สรุปสาระสำคัญเสวนาวิชาการ “เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้ : ข้อสังเกตในการใช้การตีความ”
สรุปสาระสำคัญเสวนาวิชาการ “เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้ : ข้อสังเกตในการใช้การตีความ” จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00-12.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่งฯ
วิทยากร
– ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– อ.ดร.พิมพ์กมล กองโภค อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– อ.กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
– ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
– นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
– ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กล่าวเปิดงานเสวนาวิชาการ “เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้ : ข้อสังเกตในการใช้การตีความ” ซึ่งงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจะเป็นการแก้ไขครั้งสำคัญสำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนของบรรพห้า อันมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งบุคคลสามารถทำการสมรสกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.เอมผกา มีข้อสังเกตประการหนึ่ง เนื่องจากกฎหมายเดิมบุคคลที่จะมีสิทธิได้นั้นจะต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น ในขณะที่กฎหมายใหม่ให้สิทธิกับบุคคลโดยไม่คำนึงว่าจะต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น ประกอบกับหลักการบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย เพราะฉะนั้น จึงอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการใช้การตีความกฎหมายได้ เช่น กรณีของประเทศฝรั่งเศสที่มีการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีการรับรองให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ในแคว้นนอร์มังดีกลับไม่ปรากฏว่ามีบุคคลเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมร่วมกันเลย ทั้งนี้ เนื่องจากหากเป็นกรณีของบุคคลเพศเดียวกันแล้วมีความประสงค์จะรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เจ้าหน้าที่มักจะประเมินว่าไม่เหมาะสมโดยไม่ให้เหตุผล ซึ่งมีที่มาจากความอคติของเจ้าหน้าที่ ความไม่เข้าใจกฎหมาย และปัญหาการใช้การตีความกฎหมาย เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หากผู้บังคับใช้กฎหมายอคติหรือไม่เข้าใจการใช้การตีความกฎหมาย ความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของนักวิชาการในการส่งเสริมความเข้าใจในการใช้การตีความกฎหมายดังกล่าวให้แก่บรรดานักกฎหมายหรือประชาชน
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจของกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะเป็นวันที่บุคคลสามารถมีสิทธิตามที่กฎหมายรับรองไว้ได้ กล่าวคือ เป็นวันที่บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นหรือทำการสมรสกันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” ซึ่งจะมีปัญหาว่า จะเริ่มนับวันที่ 24 กันยายน 2567 หรือวันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นวันแรก โดยกรณีดังกล่าวมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ 2 ความเห็น
ความเห็นที่ 1 ซึ่งเป็นแนวความเห็นตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่า การนับระยะเวลาในกรณีที่หน่วยของเวลามีมากกว่าวันจะเป็นกรณีตามมาตรา 193/3 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี” เพราะฉะนั้น เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 24 กันยายน 2567 การคำนวณระยะเวลา 120 วันจึงต้องเริ่มนับวันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นวันแรก และกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มกราคม 2568
ส่วนความเห็นที่ 2 ซึ่งเป็นแนวความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กำหนดเวลาวันเริ่มใช้บังคับกฎหมายจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ เพราะมิใช่เป็นเรื่องการคำนวณนับระยะเวลาตามบทบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาในลักษณะ 5 บรรพหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งนักวิชาการก็เห็นด้วยกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเช่นกัน ประกอบกับมาตรา 193/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็บัญญัติว่า “การนับระยะเวลาทั้งปวงให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น” เพราะฉะนั้น กำหนดระยะเวลา 120 วันจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 24 กันยายน 2567 และกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 มกราคม 2568 นอกจากนี้ ตามความเข้าใจของประชาชนก็เข้าใจว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 มกราคม 2568 เช่นกัน
ประการต่อมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับการใช้การตีความในเรื่องการหมั้น ซึ่งมาตรา 1437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น” โดยจะมีการแก้ไขเป็น “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น” ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการหมั้นนั้นมีที่มาจากจารีตประเพณีของไทย กล่าวคือ เป็นกรณีที่ฝ่ายชายให้ของหมั้นกับหญิง เพราะฉะนั้น ของหมั้นจึงอาจจะเป็นทรัพย์สินของบิดาฝ่ายชาย มารดาฝ่ายชาย หรือญาติของฝ่ายชายก็ได้ แต่จะต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายชายให้ทรัพย์สินแก่หญิงเท่านั้น หากเป็นกรณีที่หญิงให้ทรัพย์สินแก่ชายจะไม่ใช่เรื่องของหมั้น แต่จะเป็นเพียงการให้โดยเสน่หาเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะมีประเด็นให้พิจารณาว่า หากเป็นการหมั้นระหว่างเพศเดียวกัน บุคคลใดจะเป็นผู้หมั้นและบุคคลใดจะเป็นผู้รับหมั้น โดยนักวิชาการมีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีการตกลงกันเองว่าบุคคลใดจะเป็นผู้หมั้นและบุคคลใดจะเป็นผู้รับหมั้น แต่จะมีประเด็นในการใช้การตีความกฎหมายในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างให้ของหมั้นซึ่งกันและกันว่า เป็นสัญญาหมั้น 1 ฉบับแต่มีของหมั้น 2 ชิ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างมีสถานะเป็นทั้งผู้หมั้นและผู้รับหมั้น หรือจะเป็นกรณีที่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้น 2 ฉบับ หรือจะตีความว่า บรรพห้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่สามารถตกลงให้แตกต่างจากสิ่งที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ได้ เพราะฉะนั้น บุคคลย่อมไม่สามารถเป็นทั้งผู้หมั้นและผู้รับหมั้นได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับของหมั้นและสินสอดว่า ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกานั้นการหมั้นจะต้องกระทำโดยเปิดเผย และจะต้องมีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น มิฉะนั้นการหมั้นย่อมไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นประเด็นการใช้การตีความว่า กรณีที่การหมั้นไม่สมบูรณ์มีความหมายว่าอย่างไร โดยนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การส่งมอบของหมั้นนั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับแบบของนิติกรรม หากไม่มีการส่งมอบของหมั้นจะเป็นกรณีที่มิได้ทำตามแบบ การหมั้นจึงตกเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้น หากมีการส่งมอบของหมั้นกันในภายหลังโดยมิได้แสดงเจตนาหมั้นและมิได้กระทำโดยเปิดเผย สัญญาหมั้นย่อมไม่เกิดขึ้น ส่วนนักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การส่งมอบของหมั้นนั้นมิใช่แบบของนิติกรรม แต่เป็นองค์ประกอบทางเนื้อหาของนิติกรรม ซึ่งเข้ามาเติมเต็มการแสดงเจตนาหมั้นที่ทำไว้ในตอนแรกได้ เพราะฉะนั้น การส่งมอบของหมั้นจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการแสดงเจตนาหมั้น สามารถส่งมอบของหมั้นในภายหลังได้ ประกอบกับในทางปฏิบัติทรัพย์สินบางอย่างอาจจะไม่สามารถส่งมอบกันได้ในทันที เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องมีการโอนทางทะเบียน
ส่วนประเด็นเรื่องสินสอดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปัจจุบัน ฝ่ายชายจะเป็นทั้งผู้ให้ของหมั้นและสินสอด กล่าวคือ บุคคลเดียวกันจะต้องให้ทั้งของหมั้นและสินสอด ซึ่งจะมีประเด็นให้พิจารณาตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า ผู้ที่รับของหมั้นมาแล้วจะสามารถให้สินสอดแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้หรือไม่ หรือเฉพาะแต่ผู้ที่ให้ของหมั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการให้สินสอด
ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ตั้งข้อสังเกตต่อการอภิปรายของผศ.ดร.กรศุทธิ์ในประเด็นที่ 1 ศ.ดร.ไพโรจน์ เห็นด้วยกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า กำหนดเวลาวันเริ่มใช้บังคับกฎหมายจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ ประเด็นที่ 2 เป็นประเด็นที่เพิ่มเติมจากสิ่งที่ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับการพิจารณาว่า บุคคลใดจะเป็นผู้หมั้นและบุคคลใดจะเป็นผู้รับหมั้น ซึ่งจะมีนัยสำคัญกับผู้รับหมั้นตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะมีการบังคับใช้ ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดเอาไว้ว่า ของหมั้นหรือสินสอดนั้นไม่ว่าผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้นตาย ผู้รับหมั้นหรือฝ่ายผู้รับหมั้นไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายผู้หมั้น และประเด็นที่ 3 เรื่องความเสียหายต่อกายตามมาตรา 1440 (1) หากเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นในลักษณะที่หญิงคู่หมั้นถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะมีประเด็นให้พิจารณาตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมในกรณีที่เป็นการทำสัญญาหมั้นระหว่างบุคคลเพศเดียวกันและมีการผิดสัญญาหมั้นว่า อย่างไรที่เรียกว่าเป็นความเสียหายต่อกายในกรณีที่มีการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ซึ่ง ศ.ดร.ไพโรจน์ เห็นว่า ต้องพิจารณามาตรา 1445 ที่ได้รับการแก้ไขใหม่ ประกอบกับมาตรา 1 (18) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อพิจารณาว่าการกระทำในลักษณะใดบ้างที่เป็นความเสียหายต่อกายในกรณีที่เป็นการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ตั้งข้อสังเกตต่อการอภิปรายของผศ.ดร.กรศุทธิ์ใน 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เห็นด้วยกับแนวทางการนับระยะเวลาที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเช่นกัน และประเด็นที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม การทำสัญญาหมั้นระหว่างชายและหญิงจะก่อให้เกิดสิทธิบางประการแก่ชายคู่หมั้น เช่น สิทธิในการเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นของตนตามมาตรา 1445 ซึ่งเฉพาะแต่ชายคู่หมั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการเรียกค่าทดแทนดังกล่าว แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขให้หญิงคู่หมั้นสามารถเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับชายคู่หมั้นของตนได้เช่นกันตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.มาตาลักษณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขดังกล่าวอาจจะมิได้เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงแต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องจากหญิงคู่หมั้นมิได้มีหน้าที่ในการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นของหมั้น และหญิงคู่หมั้นอาจจะตั้งใจทำสัญญาหมั้นกับชายคู่หมั้นที่มีพฤติกรรมเจ้าชู้ เพื่อท้ายที่สุดจะได้บอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็จะได้รับการแก้ไขตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะมีการบังคับใช่้ในอนาคต โดยแก้ไขจากชายคู่หมั้นและหญิงคู่หมั้นเป็นผู้หมั้นและผู้รับหมั้น
ประการต่อมาเป็นสิ่งที่ต่อยอดจากประเด็นที่ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับการพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้น ซึ่ง รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เห็นว่า อาจจะนำหลัก The Right of the First Taker มาใช้ในการพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นผู้หมั้น และเมื่อเป็นผู้หมั้นก็จะเป็นผู้ให้สินสอด ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลใดเป็นผู้หมั้นก่อน บุคคลนั้นก็จะมีสถานะเป็นผู้หมั้นและอีกฝ่ายหนึ่งจะมีสถานะเป็นผู้รับหมั้น เพราะฉะนั้น การเป็นผู้หมั้นพร้อมกันจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ตามความเห็นของ รศ.ดร.มาตาลักษณ์
อ.กิตติภพ วังคำ กล่าวว่า ในอดีตการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นของหมั้นมิใช่สาระสำคัญในการทำสัญญาหมั้น แต่ต่อมามีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินเอาไว้ว่า การทำสัญญาหมั้นจะต้องมีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ส่งผลให้มีการแก้ไขกฎหมายโดยบัญญัติรับรองจารีตประเพณีดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยกำหนดให้ฝ่ายชายมีหน้าที่ในการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้น อันเป็นการพิจารณาจากเพศสภาพ และส่งผลให้สิทธิหน้าที่ระหว่างชายคู่หมั้นและหญิงคู่หมั้นนั้นแตกต่างกัน เช่น การส่งมอบหรือการส่งคืนของหมั้น ซึ่งหากพิจารณาตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างคู่สมรสจะเห็นว่า มีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเพศใดก็สามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ แต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งเกิดจากสถานะของผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้นยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ ในขณะที่แนวโน้มของกฎหมายต่างประเทศนั้นสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นจะมีความเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปะทะกันระหว่างคุณค่า 2 ประการ ประการที่ 1 คือเรื่องของความเท่าเทียม เหตุใดกฎหมายจึงกำหนดให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นนั้นมีความแตกต่างกัน ประการที่ 2 คือเรื่องของจารีตประเพณีของประเทศไทยที่ควรจะต้องรักษาเอาไว้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น อ.กิตติภพ จึงเสนอแนวทางว่า การส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับอีกฝ่ายหนึ่งยังคงทำได้ตามจารีตประเพณีของประเทศไทย ซึ่งหากมีประเด็นปัญหาจะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติในส่วนอื่น เช่น เรื่องของการให้โดยเสน่หา เรื่องของนิติกรรมสัญญา อัันเป็นการยกเลิกการกำหนดให้การส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินเป็นสาระสำคัญของการทำสัญญาหมั้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการแบ่งแยกสถานะระหว่างผู้หมั้นและผู้รับหมั้น
สำหรับประเด็นข้างต้น ผศ.ดร.เอมผกา กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการหมั้นก็ไม่ได้แก้ไขโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการหมั้นมิใช่สาระสำคัญในระบบกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศไทย ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็มิได้มีการกล่าวถึงเรื่องการหมั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเห็นว่า เรื่องสินสอดซึ่งเกี่ยวข้องกับการหมั้นนั้นเปรียบเสมือนการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในส่วนของการหมั้นยังคงมีอยู่ในระบบกฎหมายไทย ผศ.ดร.เอมผกา จึงตั้งเป็นข้อสังเกตว่า การมีอยู่ของบทบัญญัติดังกล่าวจจะเป็นปัญหาในด้านอื่น ๆ หรือไม่
ประการต่อมา อ.กิตติภพ กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวหรือหน้าที่ของคู่สมรสตามมาตรา 1461 ที่ได้รับการแก้ไขจากเดิมซึ่งกำหนดว่า สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เป็นคู่สมรสต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส ซึ่งจะมีประเด็นให้พิจารณาว่า การใช้การตีความจะแตกต่างจากเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ในการร่วมประเวณี ซึ่งมาตรา 1461 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมจะถูกตีความรวมถึงหน้าที่ในการร่วมประเวณีกันด้วย และการบกพร่องในหน้าที่ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่เหตุหย่าตามมาตรา 1516 (10) ได้ ซึ่งมาตรา 1516 (10) ที่ได้รับการแก้ไขใหม่มีการเพิ่มเติมในส่วนของกรณีที่ “ไม่อาจกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่าย” เพราะฉะนั้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงยังคงให้ความสำคัญกับหน้าที่ในการร่วมประเวณีกันอยู่ และการใช้การตีความมาตรา 1461 ที่ได้รับการแก้ไขใหม่ นอกจากหน้าที่ในการร่วมประเวณีกันแล้วยังต้องตีความถึงการกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย แต่ก็จะมีปัญหาในการใช้การตีความตามมาว่าอย่างไรจึงจะเป็น “การกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่ง” ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลย่อมมีความพึงพอใจทางเพศที่แตกต่างกัน เช่น สำหรับบางคนการมองก็นับว่าเป็นความพึงพอใจทางเพศของเขาแล้ว
นอกจากนี้ การที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้กำหนดให้การสมรสสามารถกระทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันมาตรา 1461 ที่ได้รับการแก้ไขใหม่กลับให้ความสำคัญกับหน้าที่ในการร่วมประเวณี และการกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวนั้นมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น บุคคลบางคนประสงค์จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว แต่เขาไม่ได้มองว่าหน้าที่ในการร่วมประเวณีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา เพราะฉะนั้น การที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดให้การร่วมประเวณี และการกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหน้าที่ของคู่สมรส จึงอาจจะไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคู่สมรสบางคู่
สำหรับช่วงท้ายของ อ.กิตติภพ ได้มีการกล่าวถึงข้อสังเกตตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) ซึ่งบัญญัติว่า “บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภรรยา หรือสามีภรรยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ด้วย” กล่าวคือ บทบัญญัติตามกฎหมายอื่นที่มีการกล่าวถึงสามี ภรรยา หรือสามีภรรยา ก็จะหมายความรวมถึงกรณีที่เป็นการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันด้วย ซึ่งมีประเด็นที่น่าพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (การอุ้มบุญ) ว่าคู่สมรสที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันสามารถดำเนินการอุ้มบุญได้หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 21 (1) กำหนดเงื่อนไขของการตั้งครรภ์แทนเอาไว้ว่า ต้องเป็นสามีและภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ โดยกรณีที่คู่สมรสเป็นหญิงและหญิงซึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้ก็จะมีปัญหาว่าเข้าเงื่อนไขของการตั้งครรภ์แทนตามมาตรา 21 (1) หรือไม่ และประเด็นตามมาตรา 29 ซึ่งกำหนดผลทางกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ว่า ให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร ซึ่งหากเป็นกรณีที่มีการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันและอาศัยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เด็กที่เกิดมาก็ย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสที่เป็นบุคคลเพศเดียวกัน แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันและบุตร จะพิจารณาตามความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ จะถือว่าบุคคลที่เป็นคู่สมรสเพศเดียวกันใครจะเป็นมารดาใครจะเป็นบิดา หรือเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 67 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24)
คำถามจากผู้เข้าร่วมงาน : การที่มาตรา 1516 (10) แก้ไขใหม่โดยเพิ่มเติมกรณีของการกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น สามารถพิจารณาตามมาตรา 1 (18) แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้หรือไม่ และการกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นแตกต่างจากกรณีของการร่วมประเวณีอย่างไร
อ.กิตติภพ กล่าวว่า “การกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่ง” เป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้าง เช่น การมอง การสัมผัสก็อาจจะอยู่ในความหมายนี้เช่นกัน ส่วนการร่วมประเวณีจะสื่อไปในทำนองที่อวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิงมีการสอดใส่กัน เพราะฉะนั้น การกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมมีความหมายรวมถึงนิยามของการกระทำชำเราตามมาตรา 1 (18) แห่งประมวลกฎหมายอาญา หากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความพึงพอใจทางเพศ
อ.ดร.พิมพ์กมล กองโภค กล่าวถึงการใช้การตีความกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเด็นเงื่อนไขการสมรสว่า เงื่อนไขการสมรสเป็นประเด็นแรก ๆ ที่มีการพูดถึงก่อนจะมีการจัดทำกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีที่มาจากสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญว่าบุคคลทุกคนควรที่จะมีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการก่อตั้งสถาบันครอบครัว โดยกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีการแก้ไขในสาระสำคัญคือการเปลี่ยนจากคำว่า “ชายหญิง” เป็น “บุคคล” หรือคำว่า “สามีภรรยา” เป็น “คู่สมรส” ซึ่งส่วนแรกที่จะกล่าวถึงคือมาตรา 1448 ที่แก้ไขจากกรณีของ “ชายและหญิง” เป็น “บุคคลทั้งสองฝ่าย” เพื่อตอบสนองต่อสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และแก้ไขกฎเกณฑ์การสมรสในเรื่องอายุจาก 17 ปีบริบูรณ์เป็น 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งในชั้นของคณะกรรมาธิการมีการถกเถียงกันถึงประเด็นที่ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ได้ หากมีเหตุอันสมควรว่า ควรจะยกเลิกในส่วนนี้หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายมองว่า บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์อาจจะยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับการสมรสได้อย่างดีพอ เพราะฉะนั้น การกำหนดให้ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ได้นั้น อาจจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องการสมรสอย่างดีพอกระทำการสมรสได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะมีการใช้บังคับนั้นยังคงกำหนดให้ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ได้ หากเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควร ซึ่ง อ.ดร.พิมพ์กมล เห็นว่าหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายอาจจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า บทบัญญัติในส่วนนี้สมควรที่จะบังคับใช้ต่อไปหรือไม่
ประเด็นการแก้ไขอายุของบุคคลที่จะกระทำการสมรสข้างต้นนั้น อ.ดร.พิมพ์กมล กล่าวถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ในเรื่องของอายุของผู้ที่จะกระทำการสมรสคือ Convention on Consent to Marriage, Minimum Age of Marriage and Registration of Marriages ซึ่งมาตรา 1 กล่าวถึงการสมรสที่จะมีผลในทางกฎหมายว่า ควรจะเป็นการสมรสตามเจตนารมณ์ที่อิสระของบุคคลทั้งสองฝ่าย ซึ่งการที่จะแสดงเจตนาได้อย่างอิสระนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับอายุของผู้แสดงเจตนา ทั้งนี้ เนื่องจากในทางปฏิบัติการสมรสของบุคคลที่มีอายุน้อยจะมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น การถูกบังคับจากบุคคลในครอบครัว ส่งผลให้การแสดงเจตนาทำการสมรสของบุคคลนั้นไม่เป็นไปอย่างอิสระ เพราะฉะนั้น การบัญญัติกฎหมายโดยกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในเรื่องอายุของคู่สมรสเอาไว้นั้น จะช่วยให้การแสดงเจตนาทำการสมรสเป็นไปอย่างอิสระ ซึ่งหากมีความจำเป็นจะต้องทำการสมรสในกรณีที่อายุของคู่สมรสต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จะต้องมีหน่วยงานในการอนุญาต นอกจากนี้่ หากพิจารณาบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสมรสในกฎหมายต่างประเทศก็จะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะกำหนดอายุขั้นต่ำของคู่สมรสไว้ที่ 18 ปี เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้้น
ประการต่อมาคือมาตรา 1504 วรรคสอง ส่วนท้ายซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบตามมาตรา 1448 ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส” ซึ่งหากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการผลักดันเรื่องการสมรสเท่าเทียมจะเห็นได้ว่า เป็นการปรับความเข้าใจในเรื่องเพศกำเนิด ทั้งนี้ เพื่อยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน และให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวกลับมีถ้อยคำที่แบ่งแยกความหลากหลายทางเพศโดยกลับไปพิจารณาจากเพศกำเนิด ซึ่งอาจจะมีปัญหาในกรณีที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายเป็นหญิง และคู่สมรสที่เป็นหญิงทั้งสองฝ่ายนั้นประสงค์ที่จะมีลูกด้วยกัน โดยมีความยินยอมร่วมกันทั้งสองฝ่ายให้หญิงฝ่ายหนึ่งตั้งครรภ์ แต่กฎหมายกลับปิดโอกาสมิให้ความสมบูรณ์ของการสมรสในกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 1504 วรรคสอง
ส่วนมาตรา 1453 ที่ได้รับการแก้ไขใหม่ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน” ซึ่งมีประเด็นให้พิจารณาในส่วนของถ้อยคำที่ใช้ในบทบัญญัติดังกล่าว โดยในระดับชั้นของคณะกรรมาธิการมีความพยายามในการก้าวผ่านแนวความคิดเกี่ยวกับการแบ่งเพศของบุคคลโดยพิจารณาจากเพศสภาพโดยกำเนิด ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีของชายข้ามเพศที่ไม่ได้มีการผ่าตัดมดลูก ซึ่งเขายังคงมีความสามารถในการมีลูกได้ เพราะฉะนั้น การใช้คำว่าหญิงในบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มิได้มีการคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ซึ่งในระดับชั้นของคณะกรรมาธิการได้มีการเสนอถ้อยคำเพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นการเฉพาะเจาะจงเพศของบุคคลจนเกินไปคือคำว่า บุคคลที่ตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษายังใช้คำว่าหญิงอยู่
ช่วงท้าย อ.ดร.พิมพ์กมล ได้กล่าวถึงข้อพิจารณาในอนาคตหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการส่งเสริมความเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอันเนื่องมาจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัว แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือความเข้มแข็งหรือความผาสุกหลังจากมีการก่อตั้งสถาบันครอบครัวขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดย อ.ดร.พิมพ์กมล ได้นำเสนอข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นเพียงข้อมูลที่ได้รับการบันทึกในระบบ ซึ่งในความเป็นจริงยังคงมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงภายในครอบครัวแต่ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมไทยมีค่านิยมอย่างหนึ่งว่าเรื่องภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะนำไปบอกบุคคลภายนอก เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีการรับรองสิทธิในการก่อตั้งสถาบันครอบครัวแล้ว ยังต้องมีการจัดการกับปัญหาเรื่องความรุนแรงภายในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ดี การทำความเข้าใจกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ดี ต้องเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในการผลักดันและร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องต่าง ๆ
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล กล่าวถึงประเด็นเรื่องของการแก้ไขถ้อยคำตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขคำว่าชายหรือหญิงในทุกมาตรา แต่จะต้องทำความเข้าใจบริบทของกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ เสียก่อนจะมีการแก้ไข ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการหมั้นจะมีการแก้ไขโดยใช้คำว่าคู่หมั้น ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น และบุคคล ส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสมรสจะมีการแก้ไขจากคำว่าสามีภรรยาเป็นคำว่าคู่สมรส แต่ก็ยังคงมีบทบัญญัติบางส่วนที่มีการใช้คำว่าชายหรือหญิงอยู่ และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับบุตรส่วนใหญ่จะคงไว้ซึ่งการใช้คำว่าชายหรือหญิง ซึ่ง รศ.ดร.มาตาลักษณ์ กล่าวว่าจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า คำว่าชายหรือหญิงนั้นมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับมุมมองที่ใช้ในการพิจารณา เช่น มุมมองที่พิจารณาจากเพศสรีระหรือเพศโดยกำเนิด (Sex) อันเป็นการพิจารณาจากปัจจัยทางกายภาพ มุมมองที่พิจารณาจากเพศสภาพ (Gender) หรือมุมมองที่พิจารณาจากอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) เพราะฉะนั้น การใช้คำว่าชายหรือหญิงในมิติของเพศหรือสรีระ (Sex) ก็จะสามารถทำความเข้าใจได้ในบางเรื่อง เช่น เพศสรีระที่เป็นหญิงเท่านั้นที่จะตั้งครรภ์ได้ หรือการใช้คำว่าชายหรือหญิงในมิติของเพศสภาพ ก็สามารถทำความเข้าใจบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการสมรสหรือบุตรในบางเรื่องได้เช่นกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่การทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า คำว่าชายหรือหญิงในบทบัญญัติต่าง ๆ นั้นจะใช้ในความหมายแบบใด ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการแก้ไขถ้อยคำในกฎหมายโดยไม่จำเป็น
ประการต่อมา รศ.ดร.มาตาลักษณ์ กล่าวถึงกฎเกณฑ์ในเรื่องอายุของการสมรสตามมาตรา 1448 ที่ได้รับการแก้ไขใหม่ว่า สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี แต่มีข้อสังเกตในกรณีที่ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสได้แม้อายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ หากเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรว่า ผู้พิพากษาที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวควรจะต้องเป็นผู้พิพากษาที่มีความชำนาญพิเศษหรือมีความเชี่ยวชาญในหลักการดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบเวียน มิได้มีการคัดกรองอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การทำหน้าที่ดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น อันเป็นการส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก
ช่วงท้ายของ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ มีการกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุตร โดยยกประเด็นตามมาตรา 1536 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นคู่สมรสกับชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรส หรือเคยเป็นคู่สมรส แล้วแต่กรณี” ซึ่งเป็นการพิจารณาคำว่าชายหรือหญิงในมุมมองของเพศสรีระหรือเพศโดยกำเนิด (Sex) ทั้งนี้ เนื่องจากบุตรสามารถเกิดจากบุคคลที่มีเพศโดยกำเนิดเป็นหญิงเท่านั้น โดย รศ.ดร.มาตาลักษณ์ ยกตัวอย่างในกรณีที่อาจจะเป็นปัญหาคือ ก. มีเพศโดยกำเนิดเป็นหญิง และ ก. แปลงเพศเป็นผู้ชาย (transgender) ต่อมา ก. สมรสและตั้งครรภ์กับ ข. ที่มีเพศโดยกำเนิดเป็นชาย แล้วการสมรสของทั้ง ก. และ ข. สิ้นสุดลง ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ก. ทำการสมรสกับ ค. ที่มีเพศโดยกำเนิดเป็นหญิงเช่นกันตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม และ ก. คลอดบุตร จากข้อเท็จจริงดังกล่าวบุตรที่เกิดขึ้นจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1536 ในส่วนที่ว่า “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นคู่สมรสกับชาย” เด็กที่เกิดมาก็จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ข. ชายที่เคยเป็นคู่สมรส และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. ในขณะที่ ค. ซึ่งประสงค์จะสร้างครอบครัวและได้ทำการสมรสกับ ก. กลับไม่มีบทบาทหรือไม่มีอำนาจปกครองบุตรคนดังกล่าวเลย เสมือนกฎหมายทำการกีดกัน ค. ออกจากคนในครอบครัว และยังขัดต่อหลักการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก เพราะฉะนั้น รศ.ดร.มาตาลักษณ์ จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจปกครอง โดยกำหนดให้นอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองโดยนิตินัยแล้วยังรวมถึงกรณีของผู้ใช้อำนาจปกครองโดยพฤตินัยด้วย
ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ กล่าวว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะมีการบังคับใช้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับบรรพหนึ่ง 3 มาตรา บรรพหก 3 มาตรา ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของบรรพหก และจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับบรรพห้า 69 มาตรา และได้กล่าวถึงบทเฉพาะกาลตามมาตรา 66 และมาตรา 67 ซึ่งมาตรา 66 เป็นกรณีที่กฎหมายอื่นได้กำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกเอาไว้เป็นการเฉพาะ กรณีดังกล่าวจะไม่นำกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาใช้บังคับ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ส่วนมาตรา 67 วรรคหนึ่ง นอกจากประเด็นที่ อ.กิตติภพ ได้กล่าวเอาไว้ ศ.ดร.ไพโรจน์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มาตรา 15 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคหนึ่งเช่นกัน ส่วนมาตรา 67 วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายอื่นกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภรรยา หรือสามีภรรยาเอาไว้เป็นการเฉพาะ จะไม่สามารถอ้างถึงสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ ซึ่ง ศ.ดร.ไพโรจน์ ยกตัวอย่างไว้ 3 กรณี ได้แก่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ ข้อ 17 พระราชบัญญัติสัญชาติ มาตรา 9 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย มาตรา 21 วรรคสอง