สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “อำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ : ผ่าทางตันการเมืองไทย” ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอธิป ปิตกาญจนกุล (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อ.สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวเปิดงานเสวนาว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการจัดเสวนาวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนที่กำลังได้รับความสนใจผ่านทางระบบ Facebook Live ซึ่งมีการปูพื้นเล็กน้อยเกี่ยวกับการเสวนาวิชาการนี้
การจัดเสวนาในเรื่อง “อำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ : ผ่านทางตันการเมืองไทย” นี้ สืบเนื่องมาจากว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 ของเรามีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า ๆ ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2560 ประเด็นหนึ่งที่เป็น Agenda ของพรรคการเมืองทั้งหลาย คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในปีที่แล้ว ในปี 2563 ภาคประชาชนได้มีการเสนอเลือกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยมีการตั้ง สสร. ขึ้นมา ใน สสร. ในระบบพื้นฐานก็จะมีการเลือกตั้งตามระบบ และเข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจเป็นผลทำให้เกิดการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาได้พิจารณาวาระ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วาระ 2 คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเสร็จ รอระหว่างการพิจารณารายมาตราของรัฐสภา แต่ระหว่างการพิจารณาอยู่นี้สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งได้มีการเสนอมติต่อที่ประชุมรัฐเสนอเพื่อจะขอให้มีการเสนอคำร้องของรัฐสภาไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว.นั้น มีมติเสียงข้างมากเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำถามบางประการต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำถามที่เป็นคำถามหลักของคำร้องดังกล่าวคือ รัฐสภานั้นจะมีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นการสอบถามอำนาจของรัฐสภาที่กำลังดำเนินการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนี้ รัฐสภามีอำนาจทำหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญกำลังมีคำวินิจฉัยในไม่ช้านี้
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล :
จากประเด็นที่ว่าประเทศไทยของเราเคยมีประสบการณ์ในการที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างนี้ หรืออย่างไร หรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมาเราเคยมีประสบการณ์เหล่านี้หรือไม่ เคยมีปัญหาที่เกี่ยวข้องในทางกฎหมายที่เกิดการอภิปรายโต้แย้งกันในอดีตหรือไม่ ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เกิดขึ้นครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2591 ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว 2 ครั้งในประเทศไทย ถ้าเราได้ศึกษาสิ่งที่เคยทำมาในอดีตเป็นเรื่องที่ทำได้ เหตุผลในการบอกว่าทำไม่ได้ เป็นเหตุผลที่น่าสงสัย ครั้งแรกตอนที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2490 (ฉบับชั่วคราว) เพราะเป็นการประกาศใช้มาแทนที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2489 จากรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พอใช้ได้ 1 ปี เกิดการแก้ไขเพิ่มติม โดยแก้มาตรา 95 เป็น มาตรา 95 ทวิ ให้มีสภาหนึ่งเรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน สมาชิกสภาผู้แทน 10 คน ครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่เหลือจากผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมเป็น 40 คน กลายเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 ในคำปรารภบอกที่มาชัดเจนว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญ ตามหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงโปรดเกล้าให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวเพิ่มเติม ตั้งสภารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของไทย ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 คือ รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มาจากการร่างใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ผศ.ดร.ปริญญาตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างเป็นกระบวนการที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยมีส่วนร่วมของประชาชน เรามักจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี มีสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นมาหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ หลักเรื่อง Presumption of Innocence คือ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ คือ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ มีขึ้นมาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกจากรัฐธรรมนูญ 2492
ครั้งที่ 2 ในปี 2539 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 เป็นการแก้ไขครั้งที่ 6 ให้มี สสร.เพิ่ม หมวด 12 มาตรา 211 เพิ่มเป็น 211 ทวิ แทรกเข้าไป เป็นการวางกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับออกมา รัฐธรรมนูญ 2534 ถูกแก้มา 5 ครั้ง 4 ประเด็นแรกแก้เรียกว่า หลังเหตุการณ์นองเลือดจบไปในเวลาเพียง 5 วัน คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2535 มีการแก้ไข 4 ประเด็นรวด ทำให้อำนาจของ รสช. คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติให้ลดอำนาจไป ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. ประธานผู้แทนราษฎร์ต้องเป็นประธานรัฐสภา และลดอำนาจ สว. ลงไป
ครั้งที่ 5 มีการแก้ในปี 2538 ยกเลิกตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปทั้งหมด และประกาศของใหม่ไปแทนที่ แทบจะยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 แม้ว่าจะแก้เยอะ ในปี 2539 ยังแก้ใหม่อีกครั้ง ร่างใหม่ให้มี สสร. กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เรารู้จัก ที่มาพูดถึงในวันนี้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดองค์กรอิสระต่าง ๆ ขึ้นมา จากความตั้งใจจะปฎิรูปการเมือง เชื่อว่าการมีศาลรัฐธรรมนูญ มี ปปช. มี กกต. เป็นอิสระจากรัฐบาล จะทำให้การเมืองดีขึ้น นั่นคือเจตนารมณ์เมื่อ 24 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 6 พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาจำนวน 99 คน เป็นคนของรัฐสภาผู้ทรงคุณวุฒิ 23 คน อีก 76 จังหวัดละคน
ประเทศไทยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 แตกต่างจากฉบับ 2534 และ 2490 เป็นเรื่องของประชามติ เนื่องจากเรากำลังจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนฉบับที่ผ่านการทำประชามติ คือ ฉบับ 2560 เขาก็เลยวางไว้ว่า เมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ต้องทำประชามติ และมีการให้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ที่เหลือไม่ต่างกัน ในมาตร 95 ของรัฐธรรมนูญ 2490 กับมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534 เหมือนกัน คือ ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ร่างทั้งฉบับได้ เขาจะให้แก้มาตรา แต่เราทำมาแล้ว ในต่างประเทศก็ทำมาแล้ว จะร่างใหม่ก็ร่างด้วยการแก้มาตรานั้น ที่เป็นมาตราว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในปี 2491 ก็ไปแก้มาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญ 2490 ก็เกิด สสร. ขึ้นมากลายเป็น รัฐธรรมนูญ 2492 ในปี 2539 ไปแก้มาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534 เกิดรัฐธรรมนูญ 2540
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ จะมีปัญหาอย่างยิ่ง เรื่องใหญ่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะอยู่ไปตลอดกาล เว้นแต่ว่าจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ และจะมีผลต่อการเมือง เราอนุญาตให้ร่างใหม่ทั้งฉบับโดยกระบวนการยึดอำนาจได้ แต่โดยกระบวนการประชาธิปไตยเรากลับบอกว่าทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เคยทำมาแล้ว ที่เรามีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีองค์กรอิสระต่าง ๆ ขึ้นมา เราหวังจะเห็นการปฏิรูปการเมือง ก็ได้มีจากกระบวนการ สสร. แบบนี้ในปี 2539 ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาจากการร่างใหม่ทั้งฉบับ ในการที่ท่านรับเรื่องนี้ไว้พิจารณามันมีปัญหา ไม่ใช่เพียงแต่ในทางทฤษฎี แต่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย ว่าท่านมีอำนาจในการวินิจฉัยหรือไม่ หรือถ้ามีมันเป็นปัญหาตามมาตรา 210 (2) ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือยัง
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต :
อภิปรายในประเด็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่มีการผ่านประชามติมาแล้วว่าในทางทฤษฎีมีผลหรือมีความสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะในกรณีจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีอะไรต้องพิจารณา การทำประชามติมีผลสะท้อนอะไรหรือไม่
รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า เรามีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 ฉบับ ที่เคยเขียนเรื่องประชามติไว้ รัฐธรรมนูญ 92 11 17 39 34 แก้ไข 39 40 49 50 57 60 แต่มีการใช้จริงประชามติ 2 ครั้ง คือ ประชามติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และประชามติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยต้องแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชน โดยประชาชนเลือก สส. เข้าไปทำหน้าที่แทนในสภา การแสดงออกซึ่งอำนาจสูงสุดของประชาชนโดยการออกเสียงประชามติเป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีกระบวนการออกเสียงประชามติด้วยเหมือนกัน มีการแก้ 2 ส่วนหลัก ๆ ที่กำลังรอวาระ 3 ที่จะพิจารณาในวันที่ 17 มีนาคมนี้ จะแก้มาตรา 256 ซึ่งเป็นหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และมีการเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนญต้องอาศัย สว. เป็นหลัก ถ้า สว.ไม่เห็นชอบด้วยไม่ถึง 84 คน คือไม่ถึง 1 ใน 3 ร่างก็ตก
สาระของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 2 รอการพิจารณาวาระ 3
สาระสำคัญข้อที่ 1
1.1 มาตรา 256 (3)
รัฐธรรมนูญ 2560
– ไม่น้อยกว่าครั้งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา (357คน)
– สส.ฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวน ส.ส.ฝ่ายค้าน (43 คน)
– สว.ไม่น้อยกว่า 1/3 ของ สว.(84 คน)
ร่างรัฐธรรมนูญ
– ไม่น้อยกว่า 3/5 ของสมาชิกรัฐสภา (450 คน)
1.2 มาตรา 256 (6)
รัฐธรรมนูญ 2560
– มากกว่าครึ่งของสมาชิกรัฐสภา (376 คน)
– สส.ฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวน ส.ส.ฝ่ายค้าน (43 คน)
– สว.ไม่น้อยกว่า 1/3 ส.ว. (84 คน)
ร่างรัฐธรรมนูญ
– ไม่น้อยกว่า 3/5 ของสมาชิกรัฐสภา (450 คน)
สาระสำคัญข้อที่ 2
- มาตรา 4 เพิ่มบทบัญญัติ 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 256/1 ถึงมาตรา 256/15
- สสร. 20 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และลับของประชาชน เขตเดียวคนเดียว
- 30 วันออกพรฎ. เลือกตั้ง และ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน
- สสร. มีเวลา 240 วันในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่นับตั้งแต่วันประชุมครั้งแรก (ภายใน 30 วันนับแต่มี สสร. ถึงร้อยละ 90 คือ 180 คน)
- ให้รับฟังความคิดเห็นประชาชน และเผยแพร่สาระความคืบหน้า
- ห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2560
- เสนอรัฐสภาอภิปราย จากนั้นเสนอประชาชนลงประชามติ
- หากไม่เห็นชอบ หรือมีผู้มีสิทธิมาออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ ร่างตกไป
ร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องไปทำประชามติ เพราะสิ่งที่กำลังทำการแก้ไขคือ หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประเภทหนึ่ง รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) เขียนไว้ชัดว่า ถ้ามีการแก้ไขที่ไปกระทบหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อน และถ้าประชาชนเห็นชอบก็นำขึ้นทูลเกล้าต่อไป
สังเกตเห็นว่า มีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ประชาชนเห็นขอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าประชาชนเห็นชอบจึงจะมี สสร. ถ้าวาระ 3 ผ่านจึงจะมี สสร. นี่คือประชามติครั้งที่ 1 แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้เพราะยังติดกฎหมาย เพราะยังไม่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการของรัฐสภา ถ้าเห็นชอบ มี สสร. เกิดขึ้น มีการเลือกตั้ง สสร. เกิดขึ้น สสร. ทำเสร็จก็ต้องไปออกเสียงประชามติอีกรอบ ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างที่ สสร. เสนอ ผลคือใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ต่อไป
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18/2555 บอกว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติมา ถ้ารัฐสภาจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็ไม่ว่ากัน ก็ใช้กระบวนการแก้ไขตามนั้น แต่จะแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน ตกลงประชามติ 2 ครั้ง เป็นการประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
กระบวนการออกเสียงประชามติ ข้อสำคัญที่สุดคือ “ประชาชนผู้ทรงไว้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ถ้ามีขั้นตอนสุดท้าย ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น จะสร้างความชอบธรรมย้อนหลังกลับไป” อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนเห้นชอบรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความสมบูรณ์ในทางกฎหมาย
ประเด็นถกเถียงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำได้เฉพาะแก้รายมาตรา รัฐสภาไม่มีอำนาจตั้งหมวดใหม่เพื่อไปจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สุดท้ายแล้ว อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่ประชาชน ดังนั้น กระบวนการออกเสียงประชามติ เป็นกระบวนการที่สามารถชี้ขาด แม้จะมีข้อสงสัย
รศ.อานนท์ มาเม้า :
อภิปรายในประเด็นบทบาทของรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่อย่างไร
รศ.อานนท์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีนี้อยู่ในมาตรา 256 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 เป็นเรื่องบทบัญญัติที่วางข้อจำกัดในเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ข้อพิจารณาเกี่ยวกับอาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (9) กำหนดไว้ดังนี้
- วัตถุแห่งคดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสร็จสมบูรณ์ (Final Draft) หมายความว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนเป็นที่ยุติแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในตัวรัฐธรรมนูญแล้ว เกือบจะนำไปใช้ได้แล้ว แต่ต้องผ่านกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าต่อพระมหากษัตริย์ก่อน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปัจจุบันกระทำในรูปแบบของรัฐสภา
- ประเด็นแห่งคดี ศาลรัฐธรรมนูญ
2.1 ขัดต่อบทนิรันดร (Eternity Clause) มาตรา 255 บัญญัติว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำไม่ได้”
2.2 มีลักษณะจะต้องจัดให้มีประชามติก่อน (Referendum) รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่า เรื่องใดที่ทำการแก้ไขจะต้องกระทำประชามติก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป อยู่ในมาตรา 256 (7) และ (8)
(7) เป็นเรื่องของ process ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอ 15 วันแล้วนำขึ้นทูลเกล้า เว้นแต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องลงมติตาม (8) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไปกระทบกับโครงสร้างที่เป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าควรกลับไปถามประชาชนก่อน การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเรื่องที่มีความสำคัญมากเกี่ยวกับอำนาจ ได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาล องค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้
- ผู้มีสิทธิเสนอคดี จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ สส. 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ สว.1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ
สส. รวมกับ สว. 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่
- ระยะเวลาเร่งรัดในการพิจารณาคดี กำหนดกรอบไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตั้งแต่ได้รับเรื่องผ่านช่องทางมาตรา 256 (9)
ข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายไทยที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง ภายหลังข้อบกพร่องสมัยรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่มีบัญญัติ โดยไปใช่เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่มีการบัญญัติให้ตรวจสอบกระบวนการ ความที่หายไป เมื่อเทียบกับ มาตรา 148 การตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติสามารถตรวจสอบได้ทั้ง 2 มิติ คือ ตรวจสอบด้านเนื้อหาที่ในตัวบทเรียกว่าข้อความว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ กับอีกมิติหนึ่งคือ การตรวจสอบกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติว่าเป็นการตราที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
อ.สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ (ผู้ดำเนินรายการ) :
รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้อยู่ เพื่อให้มีการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรูปแบบตั้ง สสร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฎอยู่ในข้อเท็จจริงในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่รัฐสภาทำได้หรือไม่ อย่างไร มีความแตกต่างหรือไม่ถ้ารัฐสภาจะทำเอง โดยไม่ตั้ง สสร. รัฐสภามีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดที่ต้องพิจารณาในการแก้ไขบ้าง รวมทั้งปัญหาความชอบ รธน.ว่ามีอยู่หรือไม่ในกระบวนการที่เกิดขึ้น ต้องประชามติกี่ครั้ง จำเป็นต้อง 3 ครั้งหรือไม่ และบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่อเรื่องนี้ในทางกฎหมายมหาชนมีอยู่อย่างไร ควรตั้งอยู่อย่างไร แก้ได้ตามปกติ หรือแก้ไม่ได้ การเมืองไทยจะไปทิศทางไหน
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล :
กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบมากกว่าเรื่องว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาตรา 255 บทบัญญัติชั่วนิรันทร์ คือ ไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงอันระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ และเข้าเงื่อนไขที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องของการแก้ไขมาตร 256 ที่ต้องถามประชามติ อำนาจหน้าที่องค์กรอิสระต่าง ๆ ต้องทำประชามติ จะไปแก้หมวด 1 หมวด 2 มาตรา 256 สามารถแก้ได้ แต่ถ้าจะแก้ ต้องถามประชาชน ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติชั่วนิรันดร์ จะไปเปลี่ยนรูปของรัฐไม่ได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แม้ว่าจะเป็นฉบับ 2560 หลักการมาตรา 256 ชัดเจนว่าต้องทำประชามติ เพราะประสงค์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐสภาในการตัดสินปัญหานี้ด้วยตนเองที่วาระ 3 แล้วสุดท้ายประชาชน รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ไม่ใช่รัฐสภาที่มีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่คือประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต :
กล่าวว่า ถ้าจะจัด 3 รอบจริง ๆ จะใช้ช่องทางมาตรา 166 บอกว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคล หรือคณะบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด”
รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จัดให้มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แบ่งเป็น 5 ประเด็น ดังนี้
- รัฐสภาเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้น มีอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
- รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลำดับรอง” ซึ่งมีข้อจำกัด
- การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีความเหมือน ความต่างกันอย่างไร
- การจัดออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
- อำนาจอธิปไตย-อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่ต่อเนื่องมาจากอำนาจสูงสุด อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จึงยอมให้ไปแก้รัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่สร้างกระบวนการพิเศษให้รัฐสภาเป็นคนทำ มีข้อกำหนดเรื่องจำนวนคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลำดับรอง มันจึงมีข้อจำกัดในตัวมันเอง อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 18/55 เขียนไว้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐสภาที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐธรรมนูญกลับไปแก้รัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้กฎหมายธรรมดา
อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่ไม่มีข้อจำกัด แต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลำดับรอง” มีข้อจำกัด ได้แก่ ข้อจำกัดทางเนื้อหา มาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำไม่ได้ และข้อจำกัดด้านองค์กรและกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา เงื่อนไขเรื่องจำนวนคะแนนเสียง ระยะเวลา 15 วัน และการลงประชามติ ตลอดจนการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ เหมือนหรือไม่เหมือนกันอย่างไร
- เกณฑ์รูปแบบ
- การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ การแก้ไข ยกเลิก เพิ่มเติม บทบัญญัติบางมาตรา หรือบางหมวดหมู่ภายใต้ชื่อรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ตัวอย่างของไทย รัฐธรรมนูญ 34 แก้ไขเพิ่มเติม 2538 แก้ไขยกเลิกหมวด 3 ถึง หมวด 11 ยกเลิกมาตรา 24 ถึง มาตรา 211 แก้ทั้งฉบับเหลือแต่หมวด 1 หมวดทั่วไป หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์
- การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
- เกณฑ์เนื้อหา
- การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้เล็กน้อยที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างองค์กร
- การปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขที่กระทบต่อโครงสร้าง คือ แก้ลดอำนาจของศาลในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แก้ลดอำนาจของศาลในการตรวจสอบสายนิติบัญญัติ หรือเปลี่ยนจากเดิมมี 2 สภา ยุบเหลือสภาเดียว หรือปี 56 แก้ไขที่มาของวุฒิสภา จากเดิมที่มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง สรรหาครึ่งหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ เรียกว่า การปรับปรุงรัฐธรรมนูญ
- การจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับเดิมเลย จะดูว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อยู่ภายใต้กรอบกติกาข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ ถ้าอยู่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญเดิม เช่น ต้องเป็นรัฐเดี่ยว ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถือว่าอยู่ภายใต้กรอบอำนาจเดิม ไม่ถือว่าเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นแค่การปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แม้จะขึ้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะเป็นแค่การปรับปรุง การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หมายความว่า เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับเก่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยคราวนี้ ร่าง 256 /1 ถึง 256/15 จะตีความอย่างไร 256 แน่นอนเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่พอเป็น 256/1 ถึง 256/15 สุดท้ายถ้า สสร. ทำร่างเสร็จแล้ว ถ้าดูตามเกณฑ์รูปแบบจะตอบได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าดูตามเกณฑ์เนื้อหา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน เพราะร่างของ สสร. ที่จัดทำขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐไม่ได้ เปลี่ยนแปลงการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ได้ ไปแก้หมวด 1 แก้หมวด 2 ก็ไม่ได้ มันอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของอำนาจสถาปนาเดิม 100% ด้วยเหตุนี้ ร่างที่ สสร.ทำใหม่ ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่แท้จริง ขึ้นอยู่ที่ว่าจะให้ทฤษฎีอะไร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะจัดทำขึ้น ในมุมมองทางวิชาการ ร่างมาตรา 256 ที่ให้ สสร. ไปจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แทนที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ให้ไปจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 แก้ทุกมาตรา ยกเว้นหมวด 1 กับหมวด 2
ประเด็นหนึ่งที่ยกกันโดยคุณไพบูลย์ ที่ศาลต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เพราะรัฐสภาไปแก้รัฐธรรมนูญ จัดตั้ง สสร. เท่ากับเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อรัฐสภาไปจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสภาจึงทำเกินอำนาจ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ไม่สามารถนำไปออกเสียงประชามติได้ มาตรา 166 บอกว่า ถ้าจะไปออกเสียงประชามติมีเงื่อนไข จะไปออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญจะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยสภาพ มาตรา 166
- ห้ามประชามติ เพื่อให้ประชาชนออกเสียง
- เปลี่ยนรัฐเดี่ยว เป็นรัฐรวม
- แยกบางจังหวัดออกจากประเทศไทย
- เปลี่ยนประชาธิปไตย เป็น เผด็จการ
- ให้ขับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสัญชาติไทยออกจากประเทศไทย
- เปลี่ยนกษัตริย์ เป็น ประธานาธิบดี
- เห็นชอบให้ นายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต
ประเด็นสุดท้าย รัฐสภา ถ้าท่านไม่เห็นชอบก็โหวดให้ตกวาระ 3 และท่านไปรับผิดชอบทางการเมือง สว. ถ้าไม่เห็นชอบก็โหวต ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นมิติข้อกฎหมาย มิติข้อเท็จจริงด้านการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มมาตรา 256/1 ถึง 256/15 ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะมีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง
รศ.อานนท์ มาเม้า :
กล่าวว่า ประวัติศาสตร์การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับมี 2 ครั้ง
- รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2490 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491 ตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” 40 คน
- รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 12 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 211 ทวิ ถึงมาตรา 211 เอกูนวีสติ ตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ได้มาจำนวน 99 คน
เหตุใดเหตุการณ์สมัยรัฐธรรมนูญ 2534 จึงต่างสมัยกับ 2560 เหตุใดรัฐธรรมนูญปี 2534 จึงแก้ไขปี 2539 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้
- อำนาจทหารถอยจากการเมือง หลังสูญเสียความชอบธรรมตอนพฤษภาทมิฬ 35
- ยุคนั้น รัฐสภาโลดแล่นด้วยนักการเมืองที่ต้องการความเสถียรภาพ และเอาเสียงประชาชนไว้อิงหลัง
- วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นปัญหาและภาระมาก เกินกว่าทหาร ชนชั้นนำ กลุ่มทุน และเทคโนแครต จะดึงดันให้ใช้รัฐธรรมนูญเดิม
- นักการเมืองในฐานผู้แสดงหลักตอนนั้นไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะถือรัฐธรรมนูญเก่า
เหตุใดเหตุการณ์สมัยรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงมีกระแสต้านการแก้เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
- อำนาจทหารของกลุ่มรัฐประหารปี 57 ไม่ถอยจากการเมือง แต่สร้างพรรคเพื่อเล่นการเมืองในสภาผู้แทน และตั้งคนเพื่อกุมวุฒิสภาเสร็จสรรพสองสภา
- ยังไม่มีวิกฤตใดในตอนนี้ที่กลุ่มอำนาจในรัฐธรรมนูญรู้สึกจะพ่ายแพ้ หรือลำบากที่จะอยู่ต่อ
- ทหาร ทหารจำแลง ชนชั้นนำ กลุ่มทุนเทคโนเครต และนักการเมืองที่อยู่กับขั้วอำนาจ เห็นประโยชน์และได้ประโยชน์จากการถือรัฐธรรมนูญนี้
การรักษาสภาวะเดิม (Status Quo) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มากที่สุด โดยกระแสที่อ้างว่าการยกเลิกเพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับขัดกับ “เจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญนี้” หรือเหตุอ้างอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่คาดได้ไม่ยาก
การเดินเกมของฟาก สส. ฝั่งรัฐบาล และ สว. เสนอศาลรัฐธรรมนูญ
- ผ่าทางตันของใคร ที่พยายามรักษารัฐธรรมนูญนี้
- การหยิบใช้กลไกรัฐธรรมนูญมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เรื่อง อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอำนาจหน้าที่
- ปัญหาในตัวเองของมาตรานี้ ที่มาตรา 210 วรรคสอง โยนรายละเอียดไปอยู่ที่ พรป.วิ.ศร.
- พรป.วิ.ศร.มาตรา 44 ดันไปกำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทั้ง 2 มิติ
มิติที่ 1 “ไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งกับหน่วยงานอื่นใดเลยระหว่าง ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ ” คือ คดีไม่มีข้อพิพาท (ซึ่งไม่เหมือนกับ คดีไม่มีข้อพิพาทในวิแพ่ง)
มิติที่ 2 “มีปัญหาโต้แย้งระหว่าง” คือมีคู่พิพาท หรือคดีมีข้อพิพาท
คดีไม่มีข้อพิพาทในวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกรณีจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล เพราะว่าศาลเป็นช่องทางสำหรับการแสดงสิทธิ ศาลเป็นเครื่องมือในฐานะเงื่อนไขบังคับก่อนตามกฎหมาย เช่น การขอตั้งผู้จัดการมรดก การขอศาลให้สั่งเป็นคนไร้ความสามารถ คดีไม่มีข้อพิพาท คือ คดีที่กฎหมายเขียนให้ต้องใช้ศาลเป็นกลไกประกาศนิติฐานะ ไม่ใช่เรื่องขอคำปรึกษา หรือให้ความเห็นทางกฎหมาย
ประเด็นที่ทางตันนี้ควรผ่าออกไปอย่างไร
- ศาลรัฐธรรมนูญควรยืนยันว่าอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้ เพื่อไม่ต้องกลายเป็น “เครื่องมือรักษา Status Quo”
- ปล่อยให้เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการแลกเปลี่ยนและโต้แย้งในทางการเมือง
- ศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีอำนาจตรวจสอบ “เรื่องที่จะต้องทำประชามติก่อน” กับ “การขัดหรือแย้งต่อบทนิรันดร” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (9) อยู่ดี
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล :
กล่าวว่า รัฐสภาแก้ปัญหาเองได้ในวาระ 3 สุดท้ายถ้าผ่านวาระ 3 ไปจบที่ประชาชน การที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบทางการเมือง เรื่องนี้ปล่อยให้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาไป นำปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาสู่กระบวนการที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต :
กล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกับเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่อันเดียวกัน สิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอภิปรายโต้เถียงกัน สุดท้ายไม่ผูกพันศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 เขียนไว้ว่า “ความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญในประการนี้ต่างหาก ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ แต่ความเห็นของผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ”
ถ้าเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่เคารพอำนาจอธิปไตยของประชาชนและการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยประชาชนโดยตรง คือการออกเสียงประชามติ ถ้าตีความเช่นนั้น เนื้อหานี้ของร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจัดตั้ง สสร. ก็ตก แต่ถ้าประชาชนเห็นชอบ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็เดินหน้า
รศ.อานนท์ มาเม้า :
กล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่านมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ขอให้ท่านใช้อิสระในการตัดสินคดีให้เป็นตามยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 210 ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
- พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
- หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 214 ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
มาตรา 210 (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่อำนาจของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ