อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เป็นอาจารย์ประจำคนแรกของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากศูนย์ลำปาง เราเคยพูดคุยกับอาจารย์ดิศรณ์ในเบื้องต้นตอนเปิดคอลัมน์นี้พร้อมกับอาจารย์ ดร.พนัญญา และอาจารย์กิตติภพ (อ่านได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/talkwithlawlecturers-ep1/) วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับอาจารย์ดิศรณ์อีกครั้ง ในรายละเอียด เกี่ยวกับความสนใจทางวิชาการในสาขากฎหมายอาญา โดยวิทยานิพนธ์ที่อาจารย์ทำตอนศึกษาระดับปริญญาโทได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น รวมถึงประสบการณ์การศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และเรื่องอื่น ๆ
คำถาม (1) : เทอมนี้อาจารย์รับผิดชอบสอนวิชาอะไรบ้าง และเตรียมตัวในการสอนอย่างไร
อ.ดิศรณ์ : “สำหรับเทอมนี้ผมก็สอนวิชา น. 160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 ทั้งภาคปกติรังสิตและภาคบัณฑิตท่าพระจันทร์ โดยรังสิตก็จะมีกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ผมสอนกลุ่มเดียวกับอ.กิตติภพ ส่วนท่าพระจันทร์จะมีคนสอนสี่คน อ.กรศุทธิ์ อ.ศุภวิช อ.กิตติภพ แล้วก็ผม ผมสอนสองกลุ่ม คู่กับอ.กรศุทธิ์และอ.ศุภวิชครับ แล้วก็มีสัมมนาวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปของภาคบัณฑิต กลุ่มบรรยายของท่าน อ.ทวีเกียรติ อ.มาตาลักษณ์ และ อ.รณกรณ์ครับ”
“ส่วนการเตรียมสอนที่ผ่านมาผมจะกลับไปประมวลกฎหมายของตัวเองก่อนผมได้จดบันทึกไว้ทั้งในระดับปริญญาตรีและในการสอบเนติบัณฑิต ซึ่งผมก็คิดว่าในเรื่องหลักกฎหมายนั้นมันไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ มีเปลี่ยนบ้างในบางเรื่อง และอาจจะมีบางกรณีที่มีคดีคำพิพากษาศาลฎีกาที่อัพเดต ที่เปลี่ยนไป หรือมีที่ผิดแปลกไปจากหลักกฎหมาย ซึ่งผมก็ต้องอัพเดต และต้องนำมาบรรยายให้ผู้เข้าเรียนได้รับทราบด้วยว่าโดยหลักกฎหมายเป็นเช่นนี้ แต่ว่าในทางปฏิบัติศาลอาจจะวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไปด้วยเหตุผลอะไร”
คำถาม (3) : ทำไมอาจารย์จึงสนใจในสาขากฎหมายอาญา
อ.ดิศรณ์ : “คำถามนี้อาจจะตอบได้ 2 แบบคือ แบบที่ไม่วิชาการ และแบบวิชาการ ถ้าให้ตอบแบบไม่วิชาการนั้น สาเหตุที่ผมสนใจในกฎหมายอาญา เพราะ กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสังคมจากอาชญากรที่ชั่วร้าย เพราะฉะนั้น การทำงานของกฎหมายอาญาจึงไม่เพียงแต่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม แต่ยังเป็นเครื่องมือทำลายสิ่งชั่วร้ายนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากตอบในเชิงวิชาการแล้วอาจอธิบายได้ว่า เพราะกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือของรัฐที่สำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การคิดหาเหตุผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงพัฒนากฎหมายอาญาจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเวลาเดียวกันด้วย ผมสนใจการถ่วงดุลอำนาจรัฐโดยการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชน ไปพร้อม ๆ กับการปราบปรามอาชญากรรม จึงน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้สนใจในกฎหมายอาญา”
คำถาม (4) : นอกจากกฎหมายอาญา มีกฎหมายสาขาอื่น ๆ ที่อาจารย์สนใจอีกหรือไม่
อ.ดิศรณ์ : “จริง ๆ แล้วผมสนใจกฎหมายอาญาเพียงอย่างเดียว เรียกว่าหลงใหลก็คงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยกฎหมายอาญาเชิงลึกขึ้นไปเรื่อยคิดว่าในปัจจุบันนี้กฎหมายอาญานั้นไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว หากแต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลากหลายสาขามากขึ้น จึงส่งผลให้ผมต้องให้ความสนใจกับกฎหมายสาขาอื่นไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการกระทำโดยงดเว้นภายใต้หน้าที่ป้องกันผลอันเกิดจากสัญญา ซึ่งดูเผิน ๆ ก็เป็นกฎหมายอาญาดั้งเดิม โดยแท้ แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้ามองลึกลงไปแล้วก็จะเกิดคำถามว่าทำไมสัญญาทางแพ่งจึงสามารถก่อให้เกิดความรับผิดทางอาญาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายอาญาในประเด็นนี้ได้มีเรื่องของกฎหมายแพ่งเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้กฎหมายอาญาและกฎหมายระหว่างประเทศ ก็มีการเข้ามาเกี่ยวดองกันเป็น เป็นกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ที่เป็นเรื่องของอาชญากรรมร้ายแรงระหว่างประเทศ หรือ แม้กฎหมายอาญาและกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จริง ๆ แล้วกฎหมายอาญาอาจจะบูรณาการ กับกฎหมายได้ทุก ๆ สาขาเลยก็เป็นได้”
คำถาม (5) : อาจารย์วางแผนสำหรับการประกอบวิชาชีพอาจารย์ในอนาคตอย่างไรบ้าง
อ.ดิศรณ์ : “ตอนสอบเข้าอาจารย์เนื่องจากว่าผมได้วุฒิเนติบัณฑิตเขาก็จะมีคำถามหนึ่งที่จะถามผมบ่อยมากนะครับ คือว่า ผมจะไปสอบผู้พิพากษาต่อหรือไม่ในอนาคตครับ ผมก็ต้องอธิบายต่อท่านหลาย ๆ ครั้งว่า ผมสอบเนติบัณฑิตนี้เพื่อที่ผมจะสามารถวิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาได้อย่างไม่เคอะเขินเพียงเท่านั้น ไม่ได้สอบเพื่อจะนำใช้เพื่อต่อยอดสอบผู้พิพากษาแต่อย่างใด เพราะ ผมเห็นว่าจะดูเป็นการแปลกอยู่ไม่น้อยหากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาอย่างฉะฉานผู้นั้นยังไม่เคยเข้ามาศึกษาทำความเข้าใจเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลแบบจริง ๆ จัง ๆ และยังไม่ผ่านการทดสอบของวงการนักปฏิบัติเลย เพราะฉะนั้นแม้เราจะเป็นนักวิชาการนิติศาสตร์ แต่การศึกษาเหตุผลของคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลึกซึ้งนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ”
“สำหรับเรื่องอนาคตสำหรับการวางแผนไปเรียนในระดับสูงไป ผมก็คิดว่าผมจะเรียนทางอาญาต่อไป ในระดับที่สูงขึ้นไปถึงปริญญาเอก และก็เตรียมหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกไว้แล้ว ในเบื้องต้นผมคิดว่าผมอยากจะเรียนประเทศเยอรมนีครับ แต่ว่าผมยังรู้ภาษาเยอรมันเพียงเบื้องต้นเองครับอาจจะยังต้องใช้เวลาต่อไป ถ้าเกิดว่าอนาคตถ้าผมคิดว่ามีทางเลือกที่ดีกว่า เช่น ไปประเทศเยอรมันแต่เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษได้ก็อาจจะเลือกไปทางหลักสูตรนั้นนะครับ”
คำถาม (6) : อยากให้อาจารย์พูดถึงอาจารย์กฎหมายที่ประทับใจ และตำรากฎหมายที่ประทับใจ
อ.ดิศรณ์ : “สำหรับผมแล้ว ผมไม่มีอาจารย์ที่เป็นไอดอลครับ แต่อาจจะเป็นการชื่นชมสไตล์การเป็นนักวิชาการของท่าน ผมชอบการวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชการของอาจารย์รณกรณ์ บุญมี เพราะว่าผมคิดว่าอาจารย์ท่านเป็นคนที่กล้าคิดกล้าวิจารณ์โดยไม่มีอคติ แล้วก็มีความคิดที่แหลมคมอยู่เสมอครับ ท่านที่สองก็จะเป็นอาจารย์ปกป้อง ผมคิดว่าท่านเป็นคนที่อธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ ว่าสิ่งที่เรากำลังงุนงงอยู่นั้นจริงๆ ง่ายดายเพียงนี้ ในส่วนของท่านอาจารย์สุรศักดิ์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมคิดว่าความรู้ของท่านมีค่อนข้างเชิงลึกแล้วก็ท่านรู้จริงและก็ค่อนข้างจะครอบคลุมในหลาย ๆ เรื่องนะครับ”
“ตำราก็อาจจะอธิบายได้เป็น 2 แง่นะครับ ในแง่ความเข้าใจอย่างง่ายและความเข้าใจเชิงลึกผมคิดว่าตำราที่ทำแล้วอ่านเข้าใจง่ายที่สุดคือตำรากฎหมายอาญาของอาจารย์เกียรติขจรครับ อย่างที่เราน่ารู้กันหรือเรียกกันติดปากว่า “ยักษ์เขียว” นะครับซึ่งปัจจุบันท่านแยกเป็น 2 เล่มแล้วนะครับ ผมคิดว่าตำรากฎหมายของท่านอาจารย์เกียรติขจรเป็นตำรากฎหมายที่อ่านเข้าใจง่ายที่สุดในประเทศไทยแล้วนะครับผมคิดว่าควรเรียนกฎหมายปีหนึ่งน่าจะควรอ่านไว้เลย”
“ส่วนในเชิงลึกผมคิดว่า ผมชอบอยู่ 2 เล่มครับ ตำราของอาจารย์ทวีเกียรติและของอาจารย์คณิต นะครับซึ่งผมคิดว่าอาจจะอ่านเข้าใจค่อนข้างยากซักหน่อยในบางประเด็นนะครับแต่คิดว่าข้อเขียนงานเขียนของท่านไม่ว่าจะเป็นตำรากฎหมายอาญาภาคทั่วไปหรือว่าภาความคิดหรือว่าพวกบทความทางวิชาการของท่านนะครับจะทำให้เราได้คิดอะไรที่ลึกมากไปกว่านั้นที่ในระดับปริญญาตรีที่เรียน เพราะฉะนั้นแล้ว โดยสรุปของผมก็คือว่า ตำรากฎหมายที่ผมชอบมีอยู่ 2 ประเภทก็คือถ้าเกิดดูในเรื่องของความเข้าใจอย่างง่ายก็คือหนังสือของท่านอาจารย์เกียรติขจรที่อานแล้วเข้าใจง่ายผมถึงชอบ ส่วนเรื่องความลึกของทางวิชาการและข้อมูลผมยกให้อาจารย์ทวีเกียรติและอาจารย์คณิตครับเป็นตำราที่ผมชอบครับ”
คำถาม (7) : อาจารย์คิดว่าการเรียนนิติศาสตร์ที่ลำปางแตกต่างจากที่รังสิตหรือท่าพระจันทร์หรือไม่
อ.ดิศรณ์ : “ผมคิดว่าในเรื่องของความรู้ ผมคิดว่าไม่ค่อยจะแตกต่างกันนะครับในเรื่องของการคัดสรรอาจารย์หรือว่าการที่อาจารย์มาสอนที่ลำปางค่อนข้างจะเหมือนกับที่รังสิต ก็คือว่า อาจารย์ที่รังสิตก็จะมาสอนที่ลำปางเช่นเดียวกันครับ เป็นอาจารย์ชุดเดียวกันครับและข้อสอบผมก็เข้าใจว่าเป็นข้อสอบชุดเดียวกันในส่วนของอาญานะครับ ในส่วนของสาขาวิชาอื่นนั้นผมไม่แน่ใจ แต่ว่าอาญาจะเป็นชุดเดียวกัน แล้วก็คิดว่ามาตรฐานผมคิดว่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ว่าอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะแตกต่างกันก็คือบรรยากาศของสถานที่เรียนนะครับ ในปัจจุบันผมไม่รู้ว่าก้าวหน้าไปขนาดไหน แต่ว่าในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ที่ลำปางมีปัญหาบ้างเรื่องของหนังสือตำราบางเล่มนะครับ ตอนนั้นมหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบ Delivery จากหนังสือจากรังสิตไปท่าพระจันทร์ไปที่ลำปางหรือว่าระหว่างศูนย์ ไม่มีเรื่องของการขนย้ายหนังสือหนังหากันได้ ในส่วนที่ลำปางอาจจะมีข้อด้อยบางส่วนในเรื่องของตำราบางเล่มนะครับ เช่น อย่างที่หนึ่งก็อาจจะเป็นคำราที่พิมพ์ครั้งเก่าปีเก่ามาก ๆ อย่างนี้นะครับก็อาจจะไม่ได้ตำราที่อัพเดตใหม่เท่าไหร่ นักศึกษาอาจจะต้องลงทุนซื้อหนังสือเองเพราะว่ายืมห้องสมุดไม่ได้ แล้วก็อย่างที่สองคือหนังสือมันไม่เยอะมากเท่าที่ควรหลายคนก็อาจจะไม่มีทุนทรัพย์ไปซื้อหนังสือเล่มใหม่เขาก็หวังว่าจะได้ใช้การบริการ จากการเป็นนักศึกษาในการยืมหนังสือปรากฏว่าหนังสือมันก็ไม่ออกให้ยืมก็ต้องไปอ่านในหนังสือฉบับพิมพ์เก่าที่ไม่มีใครเขายืมเพราะว่ามันเป็นตำราเก่าแล้ว แล้วก็เรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ นะครับ ในเรื่องของการเรียนอื่น ๆ อาจจะมีเรื่องของหอพักนักศึกษาในช่วงของผมนะครับตอนที่ผมเรียน หอพักภายในของนักศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควรคิดว่าเป็นปัญหามาทั้งเรื่องแมลง ทั้งเรื่องสัตว์ต่าง ๆ นะครับ แล้วก็เรื่องของไฟฟ้าที่ดับบ่อยมาในช่วงหนึ่งนะครับ เพราะว่ามหาวิทยาลัยมันอยู่ในป่าใช่ไหมครับบางทีจะมีปัญหาในเรื่องของไฟฟ้า”
“ในบางทีก็อาจจะมีไฟป่าอย่างนี้นะครับ ในช่วงเวลากลางวันที่ฤดูร้อนที่มันร้อนมาก ๆ ก็จะมีนักศึกษาอาจารย์ไปช่วยกันดับไฟป่านี้และครับ แล้วก็ล่าสุดพึ่งทราบว่า มีกวางป่าเดินเข้ามาในมหาวิทยาลัย มีคนถ่ายรูปให้ดู ครับ ๆ ก็จะมีเรื่องประมาณนี้นะครับ”
“แล้วก็จะมีอีกเรื่องหนึ่งนะครับ คือ การเดินทาง ในเรื่องของการเดินทางเข้ามาในมหาวิทยาลัยนะครับ ที่ศูนย์ลำปางทำได้ดีในเรื่องการเดินทางในมหาวิทยาลัยนะครับ แต่ว่าข้อด้อยของมันเลยนะครับ คือ ผมคิดว่าคุณภาพของรถที่รับส่งผมคิดว่าบางทีมันยังไม่ดีพอเพราะว่าบางทีเป็นรถแอร์เป็นรถพัดลมแบบนี้นะครับ แต่วาในเรื่องของจำนวนรอบผมคิดว่าโอเคแล้วครับ เพราะว่ารถรับส่งระหว่างมหาวิทยาลัยกับในเมืองค่อนข้างจะถี่อยู่มีหลายรอบให้เราเลือกว่าเราจะไปมหาลัยในรอบไหน”
คำถาม (8) : อยากให้อาจารย์เล่าถึงรูปแบบการเรียนหรือว่าตารางเรียนที่ศูนย์ลำปางซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ๆ
อ.ดิศรณ์ : สำหรับเรื่องตารางเรียนอย่างแรกเลยนะครับ พวกที่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ว่าวันหยุดราชการหรือวันหยุดอะไรก็ตามซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาลำปางก็ยังคงต้องเรียนอยู่นะครับ ช่วงนั้นจะเป็นเวลาที่อาจารย์ที่บรรยายอยู่รังสิตหรือท่าพระจันทร์สะดวกก็จะบรรยายในวันนี้ โดยปกติในศูนย์รังสิตก็จะไม่มีการบรรยายในวันหยุด หรือว่าวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นโอกาสมาลำปาง อาจารย์จะบินไปในช่วงนั้น วันเสาร์อาทิตย์ใช่ว่าจะเป็นวันที่หยุดเรียนนะครับ เป็นวันที่เรียนและค่อนข้างจะเรียนเต็มวันด้วยเพราะว่าเป็นวันที่อาจารย์ผู้บรรยายจากรังสิตมีเวลาที่จะเอาเวลาไปให้นักศึกษาที่ลำปางครับ”
“แล้วก็อาจไม่ได้เรียนทุกสัปดาห์ หรืออาจเว้นไปหลายสัปดาห์ เพราะจะมีบางครั้งอาจารย์ผู้บรรยายจากรังสิตก็ติภารกิจของท่านที่กรุงเทพฯ ท่านก็จะไม่ได้ขึ้นไปก็อาจจะเว้นช่วงยาวในบางครั้ง หรือบางทีอาจจะเป็นแบบชดเชยครั้งเดียวทั้งวัน หรือว่าตั้งแต่ 08.00 ถึง 18.00”
(รูปแบบตารางเรียนแบบที่ไม่ได้เรียนต่อเนื่องทุกสัปดาห์มีผลกระทบต่อการทำความเข้าใจหรือไม่?) “ผมคิดว่า การเรียนเว้น ๆ หยุด ๆ อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ผมคิดว่าปัญหาที่แท้จริงเป็นเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ของนักศึกษามากกว่า ผมคิดว่าถ้านักศึกษาได้มีเรื่องของ Mind Set การคิดว่าเราจะต้องอ่านทบทวนอยู่เสมอนะครับ แม้ว่าจะมีช่วงที่อาจารย์ไม่มาสอนก็จริง แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาอันมีค่าที่จะย้อนไปทบทวนบทเรียนเก่า ๆ หรืออ่านล่วงหน้าเพื่อที่จะเตรียมเรียนบทเรียนใหม่ ๆ ที่อาจารย์เขาจะมาสอนในครั้งหน้า ๆ ถ้าเราเกิดมาทำการทบทวนบทเรียนระหว่างที่ช่วงว่างนี้นะครับ นั่นเป็นโอกาสอันดี เพราะฉะนั้นแล้วถ้ามองเป็นปัญหาหรือไม่ จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ แต่อยู่ที่นักศึกษาเองว่าจะเลือกเวลาที่อาจารย์ไม่มาสอนเอาไปใช้ทำอะไร”
คำถาม (9) : ในความเห็นอาจารย์ ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดกับนักศึกษาศูนย์ลำปางคืออะไร
อ.ดิศรณ์ : “ปัญหาอื่น ผมคิดว่าเป็นปัญหาในเรื่องของการดูแลตัวเองเมื่ออยู่ห่างไกลจากผู้ใหญ่ครับ นักศึกษาที่ลำปางถึงแม้ว่าจะเป็นมหาลัยที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด จริง ๆ แล้วสัดส่วนของเด็กจากกรุงเทพไปไม่น้อยเลยนะครับ ตอนรุ่นผมสัดส่วนคนกรุงเทพที่ไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปางประมาณ 60% ได้และ 40% เป็นเด็กพื้นที่ภาคเหนือ อย่างหนึ่งเป็นการเรียนไกลบ้าน”
“เพราะฉะนั้นเลยนะครับ หนึ่งเลยถ้าเขาควบคุมตัวเองได้นะครับชีวิตเขาจะโอเคมากเลยเพราะว่าเขาอยู่กับร่องกับรอยเรียนหนังสือไม่วอกแวกนะครับ แต่ในทางกลับกันนะครับ มันเป็นดาบสองคมนะครับอีกคมหนึ่ง คุณอยู่ห่างไกลบ้านคุณไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่มีพ่อแม่คอยดูคอยตักเตือนคุณแล้ว ไม่มีใครให้คำปรึกษาคุณ เวลาคุณไปทำอะไรไม่มีใครรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องอะไรที่ค่อนข้างเป็นปัญหาได้ชัด เด็กกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ใช้มอเตอร์ไซค์ใช่ไหมครับ พอไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อนบางคนของผมเขาอยากขี่มอเตอร์ไซต์ อยู่ต่างจังหวัดแล้ว ห่างไกลพ่อแม่แล้วเพราะฉะนั้นไม่มีใครห้ามเขาขี่มอเตอร์ไซต์ เขาก็จะไปลองขี่มอเตอร์ไซต์ก็จะมีหลายคนที่เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บอาจจะถึงขั้นสาหัส อย่างนี้นะครับ อันนี้เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งในการเรียนที่ลำปางที่จะทำให้จิตใจไม่อยู่กับการเรียน เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะใช้ช่วงชีวิตในเวลานั้นไปกับการที่ทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาหรือว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต แทนที่จะไปอยู่กับบรรยากาศที่เหมาะกับการศึกษา อย่างไรก็ตามที่ลำปางผมต้องเรียนว่าบรรยายเกี่ยวกับการเรียนค่อนข้างโอเคนะครับไม่ค่อยมีสิ่งยั่วยวนใจนะครับโดยเฉพาะบริเวณของมหาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่า Location มันตั้งอยู่กลางป่า แต่ทั้งนี้หากคุณตั้งใจจะหมั่นเพียรเรียนหนังสือ ที่นี้เป็นที่ที่ใช่สำหรับคุณ คุณสามารถอ่านหนังสือได้ทั้งวี่ทั้งวันโดยไม่ค่อยมีอะไรมากระทบกระเทือนสมาธิของคุณได้เลย”
คำถามสุดท้าย : ในฐานะที่เป็นคนเคยเรียนหนังสือได้ไม่ดี อาจารย์คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์เรียนได้ดีขึ้น และมีอะไรอยากจะฝากถึงนักศึกษาที่ศูนย์ลำปาง
อ.ดิศรณ์ : “ผมคิดว่าทุกคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยพื้นฐานมีสติปัญญาค่อนข้างโอเคอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าหลาย ๆ คน ขาดเป้าหมายในชีวิต ขาด Passion ในการเรียนกฎหมายผมคิดว่า passion เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ผมเข้าใจและพบเจอกับตัวเองเพราะว่าสมัยแรก ๆ ที่ผมเรียน ผมไม่มีความกระหายในการที่จะเก่งขึ้น ผมไม่มีความฝัน ผมไม่มีความคิดที่ว่าผมจะเก่งขึ้นไปทำไมผมเก่งขึ้นในระดับที่ได้ 60 แล้วผมก็ไปทำงานเกี่ยวกับกฎหมายซักแห่งได้เงินก็โอเค แต่เมื่อคุณค้นหาตัวเองพบคุณมีความกระหายคุณมีความฝันและเพื่อฝันนั้นคุณก็จะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นอย่างผิดหูผิดตาทีเดียวเลยล่ะ เพราะฉะนั้น การมีเป้าหมายในชีวิตผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและจะเป็นเข็มทิศชีวิตของคุณไปตลอดกาล การที่คุณจะเป็นอาจารย์ ผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ คุณต้องหมั่นฝึกฝนในขนาดไหนหละ แล้วในตอนนี้มีความใกล้เคียงแล้วหรือไม่ ซึ่งที่จริงและการสอบเป็นอาจารย์ ผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ ผมคิดว่าการสอบมันไม่ได้เริ่มต้น ณ ตอนที่เข้าไปในห้องสอบ แต่มันเริ่มต้น ณ ตั้งแต่วินาทีที่เราตัดสินใจจะประกอบอาชีพนั้น ครับ ผมคิดว่าการสอบอาจารย์ของผมไม่ได้เริ่มต้นตอนที่เข้าห้องสอบอาจารย์ครับ แต่ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ที่ผมตัดสินใจจะเป็นอาจารย์ครับ นับตั้งแต่วินาทีนั้นชีวิตผมเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อผมคิดว่าผมจะเป็นอาจารย์แล้วการทดสอบของผมเริ่มขึ้นทันที ผมจะต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผม การเรียน การจัดระบบความคิด ถ้าผมมีระบบความคิดแบบเดิมผมเป็นอาจารย์ไม่ได้ ผมอธิบายเป็นระบบไม่ได้ผมต้องเปลี่ยนแปลง ผมต้องสามารถเขียนออกมาเป็น Mind Map สามารถสรุปความได้ ย่อสั้นได้ สามารถย่อยาวได้ สามารถอธิบายเรื่องยาก ๆ ได้ เป็นเรื่องง่าย ๆ ได้ ต้องฝึกมากกว่านี้ผมต้องอ่านมากกว่านี้ ต้องเขียนมากกว่านี้ ต้องเพิ่มพูนความรู้ ผมต้องออกไปนอกจากตำราเรียนภาษาไทยผมคิดว่าตำราภาษาไทยอาจารย์ให้ความรู้แก่ผมไม่เพียงพอแล้วผมจะต้อง Move ไปกฎหมายต่างประเทศตำราของอาจารย์ต่างประเทศได้แล้ว และด้วยผลพวงของการที่เรามีเป้าหมายในชีวิตนะครับมันทำให้กิจวัตรประจำวันของเราเปลี่ยนไปทีละนิด ๆ จากเดิมที่เรียนเสร็จกลับมาทำอะไรไร้สาระ เปลี่ยนเป็นกลับมาเรียนเสร็จทบทวนและคิดค้นอะไรที่มากกว่าอาจารย์สอน”
“สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากกับนักศึกษาลำปาง ผมไม่รู้ว่า สมัยนี้ยังมีความคิดเหมือนสมัยก่อนหรือเปล่านะครับ ที่ว่านักศึกษาที่ลำปางนั้นมีศักยภาพที่ด้อยกว่านักศึกษาที่รังสิต เพราะเมื่อเราดูตามความเป็นจริง คะแนนระดับ Admission ที่ศูนย์ลำปางจะไม่สูงมาก เพราะฉะนั้น พื้นฐานของเด็กที่มาเรียนในศูนย์ลำปางส่วนใหญ่อาจเป็นคนที่เรียนในระดับมัธยมได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หรือเป็นคนที่เรียนในระดับปานกลางไม่มีอะไรโดดเด่น ซึ่งเมื่อดูในเบื้องต้นแล้วอาจจะเป็นอย่างนั้นครับ ผมเองก็คนนึงที่เรียนหนังสือในช่วงมัธยมนั้นได้แย่มากๆคนนึง อย่างไรก็ดีครับผมคิดว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จะให้ชีวิตใหม่แก่คุณ เพียงแต่ว่าคุณจะคว้าโอกาสนั้นไว้รึเปล่าเท่านั้น คุณสามารถมาเริ่มชีวิตใหม่ได้ที่นี่ครับ คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการเรียนมัธยมที่ดีเลย ทุกคนจะ Reset จาก 0 พร้อมกัน ทักษะที่คุณพึงมีคือเพียงแค่อ่านออกเขียนได้ ซึ่งคุณสมบัติขั้นต่ำของการเรียนกฎหมายสำหรับผมแล้วเพียงอย่างเดียวของผมก็คือว่า “คุณอ่านหนังสือภาษาไทยออก” นั่นแหละคุณเรียนกฎหมายได้แล้วครับ ส่วนเรื่องทักษะอื่นต่อ ๆ มา การให้เหตุผล การเรียบเรียง การจัดลำดับความคิด อันนั้นคุณสามารถมาฝึกฝนได้และคุณก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่นเลย คุณไม่ได้ด้อยไปกว่านักศึกษาที่รังสิตหรอก เพียงแต่ว่าคุณพยายามไม่เท่าเขา คุณไม่มีแรงจูงใจในการเรียน คุณเรียนไปเพื่อใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่มีความหมาย”
เราถามอาจารย์ดิศรณ์ทิ้งท้ายว่า อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์คนแรกที่จบจากศูนย์ลำปาง…และอาจารย์กล่าวว่า
“ผมเป็นคนแรกก็น่าดีใจ แต่จะน่าดีใจกว่าถ้าผมไม่ใช่คนสุดท้าย”
ภาพโดย Pump
เรียบเรียงโดย KK