ครั้งก่อนเราพาไปพูดคุยแบบอารมณ์ดีสไตล์อินดี้ของผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร หรืออาจารย์เงาะ (อ่านได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/talkwithlawlecturers-ep3/)วันนี้เราจะพาคุณมาคุยต่อกับอาจารย์ต่อ ในประเด็นทางวิชาการ กับการตีความกฎหมายแพ่งในหลากหลายวิชาที่อาจารย์สอน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะหนี้ เอกเทศสัญญา 1 ซึ่งในหลายประเด็นอาจารย์อธิบายแตกต่างจากตำราทั่วไป ถึงเหตุผลและที่มาในการตีความที่แตกต่างของอาจารย์
คำถาม (1) : ในภาพรวม อยากถามถึงอิทธิพลที่ทำให้การตีความของอาจารย์ในหลาย ๆ ประเด็น ค่อนข้างต่างตำราทั่วไป
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “คือ จริง ๆ แล้วที่มันต่างก็แต่เฉพาะในบางเรื่องที่น่าสนใจ แต่เรื่องส่วนมากก็สอนเหมือน ๆ คนอื่น เพราะว่าอาจารย์ของเราท่านก็เก่ง ๆ ทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องปกติที่บางประเด็นนักกฎหมายมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป”
“บางเรื่องได้มาจากการคิดและค้นคว้ามานาน บางเรื่องก็คิดมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาเลย คิดมาหลาย ๆ ปี แม้กระทั่งว่าเรื่องกล้วยไม่ไหม้” (คือเรื่องจริงเลยใช่ไหมครับ?) “ใช่ คือเรื่องจริง ผมเจอตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษา ตอนไปซื้อกล้วยไม่ไหม้ที่ท่าพระจันทร์ กล้วยปิ้งเป็นของว่างยอดนิยมในเวลานั้นเมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว ในเวลานั้นยังไม่มีขนมขบเคี้ยวในถุงแบบที่เราเห็นอยู่ในวันนี้”
(อาจารย์จำได้ไหมว่าตอนนั้น อาจารย์สั่งแบบไม่ไหม้ ขาว ๆ หรือไหม้ไหม้ ดำ ๆ?) “(หัวเราะ) คือผมสั่งกล้วย “ไม่ไหม้” (หัวเราะ) เมื่อเปิดถุง กลับเป็นกล้วย “ไหม้ไหม้” เดินไปกินไปแบบงงงงและขมขม ในระหว่างเดินก็คิดว่าในทางกฎหมายต้องส่งมอบให้ผมแบบขาว ๆ ที่ผมต้องการ แต่คิดไม่ออกว่าจะเอาหลักกฎหมายอะไรมาจับ คิดไปเรื่อยเปื่อยจนลืม กระทั่งเรียนจบแล้วสอบแข่งขันจนได้ตำแหน่งอาจารย์ พอมาสอนนิติกรรมและสัญญาจึงคิดต่อ แล้วเอาประเด็นนี้มาสอน ไม่รู้ถูกหรือเปล่า (หัวเราะ)”
“ต่อมาอีกนานทีเดียว ผมจึงรู้ว่ากล้วยปิ้งต้อง “ไหม้ไหม้เสมอ” ที่เราเห็นเป็น “ไม่ไหม้” เพราะยังไม่สุก หรือสุกแล้ว แต่เปลือกไหม้ถูกลอกออกแล้ว คนขายคงมองผิวหน้าของผม จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นเจตนาของผม”
“บางเรื่องที่ผมเห็นต่างจากคนอื่นก็เพราะว่ามันมาจากค้นคว้า คือว่ากฎหมายไทยโดยเฉพาะกฎหมายแพ่งมันเป็นกฎหมายแพ่งสายกฎหมายเยอรมัน แล้วเราลอกมาจากกฎหมายเยอรมัน ซึ่งผมสามารถค้นในตำราเยอรมันได้ ในบางเรื่องต้องอ่านภาษาเยอรมันได้ จึงจะเข้าใจหลักกฎหมายเยอรมันในตรงนั้น เมื่อเข้าใจที่มาของกฎหมายไทย น่าจะทำให้การใช้การตีความกฎหมายมีประสิทธิภาพ”
“เมื่อศึกษาถึงที่มาแล้ว ก็มาชั่งน้ำหนักตามเหตุและผล แล้วดูระบบมัน ดูเรื่องความเป็นธรรมประกอบ บางเรื่องก็เลยไม่เหมือนคนอื่น”
คำถาม (2) : ในการสอนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา ผศ.ดร.สุรศักดิ์จะเน้นเรื่อง “การตีความการแสดงเจตนา” และ “การตีความสัญญา” และออกข้อสอบทุกครั้ง ในขณะที่อาจารย์ผู้สอนท่านอื่น ๆ จะไม่เน้นเรื่องนี้ และตำราทั่วไปก็ไม่ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวโดยละเอียดนัก จึงอยากให้อาจารย์เล่าถึงที่มาในการเน้นเรื่องดังกล่าว
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “เวลาสอนนิติกรรมสัญญา ส่วนที่ผมจะสอนมากกว่าส่วนอื่น ๆ เล็กน้อย คือเรื่องการตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา เพราะเรื่องการแสดงเจตนาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำนิติกรรมสัญญา เพราะเราบังคับตามที่มีการแสดงเจตนา เวลามีข้อพิพาท เราถือเจตนาเป็นใหญ่กว่ากฎหมาย ซึ่งรับรองไว้ตามมาตรา 151 ปพพ. แล้วในทางธุรกิจมักมีข้อสัญญาจำนวนมากยกเว้นกฎหมาย ฉะนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักวิธีการตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา”
“อันนี้ดูจากความเป็นจริงแล้วก็เลยศึกษาค้นคว้าแล้วก็มาสอน เวลาเรียนจะส่งเสริมให้นักศึกษาปริญญาโทเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ผมได้มีความรู้เพิ่มเติมจากการค้นคว้าของนักศึกษาในระดับปริญญาโท
“คือการตีความสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของการตีความการแสดงเจตนา ซึ่งการแสดงเจตนาอย่างเดียวยังไม่มีใครทำวิทยานิพนธ์ ถ้ามีใครสนใจ ย่อมค้นคว้าและเขียนได้ หรือแม้แต่ตีความสัญญาที่มีคนเขียนแล้ว มันก็จะมีบางเรื่องในหลายจุดที่ยังไม่มีใครเขียน ใครอยากเขียนมาคุยเรื่องนี้กับผมได้ มีประเด็นที่ทำวิทยานิพนธ์ต่อได้อีกครับ”
(อาจารย์ ภารวีร์ กษิตินนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาโทได้ทำวิทยานิพนธ์ภายใต้การดูแลของผศ.ดร.สุรศักดิ์ ในหัวข้อ “การใช้หลักสุจริตในการตีความสัญญา” ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่)
คำถาม (3) : สืบเนื่องจากคำถามก่อน ในการอธิบายหลักการตีความสัญญานั้นอาจารย์จะอธิบายว่า ต้องบังคับตามมาตรา 171 ก่อนเสมอ หากบังคับตามเจตนาที่แท้จริงไม่ได้ ให้ดูว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายอุดช่องว่างไว้หรือไม่ หากมีก็บังคับตามนั้น แต่หากไม่มีค่อยพิจารณาตามมาตรา 368 ในขณะที่บางตำราอาจใช้มาตรา 368 ก่อน หรือบางครั้งก็ใช้มาตรา 171 กับ 368 ไปพร้อม ๆ กัน จึงอยากถามอาจารย์ว่าทำไมอาจารย์จึงอธิบายว่าการตีสัญญาต้องเป็นลำดับดังนี้ เพราะหากดูจากตัวบท มาตรา 171 จะเป็นเรื่องการตีความการแสดงเจตนา และ 368 เป็นเรื่องตีความสัญญา
“มาตรา 171 กับ มาตรา 368 ป.พ.พ. ลอกประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันมาทุกตัวอักษร วิธีคิดว่าเมื่อมีปัญหาจะใช้อย่างไร ใช้มาตราไหนก่อน มาตราไหนหลัง ผมได้เรียนรู้มากจากวิธีคิดของนักกฎหมายเยอรมัน”
“พอพูดถึงเรื่องการตีความสัญญา บางคนอาจนึกถึงมาตรา 368 เป็นเบื้องต้น น่าจะเป็นเพราะคำว่า “ตีความสัญญา” ปรากฏอยู่ในมาตรานี้ ในขณะที่นักกฎหมายเยอรมันให้พิจาณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้แสดงเจตนาก่อนคือ มาตรา 171 และให้บังคับตามเจตนานั้น ถ้าไม่สามารถค้นหาเจตนาที่แท้จริงได้ มาตรา 368 จึงจะมาทีหลัง เราอาจจะไม่คิดแบบเดียวกับต้นตำหรับก็ได้ แต่ว่ามันต้องมีเหตุผล สอดคล้องกับระบบกฎหมายในเรื่องนั้นและความเป็นธรรม”
“เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญา หากสัญญาสมบูรณ์ ต้องบังคับไปตามข้อสัญญาเสมอแม้ขัดแย้งกับกฎหมาย มาตรา 151 ป.พ.พ. ถ้าตีความสัญญาไม่เป็น…มันตอบอะไรลำบากมากเลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้นักศึกษาตีความสัญญาเป็น แล้วก็เราสอนนิติกรรมปีหนึ่ง นักศึกษาก็ยังรู้แค่เบื้องต้น ต้องมาสอนปริญญาโทอีกทีหนึ่งถึงจะเข้าใจชัดเจน ปีหนึ่งปริญญาตรีเรื่องนี้ยากมากสำหรับเขา เอาแค่สอบให้ได้ไปก่อน พอมาปริญญาโทจึงจะเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะเขาเรียนกฎหมายมาทั้งระบบแล้ว”
คำถาม (4) : ตำรากฎหมายหนี้ส่วนใหญ่อธิบายตัวบทมาตรา 203 ว่าหนี้ไม่มีกำหนดเวลาและอนุมานจากพฤติการณ์ไม่ได้ เจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ในขณะที่อาจารย์อธิบายว่า ทุกกรณีสามารถ “อนุมานจากพฤติการณ์ได้เสมอ” จึงไม่มีกรณีที่เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันเลย อยากให้อาจารย์เล่าถึงเหตุผลประกอบการตีความของอาจารย์
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ตำราเกี่ยวกับหนี้หลายเล่มเขียนว่า หากเวลาชำระหนี้มิได้กำหนดลงเอาไว้ สามารถเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน ผมก็สอนมาอย่างนี้ระยะหนึ่ง ในที่สุดผมก็มาคิดว่ามันจริงหรือเปล่า ผมได้คำตอบว่า มันไม่จริง มาตรา 203 กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ก็ให้อนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวง ถ้าอนุมานได้ก็บังคับตามที่อนุมาน ถ้าอนุมานไม่ได้ถึงจะเรียกชำระหนี้โดยพลัน”
“เวลาเราไปกินข้าวตามร้านขายอาหาร เรามักไม่กำหนดระยะเวลาส่งมอบอาหารและชำระราคา แต่เราจะเรียกให้ส่งมอบอาหารโดยพลันได้หรือเปล่า คำตอบคือไม่ได้ เพราะว่ามันอนุมานได้ว่า ผู้ขายจะส่งมอบของให้ผู้ซื้อเมื่อใดมันก็อนุมานได้หมด เมื่อสั่งอาหารแล้ว ต้องใช้เวลาปรุงอาหาร ได้รับอาหารตามคิว ใครมาก่อนก็ได้ก่อน ใครมาหลังก็ได้หลัง ซึ่งถ้ามีคนรออยู่หลาย ๆ คนอาจจะรอคิวถึงครึ่งชั่วโมง แล้วผมก็นั่งคิดตัวอย่างอื่นทั้งหมดที่สามารถจะคิดได้ ปรากฏว่ามันอนุมานได้หมดเลย ผมจึงบอกนักศึกษาว่า ถ้าใคร ถ้าใครคิดว่าสัญญาบางอย่างอนุมานไม่ได้ลองบอกผมมาสิ ผมจะอนุมานให้ดู”
“ในที่สุดแล้วคำสุดท้ายที่เชื่อกันว่า “ถ้าอนุมานไม่ได้ให้ชำระหนี้โดยพลัน” จะมีโอกาสใช้ที่ไหน ดูจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกิดขึ้นมา ก็มีอยู่ เป็นคดีสัญญากู้เงินไปแล้วไม่ได้กำหนดเวลาใช้ ศาลบอกว่าเรียกชำระหนี้โดยพลันได้ แต่ว่าคดีที่มันเกิดขึ้น มิใช่เป็นการเรียกชำระโดยพลันหลังจากลูกหนี้กู้ไป แต่เวลาผ่านไปหลายเดือนแล้วเจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ซึ่งมันไม่มีปัญหา สมมุติว่า กู้ไปชั่วโมงเดียวแล้วเรียกชำระคืนอย่างนี้ได้หรือเปล่า ซึ่งในส่วนตัวผมคิดว่ามันไม่ได้ มันสามารถอนุมานได้ว่า ลูกหนี้ต้องเอาไปใช้ก่อน อย่างเร็วที่สุดก็อีกวันหนึ่งย่อมอนุมานได้ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ ถ้ากู้ไป 10 ล้านจะตีความให้เรียกชำระโดยพลันก็ไม่ได้ คุณต้องให้เวลาอย่างน้อยที่สุด 2-3 อาทิตย์ ”
“อนุมาน คือ การ การบังคับตามเจตนาที่แท้จริง คืออนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวง ย่อมแสดงถึงเจตนาของคู่กรณีได้ และให้บังคับไปตามนั้น เรื่องนี้ผูกพันกับความคิดในมาตรา 171”
(หมายเหตุ มาตรา 203 บัญญํติว่า “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน”)
คำถาม (5) : กรณีทรัพย์ที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472 ในกฎหมายซื้อขาย ซึ่งตำราส่วนใหญ่อธิบายว่า ต้องเป็นกรณีทรัพย์แตกหักบุบสลาย หรือมีความเสียหายในเนื้อหาของทรัพย์นั้นเอง หรืออาจกล่าวว่าต้องมีความเสียหายทางกายภาพ แต่อาจารย์ยกตัวอย่างว่า ซื้อมะม่วงมันแล้วผู้ขายส่งมอบมะม่วงเปรี้ยว แม้มะม่วงไม่ได้เน่าเสียก็ถือเป็นทรัพย์ชำรุดบกพร่องแล้ว เป็นการตีความตามแนวกฎหมายเยอรมันอีกเช่นกันใช่หรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ใช่ ๆ ก็คือว่า เสื่อมความเหมาะสมโดยการมุ่งหมายโดยสัญญา คือ กำหนดอย่างไรก็ต้องส่งมอบอย่างนั้นเพราะว่าการส่งมอบไม่ถูกต้องอาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามสัญญาได้ซึ่งตรงนี้ตำรากฎหมายเยอรมัน เขาเขียนเอาไว้แบบนี้”
“กฎหมายเยอรมันเดิมทรัพย์ชำรุดบกพร่องมี 2 อย่าง เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายโดยปกติและ เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายโดยสัญญา เยอรมันไม่ได้กำหนดกรณี “ทำให้เสื่อมราคา” เพราะคิดว่า 2 อย่างนี้ก็ทำให้เสื่อมราคาอยู่แล้ว ซึ่งเสื่อมความเหมาะสมโดยการมุ่งหมายโดยสัญญาก็คือว่าสัญญากำหนดอย่างไรไม่ส่งตามนั้นจริง ๆ แต่มันเป็นการส่งมอบทรัพย์เป็นอย่างอื่นไม่ได้ถูกต้องตามสัญญา การส่งมอบทรัพย์เป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้จะรับหรือไม่รับก็ได้ ตามมาตรา 320, 321 ป.พ.พ.ไทย เราได้ลอกของเยอรมันมาทุกตัวอักษรเลย”
“การที่เขามาเขียนไว้ในชำรุดบกพร่อง เป็นเรื่องของความรับผิดการชดใช้ค่าเสียหาย มาตรา 320 กับ 472 มันจะต่างกันตรงที่ว่า 320 มันให้สิทธิปฏิเสธการรับชำระหนี้ แต่ 472 เป็นสิทธิในการเรียกค่าเสียหาย แล้วการที่มาเขียนใน 472 ก็คือว่ามันเป็น “ความรับผิดที่ไม่ต้องมีความผิด” ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา 472 วรรคที่สอง ซึ่งอันนี้เขียนต่างจาก 215”
“มาตรานี้เป็นความรับผิดที่ไม่เกี่ยวกับละเมิด มันมีประเด็นคุ้มครองผู้เสียหาย และบางอย่างไม่สามารถคุ้มครองคู่สัญญาได้ อย่างเช่นว่า ผู้ซื้อต้องการกินมะม่วงมัน แต่ส่งมะม่วงเปรี้ยวให้ เขาก็กินไม่ได้ หรือว่า เราไปซื้อส้มตำบอกว่าใส่พริกเม็ดเดียว มาส่งจริงมีพริกอยู่ 10 เม็ดเห็นด้วยตาเปล่า ซ่อนอยู่ข้างในไม่รู้อีกกี่เม็ด สำหรับคนขายเขาอาจจะบอกว่าไม่เผ็ด เขากินได้ แต่คนซื้อเขากินไม่ได้หรือหลอดไฟที่มันไม่เหมือนกัน เราสั่งมาซื้อ เขี้ยวมันใส่กันไม่ได้ แต่ถ้าเราใส่เขี้ยวอย่างอื่นได้ ผู้ซื้อได้แสดงเจตนาต้องการแบบเฉพาะ ไม่ต้องการเขี้ยวแบบนี้ใช้อะไรไม่ได้ ผมถือว่า แม้ว่าทางกายภาพจะไม่เสียหาย ก็ยังคงเป็นทรัพย์ชำรุดบกพร่อง ฉะนั้น ตรงนี้มันเป็นธรรมต่อผู้ซื้อและคุ้มครองผู้ซื้อ”
(อาจารย์อีกท่านที่อธิบายในทำนองเดียวกันคือรศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ โดยอธิบายว่า กรณีทรัพย์ขาดคุณสมบัติอันพึงมีตามสัญญาก็อาจถือเป็นชำรุดบกพร่องได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย)
คำถาม (6) : ในเรื่องซื้อขายที่มาตรา 453 ใช้คำว่า ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งตำราบางส่วนอธิบายว่า วัตถุแห่งสัญญาซื้อขายต้องเป็นสิ่งที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น สิ่งใดที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เช่น สิทธิครอบครอง ก็จะซื้อขายไม่ได้ หรือแม้แต่ซื้อขายทรัพย์ในอนาคตก็มีไม่ได้ หากยังไม่มีตัวทรัพย์ต้องเป็นสัญญญา “จะซื้อจะขาย” แต่อาจารย์อธิบายว่า “สัญญาซื้อขายทรัพย์ในอนาคตมีได้” หรือ “การซื้อขายสิทธิ” ก็มีได้ อยากให้อาจารย์เล่าถึงที่มาในการตีความที่ค่อนข้างกว้างเช่นนี้
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “สัญญาซื้อขายโดยหลักแล้วมีวัตถุประสงค์ “โอนกรรมสิทธิ์” การซื้อขายทรัพย์ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ทำได้หรือไม่ ต้องเริ่มมองมาที่ศาล ศาลก็ใช้หลักกฎหมายซื้อขายกับสิ่งที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เรื่องนี้ผมเคยให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์มาแล้วว่าการซื้อขายสิ่งที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ทำได้หรือเปล่า ศาลได้รับการซื้อขาย “สิทธิ”ที่เป็นทรัพย์สินได้ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือว่า ซื้อขายที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ ที่ดินที่ไม่มีโฉนด เป็นที่ดินที่มี นส.3 คือมีสิทธิครอบครองอย่างเดียว เป็นการซื้อขายอสังหาตามมาตรา 456 ปพพ. ศาลฎีการับรองว่าเป็นการซื้อขายตาม ป.พ.พ.”
“อันที่สองอย่างซื้อขาย “สิทธิเรียกร้อง”ก็ใช้หลักกฎหมายซื้อขาย ก็คือว่าสิทธิเรียกร้องมันไม่มีกรรมสิทธิ์มันเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่กรรมสิทธิ์ ก็ซื้อขายกันได้ พวกซื้อขายหนี้ทั้งหลาย ในระบบธุรกิจเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซื้อขายปี ๆ หนึ่งเป็น 100, 1,000 ล้าน ศาลได้รับรองโดยบังคับตามหลักกฎหมายซื้อขาย คำถามว่ามันถูกหรือเปล่า เราลอกกฎหมายเยอรมันมาเราก็เถียงกัน เขาก็เถียงกันแบบเดียวกับเราคือซื้อขายสิ่งที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ได้หรือเปล่า เพราะตัวบทมันพูดระบุเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น”
“นักกฎหมายมีสองความเห็นแบบเรา ซื้อขายไม่ได้ มันไม่ใช้ว่ากฎหมายซื้อขาย แต่นักกฎหมายส่วนใหญ่และศาลก็รับรองให้มีการซื้อขายสิ่งที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ได้ ทั้งที่ตัวบทระบุถึงเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์อย่างเดียว”
“แต่ในที่สุดในปี ค.ศ. 2002 กฎหมายเยอรมันก็มาเขียนตัวบทโดยเฉพาะ เขียนเอาไว้ในกฎหมายซื้อขายว่า หลักกฎหมายซื้อขายให้ใช้กับการซื้อขายสิทธิด้วย เขียนไว้ชัด จึงไม่ต้องเถียงกันอีก”
“เป็นเรื่องของความเป็นธรรมด้วย ถ้าเราไม่ใช้กฎหมายซื้อขายกับสัญญาที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว เราจะใช้หลักกฎหมายอะไร เพียงแต่ว่าวิธีอธิบายของอาจารย์บางคนเขาก็มีการรับรองว่าใช้หลักกฎหมายซื้อขายได้ แต่ใช้แบบกฎหมายเทียบเคียง Analogy”
“ผมคิดว่า ประการแรกมันสอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของประชาชนอยู่แล้ว ประการที่สอง มันก็ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี สามารถตีความขยายได้ว่า “กรรมสิทธิ์”ตรงนี้ขยายไปถึงการซื้อขายสิทธิด้วย แต่ว่าสิทธิบางอย่างมันมีแบบก็จะต้องไปทำตามแบบ มาตรา 306 ป.พ.พ.”
คำถาม (7) : ในสัญญาเช่าซื้อ มาตรา 572 พูดถึงลักษณะของสัญญาเช่าซื้อว่า มีทั้งกรณี (1) ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขาย และ (2) ให้คำมั่นว่าจะให้กรรมสิทธิ์โอนเมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อครบทุกงวด และตำราบางส่วนก็อธิบายเช่นนั้น แต่อาจารย์อธิบายว่าเฉพาะกรณี (2) เท่านั้นที่เป็นเช่าซื้อ ถ้าเป็นกรณี (1) ที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายหลังจากผู้เช่าชำระค่าเช่าครับ อาจารย์บอกว่าไม่ใช่เช่าซื้อ แต่เป็นลีสซิ่ง อยากถามว่าการตีความดังกล่าวมีที่มาอย่างไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “เมื่อปี 2515 ตอนผมเรียนมาผมงง (หัวเราะ) ข้อความระบุชัด ตัวบทซึ่งทุกคนก็จะบอกว่า เช่าซื้อ “มีคำมั่นจะขาย” ความเป็นจริงมันไม่มี คือการมีคำมั่นว่าจะขาย ถ้าจ่ายครบ ก็ต้องมาซื้อขายกันอีกทีหนึ่ง”
“คำมั่นจะขายหมายความว่าผู้ให้เช่าซื้อยินดีที่จะขายให้ในอนาคต และต้องทำสัญญาซื้อขายกันอีกทีจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เลย เพราะว่ากรรมสิทธิ์โอนทันทีเมื่อมีการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายโดยไม่ต้องมีการมาตกลงอะไรกันอีก ระบบเช่าซื้อเป็นกันอย่างนี้ ฉะนั้น คำมั่นว่าจะขายมันมีลักษณะที่ว่าเป็นการเช่าแล้วมาตกลงซื้อขายกันอีกทีหนึ่ง แล้วจะซื้อขายหรือไม่ซื้อขายก็ได้ แต่จริง ๆ คู่สัญญาแสดงเจตนาทำสัญญาเดียวเท่านั้น”
“เขาไม่ได้ตั้งใจทำสัญญาเช่าทรัพย์และต้องซื้อขายอีกที เจตนาคือต้องการทำแค่สัญญาเดียวเพราะว่าเช่าซื้อมันบวกราคาไปแล้ว ค่าเช่าซื้อมันสูงกว่าค่าเช่าธรรมดา แต่ในขณะที่เช่าแล้วมาตกลงซื้อขายกันอีกที ค่าเช่าเป็นอัตราค่าเช่าจริง ๆ มันไม่รวมราคา และผมคิดว่าตัวบทเขียนเกินเลยมา ในอนาคต ถ้าแก้ไขกฎหมายน่าจะตัดคำว่า คำมั่นว่าจะขายออกไป”
คำถาม (8) : นอกจากการตีความที่แตกต่าง อาจารย์ยังได้เชื่อมโยงแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน เช่นในการสอนเอกเทศสัญญา 1 อาจารย์โยงกลับไปในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหนี้ บางครั้งข้อสอบบางข้อของอาจารย์สามารถใช้ได้ทั้งวิชานิติกรรมสัญญา หนี้ และเอกเทศสัญญา 1 อยากทราบว่าอาจารย์ได้แนวคิดหรือว่าแรงบันดาลใจจากไหนในการสอนกฎหมายให้เชื่อมโยงกัน
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ระบบกฎหมายแพ่งมันเชื่อมโยงกันหมด ทั้งบรรพ 1 บรรพ 2 บรรพ 3 จนถึงบรรพ 6 เลยนะครับ แล้วตอนที่ผมเรียนเนี่ย ตอนที่เรียนนิติกรรม เรียนหนี้ พอมีประเด็นเกี่ยวกับเกี่ยวกับละเมิด ผมไปถามอาจารย์ ท่านไม่ตอบ แค่บอกว่าคนละเรื่องกัน ผมสอนหนี้คุณก็ต้องถามหนี้”
“เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ผมจะถามใครดี เรียนหนี้ แต่มีประเด็นทางอาญาผมก็ไปถามอาจารย์ในวิชาหนี้ อาจารย์ก็บอกว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน คุณไม่ต้องไปคิดแล้ว มันไม่เกี่ยวกัน จริง ๆ ในระบบกฎหมายมันโยงกันหมดทั้งบรรพ 1 ถึงบรรพ 6 ขณะเดียวกันประมวลกฎหมายแพ่งมันก็โยงประมวลกฎหมายอาญาด้วย ยิ่งเรียนไปถึงปี 4 จะเห็นถึงความสัมพันธ์ของกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาและกฎหมายมหาชนด้วย”
“กฎหมายอาญากับกฎหมายแรงงาน ตั้งแต่สัญญาจ้างแรงงาน คุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ เงินทดแทน วิ.แรงงาน มันโยงไปหมด แล้วมันไปโยงทางอาญาเข้าไปอีกนะครับ อย่างเช่นว่าลูกจ้างลักทรัพย์เพื่อนบ้าน หากลักทรัพย์นายจ้างแน่นอนมันก็เป็นการกระทำผิดร้ายแรง ม.583 ปพพ.นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างทันที หากไปลักทรัพย์เพื่อนบ้าน ต่อมานายจ้างรู้ จึงไล่ออก เกิดปัญหาว่า “ไล่ออกได้หรือไม่” คือแน่นอนว่ามีการกระทำผิดอาญาซึ่งบางทีมันทรัพย์เล็กน้อย ๆ แต่ระบบกฎหมายมันไปจำคุกเขาไม่ได้ เพราะว่าลักทรัพย์เล็กน้อย กระทำผิดครั้งแรก มันแค่รอลงอาญาเท่านั้นเอง”
“แต่การไปไล่เขาออกอย่างนี้ มันเหมือนกับประหารชีวิต เพราะว่าเขาจะ หนึ่งไม่มีงานทำเพราะเขาไม่สามารถหางานอื่นได้ และอีกอย่างหนึ่งบางทีก็ถูกบัญชีดำแล้วก็หางานอื่นอะไรไม่ได้เลย มันเป็นการลงโทษมากกว่าอาญาอีก หากลูกจ้างไปชกหน้าเพื่อนบ้าน ทะเลาะกันเพราะว่าหมาเพื่อนบ้านไปเห่าเขา”
“คำถามนายจ้างจะไล่ออกหรือไม่ จ้างก็บอกว่าเรื่องของคุณ มันก็เลยเกิดคำถามว่า ไปลักทรัพย์ทรัพย์เพื่อนบ้านนายจ้างไล่ออก แต่ไปชกหน้าเพื่อนบ้านนายจ้างบอกว่าไม่เป็นไร มันแสดงว่าบรรทัดฐานของสังคม เราเห็นว่าทรัพย์สำคัญกว่าชีวิตและร่างกายมนุษย์ เรื่องนี้เป็นความเกี่ยวโยงกัน ในทางกฎหมายแรงงานและในทางกฎหมายอาญา”
“ถ้าไปค้นดูในทางกฎหมายอาญาในคดีลักทรัพย์และคดีทำร้ายร่างกายโทษอันไหนหนักกว่า ก็จะพบมาตรฐานความเชื่อของมนุษย์ที่แปลกทีเดียว”
“อันนี้มันโยงกันไปหมดเลยที่ทำให้ผม สอนตั้งแต่ปีหนึ่งผมสอนนิติกรรมและมาสอนปีสี่ผมเลยโยงให้เขาเห็นกฎหมายที่มันเกี่ยวข้องกันทั้งหมด แต่สอนวิชาไหนคะแนนของข้อสอบก็จะให้น้ำหนักในวิชานั้นมาก”
“แม้กระทั้งการ การเป็นที่ปรึกษาระดับปริญญาโทเนี่ย ปกติผมสอนอยู่ในบรรพ 1 บรรพ 2 บรรพ 3 แต่มีงานเป็นที่ปรึกษา วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับบรรพ 5 ครอบครัว บรรพ 6 มรดกด้วย ผมให้คำปรึกษาเฉพาะจุดที่มันเกี่ยวข้องกับบรรพต้น ๆ ที่ผมสอนอยู่ ซึ่งมันทำให้งานเขียนมันมีอะไรใหม่ ๆ และมันก็น่าสนใจมากยิ่งขึ้น”
คำถาม (9) : ดูเหมือนว่ากฎหมายเยอรมันมีตำราที่ดี บางเรื่องเราอ่านของเยอรมันเราคิดไม่ถึงว่าระบบคิดเป็นแบบนี้ ซึ่งก็อาจจะต่างจากแนวศาลและตำราส่วนใหญ่ในประเทศไทย อาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ความเห็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นความเห็นที่อาจารย์อธิบายมักเป็นความเห็นส่วนน้อยอยู่ แล้วคิดว่าจะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นความเห็นส่วนใหญ่ได้หรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ก็คือว่า ประการหนึ่งผมคิดดีแล้ว ถ้าใครบอกผมไม่ถูกก็บอก ผมอาจจะผิดก็ได้แต่ในเวลานั้นข้อมูลที่ผมมีอยู่ผมคิดว่าผมถูก”
“อีกประการหนึ่ง ผมมักค้นถึงที่มาของกฎหมายแพ่งซึ่งส่วนหนึ่งลอกกฎหมายเยอรมันมา นักกฎหมายเยอรมันคิดแก้ปัญหามาเป็น 100 ปีแล้ว มีนักวิชาการที่เก่งมากมาย ความเห็นและการแสดงเหตุผลจึงน่าเชื่อถือ”
“จริง ๆ ถ้ามันจะเป็นความเห็นส่วนใหญ่ได้ผมก็จะต้องเขียนคำอธิบายให้มันชัดในหนังสือของตัวเอง แต่ถ้าถามว่าในเวลานี้มีคนเขียนหรือยัง ก็มีแล้วแต่อยู่ในวิทยานิพนธ์ เนื้อหาเรื่องหนึ่ง 2-300 หน้าใครจะไปอ่าน ฉะนั้น สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ ๆ มันต้องเขียนในหนังสือที่นักศึกษาทั่วไปอ่านได้แล้วต้องไม่เขียนยาว”
“เขียนสั้น ๆ ได้ใจความครบ ซึ่งประเด็นที่ผมเคยเสนอในชั้นเรียน คนที่เคยเรียนกับผมแล้ว ต่อมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ หากเห็นด้วยเขาก็จะเขียน สิ่งที่ผมไม่ได้เขียนก็อาจจะมีคนนำไปเขียน”
“แต่เชื่อว่าคนที่เคยเรียนกับผมเขาก็จะไปอ่านแล้วเขาก็ พอผมเขียนมาเสร็จ คนที่เรียนก่อน หนึ่งเขาจบไปแล้วเขาก็จะไม่ได้อ่านอยู่แล้ว คือ นักกฎหมายที่เรียนจบไปแล้ว จะอ่านหนังสือหน้าหนึ่งในหนึ่งพันในเล่มไม่มีใครอ่านหรอก เราอ่านเฉพาะบางหน้าที่เราต้องการแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่ถ้าผมเขียนมามันก็จะเป็นเป็นข้อมูลสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ที่จะมาค้นคว้า แล้วก็บางเรื่องที่สำคัญก็จะต้องไปแก้กฎหมาย”
“ซึ่งผมคิดว่าในอีกไม่กี่ปีมันจะครบรอบร้อยปีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต้องมีการสังคายนากันใหญ่ ผมก็มีข้อเสนอหลายอัน อันนี้ก็เป็นข้อเสนอที่อยากให้มีการแก้ไขและในตัวบทเช่าซื้อก็มีอีกหลายมาตราที่ผมอยากให้มีการแก้ไข ซึ่งมันเกิดจากการค้นคว้าของนักศึกษาชั้นปริญญาโท ปริญญาเอกทั้งนั้นเลย ที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาหรือเคยเป็นกรรมการซึ่งมีข้อเสนอใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ พอแก้ไขกฎหมาย ก็จะมาใช้ได้เลย มันเหมือนหลัก “clausula rebus sic stantibus” ถ้าเราต้องการมีในกฎหมายไทยเราก็ใส่มาในตัวบท แต่ถ้าไม่ใส่เข้ามาในตัวบท มันก็ไม่ได้ใช้ ใครจะไปตีความจากมาตรา 368 ซึ่งเยอรมันมันใช้อย่างนี้มาร้อยปีก่อนมีตัวบท แต่ถ้าเราต้องการมีเลย เราต้องมีบทบัญญัติเฉพาะ”
คำถามสุดท้าย อยากจะถามอาจารย์ว่าทำไมอาจารย์จึงไม่ค่อยได้เขียนบทความหรือเขียนตำรา เนื่องจากอาจารย์อธิบายในหลายประเด็นสำคัญ ๆ ต่างจากตำราเล่มอื่น นักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์ก็อาจจะอยากอ่านตำราที่อาจารย์เขียน เพราะอาจไม่สามารถอ้างอิงตำราเล่มอื่นไปสอบได้
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ก็คือว่า เรื่องงานเขียนเป็นเรื่องที
“ผมอยากเขียนหนังสือกฎหมาย แต่ไปเขียนอย่างอื่นเสียมาก
“ทำงานวิจัย สอนหนังสือและทำอย่างอื่นหล
“ในวันนี้ ผมถือว่าผมโชคดีที่ว่าผมไม่
(คือเรามีโอกาสจะได้อ่านแน่นอนใช่ไหมครับ?) “มี ๆ ครับ มีโอกาสได้อ่าน เพราะตอนนี้ผมรวบรวมอยู่ ยังอยู่อีกหลายปีกะว่าอาจจะออกมาก่อนฉลองครบรอบกฎหมายแพ่ง 100 ปี และฉลองครบรอบธรรมศาสตร์ 100 ปี ก็ได้ครับ (หัวเราะ)”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ยังได้ฝากข้อคิดถึงอาจารย์ใหม่ๆ ทิ้งท้ายว่า
“แต่ว่าก็มีข้อคิดอย่างสำหร
“ผมทำได้แค่นี้ สุขภาพผมยังดีอยู่ทั้งกายแล
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK