สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “แนวทางการใช้การตีความกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ใหม่” ซึ่งจัดโดยศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรพจน์ เชาวะวณิช อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ดำเนินรายการโดย
- อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอธิป ปิตกาญจนกุล (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
กล่าวว่า สำหรับกฎหมายเรื่องการทำแท้งที่ออกมาใหม่ ตนมองว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมทั้งหมด ตลอดจนเฉพาะความคิดต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยศ.ดร. สุรศักดิ์นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประเด็นแรก เหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นในการแก้ไขกฎหมาย คือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะเรารู้จักทารกในครรภ์มารดาตั้งแต่แรกเกิด รู้พัฒนาการในทุกช่วงของทารกตั้งแต่ประมาณสัปดาห์ที่ 4 สำหรับประเด็นปัญหาแต่เดิมที่มีการถกเถียงกัน คือกฎหมายไทยอนุญาตให้ทำแท้งเพียง 2 กรณี ได้แก่ กรณีสุขภาพของมารดา และกรณีมารดาถูกกระทำความผิดทางอาญาแล้วตั้งครรภ์ แต่สำหรับกรณีทารกผิดปกติ ก็เคยเป็นประเด็นในการสู้คดี ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา มีการพยายามแก้ไขโดยเพิ่มเหตุการณ์เรื่องสุขภาพของทารก ตนเข้าในว่ากฤษฎีกาพิจารณาเรื่องนี้ 4 รอบในระยะเวลา 25 ปี ประเด็นนี้เป็นที่ยอมรับค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีคนค้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการทำแท้งเสรี และเป็นการสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งตนเห็นว่าภาคส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครอบครัวมีหน้าที่จะต้องทำให้เขาเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้
คณะกรรมการของแพทยสภามีการออกข้อบังคับเมื่อปี 2548 แทนการแก้กฎหมาย โดยแก้ข้อบังคับเรื่องการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในทางกฎหมาย ข้อบังคับเช่นนี้ไม่สามารถลบล้างกฎหมายได้ แต่ปัจจุบันมีกฎหมายบัญญัติอย่างถูกต้องในส่วนนี้แล้ว โดยเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 ที่วินิจฉัยเรื่องสิทธิเสรีภาพ แทนที่จะเป็นเรื่องสุขภาพ ซึ่งคณะนิติศาสตร์เคยจัดเสวนาในเรื่องนี้มาแล้ว ณ เวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญบอกให้แก้ภายใน 1 ปี มิฉะนั้นกฎหมายนี้จะกลายเป็นกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ ถ้าออกมาไม่ทัน แปลว่าจะไม่มีมาตรา 301 อีกต่อไป ใครจะทำแท้งอย่างไรก็ได้ แต่ปรากฏว่าเราออกกฎหมายมาทัน เพราะฉะนั้น ประเด็นของศาลรัฐธรรมนูญก็จะมุ่งไปที่สิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ โดยหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร รัฐบาลจึงมีหน้าที่ออกกฎหมายมาให้ทัน คณะกรรมการของกฤษฎีกาก็ได้มีการพิจารณา และอภิปรายว่าการทำแท้งไม่ใช่สิทธิของคนคนเดียว การที่เด็กจะเกิดมาได้ ต้องมีผู้ชายทำให้เกิดด้วย ต้องถามผู้ชายคนนั้นหรือไม่ หรือสิทธิของทารกในครรภ์
ประเด็นที่สอง เหตุผลในการทำแท้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ตกงานทำแท้งได้หรือไม่ เหตุผลทางสังคม การคุมกำเนิดที่ไม่ได้ผล ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการอนุญาตให้ทำแท้งได้ถ้าผู้หญิงยืนยัน ถ้าไม่เกิน 20 สัปดาห์ ควรจะมีเงื่อนไขของกฎหมาย หรือกระทรวงสาธารณสามารถกำหนดเหตุที่จะยืนยันการทำแท้งได้หรือไม่
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท :
กล่าวว่า เราไม่เคยรับรองการทำแท้งตามคำขอของผู้หญิงฝ่ายเดียวเลย จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กฎหมายอนุญาตภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 ที่วินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญชี้ถึงการขัดกันระหว่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงกับสิทธิของตัวอ่อนที่จะมีชีวิตอยู่ ศาลบอกว่ากฎหมายเดิมเป็นการขัดสิทธิในเนื้อตัวร่างการของเขา และให้แก้กฎหมายให้เกิดสมดุลระหว่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงและสิทธิของตัวอ่อนทารกในครรภ์
รศ.ดร.ปกป้องอธิบายต่อใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก กฎเกณฑ์แพทยสภาที่จะต้องออกตามกฎหมายต่อไป ประมวลกฎหมายอาญาไม่สามารถกำหนดรายละเอียดของการทำแท้งได้ทุกเรื่อง เพราะประมวลกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเพียงแค่ฐานความผิดและการลงโทษเท่านั้น สำหรับละเอียดและขั้นตอนของการทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่เกินวิสัยของประมวลกฎหมายอาญาที่จะเขียนไว้ทั้งหมด เช่น ก่อนจะทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้หญิงจะต้องไปปรึกษาใคร จะต้องมีนายแพทย์กี่คนให้การปรึกษาและยืนยัน และต้องทำภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ทำที่ไหน ด้วยเหตุนี้กฎหมายอาญาจึงเปิดโอกาสให้แพทยสภาออกกฎเกณฑ์ในทางปฏิบัติเหล่านี้ สำหรับกฎเกณฑ์แพทยสภา ตนคาดหวังจะต้องมีกฎเกณฑ์หลายมุมมอง ทั้งฝ่ายผู้หญิง และแพทย์ กฎเกณฑ์แพทยสภาที่จะกำหนดรายละเอียดของการทำแท้งตามคำของของผู้หญิง ถ้าจะเริ่มจากมุมมองของผู้หญิง รศ.ดร. ปกป้องเสนอว่ากฎเกณฑ์แพทยสภาน่าจะมีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก คือ รู้ จะต้องมีคนให้คำปรึกษาก่อนที่ผู้หญิงจะทำแท้ง เพราะการทำแท้งตามกฎหมายนี้ไม่ใช่การทำแท้งเสรี แต่มีกฎเกณฑ์รับรอง โดยกระบวนการให้คำปรึกษาดังกล่าวจะต้องอาศัยผู้รู้ ซึ่งไม่ใช่ผู้รู้ทางศีลธรรมศาสนา แต่เป็นผู้ที่จะให้คำแนะนำผู้หญิงว่า ถ้าเขาเลือกจะไม่ทำแท้ง สวัสดิการสังคม หรือทางเลือกของเขามีอะไรบ้าง ใครจะมาช่วยเหลือเขาได้บ้าง ใครจะช่วยดูแลบุตรของเขา ตรงกันข้าม ถ้าเขาเลือกที่จะทำแท้ง หลังจากให้คำปรึกษาแล้ว ผู้รู้นี้จะต้องประสานได้ว่าต้องส่งไปที่ไหนที่จะทำให้หญิงทำแท้งได้อย่างปลอดภัย เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์แพทยสภาอาจจะต้องกำหนดในเรื่องของกระบวนการให้คำปรึกษา และต้องจัดสรรให้มีผู้รู้เข้ามาในด้านนี้เป็นเรื่องแรก
ประการที่สอง คือ เร็ว เมื่อมีกลไกการให้คำปรึกษาผู้หญิงก่อนทำแท้งแล้ว กลไกดังกล่าวจะต้องรวดเร็ว กล่าวคือ ไม่ควรจะเป็นทีมใหญ่ หรือคณะกรรมการให้คำปรึกษาที่ใหญ่โตวุ่นวาย มิฉะนั้น จะทำให้กระบวนการล่าช้า ทั้งนี้ อายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น มีผลกับสุขภาพของหญิง และสิทธิของตัวอ่อนในการมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะให้คำปรึกษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในต่างประเทศ เมื่อมีการให้คำปรึกษา จะมีระยะเวลา 3 วันให้ผู้หญิงตัดสินใจ ถ้ากลับมายืนยัน ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำแท้งให้
ประการที่สาม ลับ กฎเกณฑ์แพทยสภาในมุมมองของผู้หญิง ควรจะกำหนดว่าการให้การปรึกษาจะต้องทำเป็นการลับ เพราะผู้หญิงไม่น่าจะต้องการให้ใครรู้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คนใกล้ตัว จึงเป็นสิทธิส่วนตัวของผู้หญิงอย่างแท้จริงที่จะตัดสินใจหลังจากได้รับคำปรึกษาจากทางการแพทย์แล้วว่าเขาจะทำแท้งหรือจะไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อตัดสินใจทำแท้งแล้ว กระบวนการต่าง ๆ จะต้องเป็นเรื่องลับสุดยอดระหว่างผู้หญิงกับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น
หากขาดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น การทำแท้งเถื่อนก็จะมีอยู่ต่อไป ความพยายามของกลุ่มสิทธิสตรีที่ต่อสู้มาเพื่อจะให้ผู้หญิงทำแท้งได้อย่างเป็นทางเลือก และมีความปลอดภัยมันก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ถ้ากฎเกณฑ์แพทยสภาไม่มีกระบวนการอย่างที่ตนกล่าวมาข้างต้น
สำหรับกฎเกณฑ์แพทยสภาในมุมมองของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ในกฎหมายฉบับใหม่ มาตรา 305 บอกว่าใครก็ตามที่เข้าสู่กระบวนการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย ถ้าได้กระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งผู้หญิงที่ทำแท้ง และหมอที่ทำแท้งก็จะไม่มีความคิด ในการยกร่างกฎหมาย มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมกฎหมายเขียนยกเว้นเฉพาะหมอกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำแท้ง แต่ไม่เขียนยกเว้นให้กับพยาบาล เภสัชกรที่จ่ายยา ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย รศ.ดร. ปกป้องอธิบายว่าเรื่องนี้มีคำอธิบายตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไป กล่าวคือ สมมติผู้หญิงมาทำแท้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และหมอทำให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลักทั่วไปของกฎหมายอาญา คือ การกระทำใดก็ตามที่ไม่เป็นความผิด คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำนั้นทั้งหมดก็จะไม่มีความผิดไปด้วย แม้เขาจะรู้ และจะไม่มีใครตั้งข้อหากับเขาได้เลย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเขียนรายละเอียดยกเว้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น เพราะเขียนไปก็เขียนไม่ครบอยู่ดี ซึ่งในส่วนนี้น่าจะคลายความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ กฎเกณฑ์แพทย์สภาควรจะให้สิทธิแก่แพทย์ที่จะปฏิเสธ ซึ่งตนเห็นด้วย อีกทั้ง หลายประเทศที่เป็นต้นแบบของกฎหมายในเรื่องนี้ก็เขียนไว้ชัดว่า เมื่อผู้หญิงมีสิทธิที่จะขอทำแท้งตามคำขอของเขาภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย แพทย์ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ทำตามควาเห็นของแพทย์เช่นกัน อย่างไรก็ดี เมื่อแพทย์ปฏิเสธไม่ทำแท้งตามสิทธิของผู้หญิงที่เขามี แพทย์ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องส่งต่อไปให้กลุ่มแพทย์ที่ยินดีทำแท้งโดยไม่ชักช้า สิทธิของแพทย์นี้มีพื้นฐานมาจากเหตุที่ว่า เรื่องการทำแท้งในสังคม เราไม่อาจปฏิเสธได้ ว่ามีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนเรื่องสิทธิสตรี กับคนที่สนับสนุนการมีชีวิตอยู่ของตัวอ่อน และมีการโต้เถียงกันตลอดเวลา จนนำมาสู่การประนอมของสิทธิว่า ระยะครรภ์อ่อน ให้สิทธิผู้หญิงได้ แต่เมื่อมีระยะครรภ์ที่มากขึ้น ต้องเป็นสิทธิของตัวอ่อนในการมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ กฎหมายไม่สามารถบังคับทัศนคติของคนได้ แต่สามารถเขียนให้คนที่ทัศนคติต่างกันให้อยู่ร่วมกันได้ เหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ตนอยากจะเห็นในกฎเกณฑ์ของแพทยสภา และเป็นหน้าที่ของแพทยสภาเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นต่อไป
ประเด็นสุดท้ายที่ รศ.ดร.ปกป้องกล่าว คือ อายุครรภ์ที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ แม้ประมวลกฎหมายอาญาจะบัญญติไว้แล้วที่ 20 สัปดาห์ กล่าวคือ 12 สัปดาห์แรก เป็นสิทธิของผู้หญิงโดยสมบูรณ์ที่จะทำแท้งได้ แต่ช่วง 12-20 สัปดาห์ มาตรา 305 เปิดช่องว่า ถ้าผู้หญิงยืนยันว่าจะทำแท้ง ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมาย ในความเห็นของ รศ.ดร.ปกป้อง การทำแท้งแบ่งเป็น 2 กรณี หนึ่ง การทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง สอง การทำแท้งโดยปรากฏเหตุ สำหรับอายุครรภ์ที่เหมาะสม ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำหนดไว้ที่ 12 สัปดาห์ โดยมองว่าสิทธิของผู้หญิงในการจัดการเนื้อตัวร่างกายชนะสิทธิของตัวอ่อน ผู้หญิงควรมีสิทธิในการตัดสินใจตามความรู้สึกนึกคิดของตัวเองโดยไม่ต้องอ้างเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้หญิง อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศดังกล่าวก็มองว่าเมื่อเกิน 12 สัปดาห์ไปแล้ว สิทธิของตัวอ่อนจะมากกว่า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะอ้างว่ามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายได้ตลอดไป มันจะจบที่ 12 สัปดาห์ จะไม่มีการอนุญาตให้ทำแท้งประเภทตามคำขอของผู้หญิงอีกแล้ว แม้จะยังคงทำแท้งได้อยู่ แต่จะต้องมีเหตุอื่นใด หรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองเรื่องการประสานสิทธิ 2 อย่างนี้ อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ผู้หญิงตัดสินใจได้บริบูรณ์ หลัง 12 สัปดาห์ ในต่างประเทศ การทำแท้งผิดกฎหมาย แม้จะเป็นสิทธิของผู้หญิง แต่สิทธิของตัวอ่อนเอาชนะสิทธิของผู้หญิงได้แล้ว ในส่วนนี้ รศ.ดร.ปกป้องมองว่า การทำแท้งตามคำขอของผู้หญิงฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏเหตุอะไร น่าจะถอยออกมาที่ 12 สัปดาห์ เหมือนอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุผล 6 ประการดังต่อไปนี้ ที่ควรจะหยุดที่ 12 สัปดาห์เท่านั้น คือ
- อายุครรภ์น้อย การทำแท้งย่อมมีความปลอดภัยกับผู้หญิง
- ตัวอ่อนที่เกิน 12 สัปดาห์ เขาโตมากแล้ว และมีข้อบ่งชี้ถึงการมีชีวิตอยู่ของเขาพอสมควร
- 12 สัปดาห์น่าจะเป็นรยะเวลาที่มากพอแล้ว ที่ผู้หญิงจะตัดสินใจว่าตกลงจะทำแท้งหรือไม่ทำแท้ง
- ถ้าบอกว่าทารกอายุ 20 สัปดาห์ ถ้าคลอดออกมาก็ตายอยู่ดี หมายถึงความสามารถของทารกในการอยู่รอดต้องเกิน 24-26 สัปดาห์ไป เพราะฉะนั้น 20 สัปดาห์จึงทำแท้งได้ ตนมองว่าเป็นการกล่าวถึงสิทธิผู้หญิงฝ่ายเดียว ไม่ได้มองสิทธิของตัวอ่อนในการมีชีวิตอยู่เลย
- ส่วนใหญ่ในโลก 12 สัปดาห์
- หากเกิน 12 สัปดาห์ แต่มีเหตุที่กฎหมายกำหนด ก็ยังคงทำแท้งได้อยู่
ผศ.นพ.ชวรพจน์ เชาวะวณิช :
อธิบายในหลายประเด็น ดังต่อไปนี้
เริ่มแรก ได้มีการกล่าวเสริมในประเด็นของ รศ. ดร.ปกป้องว่า ผู้หญิงที่ตัดสินใจว่าอยากจะยุติการตั้งครรภ์ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม แล้วเดินมาพบแพทย์ มีกระบวนการอีกหลายขั้นตอนก่อนจะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ในประเทศไทยก็มีกระบวนการอย่างที่รศ.ดร. ปกป้องบอกอยู่แล้ว ทั้งแพทย์ และพยาบาลจะมีการพูดคุยถึงเหตุผลในการทำแท้ง มีส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจไม่ทำแท้ง แต่หากยืนยันจะทำแท้ง ก็จะเข้าสู่กระบวนการการทำแท้ง
ประเด็นเรื่องผลของการยุติการตั้งครรภ์ ถ้าทำอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด มีความปลอดภัยในระดับที่มากพอสมควร หากเทียบกับการทำแท้งเถื่อน หรือทำแท้งด้วยตัวเอง กฎหมายใหม่นี้ส่วนหนึ่งช่วยให้ผู้หญิงมีโอกาสได้รับการบริการสาธารณสุขที่ปลอดภัย และป้องกันตัวแพทย์ ให้มีความกล้าที่จะทำแท้งให้กับผู้หญิงมากขึ้น การทำแท้งเป็นเสมือนตราบาปของผู้หญิงเช่นกัน ซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ทำแท้งก็มีความขัดแย้งในจิตใจเช่นเดียวกัน ว่าจะเป็นการทำลายชีวิตหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุยกันมานานพอ ๆ กับเรื่องกฎหมาย ปีที่แพทยสภาออกข้อกำหนดตอน 2548 มันช่วยให้แพทย์มีความมั่นใจว่ามีข้อบังคับรองรับ แม้จะไม่มีผลทางกฎหมายเลย แต่พอมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาครอบคลุมข้อบังคับของแพทยสภาเดิม ก็ยิ่งเสริมความมั่นใจให้กับผู้ที่ทำการยุติการตั้งครรภ์มากขึ้นว่าจะไม่มีความผิดทางอาญา
ประเด็นเรื่องอายุครรภ์ ตามที่กฎหมายกำหนดว่า 12 สัปดาห์ สิทธิอยู่ที่สตรี แต่ถ้าเกิน 12 สัปดาห์ สิทธิจะไปอยู่ที่ทารก เรื่องนี้มุมมองทางการแพทย์ กับศาสนาความเชื่อต่าง ๆ ยังคงมีข้อขัดแย้งอยู่ ในส่วนของคำว่า “สิทธิ” ผศ.นพ. วรพจน์ตั้งข้อสังเกตว่าอะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งได้รับสิทธิ หากตอบว่าการมีชีวิต แล้วอะไรที่บ่งบอกว่ามีชีวิต เราเอาอะไรมากำหนด การเต้นของหัวใจ หรือการทำงานของสมอง ผศ.นพ. วรพจน์กล่าวว่าเราไม่มีจุดตัดว่าอะไรบ่งบอกว่ามีชีวิต ถ้ายึดว่าหัวใจ 5 สัปดาห์ก็มีหัวใจ ถ้าบอกว่าสมอง 2 สัปดาห์ หลอดเส้นประสาทก็เริ่มสร้างแล้ว และจะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ หรือหากเอาการหายใจเป็นจุดตัด กว่าปอดจะเริ่มสร้างก็ประมาณสัปดาห์ที่ 10 และทำงานได้ดีมากขึ้นตั้งแต่ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป ไม่มีตัวตัด 12 สัปดาห์ มีเพียงการอ้างอิงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่การที่กฎหมายเปิดช่องในมาตรา 305 (5) ส่วนหนึ่งตนเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าผู้หญิงที่มา บางทีอายุครรภ์ก้ำกึ่ง กว่าจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ อาจจะเกิน 12 สัปดาห์
ประเด็นต่อมา เรื่องสิทธิการปฏิเสธของแพทย์ ผศ. นพ.วรพจน์ก็มองว่าสามารถทำได้ไม่ว่าเหตุใด ๆ ก็ตาม แต่ในทางจริยธรรมทางการแพทย์ แพทย์มีหน้าที่จะต้องแนะนำสตรีไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่ยินดีจะทำ หรือสถานพยาบาลที่มีการยุติการตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีกลุ่ม RSA (Referral system of Safe abortion) ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์ที่ช่วยเหลือสตรีที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และรับปรึกษาให้คำแนะนำต่าง ๆ หากแพทย์บางคนไม่สะดวกก็สามารถส่งต่อไปยังกลุ่มนี้ได้ หรือโทรติดต่อที่สายด่วน 1663 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่ต้องทำ อย่างไรก็ดี ผศ. นพ.วรพจน์ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นของการละเว้นของแพทย์ ถ้าสมมติว่าสตรีนั้นมาเจอแพทย์ และแพทย์ไม่อยากทำจริง ๆ แต่เขามีภาวะที่มีลักษณะอันตรายต่อชีวิตอย่างรุนแรง ถ้าไม่ทำจะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คนไข้ประเภทนี้ เช่น ทำแท้งเถื่อนมา แต่ยังไม่แท้ง มีผลข้างเคียง กรณีเช่นนี้ ในฐานะแพทย์ ตนมองว่าไม่น่าปฏิเสธที่จะช่วยชีวิตคนไข้ได้ เพราะถ้าไม่ทำ อันตรายตกอยู่กับตัวคนไข้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์พึงระวังในกรณีนี้
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประเด็น มาตรา 305 (5) สำหรับกรณี 20 สัปดาห์ ว่าตนเข้าใจว่าน่าจะอ้างอิงมาจากการเจริญเติบโตของทารก ถ้าตามมาตรฐานของต่างประเทศ เด็กที่คลอดออกมาแล้วสามารถมีชีวิตรอดได้ บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เขาสามารถเลี้ยงเด็กที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์แล้วรอดได้ แต่ในประเทศไทยจะตัดที่ 24 สัปดาห์บวกลบ อย่างไรก็ดี โอกาสที่เขาจะเจริญเติบโตและรอดนั้นน้อยมาก นอกจากนี้ ส่วนที่เพิ่มเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเข้ามา เนื่องมาจากปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นปัญหาใหญ่พอสมควรในประเทศไทย อาจจะเป็นอันดับ 2 ของเอเซีย ปัญหานี้มีผลต่อทั้งตัวเด็ก ทารก ตลอดจนครอบครัวและสังคมของเขา กฎหมายปัจจุบันเปิดช่องให้แก้ปัญหาตรงจุดนี้ ผลกระทบต่อมารดา ด้วยความที่ยังเด็ก หรือวัยรุ่นสรีรวิทยาของเขายังไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนสตรีวัยเจริญพันธุ์ การเจริญเติบโตของทารกก็มีปัญหา และการคลอดก็จะมีปัญหา มีความเสี่ยงต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ก็จะมีภาวะแทรกซ้อน ทารกอาจจะตัวเล็กและมีความผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญในการตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่มาขอรับบริการหรือไม่ นอกจากนี้ โรคบางชนิด กว่าจะวินิจฉัยได้ก็เกิน 20 สัปดาห์ ตนอยากให้ดูว่าข้อนี้จะตกอยู่ที่ 305 (1) หรือ (2) ที่ไม่ได้กำหนดอายุครรภ์ เพื่อให้แพทย์ที่ดูแลสตรีตั้งครรภ์กรณีนี้ จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่มีความผิดทางอาญา
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้เป็นเพียงการทำแท้งทางเลือก ไม่ใช่การทำแท้งเสรี ไม่ใช่การสนับสนุนให้ทำบาป แต่ต้องการที่จะรักษาคนที่มีชีวิตแล้ว คือหญิง ให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยมีทางเลือกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังในแง่ของศีลธรรม ไม่ทำอะไรให้เกิดการผิดพลาดอันจะนำไปสู่การทำแท้งเสรี
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ กล่าวถึงประเด็นเรื่องของช่วงอายุว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าหญิงที่จะใช้สิทธิตามมาตรา 301 ที่เป็นสิทธิอิสระที่จะทำแท้งได้เมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์นั้นหมายถึงใครบ้าง ดังนั้น จึงหมายถึงผู้หญิงคนไหนก็ได้ และคุณแม่วัยใสด้วย ถ้าเราจะต้องมีการดูแลกลุ่มคนกลุ่มใดเป็นพิเศษ ระหว่างผู้เยาว์กับเด็ก เราจะดูแลกลุ่มไหน รศ.ดร.มาตาลักษณ์มองว่าถ้าไม่ใช่เด็ก กล่าวคืออายุกว่า 18 ปี น่าจะให้อิสระเขาเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว สำหรับเด็กก็มีเกณฑ์อายุช่วงต่าง ๆ มีประเด็นว่าเราจะเข้าไปแทรกแซงได้แค่ไหน ตนกังวลว่าถ้าเราปล่อยฟรีให้ผู้หญิงทุกคนทำแท้งเสรีได้เลยถ้าอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ ประกอบกับประสบการณ์และอายุน้อยอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มาตรา 301 ควรใช้กับทุกคนจริงหรือไม่ อาจจะต้องมีการระบุว่าถ้าหากเป็นบุคคลที่มีเกณฑ์อายุเท่านี้ อาจจะต้องทำภายใต้การปรึกษาของแพทย์ มีขั้นตอนต่าง ๆ มากกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นของผู้เยาว์หรือเด็กที่ทับซ้อนกับอำนาจปกครอง ตลอดจนคนที่ทำให้ท้อง ถ้าเรามองข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำแท้ง ส่วนใหญ่เพราะผู้ชายไม่รับผิดชอบ ไม่ใช่เพราะเรื่องสุขภาพ แต่ทำแท้งทางเลือกนี้มักจะเป็นกรณีที่ผู้ชายไม่รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นปัญหาที่ว่าผู้หญิงอยากทำแท้งและผู้ชายไม่ยอมให้ทำน่าจะน้อย สำหรับประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ชาย มีหลักของ ECHR ที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเนื้อตัวร่างกายที่ผูกพันกับสรีระของผู้หญิงโดยแท้ ผู้หญิงจึงควรมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเนื้อตัวร่างกายหรือชิ้นส่วนของเขาโดยตรง อย่างไรก็ดี ประเด็นของอำนาจปกครอง กฎหมายไทยมีปัญหาว่าเป็นนิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือไม่ ถึงแม้ว่าสิทธิเสรีภาพในการทำแท้งจะเห็นไปในทางเดียวกันว่าเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายโดยแท้ของผู้หญิงเจ้าของครรภ์ แต่กรณีที่เขายังเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ อาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง และให้ความระมัดระวังในการใช้อำนาจปกครอง อาจจะไม่สามารถฟังความเห็นผู้ปกครองให้ก้าวล่วงถึงการตัดสินใจได้ แต่อาจจะต้องมีกระบวนการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญรับรองเรื่องความปลอดภัยในด้านร่างกายและจิตใจ แม้จะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ยากที่จะเข้าสู่กระบวนการการตัดสินใจ และยิ่งเป็นเด็กที่มีความขัดแย้งกับครอบครัวประกอบกับสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กจะเดินเข้ามาใช้สิทธิโดยอิสระ ภายหลังหมออาจจะโดนพ่อแม่ฟ้องคดีได้
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ยกตัวอย่างว่า ในต่างประเทศ หลายคดีจะตัดสินตามหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ว่าระหว่างพ่อแม่กับหมอ ใครควรจะชนะคดี เช่น คดีเกี่ยวกับการแจกยาคุม หมอแจกยาคุมเด็กอายุ 13 ปี โดยพ่อแม่ไม่อนุญาต พ่อแม่รู้เข้าก็ฟ้องหมอหาว่าส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ จึงมีปัญหาระหว่างหลักเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็ก กับเรื่องของอำนาจปกครองของพ่อแม่ หลักเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็กในประเทศไทย เรามักจะหลงลืมไปและไปคิดแทนเด็ก ทั้งที่จริงแล้วการที่จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กตามหลักดังกล่าว มีวิธีคิด 2 รูปแบบ หนึ่ง การมองว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอำนาจสูงสุดที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ เหนือทุกอย่าง แต่ต้องใช้อย่างแคบ เพราะเขายังอยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีการใช้ว่ากรณีใดบ้างที่เด็กจะได้รับการคำนึงเป็นอันดับสูงสุด สอง คือ ทฤษฎีที่ว่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เราจะต้องคำนึงถึงเด็กเป็นอันดับแรก โดยชั่งน้ำหนักกับความเสียหายของคนอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ดี แม้ไม่มีใครวางหลักการอย่างชัดเจน คดีประเภทนี้ส่วนใหญ่หมอจะชนะ เพราะศาลมองว่าแม้ผู้ปกครองจะมีอำนาจปกครอง แต่การที่หมอตัดสินให้ยาคุมกับเด็กเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กในแง่ของสุขอนามัยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะรับผิดชอบสิ่งที่จะเกิดตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์หรือโรคติดต่อ การแจกถุงยาง ยาคุม จึงเป็นการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งถือว่าสำคัญยิ่งว่า
ในทางตรงกันข้าม ในหลายคดีจะมีการพิจารณาว่าถ้าการตัดสินใจใด ๆ จะเป็นอันตรายโดยตรงต่อเด็กอย่างเห็นได้ชัด จะใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กในลักษณะแรก เช่น อันตรายจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดกับตัวเด็กโดยตรง แม้ไม่ทันทีทันใด แต่ก็จะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะงั้นการตัดสินใจของเด็กที่เดินเข้ามาใช้สิทธิของในการคุ้มครองตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ต้องรับฟัง และการที่หมอสนับสนุนสิทธินี้จึงเป็นการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดที่แท้จริง และเหนือกว่าอำนาจปกครอง เช่นเดียวกับคดีที่หมอผ่าตัดเด็กแฝดสองคนออกจากกัน และพ่อแม่ตัดสินใจด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าจะเลือก ถ้าต้องอยู่ก็อยู่ทั้งคู่ ตายก็ตายทั้งคู่ แต่หมอคิดว่าตามหลักจะต้องรอดหนึ่งคนแน่นอน สุดท้ายก็โดนฟ้อง แต่หมอชนะเหมือนกันโดยเลือกประโยชน์สูงสุดของเด็ก เพราะหมอวินิจฉัยว่ามีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก แม้ยืนยันไม่ได้ 100% โดยคดีนี้มองว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กคือเสรีภาพในการตัดสินใจ เมื่อเด็กตัดสินใจไม่ได้ หมอเลยตัดสินใจแทนและได้รับความคุ้มครอง ตนจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้น่านำมาคิด ในกรณีที่เด็กจะเข้ามาขอคำปรึกษา หมออาจจะต้องมีแนวทางและข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อแนะนำเขา
สำหรับประเด็นเรื่องอายุครรภ์ที่ปลอดภัย รศ.ดร.มาตาลักษณ์มองว่ากรณีเด็กจำเป็นต้องมีด้วยหลายปัจจัย เช่น บางครั้งครรภ์ผู้เยาว์ไม่ปรากฏให้เห็น หรือเด็กไม่ได้สังเกตตัวเอง มัวแต่กลัว อาย คิดมาก ปล่อยให้อายุครรภ์ล่วงเลย 12 สัปดาห์ จึงควรมีมาตรา 305 (5) นอกจากนี้ การกำหนดอายุครรภ์ยังส่งผลดีในแง่การจำกัดดุลพินิจของหมอ ซึ่งมีความเสี่ยงอาจเกิดข้อผิดพลาดได้
ประเด็นสุดท้าย คือ วิธีการกับเหตุผล รศ.ดร.มาตาลักษณ์ให้ข้อสังเกตว่ากรณีของผู้ใหญ่ ควรจะต้องมีแนวทางว่าเหตุใดบ้าง เพราะมาตรา 301 เขียนเพียงว่าผู้หญิงยืนยัน ซึ่งน่าจะมีกฎหมายลูกออกมาว่าเหตุใดบ้างที่สามารถรับฟังได้ มิฉะนั้น จะกลายเป็นการทำแท้งเสรี ไม่ใช่การทำแท้งทางเลือกที่เราต้องการ จึงควรจำกัดเหตุผลในทางเลือก เช่น ประเทศฝรั่งเศส ต้องมีปัญหาทางจิตเวช มีความกดดัน หรือสภาพจิตที่บกพร่องขนาดไม่สมควรเลี้ยงลูก เป็นต้น ส่วนเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม อยากเที่ยว หากยอมรับทุกเหตุผล อาจจะทำให้หมอลำบากใจ เมื่อไม่เห็นด้วยกับเหตุผลก็มีหน้าที่ส่งต่ออีก แต่ถ้ามีกรอบก็จะแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ เช่น ผู้หญิงที่จะเข้ารับบริการก็จะต้องพิจารณาก่อนว่าอยู่ในเหตุดังกล่าวหรือไม่ หากไม่เข้าเหตุก็จะต้องเตรียมใจมาระดับหนึ่งว่าอาจถูกปฏิเสธ ในทางกลับกัน หมอจะสามารถปฏิเสธได้อย่างสะดวกใจมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนจะเป็นทางปฏิบัติของหมอมากกว่าความเห็นส่วนตัว อีกทั้ง ในส่วนของวิธีการขั้นตอน ความรวดเร็วนั้นจำเป็น แต่กรณีของเด็กกับผู้ใหญ่อาจจะต้องมีความแตกต่างกัน และอาจจะต้องมีการปรับความเข้าใจกันระหว่างครอบครัว เนื่องจากหลังจากทำแท้งก็ยังคงต้องพึงพาครอบครัวอยู่ จึงต้องมีการสร้างสมดุลในส่วนนี้ด้วย แต่ควรจะเป็นวิธีการที่รวบลัด และไม่ปล่อยเป็นสิทธิอิสระ 100%
ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยการรับฟัง และให้คำแนะนำให้เด็กได้คิดให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนกัน อีกทั้ง ควรเป็นหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กในรูปแบบที่ 2 ไม่ใช่การทำแท้งอิสระอย่างกรณีผู้ใหญ่ แต่สำหรับรูปแบบแรกก็เปิดช่องได้หากมีความขัดแย้ง และเกิดอันตรายโดยตรงต่อเด็ก ซึ่งหมอต้องมีบทบาทในการตัดสินใจนี้ให้เด็กได้รับความปลอดภัยมากที่สุด เพราะการทำแท้งอาจจะเป็นตราบาปไปตลอดชีวิตเขาก็ได้ และทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย (ผู้ดำเนินรายการ) :
ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ หรือ 20 สัปดาห์ แต่หญิงต้องการที่จะยุติการตั้งครรภ์ จะสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีเหตุเกี่ยวกับสุขภาพของมารดาหรือทารก
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท :
การทำแท้งมี 2 ประเภท คือการทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง กับการทำแท้งเพราะปรากฏเหตุ ซึ่งการทำแท้งประเภทที่สองนี้ มาตรา 305 ไม่ได้กำหนดอายุครรภ์ไว้เลย กล่าวคือ ถ้ามีการข่มขืน เหตุจากอันตรายต่อสุขภาพของหญิง ของทารกตัวอ่อน ทำแท้งได้แม้เกิน 20 สัปดาห์ ดังนั้น หากเกิน 20 สัปดาห์ไปแล้ว และไม่ปรากฏเรื่องอันตรายต่อสุขภาพของกายจะทำแท้งได้หรือไม่ ก็เป็นกรณีของอันตรายต่อสุขภาพของจิตนั่นเอง ต้องพยายามอธิบายให้ได้ว่าหากตั้งครรภ์ต่อไปผู้หญิงอาจจะมีปัญหาทางจิต ความนึกคิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้โดยอ้างเหตุดังกล่าว
ผศ.นพ.วรพจน์ เชาวะวณิช :
กล่าวเพิ่มเติมจาก รศ.ดร.ปกป้อง ว่าการที่เราจะอ้างเหตุว่าเป็นอันตรายต่อจิตนั้น เป็นช่องโหว่ของข้อกำหนดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของแพทยสภาเดิม ก็ระบุกรณีนี้เช่นกัน แต่ใครจะเป็นคนประเมินว่าอันตรายนี้มีผลต่อจิตใจของมารดา ต้องเป็นจิตแพทย์หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะการที่จะบอกว่าผู้หญิงคนนึงมีสภาวะจิตใจที่ไม่คงที่ โดยทางจิตเวชศาสตร์ มีเกณฑ์การวินิจฉัยอยู่ ต้องนำเกณฑ์มาปรับหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
กล่าวเสริม ผศ.นพ.วรพจน์ในเรื่องการเขียนข้อกำหนด ว่าควรจะกำหนดให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในต่างประเทศ อาการทางจิตเวชจะต้องเป็นแพทย์จิตเวช ยิ่งถ้าเป็นเด็กจะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ถ้าเทียบตามกฎหมาย ในส่วนของ domestic violence ก็มีประเด็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพเด็กที่ขยายจากประมวลกฎหมายอาญา ความรุนแรงในครอบครัวขยายไปถึงอาการทางจิตเวช ต้องมีอาการแล้ว แต่กรณีทำแท้งนี้เหมือนเป็นการป้องกันล่วงหน้า จึงมีประเด็นว่าถ้ามีแต่ความเสี่ยง แต่ยังไม่เกิดอาการ จะนำมาเป็นเหตุได้หรือไม่ และถ้าหมอต้องประเมินตรงกันกับทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา จะทำให้กระบวนการล่าช้าหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้รวดเร็วขึ้น
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย :
มาตรา 301 กับมาตรา 302 ต่างกันอย่างไร
ศ. ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
มาตรา 301 กฎหมายมุ่งที่จะลงโทษหญิง ไม่ว่าจะทำแท้งด้วยตัวเอง หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้ง เช่น การทำแท้งเถื่อน แต่ปัจจุบันถ้าไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่ว่าจะทำเองหรือให้คนอื่นทำ หญิงไม่ผิด ซึ่งมาตรา 302 ก็จะสอดคล้องกัน ใครก็ตามที่มาทำแท้งก็จะผิดด้วย แม้หญิงยินยอม
ประเด็นมาตรา 305 หากแพทย์ทำต้องมีกฎระเบียบรับรอง และบัญญัติชัดเจนใน (3) ไม่งั้นหมอจะผิดตาม 302 แต่หญิงจะรอดเพราะไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่แม้ยอมหมอก็ยังผิด มาตรา 305 จึงต้องมายกเว้นความผิด การแก้ไขกฎหมายนี้ อาจจะมีปัญหาตามมา เพราะเกี่ยวพันกับการแพทย์ สังคม วัฒนธรรม ครอบครัว เพราะเด็กที่อายุต่ำกว่าวัยรุ่นก็ตั้งครรภ์ได้ ตนมองว่าหลักเกณฑ์ต้องทำเป็นข้อบังคับ และข้อแนะนำเรื่องการช่วยเหลือ บางครั้ง 12 สัปดาห์อาจจะยังไม่รู้ตัว ทำอย่างไรให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อสังเกตต่อไปนี้
มาตรา 305 (10) กรณีหญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ แพทย์ต้องวินิจฉัยอายุครรภ์ เมื่อตนพาภรรยาไปตรวจ หมอจะถามว่าประจำเดือนมาวันแรกเมื่อไหร่ เพื่อวินิจฉัยอายุครรภ์ ปัญหาคือถ้าคนไข้บอกผิด หรือจงใจเพื่อจะให้เข้าเหตุ หากไม่ชัดเจนก็อาจจะต่อสู้เรื่องข้อเท็จจริงได้ แต่ถ้าไม่ชัดเจนก็ต้องทำให้ชัดเจน ตนไม่อยากให้กฎหมายใหม่นี้เป็นอุปสรรคกับทุกฝ่าย
มาตรา 305 (3) กรณีหญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ แต่เดิมต้องมีใบแจ้งความ แต่เกรงว่าจะเกิดความอับอาย เมื่อตัดส่วนนี้ออก ความรับผิดน่าจะอยู่ที่ผู้ยืนยัน ทั้งนี้ ต้องเป็นความผิดทางเพศที่ทำให้ตั้งครรภ์ได้ ตนมองว่าส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ว่าไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศทุกฐานจะเข้าเหตุดังกล่าว
ในเชิงนโยบาย สภาพสังคมที่เริ่มเปลี่ยนนี้ ตนเชื่อว่าไม่มีใครอยากตั้งครรภ์ จึงควรมีการตกลงกันว่าหน่วยงานใดจะต้องดูแล เช่น โรงเรียน ครอบครัวควรต้องมีหน้าที่ดูแลและให้ความรู้ แต่เดิมการตั้งครรภ์ก่อนสมรสเป็นเรื่องร้ายแรง ครอบครัวเป็นอุปสรรค แต่ปัจจุบันการตั้งครรภ์อาจจะเป็นเรื่องปกติ และจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป แต่กฎหมาย และการแพทย์จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะแพทยสภา ทั้งหลักเกณฑ์ที่ต้องทำ และคำแนะนำ เกณฑ์สำหรับกรณีต่าง ๆ ที่ชัดเจน และน่าจะต้องมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ รัฐอาจจะต้องจัดให้การทำแท้งถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเช่นเดียวกับการรักษาพยาบาล และในเรื่องของความยินยอม ตนมองว่าไม่น่าจะต้องผูกพันกับการบรรลุนิติภาวะในทางแพ่ง แต่จะต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน จนเกิดความยินยอมโดยแท้จริง มิใช่ความยินยอมโดยสำคัญผิด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำหน้าที่เหล่านี้ด้วย
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย (ผู้ดำเนินรายการ) :
กรณีหญิงต้องการทำแท้ง ถือเป็นสิทธิการรักษาพื้นฐานหรือไม่
ผศ.นพ.วรพจน์ เชาวะวณิช :
สิทธิการรักษา การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยปกติกระบวนการยุติการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะด้วยยา หรือขูดมดลูก ถูกครอบคลุมด้วยสิทธิการรักษาอยู่แล้ว
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย (ผู้ดำเนินรายการ) :
ถ้าตรวจครรภ์แล้ว มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ กับอีก 1 วัน หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีสิทธิในการทำแท้งในส่วนที่ว่าไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือเข้าข่ายมาตรา 305 ที่ว่าเกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
มองว่าถ้าชัดเจนว่า 12 สัปดาห์ ก็ต้องตีความเคร่งครัด ยกเว้นจะดำน้ำไป แต่หากพิจารณาตามหลักกฎหมาย ศาลจะต้องลงโทษเพราะเป็นความผิด แต่ทางความเป็นจริงน่าจะยากสำหรับการพิสูจน์
ผศ.นพ.วรพจน์ เชาวะวณิช :
ประจำเดือนผู้หญิงแต่ละคนไม่เท่ากัน และตนเชื่อว่าเกิน 50% จำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเกณฑ์วันแรกของรอบสุดท้าย ไม่มีทางมั่นใจได้ หรือต่อให้มั่นใจ ด้วยความที่ประจำเดือนผู้หญิงแต่ละคนไม่เท่ากัน ระยะเวลาการตกไข่ไม่เท่ากัน จริง ๆ การที่เรานับประจำเดือนวันแรกของรอบสุดท้ายเป็นตัวตั้งต้น แล้วกำหนดวันคลอด เป็นเพียงจุดหนึ่งเท่านั้น แต่กระบวนการตั้งครรภ์จริง ๆ ไม่ได้เกิดวันแรกของการมีประจำเดือน แต่เกิดเมื่อตกไข่ มีอสุจิไปผสม และเกิดการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ วันที่ปฏิสนธิ เราไม่มีทางบอกได้ และแม้โดยปกติเฉลี่ยประจำเดือน 28 วัน การตกไข่จะอยู่ที่วันที่ 14 ของรอบเดือน แต่ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน ในทางปฏิบัติ ถ้าต้องการความแม่นยำ จะใช้อัลตราซาวด์กำหนด แต่หากต่างกันเพียงหนึ่งวัน และจำประจำเดือนได้แม่นมาก อาจจะเชื่อประจำเดือน แต่ถ้าหากต่างกันเป็นสัปดาห์ อาจจะต้องเชื่ออัลตราซาวด์มากกว่า และมาตรา 305 (5) ก็รองรับกรณีที่เลยไปแล้ว น่าจะสบายใจได้ทั้งผู้รับและให้บริการว่าครอบคลุมอยู่ในกฎหมาย
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท :
กล่าวว่า สำหรับอายุครรภ์ ตนมองว่าแพทยสภาสามารถออกกฏเกณฑ์เหล่านี้ได้ อย่างกฎหมายอังกฤษ ถ้าแพทย์กระทำโดยสุจริต แพทย์ไม่ผิด แม้ข้อมูลอาจจะคลาดเคลื่อนบ้าง แต่หากเชื่อสุจริต และสมเหตุสมผล กฎหมายก็จะคุ้มครอง ถ้าหากเขียนแบบนี้น่าจะช่วยพอสมควร
นอกจากนี้ ทางกฎหมายอาญา ถ้าแพทย์ได้ข้อมูลและเชื่อโดยสุจริตว่ากำลังจะทำแท้งภายใต้กรอบของกฎหมาย กฎหมายอาญามีหลักเรื่องการสำคัญผิด ซึ่งการเข้าใจว่ากำลังทำแท้งโดยชอบจะได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 62 ของประมวลกฎหมายอาญา
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในทางปฏิบัติ แม้กฎหมายจะยกเว้นความรับผิดของแพทย์ แต่หากมีคนไปแจ้งความกับตำรวจ จะมีการตั้งข้อหาก่อนแล้วไปแก้ต่างในศาลภายหลังหรือไม่
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท :
ตนมองว่ากฎหมายนี้น่าจะคลายความกังวลของแพทย์ได้เยอะมาก เพราะในอดีตเราคุ้มครองสิทธิตัวอ่อนตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์ และไม่เปิดโอกาสให้ทำแท้งเลย เว้นแต่จะไปปรากฏข้อยกเว้นต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่กฎหมายปัจจุบันปลดล็อกแล้วที่ 12 สัปดาห์ และแทบจะเป็นหลักไปแล้วว่า 12 สัปดาห์แรกเป็นสิทธิของผู้หญิงในการจะตัดสินกับเนื้อตัวร่างกายตัวเอง แม้ไม่ปรากฏเหตุหรืออ้างเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้นเลย เป็นเหตุผลส่วนตัวและยืนยันที่จะทำแท้งก็สามารถทำแท้งได้ ตนจึงมองว่ามิติจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องตามไปจับ และให้หมอแก้ตัวว่าเข้าเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ การทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมายในอายุครรภ์ที่เหมาะสมอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ทั่วไป และกลายเป็นเหมือนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามปกติ ที่คงไม่มีใครตามแจ้งความแล้วบอกว่ามีการทำแท้ง คงหมดสมัยและเปลี่ยนมิติทางกฎหมายไปแล้ว ตนมองในแง่บวกแบบนั้นว่ากฎหมายใหม่เปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดจริง ๆ คงไม่เป็นเรื่องที่มีคนคอยไปแจ้งความว่าที่นี่ทำแท้งและจะต้องคอยพิสูจน์กัน