สรุปสาระสำคัญจากเสวนางานวิชาการรำลึก อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 26 เรื่อง “ไขข้อข้องใจ: ตายที่บ้านต้องชันสูตรพลิกศพด้วยหรือ” ซึ่งจัดในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และถ่ายทอดสดทางระบบ Facebook Live เพจ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ศาสตราจารย์พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ
วิทยากร
- นายสมยศ พุ่มน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี
- พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ รองนายแพทย์ใหญ่ (สบ.7) สำนักงานแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ
- พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ ภิรมย์เอี่ยม ผู้กำกับการสอบสวนกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล
- ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
- นายสัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการกฤษฎีกา
ผู้ดำเนินรายการ
- อัยการกุสุมา เมฆเมฆา อัยการพิเศษฝ่ายแผนงานฝึกอบรมสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
- อาจารย์ชวิน อุ่นภัทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตร์บัณฑิต (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศาสตราจารย์พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ :
กล่าวเปิดงานว่าในโอกาสที่กองทุนจิตติฯ และคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดงานวิชาการประจำปี 2564 เพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทริย์ ในปีนี้ คณะกรรมการกองทุนจึงกำหนดหัวข้อเสวนาในปีนี้ว่า “ไขข้อข้องใจ: ตายที่บ้านต้องชันสูตรพลิกศพด้วยหรือ” โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรกล่าวนำในเสวนาครั้งนี้ ซึ่งผู้ดำเนินการสัมมนาจะกล่าวแนะนำต่อไป
อย่างไรก็ดีเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แม้จะผ่อนคลายไปบ้างแล้ว แต่การจัดงานเสวนาในห้องประชุมอย่างที่เคยปฏิบัติกันมานั้นอาจจะไม่เหมาะสมจึงเห็นควรจัดในระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในแต่ละวิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ได้เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เรียกร้องและใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อ ๆ ไป
อัยการกุสุมา เมฆเมฆา (ผู้ดำเนินรายการ) :
ชี้แจงถึงการสัมมนาครั้งนี้ว่าเป็นการจัดสัมมนาผ่านทางระบบออนไลน์ครั้งที่ 2 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยได้กล่าวถึงเหตุผลในการเลือกหัวข้อสัมมนาในแต่ละปีของกองทุนจิตติฯว่า เป็นการจัดสัมมนาโดยเลือกหัวข้อที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือให้ความสนใจ ว่าจะแก้ไขปัญญาที่ประสบพบเจอได้หรือไม่ สำหรับหัวข้อการสัมมนาในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากมีหลายท่านได้สอบถามเข้ามาว่า “การตายที่บ้านต้องชันสูตรพลิกศพด้วยหรือไม่” ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อยากให้หลาย ๆ ฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงสภาพปัญญาที่เกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไข
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
กล่าวถึงประเด็นการตายที่บ้าน มีปัญหาอย่างไร เป็นการตายธรรมชาติโดยรู้สาเหตุหรือไม่รู้สาเหตุ ต้องชันสูตรพลิกศพหรือไม่
กล่าวขอบคุณและกล่าวถึงงานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติฯ ในครั้งที่แล้วที่ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “การปฏิเสธการรักษาในระยะสุดท้าย” โดยเชื่อมโยงถึงปัญหาการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า ตอนนี้กฎหมายสามารถให้ทำ Living Will (พินัยกรรมชีวิต คือ การแสดงเจตนาเกี่ยวกับรักษาพยาบาลในระยะเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต) ได้แล้ว บุคคลมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าอยากตายที่ไหน บางคนอยากตายที่ห้อง ICU บางคนอยากตายที่บ้าน แต่กลับกลายเป็นว่าการตายที่บ้านเป็นปัญหาเสียมากกว่า ไม่เว้นแม้แต่ตนที่เป็นอาจารย์วิชานิติศาสตร์ โดยศาสตราจารย์แสวงได้เล่าถึงปัญหาการตายที่บ้านของพี่ชายตนซึ่งในที่สุดก็ต้องส่งศพไปยังฝ่ายนิติเวช ทั้งที่ในความเป็นจริงการตายที่บ้านเพียงแต่ไปที่อำเภอและแจ้งหน่วยงานทางทะเบียนเพื่อออกใบมรณบัตรเท่านั้น
สำหรับตนการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะปัญหานี้ถ้าฝ่ายปกครองเข้าใจปัญหานี้ก็จะหมดไป ไม่ต้องลำบากถึงฝ่ายตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในที่สุดก็ต้องส่งศพไปชันสูตรไว้ก่อนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา
ในด้านของกฎหมาย ศาสตราจารย์แสวงได้กล่าวถึงกรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ คือนอกจากการตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่แล้ว ก็มีการตายผิดธรรมชาติ 5 กรณี ประกอบไปด้วย ฆ่าตัวตาย, ถูกทำร้ายถึงตาย, ถูกสัตว์ทำร้ายตาย, ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยไม่ปรากฏเหตุ
กรณีที่เป็นปัญหาคือ “การตายโดยไม่ปรากฏเหตุ” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “sudden unexpected death” กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุจริง ๆ แต่หากพอทราบสาเหตุได้ก็เป็น “ตายโดยปรากฏเหตุ”
ศาสตราจารย์แสวงได้ยกตัวอย่างกรณีที่บุคคลเป็นโรคร้ายและประสงค์จะตายที่บ้านว่าเป็นการตายโดยปรากฏเหตุ แต่ในทางปฏิบัติเกิดความไม่เข้าใจหลายประการ ซึ่งท้ายที่สุดต้องนำไปสู่การชันสูตรพลิกศพ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้เสียชีวิตได้มีการทำประกันชีวิตไว้ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก โดยปัญหานี้ได้เคยมีการหยิบยกขึ้นกล่าวตอนจัดสัมมนาในครั้งก่อนแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่หมดไป
ในประเด็นเรื่องการชันสูตรพลิกศพและการผ่าศพ ศาสตราจารย์แสวงได้ชี้ให้เห็นข้อต่างในสาระสำคัญว่ากรณีการตายโดยผิดธรรมชาติซึ่งจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพนั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องมีการผ่าศพ โดยทั้งสองคำนั้นในภาษาอังใช้คำต่างกัน เป็น Post Mortem Inquest (การชันสูตรพลิกศพ) กับ Autopsy (การผ่าศพ) แต่ประเทศไทยนั้นเกิดความเข้าในผิดคิดว่าเป็นขั้นตอนเดียวกันซึ่งแท้จริงแล้วทั้งสองกรณีเป็นคนละขั้นตอน เป็นเรื่องที่เลวร้ายสำหรับญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องสูญเสียคนที่รักแล้วจะต้องเห็นการเอาศพไปผ่าอีก
อีกปัญหาที่ศาสตราจารย์แสวง ได้เล่าคือกรณีที่ผู้เสียชีวิตมีความประสงค์ที่จะบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นบุญกุศลต่อวงศ์ตระกูล แต่พอเขาเสียชิวิตกลับนำศพเขาไปผ่าต่อ
ในปัญหาดังกล่าวตนเข้าใจว่าหากมีการพูดคุยและแก้ไขปัญหานี้ด้วยกันปัญหาดังกล่าวก็จะหมดไป มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำ ๆ ซึ่งประเทศไทยไม่มีระบบการตรวจสอบเรื่องนี้มากนัก ตนได้เคยทำวิจัยเรื่องนี้ให้กระทรวงยุติธรรมเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ว่าระบบหนึ่งที่จะสามารถตรวจสอบได้ คือ ระบบ Coroner ของประเทศอังกฤษ และยังมีในประเทศอเมริกากับญี่ปุ่นในอีกหลายเมือง เป็นระบบที่ไม่ได้ใช้แพทย์เข้าไปตรวจดูศพ แต่ใช้ Coroner เข้าไป โดย Coroner ในประเทศอังกฤษมาจาก Solicitor ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่ผ่านการฝึกอบรมด้านนี้โดยเฉพาะ หาก Coronor ตรวจดูเบื้องต้นแล้วทราบสาเหตุการตายก็สามารถลงความเห็นได้เลย แต่หากไม่สามารถหาสาเหตุการตายได้ก็ต้องส่งศพให้แพทย์ผ่า
ส่วนในประเทศไทยนั้นนั้นทางอำเภอกลัวว่าจะมีปัญหาก็ส่งให้ตำรวจ พอตำรวจไม่แน่ใจก็ส่งให้นิติเวช บางทีก็มีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรณีของพี่ชายตนที่มีการให้ข้อมูลว่าหากเกิน 2 ชั่วโมงแล้วต้องผ่าศพเท่านั้น และศาสตราจารย์แสวงยังได้กล่าวถึงกรณีของอาจารย์ดาราพร (ศาสตราจารย์ ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์) ที่ได้มีการบันทึกไว้ว่า “คุณพ่อมีอายุมากแล้ว เสียชีวิตที่บ้านทางสมุทรปราการ ตำรวจมา 2 คน ไม่คิดว่าขั้นตอนมันจะยุ่งยากขนาดนี้ ตำรวจมาที่บ้าน 2 นายแล้วก็ขอนำศพบิดาไปผ่าระบุว่าเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ เขาไม่ทราบสาเหตุ” อาจารย์ดาราพรตั้งข้อสังเกตว่านี้เป็นการตายที่ธรรมชาติที่สุด คำถามที่เกิดขึ้น คือ เหตุใดตายที่บ้านต้องยุ่งยากซับซ้อนขนาดนี้ อีกทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ที่ต้องการตายที่บ้าน อาจารย์ดาราพรยังบันทึกไว้อีกว่า “ในคืนนั้นได้มีการโทรศัพท์ขอคำแนะนำจากอาจารย์แสวง ซึ่งได้แนะนำคุยกับตำรวจทางโทรศัพท์ว่านี่เป็นการตายตามธรรมชาติไม่ต้องผ่าศพแต่อย่างใด จากนั้นอาจารย์ดาราพรได้นำศพของคุณพ่อไปยังโรงพยาบาลที่รักษา แพทย์เวรที่ทำการตรวจศพไม่พบความผิดปกติใด ๆ ในคืนนั้นอาจารย์แสวงได้โทรศัพท์คุยกับแพทย์เวรเพื่อหาสาเหตุการตาย คุยแล้วสรุปได้ว่าเสียชีวิตจากโรคชรา จึงไม่มีการผ่าศพของคุณพ่อในวันนั้น” นี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ตนเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและคลายทุกข์ให้กับประชาชน
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
นพ.พรชัย ได้ให้ข้อสังเกตระบบในประเทศไทยว่า เมื่อมีคนตายทุกคนก็อยากทำหน้าที่ของตนเองได้ดี กล่าวคือ เมื่อมีคนตายก็ต้องมีการแจ้งการตายไปยังพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องมีการชันสูตรเพื่อหาข้อมูลการตายและหาสาเหตุการตาย โดยระบบในประเทศไทยนั้นสามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ที่มีคนในพื้นที่ไม่รู้จักกันมากนัก
2. ในพื้นที่จังหวัดรอง หรือในพื้นที่ทั่ว ๆ ไปที่มีระบบอื่นมาตรวจสนับสนุน
ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่สถาบันนิติเวชวิทยารับผิดชอบดูแลอยู่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่และประชากรเยอะและซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นอะไรหรือมีโรคอะไรมาก่อน กลไกเบื้องต้นที่ได้มีการตกลงกันไว้กับพนักงานสอบสวนคือ พนักงานสอบสวนจะต้องไปชันสูตรเพื่อสาเหตุการตายตามที่ ป.วิ.อ. (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) กำหนดไว้ โดยสามารถหาผู้ช่วยก็คือแพทย์ไปร่วมชันสูตรได้ คำว่า “ร่วมชันสูตร” ไม่ได้แปลว่าต้องผ่าศพ แต่เป็นการไปดูศพในเบื้องต้น ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ใช้แพทย์นิติเวช หรือแพทย์ทั่วไปก็ได้ หากแพทย์ไปดูแล้วสามารถประเมินได้ว่าเป็นการตายตายตามธรรมชาติก็สามารถที่จะลงความเห็นได้ทันที
โดยตนเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่ทุกคนไม่เข้าใจว่าการปล่อยศพไปเป็นความผิดหรือไม่ พนักงานสอบสวนก็กังวล แพทย์ก็กังวลว่าข้อมูลที่ดูในเบื้องต้นเพียงพอหรือไม่ คนนี้ป่วยตายจริงเป็นโรคชราตายจริงหรือไม่ สุดท้ายทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้และนำศพกลับมาตรวจที่สถาบันนิติเวช นี้เป็นทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นกลับต่างออกไป เนื่องจากในพื้นที่ห่างไกลทุกคนรู้จักกันหมด ในบางพื้นที่ ในบางอำเภอเรามี อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) โดยกฎหมายปกครองในพื้นที่ห่างไกล หากมีคนตายเกิดขึ้น ก็เพียงแต่แจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปทำการประเมิน ถ้าประเมินเป็นการตายตามธรรมชาติก็จะส่งเรื่องให้นายทะเบียนหรืออำเภอสรุปว่าเป็นการตายตามธรรมชาติ และก็ปล่อยศพไป ดังนั้นแล้วในพื้นที่ห่างไกลจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการผ่าศพ
หากเทียบกับเมืองใหญ่ พอไม่มีข้อมูลอยู่เลยทุกคนที่ไปทำหน้าที่ก็เกิดความกังวลใจ ถ้าหากมองว่าทำอย่างไรให้ทุกคนที่ไปทำหน้าที่มีข้อมูลอาจจะต้องมีการเตรียมการ สมมติ ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้านโดยการทำ Living Will คือ เข้ารับการรักษาแล้วแต่ไม่ต้องการรับการรักษาเพิ่มเติม ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีเอกสารทางการแพทย์มาประกอบ สมมติ มีใบรับรองแพทย์ไป มีประวัติการรักษาครั้งสุดท้ายไป เช่น ขั้นตอนสุดท้ายคืออะไร รักษามาเมื่อไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ทั่วไปกับพนักงานสอบสวนที่ไปทำการชันสูตรศพเห็นไปทางเดียวกันว่าการตายนี้เป็นการตายตามธรรมชาติหรือจากการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากสภาพของเขาเอง
โดยตนเสนอว่าประเทศไทยควรแก้กฎหมายอย่างเดียวกับประเทศอังกฤษที่หากตายหลังจากพบแพทย์เกิน 14 วัน ก็อาจจะต้องมีการชันสูตร เนื่องจากไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจาก 14 วันนั้นหรือไม่ หรืออาจจะเป็น 10 วัน 30 วันก็ได้ ตามแต่รัฐจะประกาศกำหนด หรือกรณีที่คนที่ไปชันสูตรสามารถติดต่อกับแพทย์ผู้รักษาได้ปัญหานี้ก็อาจจะหมดไป ส่วนที่ตนเห็นว่าน่าสนใจคือ ในประเทศสหรัฐอเมริกาให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถออกใบรับรองการตายได้ เพราะเขาเป็นคนที่รู้ประวัติของคนไข้ที่รักษา ก็จะทำให้การออกใบรับรองการตายมีความมั่นใจได้มากขึ้น
นพ.พรชัย ได้กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานของสถาบันนิติเวชในประเทศไทยว่า เบื้องต้นทางสถาบันฯจะขอให้ทำการเคลื่อนย้ายศพมาเก็บไว้ที่สถาบันก่อนชั่วคราว ซึ่งไม่ได้ทำการผ่าศพที่นำมาเก็บไว้ทุกราย สมมติ ญาติมาแสดงความจำนงว่าผู้ตายป่วยตายและไม่ต้องการให้ตรวจศพโดยวิธีการผ่า สถาบันก็จะขอข้อมูล เช่น ประวัติการรักษา ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมาทำให้ทราบว่าคนนี้มีอาการเจ็บป่วย มีสาเหตุการตายที่ชัดเจน สถาบันก็จะหลีกเลี่ยงการผ่าและส่งศพคืนให้แก่ญาติไป โดยขั้นตอนระหว่างนำศพมาและพักศพไว้ชั่วคราวนั้นเปรียบเสมือนขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลหรือสืบเสาะหาข้อมูลว่าการตายที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใด
จุดอ่อนสำคัญ คือ การประสานงานขอข้อมูลนั้นยาก ในการประสานงานข้อมูลจาโรงพยาบาล โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีกลไกเป็นของตนเองซึ่งไม่เอื้ออำนวย เว้นแต่ในอนาคตข้างหน้าระบบสาธารณสุขจะเข้าสู่ระบบดิจิตอลทำให้ง่ายต่อการแสวงหาข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่
อีกประการหนึ่ง พนักงานสอบสวนก็จะไม่ได้ทำหน้าที่สืบเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับศพผู้ตายเลย คือ ทำหน้าที่แค่ไปดูและส่งศพมาก็จบ หลักจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ซึ่งหากมีข้อมูลก็จบ ภาระจึงตกแก่ญาติที่ต้องไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ เอง
สุดท้าย นพ.พรชัย ได้ตั้งข้อสังเกตการแก้ไขปัญหานี้ว่า ถ้าระบบของประเทศไทยกำหนดชัดเจนว่าถ้าผู้ป่วยต้องการตายที่บ้านแพทย์ผู้ดูแลรักษาจะต้องออกข้อมูลให้ก่อน เขียนใบรับรองแพทย์ให้ ให้ประวัติไว้กับญาติ ก็จะมีสิ่งบอกเหตุการณ์ตายได้ แพทย์ที่ชันสูตรพลิกศพก็จะดำเนินการได้ถูกต้องและสบายใจ แต่ถ้าเขียนแบบประเทศอเมริกาที่แพทย์ผู้ดูแลสามารถออกใบรับรองแพทย์ได้เองจะเป็นผลดีกว่าเพราะจะเกิดความชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรและสามารถสรุปได้เอง ไม่ตกเป็นหน้าที่แพทย์นิติเวชหรือแพทย์ทั่วไปที่ไม่รู้ข้อมูลอะไร
พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ ภิรมย์เอี่ยม :
กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
กล่าวสวัสดีท่านวิทยากร ท่านอาจารย์และผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกท่าน โดยลำดับต่อมา พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ ได้ให้ข้อมูลสาเหตุการสอบสวนว่า งานสอบสวนในความเป็นจริงเป็นการโยงใยมาจากงานของฝ่ายปกครอง โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็คือ ทร.4 หรือใบรับรองการตาย เดิมที 20 ปีที่แล้วพนักงานสอบสวนแทบไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับ ทร.4 แต่หลักจากที่กรุงเทพมหานครยกเลิกระบบท้องถิ่นเดิมทำให้เกิดระบบการรับรองการตายขึ้นซึ่งหากไม่มีการรับรองการตายจากแพทย์ฝ่ายปกครองก็ไม่ยอมรับแจ้งการตาย
ในสมัยแรก ๆ ที่ตนทำงานก็มีข้อพิพาทว่าทำไมตายแล้วยุ่งยากขนาดนี้ ทำไมตายแล้วต้องให้ตำรวจไปตรวจ ทั้งที่เป็นการตายตามธรรมชาติ แต่สาเหตุ คือไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่ากรณีการตายดังกล่าวเป็นการตายตามธรรมชาติพนักงานสอบสวนจึงต้องไปดูสถานที่เกิดเหตุซึ่งบางครั้งแม้ว่าไปดูสภาพการตายแล้วมีความชัดเจนว่าเป็นการตายตามธรรมชาติแต่พนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถออกใบรับรองการตายให้ได้ ในที่สุดก็ต้องไปเรียกแพทย์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
ในต่างจังหวัด หากมีการตายเกิดขึ้นก็จะเรียกแพทย์ประจำตำบลซึ่งแพทย์ประจำตำบลจะรู้จักคนเกือบทุกหมู่บ้าน ซึ่งจะทราบข้อมูลอยู่แล้วว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคอะไร มีอาการหนักแค่ไหน ซึ่งเมื่อมีกรณีการตายเกิดขึ้นจะสามารถออกใบรับรองการตายได้ทันทีโดยไม่ต้องมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก
ในส่วนสาเหตุที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่ต้องการรับการรักษา พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานของตนว่า ในอดีตที่ผ่านมาการทำงานของตนประมาณ 95 % ไม่ต้องผ่าศพ อีก 5% เป็นกรณีที่จะต้องผ่าศพ ในกรณีที่ไม่ต้องมีการผ่าศพเนื่องจากญาติมีข้อมูลของผู้ตายอยู่แล้ว อาจจะเป็นประวัติการรักษา ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนกับแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพตรวจดูก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าผู้ตายนั้นตายเพราะเป็นโรคดังกล่าว แพทย์ก็สามารถออกใบรับรองการตายให้ได้ทันที
แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่สามารถมอบศพให้ได้ และตนยังยอมรับว่าการส่งศพไปผ่าพิสูจน์เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของญาติผู้ใหญ่ ความรู้สึกเสียใจที่จะต้องมีการผ่าศพ แต่บางครั้งมีเหตุปัจจัยที่จำเป็นจะต้องผ่าศพ คือ การตายโดยไม่ปรากฏเหตุ เช่น การเสียชีวิตที่บ้านซึ่งพนักงานสอบสวน แพทย์ ตลอดจนญาติก็ไม่ทราบสาเหตุการตาย เช่น การไหลตาย อันเป็นกรณีที่มีความจำเป็นจริง ๆ
ในกรณีผู้เสียชีวิตในบ้านโดยได้มีการทำประกันชีวิตเอาไว้ ตนย้ำว่าเป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่เหมือนกันที่เข้าในว่าหากมีการทำประกันชีวิตเอาไว้จะต้องมีการผ่าศพเพื่อหาสาเหตุการตาย แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น หากผู้เสียชีวิตในบ้านได้ทำประกันชีวิตเอาไว้ ไม่ว่าจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไรไม่มีความจำเป็นต้องส่งศพไปผ่า เว้นแต่โรคพิเศษ หรือเสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุการตายพิเศษที่ประกันให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น กรณีที่แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการตายได้ และผู้เสียชีวิตได้ทำประกันชีวิตเพิ่มเติมไว้ เช่น โรคมะเร็ง อย่างนี้ต้องผ่าศพ เพราะว่าเป็นกรณีที่เขาจะได้รับค่าทดแทนเพิ่มเติมเช่น จากเดิมจ่าย 1 ล้านบาท เป็นจ่าย 5 ล้านบาท เป็นกรณีที่จะต้องมีการยืนยันสาเหตุการตายเพื่อผลประโยชน์ของญาติเอง
การชันสูตรพลิกศพไม่ได้แปลว่าจะต้องมีการผ่าศพทุกกรณี แต่เป็นการตรวจเพื่อคลายความสงสัยว่ากรณีการตายดังกล่าวไม่ใช่การตายโดยไม่ปรากฏเหตุตาม ป.วิ.อ.มาตรา 148 (5) ซึ่งหากไม่สามารถหาสาเหตุได้ก็อาจจะต้องมีการนำศพไปผ่าพิสูจน์
ในประเด็นข้อครหาเกี่ยวกับค่าทดแทนของเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ต้องมีการผ่าศพ พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในการเบิกเงินรางวัลค่าทดแทนตรงนี้ สามารถเบิกได้เลยโดยไม่ต้องมีการผ่าศพ โดยใช้เพียงแค่หลักฐานทางการแพทย์กับทางตำรวจ ดังนั้นการส่งศพไปผ่าเพื่อหวังเงินรางวัลตรงนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกัน
บางกรณีญาติผู้ตายก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการส่งศพไปผ่า เช่น กรณีที่ผู้เสียชีวิตมีทรัพย์มรดกมากและมีญาติหลายคน หรือในกรณีญาติไม่ถูกกันก็อาจมีปัญหาว่าใครจะเป็นผู้นำศพผู้ตายไปประกอบประเพณีทางศาสนา
หรือในบางครั้งเพื่อความปลอดภัยของระบบงานสอบสวนหรือกระบวนการยุติธรรม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องส่งศพไปผ่าจริง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่านี้เป็นการตายตามธรรมชาติจริง ๆ ไม่ได้ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
นายสมยศ พุ่มน้อย :
กล่าวถึงประเด็นว่า ทร.14 มีความจำเป็นอย่างไร และมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไรบ้างในอนาคต
นายสมยศ ได้กล่าวถึงประวัติการทำงานของตนและข้อมูลเกี่ยวกับ ทร.4 ว่า ตนเป็นนายอำเภอบ้านนอกมา 10 ปี คุ้มเคยกับ ทร.4 คุ้นเคยกับงานชันสูตรพลิกศพเป็นอย่างดี เป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร เป็นหัวหน้ากลุ่มงานทะเบียน ซึ่งน่าจะเป็นบุคคลที่ตรงแก่ประเด็นมาก
ทร.4 คือ มรณบัตร ซึ่งน่าจะไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะนี้เป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียวว่า คน ๆ หนึ่งเกิดมามีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก มีชีวิตมานานเท่าไรจนกระทั่งตาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าคือหนังสือรับรองการตาย ซึ่งกรมการปกครองเกี่ยวข้องตรงนี้
ในประเด็นเรื่องการตายที่บ้านต้องมีการชันสูตรพลิกศพด้วยหรือไม่ กฎหมายเขียนไว้ว่าเมื่อมีคนตาย คนที่ต้องแจ้งการตายคือ เจ้าบ้าน ญาติหรือผู้ที่พบศพภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อนายอำเภอหรือ อสม.ในพื้นที่รับแจ้งการตาย ซึ่งในหนังสือรับแจ้งฯจะมีช่องให้เขียนสาเหตุการตาย ในสังคมบ้านนอกผู้ใหญ่บ้านจะรู้อยู่แล้วว่าบ้านนี้มีใครบ้าง เป็นอะไรบ้างก่อนตาย
ขั้นตอนการแจ้งการตาย ถ้าตายในสถานพยาบาลโดยยังไม่ได้ใช้สิทธิกลับไปอยู่บ้านนี้เป็นกรณีปกติ แต่ติดใจตรงที่หากแพทย์เป็นคนตรวจและออกใบรับแจ้งการตายได้ ซึ่งกฎหมายโบราณในทุกวันนี้ยังใช้อยู่ ผู้มีหน้าที่รับแจ้งการตายก็คือเจ้าหน้าที่ ซึ่งในพื้นที่ก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่พอเป็นกรุงเทพฯก็เริ่มมีความยุ่งยาก เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองก็เริ่มให้ผู้นำชุมชนมีหน้าที่ตรงนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าสามารถทำได้อย่างพื้นที่ต่างจังหวัดหรือไม่ ซึ่งหากตายในสถานพยาบาลก็จะไม่มีปัญหา มีหนังสือรับรองการตาย ไปแจ้งการตาย ออกใบมรณบัตร ถ้าไม่มีใบมรณบัตรไปวัด วัดก็ไม่รับศพไว้อีก
ใบมรณบัตร เป็นใบที่ระบุว่าคน ๆ นั้นตายจริง ๆ ซึ่งในทางปกครองมีปัญหาเรื่องการตายจริง ตายปลอมอีก เอาข้อมูลของคนอื่นไปเป็นของตน ซึ่งเมื่อวานตนได้ร่วมประชุมถอนสัญชาติคน ๆ หนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมาก และมีปัญหาการใช้ข้อมูลของบุคคลอื่นตั้งแต่ปี 2535
ในประเด็นเรื่องของการชันสูตรพลิกศพ กฎหมายบอกว่า ปรากฏชัดหรือสงสัยว่าคนตายผิดธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ หรือตายระหว่างควบคุม เช่น กรณีมีการตายในเรือนจำ ก็ไปดูศพว่านักโทษชายคนนี้ตายแน่นอน และจำหน่ายเลข 13 หลักดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายปกครองกลัวที่สุดคือเรื่องการทุจริตทางทะเบียนและบัตร
นายสมยศ ยังได้เล่าถึงการดำเนินงานอันเป็นหัวใจสำคัญของฝ่ายปกครองคือ “ทำอย่างไรให้ชาวบ้านทุกข์น้อยลง สุขเพิ่มขึ้น” ในกรุงเทพมหานครตนย้ายมาจากสิงห์บุรี กรณีประกันชีวิตเขาไม่ยอมหรอก จะดูแต่ใบรับรองว่าผ่าศพแล้วซึ่งต่างจังหวัดไม่มีแบบนี้ ซึ่งแท้ที่จริงการชันสูตรศพกับการผ่าศพเป็นคนละเรื่องกัน แต่หลาย ๆ คนไม่เข้าใจ
ในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย จะมีคู่มือซึ่งไม่ใช่คู่มือที่ฝ่ายปกครองทำเอง แต่เป็นฝ่ายปกครองกับสาธารณสุขร่วมกันจัดทำ เช่น กรณีที่มีการตายนอกสถานพยาบาลต้องอาศัยผู้นำปกครองท้องถิ่นนำดู มีการกำหนดไว้เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการให้ความรู้มาหลายปี ประมาณปี 2555 – 2558 มีการจัดฝึกอบรม อสม. จนถึงเรื่องโควิด-19 โดย อสม.สามารถดูแลแบบ one by one ได้ คนหนึ่งสามารถดูแลได้ 120 คน มีแนวทางการให้สาเหตุการตาย ตายตามธรรมชาติหรือป่วยตายก็มี
ในเรื่องการซักซ้อมจากส่วนกลาง มีการซักซ้อมทุกปี เช่นปี 2558 – 2560 โดยเฉพาะเรื่องการออก ทร.4 นั้น
สาเหตุการตายต้องชันสูตรด้วยหรือ ถ้าไม่ใช่การตายผิดธรรมชาติ ก็ไม่ได้ยุ่งยาก แต่จะยุ่งยากตรงประกันชีวิต เช่น กรณีเขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาขอกลับไปอยู่บ้าน มีใบรับรองจากแพทย์ ประกันชีวิตบอกไม่เกี่ยวต้องไปผ่าอย่างเดียว สุดท้ายก็ไปจบที่แพทย์หมด แต่ที่สำคัญจริง ๆ คือต้องหาสาเหตุการตายภายใน 24 ชั่วโมง เพราะใบมรณบัตรนั้นออกเมื่อไรก็ได้ แต่โดยหลักสามารถยืดหยุ่นได้ หลักการทุกอย่างยืดหยุ่นได้ให้เขามีความสุข ลดทุกข์ให้เขา
สุดท้ายแล้วตนยืนยันว่าฝ่ายปกครองไม่ใช่ภาระ ฝ่ายปกครองเข้าใจ ซึ่งนี้เป็นเรื่องที่อธิบดีจะต้องสั่งลงมาเป็นเรื่อง ๆ ซึ่งตนจะนำเวทีการสัมมนาครั้งนี้เป็นการอ้างอิงต่อไป
นายสัก กอแสงเรือง :
กล่าวถึงประเด็นว่า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีส่วนอย่างไรบ้างในเรื่องนี้
ได้ให้ข้อมูลบุคลากรและลักษณะการทำงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งว่า ประเภทของอาสาสมัครในมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรก คือ อาสาสมัครที่ทำงานอาสาสมัครเต็มเวลา กับประเภทที่สอง คือ อาสาสมัครที่มีใจอาสานำรถของตนเองมาช่วยงานอาสาและตั้งตามจุดต่าง ๆ
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจะได้รับแจ้งเรื่องเจ็บ เรื่องตายพร้อมกับ 1669 (สายด่านสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) แต่ป่อเต็กตึ๊ง จะไปถึงก่อน และบางครั้ง 1669 ก็จะไม่ไปเลย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการร้องเรียนว่าทำไมเขาแจ้งพร้อมกันแล้วการแพทย์ฉุกเฉินไม่ไปมีแต่ป่อเต็กตึ๊งไป ช่วยเขาส่งโรงพยาบาล แต่หากเป็นกรณีเสียชีวิตก็จะส่งวัด และป่อเต็กตึ๊งยังช่วยทำเรื่องส่งอาจารย์ใหญ่กลับบ้านปีละประมาณ 3 – 400 ที่ศิริราชและจุฬา เพราะเวลาที่นักศึกแพทย์ใช้อาจารย์ใหญ่ครบปี ก็จะมีการทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ และตอนส่งกลับบ้านโรงพยาบาลเขาไม่สามารถทำได้ซึ่งป่อเต็กตึ๊งใช้รถในการส่งอาจารย์ใหญ่กลับบ้านครั้งหนึ่งเป็น 100 ๆ คัน โดยตนเห็นว่าเรื่องนี้มีประโยชน์โดยเมื่อตนกลับไปคิดว่าจะจัดอบรมอาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง โดยเอาเรื่องชันสูตรพลิกศพไปอบรมให้กับเขาเขาจะได้ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
ถัดมาได้ยกตัวอย่างประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่ตนประสบพบเจอเมื่อหลายปีก่อน ว่าโรงพยาบาลวชิระโทรมาหาตนตอน 2 ทุ่ม (เวลา 20.00 น.) เขาแก้ปัญหาไม่ได้ มีกรณีการตายที่โรงพยาบาลโดยผู้ตายมีเมีย 2 คน คนหนึ่งเป็นไทย อีกคนหนึ่งเป็นมุสลิม มุสลิมจะเอาศพไปทำพิธี คนไทยก็จะเอาศพไปวัดเกิดการทะเลาะกัน ตนเลยถามว่าใครเป็นเจ้าของไข้ ใครเป็นคนส่งมา ใครเป็นคนจ่ายค่ารักษาก็ส่งให้คนนั้นไป ถ้าอย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหา ซึ่งถ้าไม่แน่ใจก็เรียกตำรวจ อำเภอมาช่วยกันแก้ไขปัญหา
ในประเด็นเรื่องการชันสูตรพลิกศพกับทนายความ นายสักได้เล่าให้เห็นการดำเนินการที่ผ่านมาว่า ตอนตนเป็นนายกสภาทนายความ ตนพยายามให้ทนายความเข้าร่วมการชันสูตรทุกที่ เข้าไปช่วยดูแลควบคุมว่ากระบวนการดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าหากไม่ถูกต้องเราจะได้ทักท้วงให้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
ในส่วนของทนายความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงเป็นงานอีกส่วนหนึ่ง เพราะงานชันสูตรพลิกศพเป็นงานที่กว้างขวางทั่วประเทศ สมัยก่อนที่ตนเป็นนายกสภาทนายความ ก็มีการจัดอมรมกรรมการภาค จังหวัดและทนายความบ่อย ๆ ให้ความรู้เรื่องพวกนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ :
กล่าวถึงภาพรวมของนักกฎหมายที่อยู่ตรงนี้มาโดยตลอด มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ได้กล่าวชี้แจงในเบื้องต้นก่อนว่าตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ แต่จากการที่ตนได้ดูระบบกฎหมาย ตนอาจจะมีข้อคิดในการดำเนินการเรื่องนี้ ดังนี้
ประเด็นเรื่องการชันสูตรพลิกศพกฎหมายมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเนื่องค่อนข้างและยาวนาน ในเชิงการจัดระบบเกิดจากการที่เราไม่ไว้ใจกันและใส่สิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยเริ่มจากเปลี่ยนแพทย์ประจำตำบลเป็นแพทย์ทั่วไป เรื่องนี้ตนเห็นว่าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ต่อมาเมื่อมีการเพิ่มหน่วยงานอื่นเข้าไปอีก ตนเห็นว่า เป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้เกิดการไม่ตัดสินใจ เพราะเวลามีการทำงานเป็นหมู่คณะจะมีบุคคลที่ติดอย่างรอบคอบที่สุด กับคนที่คิดแบบธรรมดา เมื่อมี 1 คนบอกให้เอาศพไปผ่า จะต้องมีการส่งศพไปผ่าแน่นอน เพราะมิฉะนั้นคนที่ไม่เสนอให้นำศพไปผ่าจะเหมือนไม่พยายามค้นหาความจริง
ความจริงกฎหมายไม่ได้บอกเลยว่าตายที่ไหน อย่างไร บอกเพียงแต่ว่า ถ้ามีการตายโดยไม่รู้สาเหตุการตายต้องมีการหาสาเหตุ โดยไม่มีการพูดเรื่องการผ่าศพ ส่วนกรณีการตายระหว่างอยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ กรณีนี้ชัดเจนอยู่แล้ว เวลาที่เราต้องการหาสาเหตุการตายประเด็นมันไม่แตกต่างกันเลย มันต้องทำแค่ไหน ซึ่งประเด็นนี้ใครจะเป็นคนชันสูตรพลิกศพอยู่ที่การวางระบบ อาจจะเป็น Coroner กรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หากเขารู้สาเหตุการตายเขาก็สามารถบอกได้เลย
การจัดระบบของบางประเทศ เขาวางระบบให้สาเหตุการตายที่ไม่ต้องทำอะไรกับมันมาก กับที่ต้องทำอะไรกับมันมากมีความชัดเจน ส่วนของประเทศไทยอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีระบบแบบนี้ ก็เลยต้องใช้ระบบในอีกระบบหนึ่งซึ่งก็ไม่ได้ผิด
ในเชิงปัญหาของการบอกสาเหตุการตาย ถ้ามองดูกรณีการตายที่บ้าน จริง ๆ มันอมความ ตายที่บ้านไม่ได้บอกอะไร แต่ความจริงคือเขาป่วยและออกมาอยู่ที่บ้าน เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ที่โรงพยาบาลต่อไปซึ่งเป็นเรื่องปกติ ปัญหาของเรื่อง คือ เมื่อมีการตายที่บ้าน ความจริงจะตายที่ไหนไม่สำคัญ ประเด็น คือ รู้สาเหตุการตายหรือเปล่า เมื่อไม่มีระบบแบบ Coroner มาดู ก็จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญในการหา ในประเทศไทยก็คือตำรวจ เมื่อไม่มีระบบบอกว่าสาเหตุการตายว่าเกิดจากอะไร ตำรวจก็ต้องป้องกันไว้ก่อนโดยการส่งศพไปตรวจ เมื่อเป็นสังคมซึ่งไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันก็จะทำให้มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเมื่อมองดูแล้วเป็นการทำงานตามเนื้องานถ้าจำเป็นก็ต้องทำ กฎหมายไม่ได้บอกว่าต้องทำทุกงานแต่ทำในกรณีจำเป็น ดังนั้นประเทศไทยต้องทำระบบให้ชัดเจนบอกได้ว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น ประเด็นหลักคือประเทศไทยมี SOPs (Standard Operation Procedures – SOPs คือ เอกสารแนะนำวิธีการปฏิบัติงาน) ในการจัดการเรื่องนี้จริง ๆ หรือไม่ SOPs เขียนเพียงพอให้คนจะนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่
ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ยังให้ข้อสังเกตในกรณีที่มี SOPs ว่า ตนก็จะถามว่า ระบบตัวนั้นถ้ามันแยกได้ว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น และสามารถนำการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่มี SOPs ขึ้นมาก็จะเป็นการปล่อยให้เขาไปคิดเองก็จะไปทางจำเป็นก่อน แต่ถ้า SOPs บอกไม่จำเป็นก็จะไปทางไม่จำเป็นได้ ถ้าเขามีพยานหลักฐาน หนังสือรับรองจากแพทย์และสามารถยืนยันกับแพทย์ได้ คนทำงานก็สามารถกล้าทำงาน กล้าตัดสินใจได้ แม้ว่าเขาจะถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่ความระมัดระวัง ก็เป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบละเอียด ตนเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเขียนเรื่องนี้ได้ดี
โดยสรุปเรื่องนี้ น่าจะเป็นปัญหาในเชิงการตัดสินใจ เมื่อดูจากกฎหมายไม่ค่อยมีประเด็นมาก เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำ เพียงแต่คนที่ทำหน้าที่ตัดสินใจไม่สามารถหาทางออกได้เท่านั้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาก็ต้องไปเขียนให้ชัดเจนเป็นระเบียบ เพียงแต่การเขียนคู่มือในประเทศไทยมีจุดอ่อนคือ คนทำงานไม่ค่อยดูคู่มือ แต่ศาสตราจารย์วิศิษฏ์เห็นว่าสามารถเปลี่ยนแนวทางการทำงานในสมัยใหม่นี้ได้โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทำแอปพลิเคชั่นขึ้นมาบังคับเงื่อนไขการตรวจสอบในแต่ละหัวข้อว่าผ่านหัวข้อ (items) นี้ ๆ ไหม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยากว่าผ่าน SOPs นี้หรือไม่ เขียนไม่ถึง 2 เดือน ถ้าเอาไปใช้ทั้งในกรุงเพทฯและต่างจังหวัดไม่น่าจะมีปัญหา
ส่วนทะเบียนราษฎร์ ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ให้ข้อสังเกตว่า เป็นการมองว่าข้อมูลนี้มันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสมัยก่อนคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ เทียบได้กับกรณีของหายเราไปแจ้งตำรวจว่าของหาย ตำรวจก็ไม่ได้ทำการสอบสวนว่าหายจริงหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่ากฎกติกาบางอย่างของทะเบียนราษฎร์ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับ ป.วิ.อ. ทั้งหมด (100 %) มีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่อาจจะมาเกี่ยวข้องกันได้ แต่แม้ว่าในเรื่องการป้องกัน (Protectivity) ของระบบท่านโยงมาให้ชันสูตรพลิกศพ ตนคิดว่าการชันสูตรพลิกศพไม่สามารถหาสาเหตุการตายได้แม่นยำ (100%) เพราะการที่กฎหมายโยงไปมันทำให้เราได้รับการยืนยันแล้วว่าท่านได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว
ในความรู้สึกของตนแล้วอาจไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายใด ๆ เลย เพียงแต่ต้องทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่มีกลไกตรงกลางนี้มีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้ ปัญหาการชันสูตรพลิกศพก็จะก้าวพ้นขอบเขตที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น ทำให้เกิดการกล้าตัดสินใจ
ในเรื่องการประกันภัย ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ให้ข้อสังเกตส่วนตนว่าไม่ควรเอาเงื่อนไขของเอกชนมาเป็นเงื่อนไขบังคับในกรอบของการชันสูตรพลิกศพ ถ้าเขามีกรอบให้ชันสูตรพลิกศพทุกเรื่องตนยืนยันว่ามันผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องผ่าเพื่อให้ได้รับเงินที่สูงขึ้น เป็นเรื่องเงื่อนไขที่ต้องได้รับความยินยอมของญาติ ตนคิดว่าเราจัดระบบได้และอาจมีทางวางกรอบ ถ้าหน่วยงานท่านไม่คัดค้านกระทรวงยุติธรรมรับอาสาจัดทำคู่มือให้ได้
คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) : ถ้าป่วยระยะสุดท้าย ขอกลับบ้าน และให้แพทย์ออกใบรับรองว่าป่วยระยะสุดท้ายประมาณการว่าอยู่ได้อีกกี่วัน กี่เดือน เอกสารนี้ถือว่าทราบสาเหตุการตายแล้วหรือไม่
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
ทางออกอันหนึ่งที่แนะนำชาวบ้านไปว่าถ้าเกิดระยะสุดท้ายแล้วอยากออกไปตายที่บ้านก็ให้ขอความร่วมมือกับแพทย์พยาบาลก่อนออกจากโรงพยาบาลให้รับรองอาการด้วย และเอาเอกสารนี้ไปแสดง นี่เป็นทางปฏิบัติที่แนะนำไป
แต่เมื่อครั้งสัมมนาคราวที่แล้วมีพยาบาลที่เป็นลูกครึ่งบอกว่าทำแล้วไม่ได้ผล ตำรวจบอกเป็นดุลพินิจของตำรวจไม่ใช่แพทย์ นี่คือปัญหา เราต้องมี SOPs ออกไป ทางปฏิบัติแนะนำแล้วและพยายามทำแล้ว
ในกรณีที่เสียชีวิตที่บ้าน และตนก็คุยกับตำรวจ เขาไม่ทราบสาเหตุว่าตายเพราะอะไร ตนบอกมีโรคประจำตัว เขาบอกไม่ทราบ ไม่ทราบก็ติดต่อแพทย์ที่โรงพยาบาล ติดต่อไม่ได้ก็เอาศพใส่รถไปโรงพยาบาลเลย
คำถาม (2) : ถ้าไม่เสียชีวิตในระยะเวลาที่แพทย์รับรอง เอกสารนี้จะใช้ได้ไหม
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
ในทางปฏิบัติมักจะประเมินได้ ตนช่วยทำศูนย์ Hospice (สถานที่ช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย) ให้ธรรมศาสตร์ดูแลระยะสุดท้าย ทุกวันนี้มันมีตัวชี้วัด Palliative performance scale หรือ PPS ในตลอด 2 ปีที่ศูนย์ Hospice ไม่มีใครเกิน 2 อาทิตย์ เพราะประเมินได้
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
จริง ๆ การประเมินผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะมีคะแนน (Score) ที่แพทย์จะประเมินว่าผู้ป่วยคนนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน ในหลักการออกใบรับรองแพทย์ถ้าแพทย์เข้าใจก็จะประเมินได้ว่าคน ๆ นี้จะอยู่ได้อีกนานเท่าไร อยู่ได้ไม่เกินเท่าไร หลักฐานจะบอกว่าคนนี้ออกจากโรงพยาบาลประมาณนี้และน่าจะเสียชีวิตตรงช่วงที่แพทย์ให้ความเห็นไว้ ถ้ามีหลักฐานแบบนี้ตนเชื่อว่าใครก็ไม่น่าติดใจเพราะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมา โดยเฉพาะเป็นข้อมูลทางการแพทย์
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
ในกฎกระทรวงที่ออกตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เรานิยาม “วาระสุดท้ายแห่งชีวิต” ไว้ว่า สภาวะที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ และจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานวิชาชีพ บุคคลคนนั้นจะต้องเสียชีวิตในเวลาอันใกล้จะถึง เราเขียนกรอบได้แค่นี้ ส่วนทางปฏิบัติอยู่ที่การประเมิน
คำถาม (3) : ตำรวจบางที่ไม่กล้าตัดสินใจ ถ้ามีแพทย์หรือผู้มีความรู้ไปในที่เกิดเหตุจะได้หรือไม่ น่าจะทำให้ไม่เอาศพไว้ที่สถาบันสร้างความลำบากให้แก่ญาติผู้ตาย
พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ ภิรมย์เอี่ยม :
ในการที่จะตัดสินใจว่าจะส่งศพไปผ่าพิสูจน์หรือไม่ตำรวจกับแพทย์ที่มาร่วมกันชันสูตรพลิกศพในบ้านจะคุยกันและเรียกญาติมาคุย หลายเรื่องจะต้องมีองค์ประกอบอันที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างใบรับรองแพทย์ออกมาให้หรือประวัติการรักษาก็ส่วนหนึ่ง แพทย์จะเรียกญาติมาคุยว่ามีใครติดใจไหม ถ้าไม่มีใครติดใจ ก็ไม่ต้องส่งศพ หลักจากนั้นก็เอามาลงบันทึกประจำวันว่าไม่มีใครติดใจการตาย
คำถาม (4) : ถ้าเคยเป็นลมหมดสติแล้วทำ CPR หรือใช้เครื่อง AED จนฟื้น แล้วต่อมากลับมาตายที่บ้านอย่างนี้จะดำเนินการต่อได้อย่างไร
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
กลุ่มนี้ไม่กลับบ้าน ต้องไปโรงพยาบาลอย่างแน่นอน หลังจาก CPR แล้วหรือใช้เครื่อง AED ช่วยชีวิตนี้ต้องกลับไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น
ถ้าเขามีชีวิตรอดก็จะอยู่ในโรงพยาบาลและดำเนินการรักษาจริง ๆ เช่น การทำบอลลูน (การขยายหลอดเลือดหัวใจให้กว้างขึ้น ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น โดยการนำอุปกรณ์ที่คล้ายกับบอลลูน เข้าไปในหลอดเลือดเพื่อดันไขมันในหลอดเลือดไปติดผนังเซลล์หลอดเลือด) ไปถึง บายพลัส (เป็นการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อทำทางเบี่ยงเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตีบหรือตันทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตีบหรือตันได้ดีขึ้น) เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา ไม่มีทางกลับบ้านแน่นอน ถ้ากลับบ้านนี้แสดงว่ามีปัญหาอื่นตามมา ตัวอย่างนี้พยายามยกแต่ไม่น่าเกิดขึ้นได้จริง
คำถาม (5) : ระบบ Coroner ปัจจุบันดีหรือไม่ดี อย่างไร อยากให้ช่วยอธิบายระบบ Coroner
ศาสตราจารย์วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ:
คำถามนี้น่าจะถามท่านอาจารย์แสวงหรือนพ.พรชัยมากกว่า เป็นระบบตามกฎหมายอังกฤษ เพราะเขาจะมีเจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ แต่โดยรายละเอียดตนรับฟังมาจากท่านทั้งสอง
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
ต้นแบบคืออังกฤษ เวลามีคนเสียชีวิตคนที่ออกไปดูคือ Coroner ตั้งมาจาก Soliciter ซึ่งเป็นนักกฎหมาย แล้วมาฝึกทางด้านนี้ เขาดูรอบนอกแล้วเขารู้เขาก็ลงความเห็นไปได้เลย เช่น รถชนเสียเลือดมาก เขาดูแล้วเห็นเลือดออกขนาดนี้ตาย เขาก็จะลงความเห็น แต่ถ้าเขาดูข้างนอกแล้วไม่รู้ก็จะตามแพทย์มาผ่าและตรวจสอบด้วยกัน ส่วน Coroner ในอเมริกานั้นเป็นใครก็ได้อาชีพใดก็ได้ มารับการฝึกเพิ่มเติม ในญี่ปุ่นจะใช้บางเมือง ถ้าเกิดเขาพร้อมก็ใช้ Coroner ทั้งหมด แต่ถ้าประเทศไหนไม่พร้อมก็แบ่งเป็นเมือง ๆ ไป
เคยมีงานวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วทำให้กระทรวงยุติธรรม ตอนนั้นสัมมนาทั่วประเทศ ตอนแรกตำรวจบอกว่าคล้าย ๆ จะไปดึงงานเขาออกไป ก็เล่าให้ฟังว่า ตำรวจทักกันเองว่าจะไปดึงไว้ทำไม ถ้าเขาจะเอาไปทำก็ให้เขาเอาไป
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
มันเป็นระบบ เป็นกลุ่มที่ถูกฝึกขึ้นมา สำหรับการทำงานชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ
ถ้ากลับมาใช้ในบ้านเรา ถ้าเรามีแพทย์เฉพาะทางหรือคนที่ทำงานในด้านนี้ให้เพียงพอเนี่ย ก็จะสามารถดำเนินการได้
จุดอ่อน คือ เราใช้คนไม่เหมาะสมในการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขให้ใช้แพทย์ทั่วไปในการชันสูตรพลิกศพและเราไม่มีคนมากพอ
ถ้าเราตั้งหน่วยงานแบบ Coroner ขึ้นมา ทุกที่หรือบางพื้นที่ก็จะมีกลุ่มคนที่ทำงานด้านชันสูตรพลิกศพโดยเฉพาะที่มีความชำนาญเข้าไปดูแลเรื่องราวเหล่านี้ จะทำให้มีข้อมูลบางอย่างที่อาจเป็นประโยชน์
ในปัจจุบันเรามีจุดอ่อนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลพอสมควร เรามีคดีฆาตกรรมซ่อนเร้นในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ชำนาญควรดูอยู่ แล้วก็ใช้ตำรวจทั่วไป ใช้แพทย์ทั่วไปไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีแพทย์ปัญหาจะไม่ค่อยเกิด แต่ในพื้นที่ห่างไกลปัญหาค่อนข้างมาก เพราะเราไปอิงกับระบบสาธารณสุข ทำให้คนทำงานเป็น คนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญจริงและไม่รู้อะไรเลยก็จะทำให้รบกวนกระบวนการยุติธรรม
คำถาม (6) : เคยมีสถิติไหม
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
ถ้าดูคดีต่างจังหวัดหรือคดีที่รับเรื่องร้องเรียนมา มีคดีอยู่จำนวนหนึ่งบางทีพนักงานสอบสวนไม่รู้เท่าทัน แพทย์ที่ไปดูก็ไม่รู้เท่าทันก็อาจลงความเห็นเป็นทั่วไปได้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างกลไกทั่วประเทศได้
ถ้าพิจารณาว่าในเมืองใหญ่ ประเทศไทยที่มีแพทย์ นิติเวช ระบบตำรวจที่แข็งแรง จำเป็นต้องมี Coroner ไหม อาจจะมีน้อย เพราะทุกคนมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง แต่ถามว่ารองรับได้ทั่วประเทศหรือไม่ ไม่เพราะส่วนที่ห่างไกลก็จะโยนให้แพทย์กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็จะไปมอบให้แพทย์ที่อาวุโสน้อยที่สุดไปดูแล
ถ้าเราสามารถสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะไปดูแลทุกพื้นที่ หรือ Coroner ในพื้นที่ไปดูแล เขาจะเชี่ยวขายเฉพาะด้านไปดูแลตั้งแต่คดีฆาตกรรมไปจนถึงตายในบ้าน ก็จะมีความเห็นว่าเป็นการตายตามธรรมชาติจริงไหม
Coroner ต้องมีความรู้กฎหมาย นิติเวช การแพทย์บ้างบางส่วน และเมื่อเขาถูกอบรมไปมาก ๆ เขาจะมีความเชี่ยวชาญในการดูคล้าย ๆ มี SOPs
ช่วงที่ 2 บทสรุปและแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
ในประเด็นปัญหาดังกล่าวศาสตราจารย์แสวงได้ตั้งข้อสังเกตสาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไขว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาเจอกันและทำความเข้าใจกันปัญหาตรงนี้ก็จะหมดไป แต่ทำอย่างไรถึงจะถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ลงไปได้ ให้ฝ่ายตำรวจเข้าใจ ฝ่ายปกครองเข้าใจ
ดังนั้น เวลากองทุนจิตติฯมีการจัดสัมมนาครั้งหนึ่งจะมีหนังสือสรุปสัมมนาออกพิมพ์ ตนจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยจัดการต่อด้วย เพราะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านมาก
และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ท่านปลัดกระทรวงยุติธรรมรับว่าจะทำ SOPs ให้ แต่ตรงนี้จะต้องมีการถ่ายทอดทัศนคติที่ดีให้บุคลากรแต่ละหน่วยงานก่อน อีกเรื่องคือ การทำความเข้าใจอาจจะเป็นคณะนิติศาสตร์ที่จะต้องจัด เช่น ประกันชีวิตต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่ทำประกันอยากให้ลูกหลานอยู่สุขสบาย แต่กลายเป็นยุ่งยากแทน
โดยตัวอย่างปัญหาความไม่เข้าใจที่ศาสตราจารย์แสวงนั้นยกตัวอย่างนั้นคือ ตอนที่ประเทศไทยมีการทำ Living Will ให้เขาจากไปตามธรรมชาติ มีบริษัทประกันถามเข้ามาว่า การทำ Living Will เป็นการทำการุณยฆาตเป็นการฆ่าตัวตายหรือไม่ ประกันต้องจ่ายหรือเปล่า ก็ต้องไปจัดกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ปัญหานี้
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
กล่าวขอบคุณและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาส่วนของตนว่า อนาคตอันใกล้จะมีความก้าวหน้าบางประการเข้ามา เช่น IT ทางการแพทย์ ถ้าสังเกตกฎหมายอื่นเช่น ที่บัญญัติให้ต้องมีแพทย์ประจำครอบครัวเกิดขึ้น ถ้าในอนาคตมีเวชศาสตร์ครอบครัว ถ้ามีแพทย์ประจำตัว ปัญหาเรื่องนี้จะลดลง แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา
แต่ที่จะเกิดในปัจจุบัน คือ การแชร์ข้อมูลทางการแพทย์ กระทรวงดิจิตอล ร่วมมือกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการเปิดเผยข้อมูลของคนไข้ถ้าเขายินยอม เราสามารถบอกได้ว่าคนไข้นี้ผ่านการรักษาอะไรมาบ้าง และเป็นการยืนยันข้อมูลเป็นการให้ข้อมูลแพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพหรือคนที่ทำงาน ระบบนี้จะเข้าในไม่ช้า และเวลาไปก็จะมีข้อมูลว่าเป็นอะไรตาย ถ้าสามารถตกลงกับกระทรวงสาธารณสุขได้ว่าให้แพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นคนออกใบรับรองการตาย ปัญหาเรื่องนี้ก็จะหมดไปเพราะกรมการปกครองต้องการเพียงใบรับรองการตาย
เพราะฉะนั้นถ้าแพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ป่วยระยะสุดท้ายยืนยัน เช่น คนไข้เสียที่บ้านและติดต่อไปหาแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อขอออกใบรับรองการตายปัญหานี้จะหมด คือไม่ต้องถึงฝ่ายตำรวจ แต่ประเด็นที่ตนเห็นว่าควรจะต้องทำก่อน คือ การทำความเข้าใจกับตำรวจและโรงพยาบาลเอกชนว่าเวลาที่คนไข้กลับไปบ้าน และกลับมาขอข้อมูลจากโรงพยาบาล แพทย์ก็สามารถออกใบรับรองการตายได้เลย
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งที่ นพ.พรชัย ได้เสนอ คือ ถ้าสามารถทำคำแนะนำไปกระทรวงสาธารณสุขได้ปัญหานี้ก็จะหมดไป ไม่มีใครมากังวลใจ แต่แพทย์ที่ทำการรักษาต้องกล้ารับผิดชอบ ต้องไม่โยนภาระ พอเขาออกจากโรงพยาบาลแล้วรับผิดชอบเหล่านี้ก็เป็นข้อตกลงที่อาจดำเนินการได้ โดยตนเห็นว่าปัญหานี้จะแก้ไขไม่ยากในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ถ้ามีข้อตกลงและความร่วมมือที่ดี
พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ ภิรมย์เอี่ยม :
พันตำรวจเอกธนเสฏฐ์ได้ขอกล่าวเสริมประเด็นที่ นพ.พรชัย ได้อธิบายไว้ว่าเรื่องจริงก็เป็นดังคำกล่าว เช่น เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเอกชนก็ยังต้องให้ตำรวจเอาแพทย์ที่อื่นไปชันสูตรพลิกศพ สุดท้ายก็ส่งศพอย่างเดียวเลย บางครั้งโรงพยาบาลเอกชนก็แจ้งตำรวจมาก่อนแล้ว
ถ้าทำความเข้าใจกับกระทรวงสาธารณสุขและสามารถให้แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ออกใบ ทร.4 ได้ก็จะไม่มีปัญหา
ในกรณีของประกันชีวิตตนยืนยันได้เพราะตนเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาบริษัทประกันในเรื่องการเคลม (claim) ว่าไม่จำเป็นต้องผ่าศพทุกกรณี ถ้าใบแจ้งการตายยืนยันว่าเป็นโรงมะเร็งและประวัติการรักษาระบุว่าเป็นโรคมะเร็งบริษัทประกันก็จ่ายแล้ว ตรงจุดนี้เป็นความเข้าใจของพนักงานสอบสวนและญาติเองว่าจะเป็นต้องผ่าพิสูจน์ ในลักษณะ “ทำเกินดีกว่าขาด” ทำให้เกิดความยุ่งยากและผิดกับความเป็นจริง ซึ่งในความเป็นจริงถ้ามีใบมรณบัตรระบุว่าตายเพราะโรคอะไรและมีประวัติการรักษาก็สามารถทำเรื่องเบิกได้แล้ว และถ้าหากมีใบรับรองให้กลับบ้านระยะสุดท้ายนี้ยิ่งไม่มีปัญหา
นายสมยศ พุ่มน้อย :
การชันสูตรพลิกศพเกิดจากความไม่ไว้วางใจ พอไม่ไว้วางใจก็เกิดการติดใจ ทำอย่างไรให้ไม่ติดใจ
ในส่วนของใบแจ้งการตายนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ ทร.4 หรือ มรณบัตรนั้นในความเป็นจริงนั้นไม่ยุ่งยาก ซึ่งการทำงานทะเบียนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง เอกสารทั้งหมดจะมาอยู่ที่ทะเบียนตั้งแต่เกิด แต่งงาน มรณะ หรือพินัยกรรม เชื่อว่าวันนี้ตนจะกลับไปทบทวนและนำเสนอผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับปัญหานี้
ในส่วนของตนนั้นจะนำเรื่องนี้ไปพูกนิเทศงานในพื้นที่ให้มากขึ้นเพราะตนเป็นผุ้รับผิดชอบด้านงานทะเบียนโดยเฉพาะ โดยยังกล่าวอีกว่า นอกจาก ทร.4 แล้วที่ควรรู้จะมี ทร.05 ทร.051 อีก
ส่วนปัญหาการตายที่บ้านต้องทำการชันสูตรพลิกศพด้วยหรือไม่ ตอนนี้ตนตอบได้เพียงว่า ถ้าตายผิดธรรมชาติก็ต้องชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย แต่จะต้องผ่าศพหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พอตายแล้วต้องออกใบมรณบัตร หรือ ทร.4 ส่วน ทร.5 คือผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายชั่วคราวหรือมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทร.05 คือแรงงานต่างด้าวตาย ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 2 ล้านคน ทร.051 คือบุคคลที่ไม่มีฐานะทางทะเบียน คือไม่รู้ว่าเป็นใคร
สุดท้ายแล้วตนนั้นขอเพียงอย่าเข้าใจฝ่ายปกครองว่าไม่เข้าใจ ถ้าเป็นตนปัญหานี้คงไม่เกิด เพราะหลักการทุกอย่างมีอยู่แล้วแต่ต้องยืดหยุ่นมีการระมัดระวังมากที่สุด และยืนยันว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นข่าวไม่ดีมีน้อยคน คนส่วนมากอยู่ด้วยความไว้วางใจ ความเป็นพี่เป็นน้องซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจ หากเรารู้ถึงปัญหาพร้อมกัน เราก็จะสามารถรู้ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากทุกฝ่าย แต่ทั้งหมดคือเพื่อแก้ไขให้ประชาชนทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
นายสัก กอแสงเรือง :
ได้กล่าวเสริมประเด็นเพิ่มเติมในส่วนของทนายความว่าในกรณีที่มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายโดยไม่ปรากฏเหตุ ถ้าไม่มีทนายความศาลก็ต้องตั้งทนายความให้ญาติ
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ :
การเข้าใจปัญหานี้ตนมองเป็น 2 ด้าน
ด้านแรก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรวมเร็ว คือ การจัดทำ SOPs สร้างความเข้าใจต่าง ๆ กำหนดให้คนสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยมีความรับผิดที่จะลงไว้แน่นอน ก็จะเป็นการช่วยให้มีความคล่องตัวได้มากขึ้น ถ้ามีการจัดทำ SOPs ให้ทุกหน่วยงานต่าง ๆ ยอมรับและมีการควบคุมมากขึ้นตนเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ตนได้ตัวอย่างนี้มาจากการทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข การยกระดับผู้เจ็บไข้ได้ป่วยในเรือนจำว่ามันต้องมีการวางระบบ SOPs ที่ดี แพทย์จะมาตรวจเมื่อไร ยังไง ซึ่งหากมีการจัดทำระบบนี้ เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีคนจากกระทรวงสาธารณสุข คนของราชทัณฑ์มาควบคุม ตนพบว่าอัตราความชุกของโรคต่ำลง นี้จะสามารถตอบคำถามได้ว่าการตายที่บ้านต้องเข้าสูกระบวนการมากน้อยแค่ไหนเมื่อแพทย์และพนักงานสอบสวนมีข้อมูล และสามารถมั่นใจในการตัดสินใจได้
ด้านที่สอง ในเชิงระบบ ระบบของประเทศไทยนั้นจะปรับอย่างไรให้ลดอาการพวกนี้ การปรับปรุงระบบนั้นต้องใช้เงินทุนมาก ตนเห็นว่าอาจไม่เป็นประโยชน์ในแง่ความคุ้มค่า แต่ประเด็นว่าจะสามารถขยายการทำงานส่วนในเมืองใหญ่ไปสู่ส่วนที่ไกลออกไปได้อย่างไร จุดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก เรื่องดังกล่าวไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อน เพราะหากตนเป็นกระทรวงสาธารณสุขตนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาคนป่วยก่อนเรื่องการชันสูตรพลิกศพ
ประเด็นคือคนที่ทำงานด้านนี้ถ้าเขาไม่ใจรักจริง ๆ หรือมีระบบให้เขายืนเขาก็จะไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่อาวุโสน้อย ๆ จะเห็นว่าเขาก็จะทำงานประมาณ 1 ปี แล้วก็ย้ายไป เพราะฉะนั้นการยกระดับในเรื่อง SOPs นี้ ๆ ก็จะเกิดได้ไม่ง่ายนัก ก็ต้องดูว่าจะแก้ไขระบบภายในของเขาได้อย่างไร
ในความเป็นจริงหลาย ๆ เรื่องที่ตนทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขแม้กระทั่งเรื่องการมีพยาบาลในเรือนจำซึ่งต้องมีความรู้พิเศษก็สามารถเป็นจริงได้ ตนคิดว่าถ้าหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขมีความเข้าใจที่ตรงกันก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าเห็นว่าทางเราน่าจะรับไปก็จะดำเนินการให้
คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา (ต่อ)
คำถาม (7) : ในกรณีที่ผู้สูงอายุที่นอนอยู่ที่บ้านไม่เคยออกไปรับการรักษาเลย มีกรณีไหนที่ออกใบรับรองการตายพวกนี้ได้
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส :
กฎหมายบอกกว่าการตายผิดธรรมชาติ 5 กรณีต้องชันสูตรพลิกศพ ถ้าดูแล้ว 5 กรณีเข้าไหม ถ้าไม่เข้าก็ตายตามธรรมชาติ
แต่ที่เข้าใจผิด คือ พอเราไปเช็คว่าตายเพราะอะไร เรากำลังหาสาเหตุการตายตามธรรมชาตินั้นด้วย เพราะงั้นหนีไม่พ้นต้องผ่าศพ
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
อย่างที่เรียนให้ทราบว่าถ้าเราไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนรู้จักกับผู้ป่วย ในพื้นที่ที่มี อสม. รู้ประวัติ รู้ข้อมูล อันนี้จะง่าย แต่พออยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อนก็จะยากในการตัดสินใจ ตนคิดว่าแพทย์นิติเวชที่ออกไปจะดูแลให้ดี เวลาไปเจอผู้ตายที่เป็นผู้สูงอายุแต่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย แต่แพทย์ก็อยากลงความเห็นแล้วว่าตายตามธรรมชาติ แต่ว่ามันยังมีข้อสงสัยอยู่ เช่น ด้านสังคม การดูแล ผลประโยชน์ ฯลฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องหากลไกไปช่วยให้แพทย์ที่ออกไปได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง
ถ้าเกิดว่าในอนาคตมีระบบแพทย์ประจำครอบครัวจริงก็จะมีข้อมูล วันนี้สิ่งที่มันต่างกันคือความไม่รู้ข้อมูล ถ้ามองเรื่องการตายจากสภาพภายนอกเป็นเรื่องการตายโดยธรรมชาติใครก็ดูได้ ถ้าแพทย์ไปดูแล้วไม่มีข้อมูลอย่างว่าเลยจบ ถ้าทุกคนยอมรับแบบนั้นและแพทย์ก็จะสบายใจในการไปชันสูตรพลิกศพ
ในเรื่องค่าตอบแทน ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้ค่าตอบแทนเพียงพอ งบประมาณภาครัฐให้เราน้อยกว่าสิ่งที่เราทำเกินครึ่ง ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การนำศพมาผ่าหรือไม่ผ่า แต่อยู่ที่เรายืนยันการตายได้อย่างไร
อย่างที่ถามเข้ามา เขาก็อยากไปสรุปว่าตายเพราะอะไร โรคประจำตัว แต่ไม่มีข้อมูล ไม่เห็นอะไรเลย เราได้เห็นผู้ตายไม่ถึง 30 นาที ก็ตัดสินใจว่าตายเพราะเหตุใด เราต้องหากลไกเข้าไปช่วย เช่น การขอศพเข้ามาพัก ก็เป็นกลไกในการช่วยทำให้เราดูแลทุกอย่างได้ครบ ทั้งดูแลประชาชนได้อย่างดีไม่ให้เขาถูกกระทบสิทธิ ตนคิดว่าเป็นการพัฒนาระบบต่อไปในอนาคต เป็นมาตรการระยะยาว
ในระยะสั้นคือ หาข้อมูลให้มากที่สุด การเคลื่อนย้ายศพเป็นการซื้อเวลาเพื่อหาข้อมูลเท่านั้นเอง
คำถาม (8) : ถ้าไม่มีใครให้ข้อมูลได้นอกจากเพื่อนบ้านจะรับรองข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด
พลตำรวจตรี นพ.พรชัย สุธีรคุณ :
อันนี้ต้องทำงานร่วมกันกับพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ต้องไปหาข้อมูล แต่มันไม่ใช่ครึ่งชั่วโมงนั้น มันก็ต้องไปซื้อเวลาด้วยการเอาศพไปพักไว้ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการผ่าศพ
สมมติ คนสูงอายุแข็งแรงดี อยู่ดี ๆ ก็เสีย เราจะบอกว่าเขาป่วยตายด้วยโรคชราก็จะเกิดคำถามว่ามันคืออะไร เพราะญาติก็สงสัยว่าปู่แข็งแรงดีแต่เสียชีวิตในบ้าน ถ้ามีคำถามว่า ถูกใครทำร้ายหรือเปล่า ก็จะเกิดคำถามตามมา เพราะญาติไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน
ในชั่วโมงแรกเมื่อเห็นคนตายใกล้ตัวก็จะกังวลใจ อยากจะประกอบพิธี คือ กังวลใจและตัดสินใจเฉพาะกรณีที่เข้าใจ แต่ในระยะยาว ถ้ามีญาติคนอื่นตามมาบอกก็เห็นแข็งแรงอยู่ทำไมตายมันก็ต้องมีเหตุผลอื่นประกอบ งั้นมันก็จะต่างกับการที่นอนติดเตียงแพทย์ไม่สงสัยว่าคนนี้เป็นอะไร เพราะก่อนที่เขาจะนอนติดเตียงก็จะมีประวัติเข้ารับการรักษาอันนี้ก็จะง่าย
ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ :
เวลาเราตั้งคำถามว่ามันเป็นขาวกับดำ เช่นทำอย่างนี้ได้ไหม อย่าลืมว่ามันเป็นเรื่องการหาข้อเท็จจริง ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่มองเห็นถ้ามีอะไรที่โน้มน้าวและทำให้เราเชื่อ เช่น มีบันทึกการรักษา ถ้ามันมีความสงสัยทางอื่นซึ่งอาจะไม่ใช้เรื่ององการรักษาอะไรก็ได้ เช่น คนตายอาจมีเรื่องมรดก ก็อาจจะมีคนยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา คำตอบนั้นอาจไม่สามารถตอบได้ แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจประกอบพยานหลักฐานที่ตั้งอยู่กับกรอบการตัดสินใจ
นายสมยศ พุ่มน้อย :
เหมือนกันกับคนจะเซ็นต์ ต้องสอบสวนอะไรด้วยตนเองให้ชัดเจนมันก็มีแบบสอบอยู่แล้ว กรณีตายตามธรรมชาติ เราก็จะแบ่งได้ ถามคนใกล้ชิด ทั้งหมดก็จะตอบคำถามได้ จริง ๆ แล้วเราก็ทำเต็มที่แล้ว ท้ายสุดถ้าทุกคนไม่ติดใจ ทุกอย่างก็จบ เพราะที่ต้องมีการชันสูตร เพราะทุกคนติดใจ
คำถาม (9) : กรณีการตายที่บ้านปรากฏว่าเป็นโรคเรื้อรัง และออกจากโรงพยาบาลมาเร็ว ๆ นี้ ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติและเป็นผู้แจ้งการตาย
นายสมยศ พุ่มน้อย :
คนที่พบศพต้องไปแจ้งการตายก่อน และหลักจากนั้นค่อยมาดูว่าเป็นกรณีที่ต้องชันสูตรพลิกศพหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่ต้องชันสูตรพลิกศพก็ต้องทำตามกฎหมาย ถ้าเป็นการตายตามธรรมชาติก็ไม่มีอะไรติดใจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านออกใบรับรองการตายได้ แต่ที่ยากคือปัจจัยที่เราไม่รู้
ความคิดเห็นจากผู้ชมทางบ้าน :
ระบบ Coroner เป็นเรื่องที่ดี เห็นว่าควรมีผู้ทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพในชุมชนเป็นผู้ทำหน้าที่ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ หรือว่าในส่วนของคนที่ได้รับการอบรม ส่วน อสม. เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลเป็นครั้งแรกในระดับปฐมภูมิ น่าจะเป็นประโยชน์และทำหน้าที่ที่ดีได้
อีกข้อเสนอแนะ อยากให้กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข นิติเวช กระทรวงยุติธรรม จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่บ้านเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกันชีวิต เข้าในได้มากขึ้น
คำถาม (10) : อยากให้สรุปอีกครั้งเมื่อเกิดการตายที่บ้าน ในฐานะชาวบ้านต้องทำอย่างไรจึงจะครบด้วยกฎหมาย
นายสมยศ พุ่มน้อย :
แจ้งเจ้าหน้าที่ ในกรณีต่างจังหวัด คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนกลาง คือ ผู้นำชุมชนในท้องที่ เบื้องต้นภายใน 24 ชั่วโมง
หลังจากนั้นก็ตรวจพิสูจน์ว่าตายผิดธรรมชาติก็อีกเรื่อง พบศพที่ไหนก็แจ้งเจ้าหน้าที่ที่นั้น
ในทางปฏิบัติ เขาจะบอกอำเภอ มีขั้นตอนอยู่แล้ว แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง ท้ายสุดก็จะกลับมาที่ตำรวจ และออกใบมรณบัตรที่ชัดเจนอีกที