สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรม “แนะนำสถานที่ฝึกงาน ประจำปีการศึกษา 2563” ซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ทาง Facebook Live เพจ : ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- คุณเอกพล อภินันทร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
- ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด
- คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ศุภวิช สิริกาญจน กรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ศูนย์นิติศาสตร์/อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาล (ผู้กล่าวเปิดงาน) :
กล่าวขอบคุณท่านวิทยากรและนักศึกษาทุกท่านที่ให้เกียรติมาในวันนี้ ศูนย์นิติศาสตร์เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการให้ความรู้ในการฝึกฝนวิชาชีพได้จัดโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อน อบรมกฎหมายภาคปฏิบัติประจำปีพ.ศ.2563 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาเพิ่มพัฒนาให้มีความรู้ที่แท้จริง
สำหรับหลักสูตรใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป วิชาการฝึกงานเป็นวิชาบังคับ ในกลุ่มนี้มี 3 ตัวเลือกให้นักศึกษาได้เลือก คือ 1. วิชาฝึกงาน 2. Pro Bono 3. วิจัย (Research Paper) ซึ่งนักศึกษาจำนวนมากเลือกการฝึกงาน สำหรับนักศึกษาหลักสูตรเดิม ยังไงเป็นวิชาเลือกเสรี
แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 แม้จะฝึกงานไม่ได้แต่การถ่ายทอดความรู้สามารถเป็นไปได้ ต้องขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรทุกท่าน ศิษย์เก่าที่มากันในวันนี้
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน (ผู้ดำเนินรายการ) :
ได้ถามคำถามวิทยากรใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่
1️⃣คำถาม (1) : แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กร หน่วยงาน และลักษณะงาน
2️⃣คำถาม (2) : การเตรียมตัวและแรงบันดาลใจในการเข้าทำงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าอะไรทำให้เลือกเข้าทำงานในสายงานนี้
3️⃣คำถาม (3) : คุณลักษณะ/คุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าไปฝึกงานในหน่วยงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าคุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่หน่วยงานต้องการ คุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่ไม่ควรมี
4️⃣คำถาม (4) : ลักษณะของานที่นักศึกษาจะได้ทำเมื่อได้รับคัดเลือกเข้าไปในหน่วยงานแล้ว และตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ฝึกงานนักศึกษาจะได้ทำอะไรบ้าง
5️⃣คำถาม (5) : เนื่องจากนักศึกษาที่จะไปฝึกงานในครั้งนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรใหม่ของคณะฯ คือตามหลักสูตรได้ลดวิชาบังคับลง เหลือเพียงวิชาที่สำคัญ ๆ ไว้ คำถามที่นักศึกษาหลาย ๆ คนต้องการทราบคือเมื่อจบไปแล้วอยากทำงานในด้านนี้ อยากไปฝึกงานในด้านนี้ ควรลงวิชาเลือกอะไรบ้าง
6️⃣คำถามสุดท้าย : ฝากถึงนักศึกษาฝึกงาน
คุณเอกพล อภินันทร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด :
1️⃣คำถาม (1) : แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กร หน่วยงาน และลักษณะงาน
คุณเอกพล อภินันทร์ : ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นธนาคารที่จัดตั้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว เป็นธนาคารที่มีขนาดที่ใหญ่ มีการทำธุรกิจและธุรกรรมที่มาก ดังนั้นฝ่ายกฎหมายของธนาคารไทยพาณิชย์จึงมีการแบ่งส่วนงานออกเป็นหลายฝ่าย
ฝ่ายคดี ดูแลงานคดีโดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนงานคือ ส่วนงานแรกฝ่ายสินเชื่อ และส่วนงานที่สองฝ่ายคดีพิเศษ เช่น คดีปกครอง ส่วนที่สองฝ่ายกิจการพลังงาน โดยโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายนี้เป็นการดูเรื่องสินเชื่อเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า
ฝ่ายหลักทรัพย์ ดูแลเรื่องกฎหมายหลักทรัพย์ เช่น การจดทะเบียนเขาตลาดหลักทรัพย์
อีกส่วนคือ กฎหมายดิจิตอลกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร เช่น การทำธุรกรรมออนไลน์ (Internet banking) ก็จะต้องมาดูกฎหมายในส่วนนี้ด้วย
2️⃣คำถาม (2) : การเตรียมตัวและแรงบันดาลใจในการเข้าทำงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าอะไรทำให้เลือกเข้าทำงานในสายงานนี้
คุณเอกพล อภินันทร์ : ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ โดยตนเห็นว่าตนก็เหมือนเด็ก ๆ ทั่วไปที่เลือกเรียนเพียงเพราะยึดติดกับคำว่า “ความยุติธรรม” ซึ่งในอนาคตตนอยากทำงานที่เป็นส่วนหนึ่ง (Parts) ของความยุติธรรม
ซึ่งหลังจากตนเรียนจบนั้นหลาย ๆ คนก็อาจจะอยากเป็นอัยการ ผู้พิพากษา ที่ปรึกษา แต่ตนนั้นยังไม่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นอะไร ซึ่งตอนนั้นตนก็ตั้งใจเรียนเนฯ หลังจากเรียนจบตนก็ตั้งใจที่จะเก็บคดี และไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศเพิ่มอีก 2 ใบ เพื่อที่จะได้กลับมาสอบผู้ช่วยฯสนามเล็ก (ตอนนั้นยังไม่มีสนามจิ๋ว)
ในวันหนึ่งตนก็เริ่มคิดว่าความจริงตนนั้นอยากเป็นผู้พิพากษา หรืออัยการจริงหรือไม่ เพราะเป็นเหมือนส่วนสุดท้ายของการสร้างความยุติธรรม ตนนั้นเริ่มเกิดความคิดอยากสร้างความยุติธรรมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ตอนร่างสัญญา ตั้งแต่ตอนให้คำปรึกษา ตนจึงได้เริ่มทำงานที่บริษัทให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย (law firm) ซึ่งเมื่อตนได้มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจมากยิ่งขึ้นตนก็ย้ายมาทำงานเป็นที่ปรึกษาภายในของบริษัทยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด คือบริษัทเจ้าของ KFC Pizza Hut ทำให้ตนได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง สถาบันการเงินแรกที่ตนได้เริ่มทำงาน คือ ธนาคารทิสโก้ ทำให้รู้ว่าความจริงแล้วการทำงานในสถาบันการเงินไม่ได้ต้องมีความรู้เฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเท่านั้น ตัวอย่างเช่น กรณีลูกค้ามาขอสินเชื่อเพื่อไปทำเหมืองแร่ ก็จำเป็นจะต้องไปดู พ.ร.บ.แร่ ,หลักเกณฑ์การให้สัมปทาน ฯลฯ
ตั้งแต่นั้นมาตนก็ได้ทำงานเกี่ยวกับสถาบันการเงินมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันตอนนี้ตนทำงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่เกี่ยวกับงานคดีและที่ปรึกษา แต่ตนก็ยังคงเชื่อว่างานในการให้คำปรึกษา การร่างสัญญา ถ้าได้ทำอย่างถูกต้องก็สามารถลดอรรถคดีที่ขึ้นสู่ศาลได้บ้าง และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของความยุติธรรม
3️⃣คำถาม (3) : คุณลักษณะ/คุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าไปฝึกงานในหน่วยงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าคุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่หน่วยงานต้องการ คุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่ไม่ควรมี
คุณเอกพล อภินันทร์ : ถ้า SCB ต้องการนักศึกษามาฝึกงานคุณสมบัติที่ต้องการคือ
1. ตั้งใจ ถ้ามาฝึกงานเพราะเป็นเพียงหนึ่งในวิชาบังคับนั้น SCB ไม่ต้องการ เพราะหากน้องตั้งใจน้องก็จะได้สิ่งนั้นกลับไป และอาจทราบได้ว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานในลักษณะนั้น ซึ่งหากน้อง ๆ ไม่ตั้งใจก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายกับตัวนักศึกษาเอง ตนในฐานะตัวแทนของธนาคารไม่ได้เสียอะไรจากการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน แต่เป็นน้องเองต่างหากที่เสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้
2. ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง แต่คนที่ใฝ่รู้ต่างหากที่มีคุณสมบัติที่จะทำงาน
3. เรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสังคมธุรกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ นักกฎหมายก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติใช้ วันนี้หลาย ๆ อย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป
4. ความยืดหยุ่น เราจะต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ในการปฏิบัติ ในการเจรจา ไม่ใช่กฎหมายมันเขียนไว้อย่างนี้ก็เป็นอย่างนั้น เราจะต้องหาทางออกให้ได้ไกล (beyond) กว่านี้
ส่วนในเรื่องค่าตอบแทนการทำงาน หากเราทำงานได้ดี ค่าตอบแทนก็จะตามมาเอง
คำถาม (4) : ลักษณะของานที่นักศึกษาจะได้ทำเมื่อได้รับคัดเลือกเข้าไปในหน่วยงานแล้ว และตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ฝึกงานนักศึกษาจะได้ทำอะไรบ้าง
คุณเอกพล อภินันทร์ : โดยปกติ SCB เมื่อเริ่มต้นการฝึกงานจะให้น้อง ๆได้เลือกแผนกและเราจะดูความเหมาะสม โดยระยะเวลาตลอดการฝึกงานน้องจะได้อยู่ที่แผนกนั้นตลอดไม่มีการเปลี่ยน เพราะเรามองว่าถ้าน้อง ๆ ได้เลือกแล้ว ระยะเวลาเพียง 2 เดือนนั้นเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ซึ่งในสัปดาห์แรกจะมีการมอบหมายโครงการให้ และจะมีการนำมานำเสนอในตอนสิ้นสุดการฝึกงาน สิ่งที่น้อง ๆ จะได้รับคือ ได้ฝึกงานจริง ได้วิจัยจริง บางโจทย์อาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน เช่น ลายเซ็นดิจิตอล
5️⃣คำถาม (5) : เนื่องจากนักศึกษาที่จะไปฝึกงานในครั้งนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรใหม่ของคณะฯ คือตามหลักสูตรได้ลดวิชาบังคับลง เหลือเพียงวิชาที่สำคัญ ๆ ไว้ คำถามที่นักศึกษาหลาย ๆ คนต้องการทราบคือเมื่อจบไปแล้วอยากทำงานในด้านนี้ อยากไปฝึกงานในด้านนี้ ควรลงวิชาเลือกอะไรบ้าง
คุณเอกพล อภินันทร์ : ในเรื่องนี้ตนเห็นว่าหากมีการแยกสายออกไปชัดเจน เป็นหน้าที่ของน้อง ๆ ต้องค้นหาตนเองว่าต้องการที่จะทำงานด้านไหน แต่หากต้องการทำงานสถาบันการเงินวิชาเลือกที่น่าสนใจจะเป็นกฎหมายค้ำประกัน ตั๋วเงิน และที่ขาดไม่ได้คือกฎหมายแรงงานเนื่องจากไม่ว่างานสายไหนก็ต้องทำงานกับคน
ในส่วนที่เป็นวิชาพื้นฐานต่างๆก็ควรมี แต่หากมีความสนใจที่จะศึกษาเฉพาะด้าน เช่น ด้านธุรกิจ ก็ควรที่จะเลือกเรียนวิชากฎหมายหลักทรัพย์ หรือมีความสนใจด้านธุรกิจระหว่างประเทศก็ต้องไปลงเรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น คดีบุคคล คดีเมือง
หากต้องการที่จะทำงานในสายงานเฉพาะ ยิ่งมีความรู้ที่เป็นเฉพาะด้านเฉพาะสายงานนั้นก็ยิ่งเป็นประโยชน์ เช่น การจะไปทำงานสายงานด้านการเงินหากมีความรู้เรื่องการซื้อขายการควบรวมกิจการ (M&A) บ้างก็จะเป็นประโยชน์ โดยตนมีข้อแนะนำว่าเวลาลงวิชาเลือกควรลงเป็นสายเดียวกัน เพราะเวลาน้องมีใบผลการเรียน (transcript) เป็นสายเดียวกันมา ผู้ที่รับสมัครงานก็สามารถรู้ได้ว่าน้องมีความสนใจในด้านนั้นจริง ๆ
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย :
1️⃣คำถาม (1) : แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กร หน่วยงาน และลักษณะงาน
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย : สำนักงานคณะกรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย เปรียบเสมือนบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย (law firm) ซึ่งให้บริการหรือมีลูกความ (client) เพียงแค่หนึ่งคน คือ รัฐบาล โดยระบุไว้ใน พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 ว่ามีใครหรือผู้ใดบ้างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำปรึกษา โดยหลัก ๆ จะเป็นกระทรวง ทบวง กรม
ภารกิจหรือหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก งานด้านค้นหว้าและให้คำปรึกษาคำแนะนำทางด้านกฎหมาย (legal advisor) แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยในกรณีที่รัฐบาลจะทำตามหรือไม่ทำตามจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย คือกฎหมายจะต้องกำหนดไว้ ต้องมีฐานทางกฎหมายที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา 80 -90% หน่วยงานของภาครัฐจะต้องดำเนินตามกฎหมายต่อไป ซึ่งอาจจะมี 5 % ที่เกิดความไม่แน่นอนที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น กฎหมายในเรื่องหนึ่ง ๆ กำหนดผู้รับผิดชอบมากกว่า 1. หน่วยงาน เช่น การนำเข้าหรือส่งออกสินค้า โดยหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับศุลกากร แต่หากเป็นสินค้าเกี่ยวกับเกษตรอาจจะมีกระทรวงเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือกรมวิทยาศาสตร์การเกษตรในการตรวจสอบมาตรฐานว่ามีการปนเปื้อนแมลงหรือศัตรูพืชหรือไม่
ส่วนที่สอง งานเฉพาะหรือการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย คือ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการ รัฐมนตรีจะส่งร่างกฎหมายจำพวกกฎกระทรวง พ.ร.ก. พ.ร.บ. มาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาว่ามีเนื้อหาหรือวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายอื่น ไม่สมเหตุสมผลหรือไม่ มีความเป็นไปได้ที่จะใช้บังคับได้หรือไม่
ลักษณะงานส่วนใหญ่ของสำนักงานคณะกรมการกฤษฎีกาไม่ใช่เรื่องการท่องจำ แต่มีลักษณะที่ต้องร่วมกันคิด (brain storm) ซึ่งปัจจุบันมีหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาคือ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
2️⃣คำถาม (2) : การเตรียมตัวและแรงบันดาลใจในการเข้าทำงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าอะไรทำให้เลือกเข้าทำงานในสายงานนี้
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย : กล่าวว่าเหตุผลของตนนั้นค่อนข้างตอบยาก เพราะตนรู้ว่าตัวเองนั้นต้องทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่อายุ 18 ปี เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลได้มีการจัดสอบชิงทุนไปประเทศอังกฤษ ซึ่งเงื่อนไขการได้รับทุนคือต้องทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในช่วงเวลาตอนนั้นตนไม่ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคืออะไร สิ่งที่ตนทราบมีเพียงว่าจะต้องไปประเทศอังกฤษให้ได้
ย้อนกลับไปช่วงสอบเอนทรานซ์ คุณณรัณ กล่าวว่าตนไม่รู้ว่าตนนั้นอยากเรียนอะไร แต่ก็ไม่มีความเสียใจที่ได้มาเรียนคณะนิติศาสตร์เนื่องจากเป็นงานที่สนุก และได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกว่า ทางสำนักงานมีช่องทางให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ มีทุนการศึกษาให้ตลอดทุกปีเพื่อไปพัฒนาความรู้ความสามารถปีหนึ่งเกือบ 10 ทุน โดยที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีบุคลากรเพียง 400 คน เฉพาะนักกฎหมายมีเพียง 250 คนเท่านั้น
เงื่อนไขการเข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือต้องมีการสอบบรรจุ โดยสอบ ก.พ.ภาค ก. และภาค ข. ซึ่งตามปกติอัตราการแข่งขันจะอยู่ที่ 1:20 คือ ในจำนวน 20 คนนั้นรับเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงแต่ไม่ถึงกับสูงที่สุด
โดยสรุป ตนเห็นว่าตนไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาเรียนคณะนิติศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคืออะไรนั้นตนไม่รู้ สิ่งที่ตนรู้มีอยู่อย่างเดียวคืออยากไปดูแมนยู (Manchester United) เตะ และก็ได้ไปจริง ๆ ซึ่งตั๋วฟุตบอลที่นั้นถูกมาก
3️⃣คำถาม (3) : คุณลักษณะ/คุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าไปฝึกงานในหน่วยงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าคุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่หน่วยงานต้องการ คุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่ไม่ควรมี
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย : คุณสมบัติที่หน่วยงานของตนต้องการคือ ต้องการเด็กที่สามารถคิดนอกกรอบได้แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทำไมถึงมีกรอบ ต้องเข้าใจว่าการทำงานกับราชการมันมีระเบียบจารีตประเพณี (custom) ของมัน ซึ่งตนอยากให้เปิดใจแล้วมาศึกษาว่าทำไมคนที่นี้ถึงทำเช่นนั้นแล้วรัฐบาลทำงานอย่างไร แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นหน่วยงานที่เล็กแต่ก็เป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางขององคาพยพของรัฐบาล
เลขาธิการคนปัจจุบัน ท่านปกรณ์ นิลประพันธ์ ต้องเข้าประชุมกับคณะรัฐมนตรีทุกวันอังควร ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีส่วนในการตัดสินใจใหญ่ของประเทศทั้งหมด เพราะฉะนั้นงานตรงส่วนนี้มันจึงมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ไม่สามารถตัดสินใจอย่างรวดเร็วได้ การตัดสินใจต้องถูกต้อง เป็นธรรม ได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม อยากให้ท่านลองดูการตัดสินใจของภาครัฐไม่ว่าจะตัดสินใจไปอย่างไร ไม่ซ้ายก็ขวาที่ต้องได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
ดังนั้นคุณสมบัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องการ คือ
1. ต้องคิดนอกกรอบ เพราะรัฐต้องเดินไปข้างหน้า ดังนั้นต้องเข้าใจโลกอนาคตด้วย จะติดอยู่กับกรอบอย่างเดิม ๆ ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่ามันมีกรอบที่ต้องปฏิบัติตามด้วย
2. ต้องคิดให้รอบคอบ เป็นตัวอย่างของนักกฎหมายกฤษฎีกาแบบแรกคือมีความละเอียดรอบคอบ มีการตรวจตราร่างกฎหมาย 3 – 4 รอบ เพื่อให้ไม่มีคำผิดใดๆเลย
3. ต้องคิดเป็นกรอบใหญ่ คือ คิดว่ากฎหมายที่จะออกมานั้นจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง
ส่วนคุณสมบัติเรื่องความจำนั้นไม่สำคัญ แต่ต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ จะตอบเพียงว่าเพราะมาตรานี้เขียนอย่างนี้ไม่ได้แต่จะต้องมีความสามารถในการปรับใช้ แต่ก็อยากให้เข้าใจว่างานราชการเป็นงานที่หนัก แต่ค่าตอบแทนไม่ได้มากเท่าเอกชน เป็นงานที่มีผลกระทบระดับประเทศ
4️⃣คำถาม (4) : ลักษณะของานที่นักศึกษาจะได้ทำเมื่อได้รับคัดเลือกเข้าไปในหน่วยงานแล้ว และตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ฝึกงานนักศึกษาจะได้ทำอะไรบ้าง
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแบ่งส่วนงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งคือส่วนงานตามประเภทของกฎหมาย ส่วนที่สอง คือส่วนงานวิชาการ โดยการที่น้องจะได้ทำงานในส่วนไหน ขึ้นอยู่กับว่าตอนที่น้อง ๆ เข้ามาน้องจะได้เข้าไปอยู่ทีมไหม เช่น หากน้องได้ไปอยู่กฎหมายการเงิน น้องก็จะไปดูกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย กฎหมายของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ การคลังภาครัฐ โดย คำว่า “ดูกฎหมาย” นั้น คือเป็นส่วนหนึ่งของทีมเลขานุการ หากมีร่างกฎหมายใหม่เข้ามาฝ่ายเลขานุการก็จะเริ่มจากประชุมร่างก่อน ความเห็นเกี่ยวกับร่างนั้นยังไม่แน่นอน จะมีการคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจุดเด่นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคือการประชุมคณะ ซึ่งมี 13 คณะทำงานด้วยกัน และยังมีคณะเพิ่มเติมอีก 2-3 คณะทำงาน
ตัวอย่างเช่น คณะกฎหมายการเงิน คือคณะทำงานคณะที่ 3 ซึ่งมีท่านพรทิพย์ จาระ เป็นประธาน ซึ่งในเวลาประชุมก็จะได้เข้าร่วมประชุมกับทั้งอดีตปลัดกระทรวง อดีตหัวหน้าหน่วยราชการต่าง ๆ หัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งน้องจะได้นั่งอยู่กับพวกพี่ ๆ ในฐานะเลขานุการซึ่งทำหน้าที่ในการจัดเตรียมเนื้อหา เตรียมร่าง เตรียมข้อมูลทั้งหมด เตรียมความเห็น ซึ่งเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่อง หน้าที่ของเราคือการเสนอความเห็นออกไปพร้อมกับเหตุผลว่าทำไมถึงเห็นว่าอย่างนั้น
น้องในฐานะคนเล็กสุดก็จะได้ไปต้อนรับผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม อธิบายวาระการประชุม จดรายงานการประชุม ซึ่งเป็นการสรุปเรื่องที่เราเข้าใจ ไม่ใช่การลอก เป็นการนำเรื่องที่ยากมานำเสนอให้ง่ายที่จะรับฟัง
ส่วนงานวิชาการนั้น มีอยู่ 2 – 3 งาน งานแรกคือ ฝ่ายกฎหมายระหว่างประเทศเปรียบเทียบ น้อง ๆ ก็จะเข้ามาช่วยศึกษาวิจัยเปรียบเทียบในเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมายปกครองเปรียบเทียบกฎหมายฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา
อีกงาน คือ ฝ่ายกองพัฒนากฎหมายซึ่งเป็นงานที่สำคัญมาก ๆ เป็นกองเชิงรุก คือในประเทศไทยมีกฎหมายด้านไหนที่หน่วยงานรับผิดชอบดูแล เช่น ตอนนี้กำลังพัฒนากฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมาศึกษาดูว่าการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน
อีกฝ่ายคือ เป็นเลขานุการการจัดทำร่างกฎหมายอย่างที่พี่บอกในฐานะนักกฎหมายภาครัฐ เราดูแลความสอดคล้อง ตัวบทนั้นไม่พอ ต้องดูผลกระทบของกฎหมายต่อสังคมด้วย
หลักๆสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคิดว่าคนที่มาทำงานที่นี้นั้นเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ งานบางงานอาจจะดูเหมือนว่าไม่มีประโยชน์ แต่งานทุกงานนั้นมีเหตุผลของตัวมันเอง เช่น งานจดรายงานการประชุมหลาย ๆ คนอาจจะไม่ชอบ แต่หากสามารถทำได้แล้วจะเป็นความสามารถที่มีประโยชน์ในการสรุปและการประชุม
5️⃣คำถาม (5) : เนื่องจากนักศึกษาที่จะไปฝึกงานในครั้งนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรใหม่ของคณะฯ คือตามหลักสูตรได้ลดวิชาบังคับลง เหลือเพียงวิชาที่สำคัญ ๆ ไว้ คำถามที่นักศึกษาหลาย ๆ คนต้องการทราบคือเมื่อจบไปแล้วอยากทำงานในด้านนี้ อยากไปฝึกงานในด้านนี้ ควรลงวิชาเลือกอะไรบ้าง
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย : กฎหมายที่เป็นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีอยู่ 3-4 ฉบับ คือ
1. กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องรู้ว่าการเสนอร่างกฎหมายทำอย่างไร คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอย่างไรบ้าง หน่วยงานราชการมีกี่แบบ
2. กฎหมายปกครอง ในความเป็นจริงแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยเป็นส่วนหนึ่งของศาลปกครอง แต่มีการแยกออกจากกันเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาจะมีแผนกร้องทุกข์ซึ่งหากใครมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของภาครัฐก็สามารถไปร้องทุกข์ได้ที่แผนกนี้
3. กฎหมายเกี่ยวกับวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากเรามีหน้าที่ในการให้ความเห็นในการพิจารณางบประมาณ
แต่ตนอยากเสนอเพิ่มเติมว่า อยากให้นักศึกษาฝึกงานทำ 2 อย่าง อยากให้น้องแบ่งหน่วยกิตไปเล็กน้อยเพื่อไปเรียนวิชาเลือกที่ไม่ใช่กฎหมาย เพราะเวลาน้องเรียนวิชากฎหมายจะมีการสร้างมุมมองเฉพาะ (tunnel vision) ทางด้านกฎหมายขึ้นมาคือทำให้น้องมองเรื่องนั้น ๆ ทางด้านกฎหมาย แต่ถ้าน้องสนใจอะไรเป็นพิเศษ เช่นวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมน้องก็ลองไปหาคณะอื่นที่เปิดสอนสิ่งแวดล้อมเรียน หรือกฎหมายการเงินน้องก็ต้องลองไปเรียนวิชาคณะเศรษฐศาสตร์ ไม่ต้องลงวิชาที่ยากมากแต่เพียงต้องการให้ปรับวิธีคิดว่าคนอื่นเขามองเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างไร
อีกวิชาที่น่าสนใจจะเป็นวิชาในสายการเรียนรู้เชิงคลินิก (clinical study) คือ วิชาการเอากฎหมายไปปรับใช้จริง อาจจะเป็นการช่วยชาวบ้านที่เขาไม่มีเงินจ้างทนายความ เป็นการฝึกให้สามารถปรับใช้กฎหมายได้จริงเนื่องจากเวลาเราเรียนนั้นเป็นการเรียนรายวิชา แต่การทำงานจริงเป็นการผสมผสานกันในหลาย ๆ เรื่อง และยังฝึกให้เราคุยกับคนให้เป็น
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด :
1️⃣คำถาม (1) : แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กร หน่วยงาน และลักษณะงาน
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล : SCG มีหน่วยทางธุรกิจ (business units) หลัก ๆ อยู่ 3 หน่วย
หน่วยแรก คือ วัสดุก่อสร้าง (Construction Building Material)
หน่วยที่สอง คือ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ (Packaging) ซึ่งล่าสุดทางบริษัท SCG Packaging เพิ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
หน่วยที่สาม คือ เคมีภัณฑ์ (Chemical Product) เช่น เม็ดพลาสติกส่วนหนึ่งก็มาจากโรงงานของ SCG
ในส่วนของงานกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเครือ SCG โดยแต่เดิมเป็นส่วนงานภายใน ซึ่งภายหลังได้มีการแยกตัวออกมา (Spin off) แต่งานส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการให้บริการบริษัทในเครือ SCG กว่า 300 บริษัท ทั้งในและนอกประเทศ ลักษณะองค์กรนั้นคล้ายฝ่ายกฎหมายภายในบริษัท (inhouse) แต่ก็มีลักษณะเป็นผสมผสานกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย (law firm) คือ การให้ความเห็นทางกฎหมายต้องมีความเป็นมืออาชีพ (professional) ในขณะเดียวกันการทำงานต้องมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจตนเอง (business partner)
โครงสร้างส่วนงานกฎหมายของ SCG แบ่งออกเป็น 4 บริการ (functions)
บริการแรก องค์กรธุรกิจและหลักทรัพย์ (Corporation & Securities) ดูแลเรื่องหุ้นส่วนบริษัท หลักประกันทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
บริการที่สอง การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) รวมถึงการทำสัญญา ธุรกรรมต่าง ๆ การซื้อขายและควบรวมกิจการ (M&A)
บริการที่สาม ภาษี (Tax) ดูแลเรื่องภาษีของบริษัทในเครือไม่ว่าจะเป็นภาษีศุลกากร สรรพากร ที่ดิน หรือแม้กระทั่งการขอรับการส่งเสริม BOI
บริการที่สี่ บริการทั่วไป (Legal Services) เป็นการดูแลงานภาคภาษาไทยทั้งหมดต่าง ๆ เช่นคดีความ หรือกฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่
2️⃣คำถาม (2) : การเตรียมตัวและแรงบันดาลใจในการเข้าทำงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าอะไรทำให้เลือกเข้าทำงานในสายงานนี้
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล : คุณมณีรัตน์ได้เล่าย้อนไปถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับ คุณณรัณ คือ ตนไม่ได้ตั้งใจที่จะเรียนนิติศาสตร์แต่ที่เลือกเรียนเนื่องจากสอบได้ และสาเหตุที่ตนนั้นเลือกเรียนแผนการเรียนวิทย์ – คณิต นั้น ก็เพราะว่าเป็นแผนการเรียนที่ครอบคลุมสามารถสอบได้ทุกคณะ ในช่วงขึ้นสู่มหาวิทยาลัยตนรู้สึกว่าตนนั้นอยากเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่สอบติดคณะนิติศาสตร์ จึงได้ลองพยายามเรียนดูก่อนปรากฏว่าสามารถทำได้ดี ซึ่งตนรู้สึกว่าการเรียนนิติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องของการท่องจำ แต่เป็นเรื่องของตรรกะ (logic) แต่ตนก็ยังรู้สึกเสียใจอยู่ลึก ๆ ที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ และรู้ว่าวิชาในสายอาญา และมหาชนนั้นตนไม่ค่อยถนัด จึงพยายามเลือกวิชาเสรีเป็นวิชาในภาคธุรกิจ ตอนนั้นตนเลือกที่จะเรียนภาษีซึ่งตนรู้สึกสนุก และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นก็นำมาใช้ทำงานในวันนี้ด้วย
ในส่วนของแรงบันดาลใจที่เลือกทำงานที่ SCG ในช่วงนั้นตนเห็นว่า SCG เป็นองค์กรที่มั่นคง ซึ่งตอนที่เริ่มทำงานตนก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานในสายภาษีทันที
สุดท้ายสิ่งที่ตนอยากฝากคือ หลาย ๆ ครั้งเราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตจะได้ทำงานอะไร ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะมีความรู้สึกเดียวกัน แต่อยากให้ลองทำมันดูก่อน หากทำด้วยใจและทำได้ดีวันหนึ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เรารัก ตนอยากจะฝากเรื่องจุดมุ่งหมาย (Passion) ในวันที่ยังไม่ชัดเจนขอให้ลงมือทำเลย
3️⃣คำถาม (3) : คุณลักษณะ/คุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าไปฝึกงานในหน่วยงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าคุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่หน่วยงานต้องการ คุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่ไม่ควรมี
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล : คุณสมบัติที่ควรมี
1. ความรู้กฎหมาย
2. ภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ เนื่องจาก SCG มีงานในส่วนที่เป็นการลงทุนระหว่างประเทศ น้อง ๆ ที่มาฝึกงานที่ SCG จะได้ฝึกในทุก ๆ ส่วนงาน (function) 4 ส่วนงาน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นส่วนงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างเยอะ จึงต้องเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ด้วย และหากน้องคนไหนต้องการที่จะทำงานที่ SCG ในอนาคต ความต้องการ (requirement) ขั้นต่ำคือ คะแนนโทอิค (TOEIC) 550 คะแนน
3. การทำงานเป็นกลุ่ม (teamwork) เพราะการทำงานนั้นไม่เหมือนกับการเรียนมหาวิทยาลัยที่เรียนเป็นราย ๆ วิชา แต่สิ่งที่พบเจอนั้นเป็นหลาย ๆ เรื่องรวมกัน ซึ่งเวลาทำงานจริงน้องจะเจอกฎหมายที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เวลาจะดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ อาจจะต้องเจอ พ.ร.บ.แร่ การขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน อาจจะต้องไปดู พ.ร.บ.โรงงาน ต้องเข้าใจโครงสร้างกฎหมาย อยากให้น้องเข้าใจว่ากฎหมายเรื่องนั้น ๆ มีมาเพื่ออะไร ซึ่งจะต้องทำงานเป็นกลุ่ม ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน
4. การสื่อสาร การเขียน การนำเสนอ เป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องสามารถนำเสนอเรื่องยาก ๆ ให้คนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายเข้าใจได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนไปเรื่อย ๆ
5. ต้องเข้าใจธุรกิจ ต้องเข้าใจว่าทำไมธุรกิจถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงต้องการแบบนี้ จึงจะสามารถเอาภาคของกฎหมายเข้าไปปรับใช้ได้ คือ ทำอย่างไรจะทำให้ธุรกิจของเขาดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ยังอยู่ในกรอบกติกาของกฎหมาย
6. ความเป็นเจ้าของงาน (ownership) เวลาได้รับมอบหมายงานนั้นอยากให้คิดว่าเป็นงานของตนเอง จะเป็นเหตุผลให้เราทำงานได้ดีที่สุด
คุณสมบัติที่ไม่น่ารักหรือไม่ควรมี
1. เรื่องการรักษาความลับ (confidential) ต้องคิดเสมอว่าเราทำงานอย่างมืออาชีพ (professional) ไม่ใช่ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน (intern)
2. เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ต้องลองทำก่อนอาจเจอส่วนงานที่ชอบและไม่ชอบบ้าง เพื่อให้ตนเองได้สร้างเครือข่าย (network) มีเพื่อนต่างคณะต่างสถาบัน
4️⃣คำถาม (4) : ลักษณะของานที่นักศึกษาจะได้ทำเมื่อได้รับคัดเลือกเข้าไปในหน่วยงานแล้ว และตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ฝึกงานนักศึกษาจะได้ทำอะไรบ้าง
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล : SCG จะมีการวางแผนงานให้น้อง ๆ แต่ละคน ซึ่งน้อง ๆ จะได้ทำงานในทุกส่วนงาน งาน corporate งาน investment งาน legalservice แต่ละคนจะได้ฝึกงานในแต่ละส่วนงานคนละ 1 – 2 สัปดาห์ จะมีการจัดพี่เลี้ยงให้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นพี่เลี้ยงที่วัยใกล้เคียงกับน้อง ๆ เพื่อให้ได้พูดคุย ปรึกษา อีกส่วนคือพี่งาน ซึ่งเป็นพี่ ๆ แต่ละส่วนงานที่จะคอยมอบหมายงานให้น้อง ๆได้ทำกันเสมือนหนึ่งว่าน้อง ๆ เป็นพนักงานคนหนึ่ง และจะได้เข้าร่วมประชุมด้วยในเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นความลับมาก หลังจากที่เข้าประชุมแล้วก็จะกลับมาทำวิจัย (research) ต่าง ๆ และก่อนที่น้อง ๆ จะจบโครงการออกไปเราจะมีงานกลุ่มให้น้อง ๆ ได้ทำกันเป็นโครงการจบ เนื่องจากน้อง ๆ ที่มาฝึกงานที่ SCG มีไม่เยอะมากราว 6-7 คน เราก็จะมีการมอบหมายคดีตัวอย่าง (case study) ให้ไปคิดกันว่าน้อง ๆ จะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อนำเสนอให้พี่ ๆ ในสำนักงานช่วยกันวิจารณ์ว่าตรงส่วนไหนนั้นเป็นส่วนที่ดี หรือส่วนไหนนั้นควรปรับปรุง
5️⃣คำถาม (5) : เนื่องจากนักศึกษาที่จะไปฝึกงานในครั้งนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรใหม่ของคณะฯ คือตามหลักสูตรได้ลดวิชาบังคับลง เหลือเพียงวิชาที่สำคัญ ๆ ไว้ คำถามที่นักศึกษาหลาย ๆ คนต้องการทราบคือเมื่อจบไปแล้วอยากทำงานในด้านนี้ อยากไปฝึกงานในด้านนี้ ควรลงวิชาเลือกอะไรบ้าง
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล : ในภาคธุรกิจวิชาเลือกที่มีควรติดตัวนอกจากวิชาบังคับที่เป็นวิชาหนี้ องค์กรธุรกิจ เอกเทศสัญญาต่างๆ คือ วิชาประกันภัย ค้ำประกัน จำนำ จำนอง รวมถึงวิชาภาษีไม่ว่าจะเป็นศุลกากร สรรพกร เพราะว่าทุกเรื่องนั้นมีเรื่องภาษีเหมือนยาดำเข้ามาแทรกอยู่เสมอ หรือ
ในกรณีที่น้อง ๆ มีความสนใจเฉพาะด้านตนก็อยากให้เลือกลงวิชาเฉพาะด้านนั้น ๆ ไปเลย เช่น หลักทรัพย์ ตลาดเงิน ตลาดทุน กฎหมายเกี่ยวกับการค้าพาณิชย์อื่น ๆ หรือในเรื่องการกู้เงินนอกจากการกู้เงินแบบธรรมดา ก็จะมีเรื่องของฟินเทค (Financial & Technology-Fintech) หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ :
1️⃣คำถาม (1) : แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กร หน่วยงาน และลักษณะงาน
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ : KPMG เป็น 1 ใน 4 บริษัทตรวจสอบทางบัญชี (audit firm) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (Big Four) แต่ปัจจุบันนี้ KPMG กำลังจะแตกบริษัทออกเป็นบริษัทที่ดูแลด้านกฎหมาย (Legal) และบริษัทที่ดูแลด้านภาษี (Tax) ออกเป็น 2 บริษัท ซึ่งแต่เดิมส่วนงาน 2 ส่วนนี้อยู่ภายในบริษัทเดียวกัน ซึ่งอยากให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า KPMG ไม่ได้ให้บริการเพียงแค่ทางบัญชีและภาษีเท่านั้น
ในส่วนงานกฎหมายของ KPMG เหมือนบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย (law firm) ทั่วไป ดูแลอย่างครบวงจร (one stop service) เริ่มตั้งแต่จดทะเบียนบริษัท ดูแลการทำธุรกิจเดินเคียงคู่ไปกับลูกค้า จนกระทั่งเลิกบริษัท โดยสามารถแยกโครงสร้างออกเป็นหลายส่วนได้ดังนี้
ส่วนแรก จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งลูกค้าโดยส่วนใหญ่ 75 % เป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่ง KPMG จะดูแลให้คำปรึกษาว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศมีผลตอบแทนที่ดีหรือไม่ ซึ่งหากถึงเวลาก็จะดำเนินการจดทะเบียนให้ จนกระทั่งเวลาที่ถอนทุนคืนกลับประเทศ
ส่วนที่สอง การทำธุรกิจซื้อขายกิจการ (Due Diligence) เช่น ตอนนี้ภาคใต้ธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ค่อยราบรื่นก็จะมีการขายกิจการ
ส่วนสุดท้าย การขอใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น การขออนุญาตตั้งโรงงาน การขออนุญาตรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI (Board of Investment) หรือแม้กระทั่งตอนนี้เป็นเรื่องของ PDPA (Personal Data Protection Act.)
สิ่งที่ KPMG ไม่มีคือ การว่าความ (litigation) เนื่องจากมีความขัดแย้ง (conflict) กับกฎของต่างประเทศ ดังนั้นในเรื่องว่าความจึงต้องใช้บริการของทนายที่อื่น
2️⃣คำถาม (2) : การเตรียมตัวและแรงบันดาลใจในการเข้าทำงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าอะไรทำให้เลือกเข้าทำงานในสายงานนี้
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ : ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ตนได้มาทำงานที่ KPMG ว่า ตอนนั้นตนก็ยังไม่รู้ตัวเองว่าตนนั้นอยากเป็นหรืออยากทำงานอะไร เหมือนหลาย ๆ คนที่อยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ในตอนนั้นมีคนแนะนำให้ตนได้รู้จักกับกลุ่ม Big Four ว่าให้ค่าตอบแทนที่ดี ซึ่งก็จุดประกายให้ตนอยากเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ตนนั้นยังขอเงินพ่อแม่ในการใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งตนได้สมัครและเข้าทำงานกับ KPMG ทำให้ได้พบกับความท้าทายในการทำงานที่ไม่เหมือนงานราชการ เพราะว่าลูกค้าที่มีนั้นมีปัญหาหลากหลาย (108) ด้วยความที่ตนเป็นเด็กตนจึงได้รับหน้าที่ในการค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหานั้น ซึ่งแตกต่างกับเรื่องที่พบเจอในชั่วโมงเรียนเพราะการเรียนนั้นเป็นการเรียนกับตัวบทและคำพิพากษา แต่เมื่อปรับใช้กับคดีจริงก็ต้องคิดอย่างเต็มที่ ต้องบริการลูกค้าอย่างที่ลูกค้าต้องการแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในขอบข่ายของกฎหมาย
หลังจากที่ตนได้ทำงานที่ KPMG ตนก็ได้เปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนแผนในชีวิตที่แต่เดิมอยากทำงานสายราชการ ตอนนี้ตนอยากเป็นนายตนเอง อยากเป็นพาร์ทเนอร์ (partner) จนถึงวันที่ไปถึงตรงจุดนั้น ในตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของตนที่ต้องส่งต่อหน้าที่ให้น้อง ๆ รุ่นหลัง และจะคอยสนับสนุนน้อง ๆ อยู่ข้างหลังต่อไป
3️⃣คำถาม (3) : คุณลักษณะ/คุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าไปฝึกงานในหน่วยงานของวิทยากรแต่ละท่าน ว่าคุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่หน่วยงานต้องการ คุณลักษณะ/คุณสมบัติใดที่ไม่ควรมี
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ : สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะเข้ามาทำงานสิ่งที่ KPMG จะทดสอบคือ
1. ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราจะใช้หลักสูตรของอ็อกซฟอร์ด (Oxford) ในการทดสอบ โดยจะคัดเลือกที่คะแนน 30 จาก 120
2. ผลของการเรียน ที่ GPA : 3.00 สำหรับใครที่ไม่ถึงแต่ปริ่ม ๆ ก็จะคัดเลือกเป็นรายกรณีไป
คุณสมบัติอะไรที่ควรมีนั้น วิทยากรหลาย ๆ ท่านได้พูดไปแล้ว เรื่องการคิดนอกกรอบแต่ต้องอยู่ในกรอบ ภาษา การทำงานเป็นกลุ่ม ความเป็นเจ้าของงาน ความตั้งใจและการปรับตัว สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่น้อง ๆ ต้องมี แต่สิ่งที่ KPMG ต้องการจากน้อง ๆ นั้นคือการปรับใช้กฎหมายจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง และน้องต้องเชื่อว่าน้องสามารถทำได้ การทำงานนั้นเป็นการทำงานแบบกลุ่ม เวลาที่น้อง ๆ เข้ามาฝึกงาน KPMG จะมีพี่เลี้ยง (buddy) ให้ ซึ่งเป็นวัยที่ใกล้เคียงน้อง ๆ มาคอยแนะนำ
เนื่องจากโลกนั้นได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมาร่วมกันคิดและเสนอเป็นแนวคิดแบบประยุกต์ (innovative idea) บางอย่างที่พี่ ๆ นำไปใช้ก็ได้มาจากความคิดของน้อง ๆ เหมือนกันที่น้อง ๆ คิดนอกกรอบ ซึ่งบางเรื่องหากไม่เข้าใจก็ไม่อยากให้เก็บเอาไว้เอง ให้กล้าที่จะแสดงออกมา ไม่อยากให้คิดไปเอง ซึ่งเมื่อน้อง ๆ เข้ามาฝึกงานเราก็จะมอบหมายให้น้อง ๆ ไปทำโครงงานมา 1 เรื่องเพื่อนำเสนอพี่ ๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ
4️⃣คำถาม (4) : ลักษณะของานที่นักศึกษาจะได้ทำเมื่อได้รับคัดเลือกเข้าไปในหน่วยงานแล้ว และตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ฝึกงานนักศึกษาจะได้ทำอะไรบ้าง
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ : เริ่มแรกเมื่อน้อง ๆ เข้ามาวันแรกจะต้องผ่านการ orientation จาก ฝ่ายบุคคล (HR) ประมาณครึ่งวันก่อนที่ฝ่ายบุคคลจะนำมาส่งให้ทีมที่รับผิดชอบในการดูแล ซึ่งน้อง ๆ จะได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง ซึ่งหากมีงานใหม่เข้ามาก็จะให้ทำ ให้เข้าร่วมประชุมด้วยกันเลย เพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ
น้อง ๆ ส่วนมากที่มาฝึกงานเป็นเด็กรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งมีความสามารถในการทำสื่อการนำเสนอ (Presentation) อยู่แล้ว ก็จะให้น้อง ๆ ช่วยนำเสนอ บางครั้งอาจเป็นเรื่องกฎหมายใหม่ๆที่แปลกตา ก็จะมอบหมายให้น้อง ๆ ไปทำวิจัย (research) มาเพื่อนำเสนอให้แก่พี่ ๆ บางครั้งอาจมอบหมายให้น้อง ๆ ไปติดต่อหน่วยงานรัฐ หรือยื่นเอกสารได้
การปฏิบัติต่อน้อง ๆ นั้นเสมือนหนึ่งเป็นพนักงาน (staff) คนหนึ่ง น้อง ๆ จะได้เบี้ยเลี้ยงเบิกได้เพื่อให้น้อง ๆ ได้มีความรู้สึกว่านี้คือการทำงานจริง ๆ
สิ่งที่น้อง ๆ จะได้กลับไป คือ 1. การทำงานในระดับบริษัท (firm) 2. รู้จักการทำงานแบบกลุ่ม 3. รู้จักการทำวิจัย การนำเสนอ การสรุปปิดยอด 4. ได้ทำโครงงานก่อนจบ
5️⃣คำถาม (5) : เนื่องจากนักศึกษาที่จะไปฝึกงานในครั้งนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรใหม่ของคณะฯ คือตามหลักสูตรได้ลดวิชาบังคับลง เหลือเพียงวิชาที่สำคัญ ๆ ไว้ คำถามที่นักศึกษาหลาย ๆ คนต้องการทราบคือเมื่อจบไปแล้วอยากทำงานในด้านนี้ อยากไปฝึกงานในด้านนี้ ควรลงวิชาเลือกอะไรบ้าง
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ : ตามที่ท่านวิทยากรได้พูดไป น้อง ๆ จะต้องรู้ว่าน้อง ๆ อยากทำงานทางด้านสายงานไหน ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายธุรกิจเรื่องที่อยากให้ดูไว้เป็นแนวทางคือ กฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายและการควบรวมกิจการ (M&A) ที่น่าสนใจ เพราะว่าธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น CAT ได้มีการรวมกับ TOT แล้วก็ตัวกฎหมายใหม่ ๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับดิจิตอล อีกเรื่องที่น้องต้องรู้คือเรื่องภาษี เพราะการทำงานในองค์กรธุรกิจหลีกหนีเรื่องภาษีไม่ได้ หรืออาจจะไปลงวิชาทางด้านบัญชีก็ได้ เพราะน้องต้องอ่านงบการเงินให้เป็นสามารถวิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้นได้ อย่างที่คุณณรัณได้พูดไป พอน้องมาสัมภาษณ์งานแล้วเห็นว่าน้องมาทางสายนี้ น้องก็จะเป็นตัวเลือกต้น ๆ ของงานนั้น ๆ
6️⃣คำถามสุดท้าย : ฝากถึงนักศึกษาฝึกงาน
คุณเอกพล อภินันทร์ :
ตนเห็นว่าเรื่องของการฝึกงานเป็นโอกาสในชีวิตเรา ตอนตนเรียนไม่มีโอกาสอย่างนี้เป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรนหาเอง การฝึกงานทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไรอย่างไร ส่วนเรื่องอนาคตเราจะทำงานอะไรอย่างไรเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งหลังจากนี้ การทำงานไม่เหมือนการเรียนที่ว่าใน 1 ภาคเรียนมีการสอบ 1 ครั้ง แต่การทำงานไม่มีเวลามากขนาดนั้น เหมือนมีการสอบในทุก ๆ วันและที่สำคัญคือตกไม่ได้เพราะทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของเรา เพราะหากเราคาดหวังความก้าวหน้าทางด้านกฎหมายผลงานจะต้องออกมาดี อยากฝากน้องว่า ถ้าน้อง ๆ คิดว่าตนเองเรียนไม่เก่ง คนอื่นเก่งกว่า การเรียนก็เป็นเรื่องหนึ่ง ตอนเริ่มต้นเราอาจจะยังหาไม่เจอ แต่ไม่ใช่ว่าคนที่เรียนเก่งจะประสบความสำเร็จ การทำงานมีมากกว่าความรู้ เวลาที่เขาเดินไปข้างหน้า แต่เราไปหยุดเล่น เราก็ต้องวิ่งตามให้ทันเขา เมื่อถึงวันที่เราตามเขาทันเป็นเรื่องที่เราต้องตัดสินใจแล้วว่าเราจะเดินไปกับเขาหรือเราจะวิ่งแซงเขา เราต้องมีความตั้งใจในการทำงานและความเชื่อว่าเรามีคุณค่า
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย :
ขออนุญาตฝากเป็นบทเรียนส่วนตัว คือ ในช่วงอายุ 20-21 อย่าพึ่งคิดว่าเป็นปลายทาง แต่แท้จริงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นช่วงของการทดลองการหาตัวเอง อาจะจบไปไม่ได้ทำงานสายกฎหมายบางคนอาจจะไปขายสาหร่ายรวย 10 ล้าน 100 ล้าน ก็ได้ ตนอยากให้น้องทดลองเยอะ ๆ ผิดตอนนี้อาจจะดีกว่าไปผิดตอนอายุ 50 ก็ได้ ตอนนี้เริ่มเลย อยากให้ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ หาบทเรียนจากทุกอย่างที่ทำ หาเพื่อนเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหนมันมีที่ยืนในสังคมทุกแบบ หาสิ่งที่เราชอบจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรา อย่าพึ่งคิดเรื่องปลายทางเก็บไว้คิดตอนอายุ 30
คุณมณีรัตน์ พูลสินชูสกุล :
ในเรื่องการสัมภาษณ์สิ่งแรกที่นายจ้างจะดูคือ คะแนน เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผลคะแนนจะบอกถึงความรับผิดชอบของน้อง ๆ ว่ามากน้อยแค่ไหน น้องอาจจะได้เกรดดี แต่นอกเหนือจากความเก่งน้องมีความรับผิดชอบมีความตั้งใจเป็นคุณสมบัติที่ตามหา สิ่งที่จะมาช่วยเสริมน้อง ๆ คือมีทัศนะคติเชิงบวก มีความยืดหยุ่น ต้องการเรียนรู้ นอกเหนือจากการเรียนอยากให้น้องไปทำกิจกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนก็ได้ ปฏิสัมพันธ์กับคนทำงานกับคนอื่น สื่อสารกับลูกความได้ ในเรื่องของการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เราก็ต้องเปิดใจเพราะบางครั้งการเรียนรู้มันไม่เกี่ยวกับกฎหมายโดยตรง แต่เราไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งเราจะได้หยิบมาใช้ และเวลาน้องมีความเครียดต่าง ๆ น้องก็ต้องรู้จักการผ่อนคลาย
คุณนิภาวรรณ ภัสสรภาคย์ :
ส่วนที่อยากให้ข้อคิดกับน้อง ๆ 1. เรื่องตัววิชาการ ตัวคะแนนเป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างจะพิจารณา แต่เขาก็จะดูความสามารถอื่น ๆ ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าตัวน้องจะสามารถนำเสนอตัวน้องเองออกมาในรูปแบบไหน เช่นการมีทัศนะคติเชิงบวก (positive thinking)