สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการหัวข้อ “ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่?” จัดโดยศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 9.00-12.00 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
- คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
อ.ดร.ญาดา กล่าวสวัสดีผู้เข้าร่วมงานเสวนา กล่าวแนะนำวิทยากร และสืบเนื่องมาจากการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา จำนวน 2 ฉบับ กล่าวคือ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้จัดงานเสวนาในครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดทั้งสองฉบับใหม่นี้
การเสวนาช่วงที่ 1
คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) (วิทยากร)
คุณอุกฤษณ์กล่าวถึงแนวความคิดต่าง ๆ ที่นำมาซึ่งหลักการในการแก้ไขกฎหมายกฎหมายยาเสพติด โดยกฎหมายใหม่นี้มีเป้าประสงค์ที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ที่มีมาอย่างยาวนานและเรื้อรัง สิ่งแรกที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนคือ สถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติด จากข้อมูลล่าสุด (วันที่ 1 ธันวาคม 2564) จะเห็นว่า นักโทษคดียาเสพติดมีจำนวนสูงถึงประมาณ 187,000 คน สัดส่วนร้อยละของคดียาเสพติดเมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษทั่วประเทศ (ผู้ต้องขังเด็ดขาด) มีประมาณ 66% นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ต้องขังระหว่างถูกดำเนินคดี (ฝากขังระหว่างการสืบสวนสอบสวน ระหว่างการการพิจารณาคดีของศาล) อยู่ประมาณ 40,000 กว่าราย (คิดเป็น 15%) เมื่อนำมารวมกันแล้ว จะมีผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดจำนวนประมาณ 230,000 คน (คิดเป็น 81% เทียบกับผู้ต้องขังทั่วประเทศ) เป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อจำนวนผู้ต้องขังที่มีมาก ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบำบัดฟื้นฟู ประสิทธิภาพของเรือนจำ กลไกต่าง ๆ ที่ใช้ในการดูแลจึงไม่เพียงพอ นำมาซึ่งงบประมาณที่จะต้องใช้เพื่อจัดการ ทรัพยากรและกระบวนการคืนเขาสู่สังคม
เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี (นับแต่ปี 2551) จะพบว่า นักโทษเด็ดขาดคดียาเสพติดมีอยู่ประมาณ 70,000 คน ผู้ต้องขังระหว่างการดำเนินคดีมีประมาณ 20,000 คน (คิดเป็น 54%) เมื่อนำมาพิจารณาแล้วจะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของไทยอาจจะมีปัญหาบางประการ
การใช้งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ในการจัดการดูแลในปี 2564 ประมาณ 14,195 ล้านบาท และงบประมาณของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประมาณ 3,128 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนงบประมาณที่ไปอยู่ส่วนปลายน้ำสูงมาก ส่วน ป.ป.ส. ที่มีภารกิจโดยตรงในการจัดการปัญหายาเสพติดกลับมีงบประมาณน้อยกว่า จึงอาจจะสะท้อนถึงความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ
แม้ว่าจะมีงบประมาณในการดูแลและจัดการปัญหา แต่สถิติของ UNODC (1998-2019) ทั่วโลก ปริมาณของสารเสพติดจะเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศไทยก็จะอยู่อันดับ 2 ของโลกในแง่การรายงานจับกุมยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนในปี 2018-2019 รองมาจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และไทยมีสัดส่วนที่สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งสถิติเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดเมทแอมเฟตามีนของประเทศไทยก็มีจำนวนสูงขึ้น (2003-2019) จากอัตราต่อ 100,000 คน เพิ่มเป็น 700,000 คน
จากสถิติที่กล่าวมาข้างต้นจึงสะท้อนการดำเนินนโยบายด้านยาเสพติดว่ามีปัญหา จึงนำมาสู่คำถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร อาจจะพิจารณาจากสาเหตุก่อน โดยสาเหตุประการหนึ่งนั้น แน่นอนว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในอดีตมีปัญหา กล่าวคือ กลไกในการจัดการและการแบ่งแยกกลุ่มผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน เช่น ไม่สามารถแยกผู้ค้ารายย่อยกับผู้ค้ารายใหญ่ออกจากกัน ไม่สามารถแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า เป็นต้น การมีบทสันนิษฐานเด็ดขาด จึงกวาดทุกคนไปรวมไว้ด้วยกันหมด การที่กฎหมายไม่เอื้อต่อระบบสาธารณสุขหรือระบบบำบัดที่เป็นแบบสมัครใจ การมีสินบนนำจับที่นำไปสู่การจับกุมมากขึ้นแต่ไม่ได้จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ ระบบบำบัดฟื้นฟูและกลับคืนสู่สังคมที่มีปัญหา ผู้ป่วยกลายเป็นอาชญากร กระบวนการบำบัดที่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้ขาดประสิทธิภาพ การมีประวัติอาชญากรทำให้ไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ มายาคติของสังคม(ในหลายกรณีเราจะคุ้นเคยกับภาพจำในสื่อต่าง ๆ ทำให้เชื่อว่าการเสพยาเสพติดไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ส่งผลเสียจนเกิดอาการบ้าคลั่ง ซึ่งในทางการแพทย์ได้มีการศึกษาและพบว่า ไม่ใช่สารเสพติดทุกประเภทที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขนาดนั้น)
แนวคิดในการแก้ไขปัญหา ประการแรก ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ใช่ความผิดที่เป็นความผิดในตัวมันเอง (mala in se) แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนด (mala prohibita) อันเป็นเป้าประสงค์ในทางนิตนโยบายเพื่อรักษาความสงบสุขของสังคม ฉะนั้น กระบวนการในการกำหนดความผิด เมื่อเป็นความผิดที่กฎหมายห้าม นิตินโยบายจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เช่น โปรตุเกสที่มีแนวทางในการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร เป็นแนวคิดพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายไทยเดิม
ในรูปแบบของนิตินโยบายของเรื่องนี้ เมื่อเป็นความผิดที่กฎหมายห้าม สังคมก็จะมีทางเลือกได้มากขึ้น ในมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินคดี เช่น ในหลายประเทศเลือกว่าเป็นความผิดทางอาญา บางประเทศเลือกว่าเป็นความผิดทางอาญาแต่ยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ บางประเทศเลือกว่าไม่เป็นความผิดทางอาญา (หลายประเทศในยุโรปใช้) หรือบางประเทศก็ทำให้ถูกกฎหมายไปเลย โดยนำมาตรการทางสาธารณสุขหรือทางปกครองมาช่วย
ในรูปแบบของประเทศโปรตุเกสโดยสังเขปคือ จะใช้การจับและคัดกรองก่อน มีคณะกรรมการยับยั้งการใช้สารเสพติด มีการตั้งศูนย์คัดกรอง การเข้าโปรแกรมบำบัด การพบแพทย์ การรับยาหรือสารทดแทน การทำกิจกรรมชุมชน การพบนักจิตวิทยา มาตรการทางสาธารณสุขที่อาศัยมาตรการทางชุมชนเข้ามาช่วย การคุมประพฤติ มาตรการทางปกครองที่มีการรายงานตัว การจำกัดการติดต่อกับบุคคลที่กำหนด การจำกัดการเดินทางที่เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดมากขึ้น การยึดใบขับขี่หรือใบประกอบวิชาชีพ เป็นต้น กระบวนการติดตามผลที่เป็นสิ่งสำคัญ การตั้งตัวชี้วัดที่ถูกต้อง ซึ่งจะอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ของไทย
คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (วิทยากร)
คุณมานะ กล่าวว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 และจะยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดประมาณ 29 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ ส่วนกฎหมายลำดับรองของกฎหมายเหล่านี้จะยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีการออกกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่ออกมา โดยในตัวประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มีกรอบแนวคิดสำคัญที่สะท้อนอยู่ใน 184 มาตราของกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้
กรอบนโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน การปราบปราม และการแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดโครงสร้างกลไกในการบริหารจัดการปัญหายาเสพติดซึ่งมีความสอดคล้องกัน ที่แต่เดิมจะกระจัดกระจายตามกฎหมายแต่ละฉบับ ขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
กรอบนโยบายตัวยาเสพติดที่เกี่ยวกับการนำไปใช้ทางการแพทย์และเศรษฐกิจอย่างมีความเหมาะสมและสมดุล
กรอบการมองปัญหาผู้เสพในมิติของปัญหาสุขภาพ มิใช่เรื่องอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว การให้โอกาส ให้ความช่วยเหลือ และให้การสงเคราะห์
กรอบนโยบายทางอาญาในการลงโทษผู้กระทำความผิดให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับการกระทำผิด มีการเป็น 3 กลุ่ม คือ นายทุน แรงงาน และเหยื่อ
และกรอบการดำเนินการทำลายเครือข่ายยาเสพติดมากกว่าการดำเนินการกับกลุ่มแรงงาน แผนกคดีทรัพย์สินไม่ผูกติดกับแผนกคดีอาญา และให้ริบทรัพย์สินตามมูลค่า
โดยในประมวลกฎหมายนี้ หลักการสำคัญจะมี 5 กลุ่มคือ นโยบายและกลไกในการแก้ไขปัญหา มาตรการควบคุมตัวยาเสพติด มาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน กองทุนฯ การบำบัดรักษา และความผิดและบทลงโทษ
ในประมวลกฎหมายฉบับนี้จะแบ่งเป็น 3 ภาค โดยภาค 1 การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด โดยมีสาระสำคัญ เช่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายและแผนในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไข การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการในรูปคระกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นกลไกหลักด้านนโยบาย คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดรับผิดชอบด้านการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดรับผิดชอบด้านการบำบัดดูแลผู้เสพหรือผู้ติดยาเพสติด และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและยึดทรัพย์สิน นโยบายในการควบคุมตัวยาเสพติด ในส่วนของยาเสพติด กฎหมายนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาเสพติดให้โทษ (แบ่งเป็น 5 ประเภท) วัตถุออกฤทธิ์ (แบ่งเป็น 4 ประเภท) และสารระเหย และกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองให้มีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อทดลองหรือทดสอบเกี่ยวกับการปลูกพืชที่เป็นยาเสพติดเพื่อการศึกษาวิจัย ลดอันตรายจากการใช้ หรือเพื่อป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหา มีการกำหนดทิศทางใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ริบทรัพย์สิน และการทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด ให้อำนาจในการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มีการขยายอำนาจการดำเนินการต่อทรัพย์สินตามแนวทางการริบทรัพย์สินตามมูลค่า (value-based confiscation) โดยการคำนวณรายได้หรือมูลค่าจากการค้ายาเสพติดของผู้ต้องหาและให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติดนั้น ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินอื่นทดแทนทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด มีกองทุนเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น
ในภาค 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด โดยมีสาระสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาผู้เสพหรือผู้ติดในมิติทางสาธารณสุขและสุขภาพ ให้โอกาสกลับตัว ผู้เสพหรือครอบครองในจำนวนเล็กน้อย (ตามกฎกระทรวงกำหนด) สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี มีการปรับระบบการบำบัดรักษาทั้งระบบ จากระบบสมัครใจ ระบบบังคับ และระบบต้องโทษมาเป็นระบบสมัครใจและระบบบำบัดตามคำสั่งศาล การมีศูนย์คัดกรองที่ทำหน้าที่คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพรวมถึงการส่งไปบำบัดและการจัดทำประวัติ การมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมที่ติดตามดูแล ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้ารับการบำบัด ให้ได้รับสวัสดิการทางสังคม สนับสนุนที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว โดยไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ เป็นต้น
ในภาค 3 บทกำหนดโทษ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การปรับนโยบายทางอาญาด้วยการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ไม่มีโทษขั้นต่ำ เว้นแต่เป็นเรื่องการค้าโดยหัวหน้าหรือผู้สั่งการ การยกเลิกบทสันนิษฐานการมีไว้ในครอบครอง การเพิ่มบทสันนิษฐานการครอบครองเพื่อเสพ ปรับระบบการลงโทษเน้นที่การปราบปรามองค์กรอาชญากรรมที่ทำผิดร้ายแรง พิจารณาจากพฤติการณ์และผลกระทบที่ร้ายแรง และเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษให้เหมาะสม การลดทอนความผิดที่ไม่ร้ายแรง (เสพ/ครอบครองเพื่อเสพ) หากจะลงโทษจำคุก ให้ศาลคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้เลิกเสพโดยการบำบัด เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นวิธีการอื่นเพื่อความปลอดภัย หรือนำเงื่อนไขการคุมประพฤติมาใช้ ปรับปรุงกระบวนการบังคับโทษปรับให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา
โดยในแง่การจัดการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเหยื่อที่เป็นผู้ใช้สารเสพติดหรือผู้เสพ เด็กและเยาวชน ก็จะมีมาตรการบำบัดฟื้นฟู มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก ให้การดูแลช่วยเหลือ สร้างภูมิคุ้มกัน กลุ่มแรงงาน ก็จะมีมาตรการบำบัดรักษา มาตรการของการขยายผลไปยังเครือข่าย มีการลงโทษทางอาญาและลดโทษหากให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ และกลุ่มของนายทุน ก็จะมีมาตรการโทษทางอาญาที่รุนแรงเด็ดขาด มาตรการสมคบหรือการสนับสนุน มาตรการริบทรัพย์สิน (รวยขึ้น/ทดแทน/ตามมูลค่า)
โดยในกฎหมายนี้ มีการกำหนดบทลงโทษประการหนึ่งที่ประชาชนควรรับรู้ไว้ กล่าวคือ การที่บุคคลที่ยอมให้ใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐาน ไปเปิด จด หรือลงทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้า หรือยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรง มีบทลงโทษจำคุก 3 ปีหรือปรับ 60,000 บาท ดังนั้น ตนจึงอยากขอเตือนประชาชนทุกท่านว่าต่อจากนี้ไม่ควรยอมให้ผู้อื่นนำชื่อหรือเอกสารไปใช้เพราะจะเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางกฎหมายในบทบัญญัตินี้
ประโยชน์ของการมีประมวลกฎหมายยาเสพติด คือ ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการบูรณาการในการจัดการปัญหายาเสพติด ผู้กระทำผิดได้รับโทษเหมาะสมและได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำ มีมาตรการในการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดมากขึ้น (การริบทรัพย์แบบทดแทนและตามมูลค่า) ศาลมีดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือมาตรการอื่นได้เหมาะสมมากขึ้น มีระบบการฟื้นฟูและให้โอกาสแก่ผู้เสพหรือครอบครองเพื่อเสพสมัครใจเข้าบำบัดแทนการดำเนินคดี ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจะได้รับการช่วยเหลือจากสถานฟื้นฟูสภาพทางสังคม
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวถึงข้อสังเกตในเรื่องรูปแบบของกฎหมาย โดยสาเหตุที่ต้องมีประมวลกฎหมายยาเสพติดเพราะว่าแต่เดิมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดมีจำนวนหลายฉบับมาก (อย่างน้อยก็ 6 ฉบับ) จึงต้องการมีการบูรณาการให้มาอยู่ภายใต้นโยบายเดียวกันแบบที่คุณมานะได้กล่าวไป โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นแบบเปลี่ยนเนื้อหาและเปลี่ยนมาตราใหม่ ตนจัดเป็นประมวลกฎหมายลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ประโยชน์ของการมีประมวลกฎหมายจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น คนใช้กฎหมายก็จะเจอปัญหาของการมีบทบัญญัติที่ข้อความขัดกันน้อยลง โดยตนเข้าไปมีส่วนร่วมในพิจารณาประมวลกฎหมายฉบับนี้ตอนที่รัฐบาลชุดนี้ยกขึ้นมาอีกรอบ รัฐบาลก็เร่งรัดมาก ในที่สุดก็มาทบทวนได้ไม่มาก ตอนที่ตนดูโครงสร้างของประมวลกฎหมายก็เห็นว่า มีความซับซ้อน แต่ตนก็เห็นว่าทำได้ดีและเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ ส่วนในการใช้ประมวลกฎหมายของไทยนั้น จะต้องมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติให้ใช้นี้จะมีความสำคัญในช่วงต้นของการใช้ประมวลกฎหมายมาก เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านกฎหมาย (transitional period) โดยในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ (พ.ร.บ.ให้ใช้ฯ) จะมีอยู่ 24 มาตรา
ในเรื่องของบทสันนิษฐาน แต่เดิมมีบทสันนิษฐานเด็ดขาด (‘ให้ถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย’) และมีการแก้ไขเป็นบทสันนิษฐานไม่เด็ดขาด (‘ให้สันนิษฐานว่า’) แต่ว่าอัตราผู้ต้องขังก็ไม่ได้ลดลง (แม้สถิติไม่ได้บอกชัด แต่รู้ว่าจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดส่วนใหญ่ในจำนวน 80% ตามสถิติที่คุณอุกฤษฏ์กล่าวมาจะเข้าข้อสันนิษฐานเด็ดขาดนี้) และสิ่งหนึ่งที่ตนแคลงใจในวิธีปฏิบัติคือ การยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีจบไป จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณคนในเรือนจำไม่ได้ลดลง โดยใน พ.ร.บ.ให้ใช้ฯ จะมีบทกำหนดให้ใช้บทสันนิษฐานเดิมไปก่อนในบางคดีไว้ในมาตรา 21 ด้วย
ในเรื่องสัดส่วนการระวางโทษ เมื่อพิจารณาในประมวลกฎหมายยาเสพติดในภาค 3 บทกำหนดโทษ หลายเรื่องก็ยังดูรุนแรง เช่น ในมาตรา 126 กรณีการลงโทษการพยายามกระทำในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเท่ากับความผิดสำเร็จ แต่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ คิดว่าในอนาคตก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เป็นต้น หรือในความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก ที่เคยมีปัญหาเพราะโทษเดิมรุนแรงมาก ในกฎหมายใหม่ จึงให้ศาลมีดุลพินิจมากขึ้น ตามผลกระทบกับความรุนแรงของการกระทำ
กรณีมาตรา 127 ที่เป็นการสมคบในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือองค์กรอาชญากรรม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดเพราะที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จน้อยมากในการจับกุมรายใหญ่ และมีหลายกรณีที่ผู้ที่อยู่ในที่จับกุมถูกจับไปทั้งหมด เช่น จับกุมสามีภริยา จับกุมทั้งครอบครัว ซึ่งบางทีคนในครอบครัวอาจจะไม่รู้ถึงการกระทำของผู้ที่ถูกจับกุมก็ได้ หากมีการจับแบบเหมารวมทั้งหมดจึงเห็นว่าน่าจะเป็นการไม่ค่อยแยกแยะเท่าไรนัก แน่นอนว่าก็มีหลายกรณีที่มีการกระทำร่วมกันของทั้งครอบครัวเลย ตนจึงให้ข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้
ในฐานความผิดของกลุ่มผู้เสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ก็มีโทษที่เบาขึ้นในกฎหมายใหม่ (กฎหมายเดิมคือ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี/ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท/ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกฎหมายใหม่คือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี/ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท/ทั้งจำทั้งปรับ) ซึ่งกรมราชทัณฑ์น่าจะมีงานเพิ่มขึ้น เพราะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 (กฎหมายใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายเดิม) เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง แม้กฎหมายจะกำหนดไว้ แต่ตนก็ไม่แน่ใจว่า พนักงานอัยการจะจัดการหรือไม่เพราะคดีจบไปแล้ว หรือผู้กระทำความผิดเขาจะรู้กฎหมายมากน้อยเพียงใด ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการขึ้น เช่น กระทรวงยุติธรรมสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อให้ผู้ต้องโทษได้รับประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
ในเรื่องการบังคับใช้ สิ่งหนึ่งที่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ค่อนข้างเห็นด้วยมาก คือ ในการลงโทษตามมาตรา 165 ได้มีการกล่าวถึงการให้ศาลคำนึงถึงการสงเคราะห์เลิกยาเสพติดโดยการบำบัดยิ่งกว่าการลงโทษ เพราะว่าเมื่อผู้ที่เข้าสู่วังวนยาเสพติดแล้วจะออกมายากมาก และมีการให้พิจารณาโทษให้เหมาะสมแก่จำเลยแต่ละคน ซึ่งตนดีใจมาก เพราะตนพูดเรื่องนี้มาเกือบ 30 ปี โดยการหาข้อมูลของผู้กระทำผิดจะอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติปี 2559 ที่ศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะประวัติเพื่อประกอบการพิจารณาคดีหรือประกอบดุลพินิจในการลงโทษได้ การสืบเสาประวัตินี้เป็นสิ่งที่ควรทำในทางปฏิบัติให้มากขึ้น และตนอยากเสนออีกประการคือ หากพนักงานสอบสวนสามารถรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดแต่ละคนได้ อาจจะมีประโยชน์ในการไปสู่มาตรการอื่นๆแบบที่คุณมานะได้กล่าวไปแล้วก็ได้ (เช่น เป็นแค่วัยรุ่นแล้วลองเสพ ก็ส่งตัวบำบัดฟื้นฟูแทนที่จะดำเนินคดีทันทีเลย) และ ป.ป.ส. จะทำอย่างไรให้ข้อมูลกฎหมายเหล่านี้ไปถึงระบบของศาลด้วย
แม้ในกฎหมายใหม่จะให้อำนาจศาลในการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย แต่ในทัศนะของ ศ.ดร.สุรศักดิ์แล้ว เห็นว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัยจะมีปัญหาทันทีในทางปฏิบัติ เช่น การทำงานแทนค่าปรับแทบที่แทบไม่ถูกใช้ในทางปฏิบัติเลย
ในเรื่องนโยบายยาเสพติด ตนอยากให้เกิดผลขึ้นอย่างจริงจัง กล่าวคือ กฎหมายเปลี่ยนแล้ว จะลดปริมาณผู้กระทำความผิดได้จริงหรือไม่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยไม่ค่อยได้พูดถึงคือ การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost & Benefit analysis) ซี่งดูจากสถิติที่คุณอุกฤษฏ์กล่าวมาก็มีแต่อัตราที่เพิ่มขึ้น และตนอยากฝากให้คุณมานะพิจารณาคือ การจัดชั้นประเภทยาเสพติดให้โทษ เช่น ยาบ้ายังควรเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 หรือไม่ รวมถึงเรื่องการยกเลิกยาเสพติดบางประเภท
การเสวนาช่วงที่ 2
คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) (วิทยากร) :
กล่าวต่อมาจากช่วงแรกว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดได้มีการแยกความผิดทั่วไปกับความผิดร้ายแรงออกจากกัน ที่กฎหมายเดิมไม่ได้มีการแยก โดยความผิดร้ายแรงจะมีนิยามต่างหากและมีบทกำหนดโทษเฉพาะสำหรับความผิดร้ายแรงด้วย เช่น นิยามของการผลิตที่เปลี่ยนไป (ไม่รวมถึงการแบ่งบรรจุ รวมบรรจุอีกต่อไป จึงไม่เข้าลักษณะความผิดร้ายแรง) ทำให้เห็นถึงการปรับโทษให้เหมาะสมกับการกระทำผิดมากขึ้นตลอดจนการมีแนวคิดในการกำหนดความผิดที่ยกเลิกบทสันนิษฐานเด็ดขาด มีบทสันนิษฐานที่เป็นคุณในมาตรา 107 ซึ่งหลักการเหล่านี้ก็สอดคล้องกับโปรตุเกสโมเดล ที่แต่เดิมการใช้ปริมาณจำนวนมาเป็นตัวบ่งชี้หรือตัดสินการกระทำ เปลี่ยนมาเป็นแนวใหม่ที่เป็นการกำหนดในลักษณะเป็นตัวบ่งชี้พฤติการณ์เท่านั้น
การบำบัดฟื้นฟูที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกฎหมายนี้ สอดคล้องอย่างยิ่งกับโปรตุเกสโมเดล โดยมีคณะกรรมการเกี่ยวกับการบำบัดรักษา การจับกุม การตั้งข้อหาและการดำเนินคดีอาญาจะยังไม่เกิดขึ้น แต่จะปฏิบัติตามวิธีการและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการบำบัดรักษาฯกำหนด มีศูนย์คัดกรอง มีระบบส่งต่อไปยังสถานพยาบาลหรือสถานฟื้นฟู ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาไม่มีประวัติอาชญากร สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายมองว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยและให้โอกาสกลับสู่สังคมอีกครั้ง ตลอดจนการติดตามการบำบัดด้วย ซึ่งการสร้างระบบคัดกรองและฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่าเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะต้องมีการดำเนินการรับรองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ในเรื่องบทกำหนดโทษ ก็ยกเลิกโทษขั้นต่ำ ไม่ลงโทษผู้เสพที่สมัครใจบำบัด ยกเลิกการรับโทษหนักขึ้นจากการพิจารณาที่แง่ปริมาณ เป็นการพิจารณาจากเหตุแห่งพฤติการณ์ร้ายแรงประกอบแทน (เช่น มาตรา 145)
ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยาบ้า (เมทแอฟเฟตามีน) ก็ไม่ถือเป็นสารเสพติดประเภทร้ายแรง หรือในประเทศเนเธอร์แลนด์หรือโปรตุเกสก็ไม่ถือว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดประเภทร้ายแรง ในประเด็นนี้ก็อาจจะต้องมีการอภิปรายกันต่อไป
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ในการบรรยายฟ้องและการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องบรรยายให้เห็นถึงพฤติการณ์ร้ายแรงประกอบด้วย เพราะว่าไม่มีบทสันนิษฐานเด็ดขาดแบบกฎหมายเดิมแล้ว พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการก็จะต้องทำงานหนักขึ้น
ในวิธีการกำหนดโทษ ที่กฎหมายให้มุ่งลงโทษหนักกับความผิดร้ายแรง ส่วนในความผิดที่ไม่ร้ายแรง ก็เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้มากขึ้น มุ่งที่การบำบัดมากกว่าการลงโทษ ที่สอดคล้องกับโปรตุเกสโมเดลเช่นเดียวกัน และมีการเชื่อมโยงถึงการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยและการคุมประพฤติมาใช้ ประมวลกฎหมายยาเสพติดจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นเอกเทศที่ตัดขาดจากกฎหมายอื่น ๆ ไปเสียทั้งหมด
ในความผิดร้ายแรงนั้น เมื่อมีการปรับใช้ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของยี่ต๊อกอันเป็นแนวทางการกำหนดโทษที่ทางผู้พิพากษาจะใช้กันนั้นจะสอดคล้องกับประมวลกฎหมายนี้หรือไม่ จะเกิดปัญหาหรือไม่เพราะว่ากฎหมายนี้ได้ให้ดุลพินิจกว้างมากขึ้น วิธีการในการกำหนดโทษของศาลอาจจะทำยากขึ้น ทั้งเรื่องการกำหนดโทษ การลดโทษหรือเพิ่มโทษ การไม่ลงโทษและส่งตัวเข้าสู่ระบบบำบัด การใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยแทนโทษ ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญที่จะทำให้ประมวลกฎหมายนี้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ในภาพรวมแล้ว ประมวลกฎหมายนี้จึงสอดคล้องกับโปรตุเกสโมเดล และคุณอุกฤษฏ์มีความหวังอย่างยิ่งว่า เมื่อใช้กระบวนตามกฎหมายนี้แล้ว ก็น่าจะลดจำนวนของผู้ต้องขังได้มากขึ้น แต่เรื่องของการลดการกระทำผิดหรืออาชญากรนี้ตนยังไม่แน่ใจนัก
โดยเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว จะมีประโยชน์ต่อประชาชนใน 2 ระดับ กล่าวคือ ในระดับปัจเจกชน ทำให้มีโอกาสสมัครใจบำบัด ไม่มีประวัติอาชญากร ไม่มีโทษขั้นต่ำ การกลับสู่สังคมได้ง่ายขึ้น ข้อท้าทายคือ ทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ในการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมและการสาธารณสุข การกระจายอำนาจสู่ชุมชน บทบาทของชุมชนจะมีการเปิดรับกระบวนการบำบัดเหล่านี้หรือไม่ และในระดับสังคมคือ จำนวนผู้ต้องขังลดลง งบประมาณที่ใช้ในเรื่องนี้ก็จะลดลง และจะถูกใช้ในประโยชน์สาธารณะทางด้านอื่น ๆ
คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (วิทยากร) :
กล่าวถึงเรื่องการเตรียมการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องอัตราโทษที่กฎหมายใหม่แตกต่างกับกฎหมายเก่าตามที่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวไปนั้น ทำให้มีผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (กฎหมายใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายเดิม) เรื่องนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม อัยการ และศาลยุติธรรมก็ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อวางแผนจัดการในเรื่องนี้ ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้สั่งให้กรมราชทัณฑ์สำรวจจำนวนผู้ต้องขังที่ศาลพิพากษาลงโทษสูงกว่าที่กฎหมายใหม่ว่ามีจำนวนเท่าไรและมีการออกร่างคำร้องให้แก่ผู้ต้องขังด้วย และในส่วนของศาลก็ได้มีการเตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว
ในการออกกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกมารองรับการใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด แม้ว่า พ.ร.บ.ให้ใช้ฯ กำหนดให้ใช้กฎหมายลำดับรองเดิมไปก่อนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่กฎหมายเดิมยังไม่มี (หลักการใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม) ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายลำดับรองมีอยู่ประมาณ 60 กว่าฉบับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังมีการเร่งรัดดำเนินการกันอยู่ และในประมาณวันที่ 20-21 ธันวาคม 2564 ทางสำนักงาน ป.ป.ส. จะจัดการประชุมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำประเด็นปัญหา แนวทางการปฏิบัติมานำเสนอและสร้างการรับรู้ มีแนวทางในการดำเนินการในทางเดียวกัน
ในจำนวนของผู้ต้องขังที่สูงขึ้นมาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เมื่อย้อนไปดูจะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง กฎหมายยาเสพติดจึงมีโทษที่รุนแรง จึงทำให้ส่วนหนึ่งของผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมก็ถูกจำคุกในระยะที่ยาวขึ้น เมื่อมีการสะสมขึ้นในแต่ละปี ๆ จึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน นโยบายในการพักทาหรือการอภัยโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก็น้อยมาก แต่เมื่อมีประมวลกฎหมายยาเสพติด คุณมานะก็เห็นว่าน่าจะได้รับโทษที่เหมาะสม ระยะเวลาก็จะเหมาะสมตามสมควร
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวในเรื่องนโยบายยาเสพติดว่าจะทำอย่างไรให้เขาคำนึงถึงตัวเองว่า ยาเสพติดก่อปัญหา และตนกังวลเกี่ยวกับผู้ต้องขังในเรือนจำค่อนข้างมาก เมื่อดูในภาพรวม เรือนจำไม่ได้เป็นประโยชน์สักเท่าไรกับพวกเขา บางทีกลายเป็นสถานที่ถ่ายทอดความเป็นอาชญากรรมแก่เขาเพิ่มเติม และเมื่อพิจารณาจากสถิติการกระทำความผิดซ้ำ ในช่วงปีแรกมีถึงประมาณ 16% ที่กลับเข้าสู่เรือนจำ ปีที่สองประมาณ 26% ที่กลับเข้าสู่เรือนจำ ปีที่สามประมาณ 34% ที่กลับเข้าสู่เรือนจำ ซึ่งถือว่าเยอะมาก (สถิตินี้รวมความผิดทุกคดี ไม่ใช่หมายถึงแค่คดียาเสพติด)
เมื่อดูเข้าไปในยอดผู้ต้องขังรายเดือน ธันวาคม 2559 – 2 ธันวาคม 2564) จะเห็นว่ามีสภาวะแบบเดี๋ยวเพิ่มกับเดี๋ยวลดสลับกันไป โดยเมื่อมีการอภัยโทษยอดจะเริ่มลดลง และค่อยๆเพิ่มขึ้นใหม่ จนเมื่อมีการอภัยโทษก็จะลดลงวน ๆ ไป และตนเชื่อว่ายอดในวันนี้จะลดลง และจะลดลงเพิ่มขึ้นหากมีการอภัยโทษในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ประกอบกับการใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ แต่ตนเห็นว่า อีกไม่นานยอดก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะไม่ใช่ปัจจัยแค่เรื่องยาเสพติดประการเดียว หากพิจารณากลไกเรื่องการดำเนินคดีของไทย และสถิติจำนวนผู้ต้องขังของไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก ในเรื่องนโยบายนี้ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ก็หวังอย่างมากว่า เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (mindset) และจะทำอย่างไรให้ประชาชนเขารู้ถึงกฎหมายนี้
คำถามจากการเสวนา
คำถาม (1) : ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เป็นระบบบำบัดรักษา มีข้อสังเกตว่า หากเราใช้มาตรการทางกฎหมายนี้กับผู้เสพยาเสพติดที่ปัจจุบันยังมีโทษทางอาญา และเป็นการบังคับบำบัด จะทำให้เหยื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ายาเสพติดเหมือนเป็นการซ้ำเติม จึงเสนอว่า เราควรจะยกเลิกโทษทางอาญาหรือไม่
คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ : เรื่องนี้เป็นเชิงนโยบายจริง ๆ ว่า วันนี้ ประเทศไทยถึงเวลาหรือยังที่จะให้การเสพยาเสพติดนั้นไม่เป็นความผิดทางอาญา โดยยาเสพติดมีหลายประเภทและมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ในกฎหมายจึงผ่อนปรนมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะยกเลิกความผิดทางอาญาไปเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 55 ก็ให้ ป.ป.ส. มีอำนาจออกกฎหมายลำดับรองกำหนดพื้นที่ให้ทดลองหรือครอบครองยาเสพติดบางชนิดได้ เพื่อเป็นการทดลองในเรื่องของการปรับนโยบาย จุดนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการนำมาพิจารณาก่อนที่จะออกนโยบายออกไป
คำถาม (2) : ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 115 อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ส. กับฝ่ายปกครองในการสั่งให้ทดสอบสารเสพติดเพื่อประโยชน์ในการบำบัดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงและส่งไปยังศูนย์คัดกรอง จุดนี้มีข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ : จุดนี้เป็นเรื่องที่ออกมาเพื่อปิดช่องว่าง กล่าวคือ หากเป็นคนเสพหรือครอบครองเพื่อเสพที่เจ้าหน้าที่ไปพบ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เมื่อตรวจแล้วก็พาเขาไปยังศูนย์คัดกรอง ในการให้ดูแลไว้ก่อน 24 ชั่วโมง นั้นเพราะว่าศูนย์คัดกรองอาจจะกำลังปิดอยู่ อาจจะยังไม่ถึงเวลาเปิดทำการ จึงให้เจ้าหน้าที่ดูแลก่อน ซึ่งการดูแลนี้ไม่ใช่การให้อยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจ แต่เป็นการดูแลเพื่อจะนำไปส่งยังศูนย์คัดกรองคือวัตถุประสงค์ของมาตรานี้
คำถาม (3) : พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) ที่ออกมานี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตราหรือว่าเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ปี 2550 ทั้งฉบับ
คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ : พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางมาตรา มิใช่การยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมทั้งฉบับ
คำถาม (4) : อาจจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบการบังคับบำบัดผู้เสพยาเสพติด วิทยากรมีความเห็นอย่างไรในประเด็นนี้
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล : การให้ผู้เสพได้เข้าสู่การบำบัดเป็นการเปิดโอกาสแทนการดำเนินคดีผู้เสพยา การที่นำเขาไปคุมขังได้ประโยชน์น้อยกว่าการบำบัด การบังคับบำบัดก็เป็นการทดแทนที่จะไม่ดำเนินคดีอาญาเขา นอกจากนี้ คนที่เสพยาบางคน ครอบครัวของเขาไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องให้รัฐช่วยจัดการ และเขาจะสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างคนปกติทั่วไป ตนจึงเห็นด้วยกับระบบบังคับบำบัดเพราะว่าการบังคับเป็นไปเพื่อไม่ดำเนินคดีอาญาและเป็นประโยชน์แก่เขา
คำถาม (5) : จากคำถามข้อที่แล้ว อาจจะมาจากการที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่า หากจะพ้นผิด จะต้องทำการรักษาให้หายขาด ซึ่งอาจมีบางกรณีที่รักษาไม่หายขาด ตัวอย่างคือกรณีผู้ที่พึ่งพายาเสพติดจนเป็นภาวะทางสมองไปแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่เรื้อรังไปแล้วนี้หรือไม่ เพราะเขาไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
คุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ : ในส่วนของการดำเนินการเรื่องบำบัดฟื้นฟู การส่งไปสถานพยาบาลตามที่ศูนย์คัดกรองประเมินว่ามีความจำเป็นที่จะต้องบำบัดแบบใด สถานที่ใด กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องรักษาจนหาย กระบวนการในการบำบัดนี้เป็นไปตามโปรแกรมที่กำหนด เมื่อผู้นั้นปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เขาก็สามารถออกมาจากการบำบัดได้ ส่วนในบางกลุ่มที่อาจจะต้องใช้ยาเสพติดในระหว่างบำบัดด้วยนั้นก็ยังมีมาตรา 55 ที่จะมาเสริมในส่วนของสถานบำบัดประเภทนี้ได้
คำถาม (6) : ในปัจจุบัน คดียาเสพติดมีปริมาณที่สูงมาก และมีประมวลกฎหมายยาเสพติดมาบังคับใช้แล้ว ควรจะมีการสอนวิชากฎหมายยาเสพติดในระดับปริญญาตรี (ไม่ว่าจะเป็นวิชาเลือกหรือวิชาบังคับ) หรือไม่
อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย : ในฐานะที่ตนจะสอนวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาในภาคเรียนถัดไป ก็ขอรับคำแนะนำนี้ไปใช้ ซึ่งตนคิดว่าอยากจะพูดคุยกับนักศึกษาเรื่องระบบบำบัดผู้กระทำความผิดในเรื่องยาเสพติดนี้ด้วย