซื้อนะ” กรณีนี้แดงจะต้องชำระราคาหรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การแสดงเจตนาของแดงว่า “ขอ” เป็นการแสดงเจตนาที่มีความหมายหลายนัย กล่าวคือ อาจจะหมายถึง ขอให้อีกฝ่ายหนึ่ง “ให้” ตามสัญญาให้ หรือ “ขอซื้อ” ตามสัญญาซื้อขาย ดังนี้ แม้ว่าเจตนาในใจของแดงหมายถึง ขอตามสัญญาให้ แต่การแสดงเจตนาของแดงก็ผูกพันตามเจตนาแสดงออกตามหลักที่ต้องคุ้มครองผู้รับการแสดงเจตนา กล่าวคือ วิญญูชนในพฤติการณ์ที่อยู่ในแหล่งการค้าย่อมเข้าใจกันว่า “ขอ” หมายถึง “ขอซื้อ” จึงต้องถือว่าเจตนาที่แสดงออกเป็นเจตนาที่แท้จริงตามมาตรา 171 ดังนั้น สัญญาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาซื้อขาย แดงจึงต้องชำระราคาตามมาตรา 486
ในประเด็นเจตนาที่แท้จริงตามมาตรา 171 หมายถึงเจตนาภายใน แต่ว่าบางกรณีต้องบังคับตามเจตนาภายนอกคือเจตนาแสดงออก หากต้องคุ้มครองผู้รับการแสดงเจตนา คือ พิจารณาในสถานการณ์ขณะที่แสดงเจตนา บุคคลทั่วไปเข้าใจความหมายของการแสดงเจตนาเช่นไร ย่อมบังคับไปตามนั้น หากผู้รับการแสดงเจตนาไม่อาจทราบเจตนาภายในของผู้แสดงเจตนา ซึ่งหลักการนี้เป็นแนวคิดของนักนิติศาสตร์เยอรมันที่พัฒนาขึ้นมา ดังนั้น เจตนาที่แท้จริงจึงอาจหมายถึงเจตนาภายในใจจริง ๆ หรือเจตนาภายนอกที่ถูกถือว่าเป็นเจตนาที่แท้จริง
คำถามเพิ่มเติม : คำตอบจะเป็นอย่างไร ถ้าปรากฏว่าแดงเป็นคนยากจนชอบเดินขอของกินจากร้านค้าเป็นประจำจนรู้กันทั่ว แต่ที่เกิดปัญหากับดำเพราะเป็นวันแรกที่ดำมาขายของที่นี่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า แม้แดงเป็นคนยากจนและขอของกินเป็นประจำ แต่ว่าดำเพิ่งมาขายของเป็นวันแรก ย่อมไม่รู้หรือไม่ควรรู้ได้ว่าแดงขอแบบสัญญาให้ คำตอบจึงไม่เปลี่ยนไป สัญญาที่เกิดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเช่นเดียวกัน
ส่วนผู้ขายเจ้าอื่นที่อยู่มานานแล้ว ย่อมรู้เจตนาในใจของแดง จึงต้องบังคับตามเจตนาภายใน สัญญาที่เกิดจึงเป็นสัญญาให้ แดงจะไม่มีหน้าที่ชำระราคา
อย่างไรก็ดี หากดำอยู่ไปหลายวัน หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าแดงแสดงเจตนาขอตามสัญญาให้จริง ๆ เช่น การแต่งกายแบบขอทาน เป็นต้น สัญญาที่เกิดก็จะเป็นสัญญาให้โดยเสน่หา
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า จากที่ได้นำข้อสอบข้อนี้ไปอภิปรายในการสอน มีนักศึกษาบางส่วนตอบว่า เมื่อผู้ขายส่วนใหญ่ในตลาดรู้ว่าแดงเป็นคนยากจน จึงต้องถือว่าดำควรรู้ว่าแดงเป็นคนยากจน และบังคับตามความเข้าใจของวิญญูชน สัญญาที่เกิดจึงเป็นสัญญาให้โดยเสน่หา ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตีความโดยใช้ทฤษฎีภาวะวิสัย ทั้งนี้ ในการพิจารณาตามมาตรฐานวิญญูชนนั้นต้องพิจารณาว่า วิญญูชนในภาะวเช่นนั้น เช่นกรณีตามคำถาม คือผู้ซึ่งมาขายสินค้าวันแรกที่ตลาดนี้ว่าจะเข้าใจอย่างไร
(3) คำถาม (สรุปโดยย่อ) : นักศึกษาเรียกแท็กซี่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยบอกว่า “ไปธรรมศาสตร์” เมื่อขึ้นรถแล้วนักศึกษาหลับ ต่อมาอีก 30 นาที แท็กซี่ปลุกและกล่าวว่าถึงจุดหมายแล้ว โดยปรากฏว่า แท็กซี่พาไปส่งที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ แต่จุดหมายที่แท้จริงนักศึกษาต้องการไปธรรมศาสตร์รังสิต กรณีเช่นนี้เป็นการตีความสัญญาหรือไม่ และแท็กซี่จะต้องไปส่งนักศึกษาที่ใด
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า โดยเหตุในการตีความอาจจะแบ่งได้เป็นกรณีข้อความในสัญญาไม่ชัดเจน กรณีสัญญามีช่องว่าง กรณีเจตนาในใจไม่ตรงกับเจตนาแสดงออก กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการตีความสัญญาเนื่องจากปัญหาข้อความในสัญญาไม่ชัดเจน เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีที่ตั้งอยู่ทั้งท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปาง และพัทยา (แต่ในข้อเท็จจริงนี้จะเกี่ยวข้องกับท่าพระจันทร์และรังสิต)
แท็กซี่เป็นผู้ประกอบอาชีพย่อมต้องรู้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหลายที่ เมื่อมีความไม่ชัดเจนก็จะต้องถามผู้โดยสาร (ในการสอบใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ มีการสอบถามความรู้เรื่องสถานที่ตั้งต่าง ๆ ของกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย) และแม้หากจะเป็นแท็กซี่มือใหม่หรือไม่มีความรู้เรื่องสถานที่ตั้งก็ต้องรับภาระในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องไปส่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตามเจตนาที่แท้จริงของนักศึกษาผู้โดยสาร
คำถาม: ถ้านักศึกษายืนเรียกแท็กซี่ที่บางลำภู คำตอบจะต่างไปหรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า คำตอบจะแตกต่างจากเดิม กล่าวคือ แท็กซี่จะไปส่งที่ท่าพระจันทร์ เพราะเวลาเดินทางและระยะทางใกล้กับท่าพระจันทร์มาก (ในกรณีแรกแม้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะอยู่ใกล้ท่าพระจันทร์มากกว่ารังสิต แต่ว่าระยะเวลาในการเดินทางไปยังท่าพระจันทร์หรือรังสิตไม่ต่างกันมากเท่าไรนัก) ในสภาวะเช่นนั้น คนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่านักศึกษาต้องการไปท่าพระจันทร์ และแท็กซี่ไม่รู้เจตนาภายในของนักศึกษา มีเหตุต้องคุ้มครองผู้รับการแสดงเจตนา จึงบังคับตามเจตนาที่แสดงออกที่ถือว่าเป็นเจตนาที่แท้จริง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า คำถามข้อนี้เป็นข้อที่นักศึกษาส่วนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจหลักการตีความการแสดงเจตนาจะสับสน เนื่องจากหากพิจารณาผิวเผินจะเหมือนคำเสนอสนองไม่ต้องตรงกัน นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนให้เหตุผลว่า ไม่ควรตีความเพื่อคุ้มครองผู้โดยสาร เนื่องจากการที่ผู้โดยสารหลับเป็นความผิดของผู้โดยสารเอง
(4) คำถาม (สรุปโดยย่อ) : ขาวเข้าไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านของดำซึ่งตั้งอยู่ข้างบ้าน เมื่อกินเสร็จดำเดินมาเก็บเงินเป็นจำนวน 35 บาท ขาวแย้งว่ากินราคา 30 บาท ที่ร้านนี้มาสามปีแล้ว ดำบอกว่าราคาใหม่ขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน กรณีนี้การไม่ตกลงเรื่องราคา ทำให้สัญญายังไม่เกิดใช่หรือไม่ และการขายในราคา 35 บาทและต้องการซื้อในราคา 30 บาท ทำให้คำเสนอสนองไม่ตรงกันหรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กรณีข้างต้นนี้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับมาตรา 366 และ 367 ซึ่งก่อนจะพิจารณาเรื่องการตีความสัญญา จะต้องพิจารณาว่ามีสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ หากไม่เกิด ย่อมไม่มีตัวสัญญาให้ตีความ
ในมาตรา 367 วางหลักว่า หากคู่กรณีประสงค์ให้สัญญาเกิด แม้ไม่ได้ตกลงกันทุกข้อ สัญญาก็เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตปกติของผู้คน เช่น โดยปกติแล้ว เมื่อเราเข้าไปในร้านค้าทั่วไป ก็จะสั่งอาหารโดยไม่ได้ถามราคา ผู้ขายก็ส่งมอบอาหารให้ เมื่อเราทานเสร็จก็ชำระราคาตามที่ผู้ขายแจ้ง หรือบางครั้งก็เป็นการตกลงเรื่องราคาแล้ว แต่ก็อาจจะไม่ได้ตกลงเรื่องการเวลาในการชำระเงินหรือเวลาในการส่งมอบ สัญญาก็เกิดขึ้นแล้วเพราะพึงอนุมานได้จากเจตนาของคู่สัญญา เป็นต้น ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้เป็นการที่ไม่ได้ตกลงราคากัน แต่สัญญาซื้อขายก๋วยเตี๋ยวก็เกิดขึ้นแล้วตามเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 367 (ส่วนราคาเท่าไร จะต้องไปตีความสัญญาอีกครั้ง)
ในมาตรา 366 วางหลักว่า ถ้าข้อความที่เป็นสาระสำคัญยังไม่ได้ตกลงกันครบทุกข้อ สัญญาย่อมยังไม่เกิด หรือถ้าได้ตกลงว่าจะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ สัญญาย่อมเกิดเมื่อทำเป็นหนังสือแล้ว ตัวอย่างเช่น ไปซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คราคา 20,000 แล้วเราแจ้งว่า ลดราคาเหลือ 10,000 บาทได้ไหม แสดงว่าราคาเป็นสาระสำคัญ หากตกลงไม่ได้เรื่องราคา สัญญาก็ไม่เกิด หรืออาจจะเป็นเรื่องเวลาการชำระเงิน เวลาการส่งมอบ ขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาว่าเป็นสาระสำคัญของการเกิดสัญญา เมื่อยังตกลงข้อสาระสำคัญไม่ได้ทุกข้อ สัญญาจึงยังไม่เกิด
แต่โดยปกติ สัญญามักจะเกิดตามมาตรา 367 เพียงแต่อาจจะมีข้อที่ยังไม่ได้ตกลงกัน เพราะไม่ได้มีความประสงค์ที่จะต้องมาตกลงกันในข้อเหล่านั้น สัญญาก็เกิดขึ้นตามที่ประสงค์ต่อกัน
จุดสำคัญประการหนึ่งของมาตรา 366 คือ ในกรณีที่ตกลงว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งจะเกิดเป็นข้อพิพาทบ่อยมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแบบที่เกิดจากการแสดงเจตนาของคู่สัญญา (คนละอย่างกับแบบตามกฎหมายที่ตกเป็นโมฆะ) ในมาตรานี้ เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือ สัญญาจึงยังไม่เกิด เช่น สัญญาซื้อขายในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง (ที่ไม่ใช่กรณีแบบตามมาตรา 456) จะมีการทำเป็นหนังสือเพราะว่ามีรายละเอียดเยอะและซับซ้อน ต้องการความชัดเจนในเรื่องสิทธิและหน้าของคู่สัญญา เมื่อยังไม่ได้เป็นหนังสือ สัญญาจึงยังไม่เกิด หรือสัญญาก่อสร้างอาคารถนน เป็นต้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 1983/2564 ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ไม่ได้บัญญัติว่าสัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือ สัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกันโดยฝ่ายหนึ่งตกลงทำงานและอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้
โจทก์ยื่นใบสมัครงานต่อจำเลย โดยในใบสมัครงานระบุตำแหน่งที่สมัครและระบุเงินเดือนที่โจทก์ต้องการ ใบสมัครงานเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอเพื่อให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน และเมื่อจำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์โดยมีผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยรวมอยู่ในคณะผู้สัมภาษณ์ของจำเลย โจทก์ผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก ทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว และสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง มีกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยกับผู้จัดการโรงงานในเครือของจำเลยเข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วย จนกระทั่งกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในใบสมัครงานของโจทก์ด้วยตนเอง ระบุรายละเอียดเรื่องตำแหน่งงาน อัตราค่าจ้าง ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วนที่เอาใบเสร็จมาเบิกตามจริง ค่าโทรศัพท์ ค่าสึกหรอกรณีโจทก์ใช้รถยนต์ส่วนตัว และวันเริ่มทำงาน ทั้งมีการลงลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในช่องผู้มีอำนาจอนุมัติ แสดงว่าจำเลยสนองรับโจทก์เข้าทำงานและตกลงจะให้สินจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานให้แก่จำเลยแล้ว ถือได้ว่าเป็นคำสนองของจำเลยที่ถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์อันก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยและมีผลบังคบตั้งแต่วันที่จำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์แล้ว
ส่วนการมอบหมายงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นเพียงรายละเอียดของการทำงาน หาใช่ว่าเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยังไม่ตกลงมอบหมายงานให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว สัญญาจ้างแรงงานยังไม่เกิดขึ้นไม่เพราะไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำเสนอของโจทก์และคำสนองรับของจำเลยที่ถูกต้องตรงกันมาแล้ว
จากคำพิพากษาฉบับนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่า ในธุรกิจขนาดใหญ่ก็ควรจะทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือกับลูกจ้างทุกราย เพื่อเวลาเกิดข้อพิพาท ฝ่ายนายจ้างจะได้มีมาตรา 366 วรรคสองในการต่อสู้คดี
ในกรณีที่คำเสนอซื้อในราคา 30 บาทและสนองขายในราคา 35 บาท นั้น ไม่ปรากฏว่าคู่กรณีได้แสดงเจตนาในประเด็นเรื่องราคา จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่สามารถตกลงร่วมกันในจำนวนราคาตามมาตรา 366 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่ใช่เรื่องคำเสนอกับคำสนองไม่ต้องตรงกัน จึงต้องบังคับตามกฎหมาย เมื่อผู้ซื้อเสนอเพียงซื้อก๋วยเตี๋ยว และผู้ขายได้สนองตอบแล้ว สัญญาจึงได้เกิดขึ้นแล้ว (ส่วนราคาเท่าไร จะต้องไปตีความสัญญาอีกครั้ง)
กล่าวโดยสรุปในข้อนี้ สัญญาซื้อขายก๋วยเตี๋ยวเกิดขึ้นแล้ว แม้คู่กรณีไม่ได้ตกลงกันในเรื่องราคาตามมาตรา 367 และคำเสนอสนองต้องตรงกันเพราะไม่ได้ตกลงเรื่องราคาตั้งแต่แรก จึงไม่ใช่กรณีสัญญาไม่เกิดตามมาตรา 366 วรรคแรก
(5) คำถาม (สรุปโดยย่อ) : ขาวยืนอยู่หน้าร้านกล้วยปิ้งของดำ พูดว่า “ขอกล้วยปิ้ง 10 ลูก เอาไม่ไหม้” ยี่สิบนาทีผ่านไป ดำส่งมอบกล้วยให้ ขาวเปิดถุงดูจึงถามว่า “ทำไมดำจัง” ดำตอบว่า “คุณสั่งเอาอย่างไหม้ ๆ” ขาวบอกว่า อย่างนี้ไม่เอา ดำตอบว่าไม่เอาไม่เป็นไร ขอให้จ่ายเพิ่ม 20 บาท ขาวปฏิเสธโดยอ้างว่า
- สัญญาซื้อขายไม่เกิดเพราะคำเสนอสนองไม่ตรงกัน
- สัญญาซื้อขายไม่เกิดเพราะไม่มีการตกลงเรื่องราคากันก่อน
- สัญญาซื้อขายไม่เกิดเพราะตนไม่ต้องการซื้อแต่ต้องการ “ขอ” จึงไม่ต้องชำระราคา
กรณีนี้เป็นเรื่องการตีความการแสดงเจตนาหรือไม่ สัญญาเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งสองมีสิทธิหน้าที่ต่อกันหรือไม่ อย่างไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการตีความการแสดงเจตนาว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เป็นกรณีที่การแสดงเจตนาด้วยวาจาไม่ชัดเจนว่า “ไม่ไหม้” เป็นคำที่ออกเสียงเหมือนกับ “ไหม้ไหม้” จึงต้องตีความการแสดงเจตนาเพื่อบังคับตามเจตนาที่แท้จริง เมื่อผู้ซื้อทำคำเสนอซื้อ “กล้วยไม่ไหม้” เมื่อผู้ขายพยักหน้าหรือเริ่มปิ้งกล้วยปิ้งย่อมเป็นการทำคำสนอง เจตนาที่แท้จริงคือสนองตามที่ผู้ซื้อต้องการตามมาตรา 171 (ต้องการขายตามที่ผู้ซื้อสั่งนั่นเอง) สัญญาจึงเกิดขึ้นแล้วแบบกล้วยไม่ไหม้ การที่ผู้ขายส่งมอบกล้วยเป็นการชำระหนี้ตามสัญญานั่นเอง (แต่ผู้ขายชำระหนี้ไม่ถูกต้อง)
แม้ไม่มีการตกลงเรื่องราคา ไม่ตกลงเรื่องจำนวนกล้วยที่ส่งมอบ สัญญาย่อมเกิดขึ้นแล้วเพราะคู่สัญญามีพฤติการณ์ประสงค์จะให้สัญญาเกิดตามมาตรา 367
แม้เจตนาที่แท้จริงของขาวต้องการเพียง “ขอ” กรณีนี้ต้องถือว่าเจตนาที่แท้จริงตามมาตรา 171 คือเจตนาที่แสดงออก เป็นเพียงเพื่อคุ้มครองผู้รับการแสดงเจตนาที่ไม่รู้เจตนาที่อยู่ภายในใจจริง ๆ ของผู้แสดงเจตนา พฤติการณ์ที่ยืนอยู่ที่ร้านค้า เพียงพูดคำว่า “ขอ” วิญญูชนย่อมเข้าใจว่าเป็นการ “ขอซื้อ” จึงเป็นการทำคำเสนอซื้อ เมื่อผู้ขายทำคำสนอง สัญญาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาซื้อขาย
ผู้ดำเนินรายการถามเพิ่มเติมว่า ในคำถามนี้สามารถพิจารณาว่าแม่ค้ามีหน้าที่ต้องถามแบบกรณี “แท็กซี่ไปธรรมศาสตร์” ได้หรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สามารถพิจารณาได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากคำว่า “ไม่ไหม้” ในภาษาพูดมีความหมายได้หลายนัย แม่ค้าควรถามผู้ซื้อให้แน่ชัดว่าหมายถึง “ไม่ไหม้” หรือ “ไหม้ไหม้” แบบใดกันแน่ เมื่อไม่ได้ถาม ย่อมเป็นไปตามเจตนาที่แท้จริงของผู้ซื้อ
กล่าวโดยสรุป สัญญาซื้อขายกล้วยไม่ไหม้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อฝ่ายผู้ขายไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง (ไม่ได้ส่งมอบกล้วยแบบไม่ไหม้) ฝ่ายผู้ซื้อก็มีสิทธิปฏิเสธการรับมอบตามมาตรา 320 และมีสิทธิปฏิเสธการชำระราคาตามมาตรา 369
(6) คำถาม (สรุปโดยย่อ) : ทุกเช้าแดงซื้อซื้อปาท่องโก๋ 2 ในราคาตัวละ 2 บาท ทำเช่นนี้มานานนับปี วันหนึ่งแดงรู้สึกหิวกว่าปกติ จึงเพิ่มเหรียญไปอีก 2 บาทแล้วสั่งไป 3 ตัว หลังจากนั้นมาถึงที่ทำงานเปิดถุงดูจึงพบว่ามีแค่ 2 ตัว แดงเข้าใจว่าคนขายคงฟังเป็น 2 ตัว เพราะความเคยชินที่ขายเช่นนี้มาทุกครั้งนานนับปี
- กรณีนี้สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญตามมาตรา 156 หรือไม่
- หากสัญญาเกิดจะเป็นเรื่องของมาตรา 367 ใช่หรือไม่
- และถ้าเกิดแล้วจะบังคับกันอย่างไร ตีความโดยใช้มาตรา 171 หรือมาตรา 368 โดยคำตอบ 2 ตัวหรือ 3 ตัว และผู้ขายยังคงมีหน้าที่ชำระปาท่องโก๋อีกหนึ่งตัวหรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ซื้อทำคำเสนอซื้อ 3 ตัว ผู้ขายทำคำสนอง เจตนาที่แท้จริงตามมาตรา 171 ของผู้ขายคือเจตนาภายในที่ทำคำสนองตอบตามที่ผู้ซื้อต้องการ (ซื้อกี่ตัวก็ขายให้ตามที่ต้องการ) ในเวลาที่ผู้ขายพยักหน้า ทำเสียงตอบรับ หรือพฤติการณ์อื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน สัญญาซื้อขายจึงเกิดขึ้นในจำนวน 3 ตัว เมื่อผู้ขายส่งมอบไปเพียง 2 ตัว ก็เป็นการส่งมอบไม่ครบจำนวนตามสัญญา
การส่งมอบทรัพย์เพียง 2 ตัว ไปโดยสำคัญผิดนี้ ไม่ใช่กรณีสำคัญผิดในสาระสำคัญตามมาตรา 156 เพราะไม่ใช่การสำคัญผิดในขณะแสดงเจตนา แต่เป็นการสำคัญผิดในการชำระหนี้ตามสัญญา (จำนวนที่ต้องส่งมอบ) การชำระหนี้สมบูรณ์บางส่วน หนี้ย่อมระงับไปตามจำนวนที่ได้ชำระตามมาตรา 315 และมาตรา 320 แต่ผู้ขายจะต้องชำระอีก 1 ตัวให้ครบตามสัญญา
โดยพฤติการณ์ของคู่กรณียังไม่ได้มีการตกลงเรื่องจำนวนทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบ สัญญาย่อมเกิดขึ้นแล้ว โดยที่ไม่จำต้องตกลงทุกเรื่องตามมาตรา 367 ซึ่งพิจารณาได้จากการที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ขายมีเจตนาที่แท้จริงที่จะขายตามจำนวนที่ผู้ซื้อต้องการตามมาตรา 171 เมื่อสัญญาเกิดในจำนวน 3 ตัว ผู้ขายจึงมีหน้าที่ชำระอีก 1 ตัวให้ครบจำนวน
กล่าวโดยสรุป กรณีนี้ไม่ใช่กรณีสำคัญผิดตามมาตรา 156 เกิดสัญญาซื้อขายปาท่องโก๋แบบ 3 ตัวตามมาตรา 171 แม้ยังไม่ได้ตกลงเรื่องจำนวนทรัพย์ที่ส่งมอบตามมาตรา 367 และผู้ขายมีหน้าที่ชำระอีก 1 ตัวให้ครบจำนวนตามสัญญา
คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
จากคำถาม (1) การแสดงเจตนาที่ขัดกับความประสงค์ทางสุจริตและปรกติประเพณี หากเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ศาลจะเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามมาตรา 5 หรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : แม้ว่าการตกลงของคู่สัญญาจะแตกต่างกับหลักสุจริตก็ตาม แต่เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา หากไม่ได้เป็นการเอาเปรียบอีกฝ่ายจนเกินไป สัญญาย่อมใช้บังคับได้ตามที่ได้ตกลงกัน (เว้นแต่จะขัดกับมาตรา 150) เมื่ออีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามก็สามารถฟ้องร้องบังคับได้ ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นการฝ่าฝืนหลักสุจริตตามมาตรา 5
จากคำถาม (3) : กรณีที่แท็กซี่พาไปยังจุดหมาย แต่พาอ้อมเส้นทางเพื่อต้องการค่าโดยสารที่มากขึ้น แท็กซี่จะมีความรับผิดอย่างไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาที่แท็กซี่มีหน้าที่ไปส่งตามเส้นทางหลักที่ควรไปตามเจตนาที่ตกลงกันของคู่สัญญาและชำระราคาตามเส้นทางหลักนั้นตามปกติ แท็กซี่ต้องใช้ความระมัดระวังและมาตรฐานตามอาชีพในการชำระหนี้ ซึ่งแม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดเจน แต่ก็อาศัยการตีความสัญญาตามมาตรา 368 ดังนั้น แท็กซี่จึงต้องใช้เส้นทางที่ตรงและสั้นที่สุดในการไปส่งผู้โดยสาร ส่วนเส้นทางที่อ้อมจะนำมาเรียกร้องเป็นราคาจากผู้โดยสารไม่ได้ เป็นการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนมาตรา 368 และการพาอ้อมทำให้เสียเวลาด้วย ผู้โดยสารสามารถเรียกค่าเสียหายได้ตามมาตรา 215
จากคำถาม (5) : เหตุใดแม่ค้าขายกล้วยปิ้งจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามหลักการตีความการแสดงเจตนาที่มีผู้รับการแสดงเจตนาที่จะบังคับตามเจตนาแสดงออก
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : เนื่องจากการแสดงเจตนาของผู้ซื้อมีความหมายได้หลายนัย แม่ค้าที่เป็นผู้รับการแสดงเจตนามีหน้าที่จะต้องถามเพราะตนเป็นผู้ประกอบอาชีพย่อมจะรู้ได้ว่ากล้วยปิ้งมีหลายแบบ (วิญญูชนคนอื่นก็เข้าใจได้ว่ามีความหมายหลายนัยเช่นเดียวกัน) เมื่อแม่ค้าไม่ได้สอบถามย่อมไม่สมควรได้รับความคุ้มครอง จึงต้องผูกพันตามเจตนาภายในใจจริง ๆ ของผู้แสดงเจตนา (ผูกพันแบบกล้วยไม่ไหม้)
จากคำถาม (4) : กรณีซื้อก๋วยเตี๋ยว หากต้องตีความสัญญาเรื่องราคาที่ไม่ได้ตกลงตั้งแต่แรก จะสามารถใช้มาตรา 171 ค้นหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาโดยพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมว่าทั้งสองเคยทำสัญญาซื้อขายก๋วยเตี๋ยวกันมาตลอดสามปีในราคา 30 บาท ราคาของสัญญานี้จึงเป็น 30 บาท กรณีนี้จึงไม่จำต้องไปพิจารณาลำดับการตีความสัญญาตามลำดับที่ 2 (การตีความเอกสาร) 3 (บทสันนิษฐานของกฎหมาย) และลำดับสุดท้าย (มาตรา 368) ใช่หรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : ถูกต้อง กรณีนี้เป็นเรื่องที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อสัญญาเกิดแล้ว จึงเป็นเรื่องของการตีความสัญญา ลำดับแรกคือการค้นหาเจตนาที่แท้จริงร่วมกันตามมาตรา 171 โดยสามารถใช้พฤติการณ์แวดล้อมที่ทั้งสองเคยปฏิบัติต่อกัน ซึ่งเคยกินมาตลอดสามปีในราคาจึงเป็น 30 บาทตามที่ผู้ซื้ออ้าง เจตนาที่แท้จริงก็คือราคา 30 บาทนั่นเอง เมื่อสามารถค้นหาเจตนาที่แท้จริงร่วมกันตามมาตรา 171 ได้แล้ว จึงไม่จำต้องพิจารณาการตีความสัญญาลำดับอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี หากผู้ขายต้องการเปลี่ยนแปลงราคาโดยไม่ถูกตีความตามพฤติการณ์แวดล้อมคือพฤติการณ์ครั้งก่อน ๆ ของตนก็สามารถทำได้ในหลายวิธี เช่น ติดป้ายประกาศว่าขึ้นราคาแล้ว หรือแจ้งผู้ซื้อโดยตรงว่าราคาขึ้นแล้ว ผู้ซื้อจะยังซื้อหรือไม่ เป็นต้น