ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ผู้บรรยายวิชากฎหมายครอบครัว และกฎหมายอาญา (ทั้งภาคทั่วไปและภาคความผิด) เราจะพาคุณไปพูดคุยกับอาจารย์มาตาลักษณ์ ในหลากหลายแง่มุม เช่น เส้นทางการเป็นผู้สอนทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา / การเข้ามาสอนวิชาใหม่ ได้แก่ กฎหมายลักษณะมรดก / การทำวิจัยที่เน้นส่งเสริมสิทธิของบุคคลเปราะบาง (Vulnerable Persons) และเรื่องราวอื่น ๆ แต่ที่พลาดไม่ได้สำหรับคำถามที่นักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์มาตาลักษณ์ (น่าจะ) อยากรู้มากที่สุดว่าการสอนแบบ “โค้ชชิ่ง” คืออะไร? และทำไมต้อง “โค้ชชิ่ง”?
คำถาม (1) : ก่อนที่อาจารย์จะมาสอนวิชากฎหมายอาญากับกฎหมายลักษณะครอบครัว อาจารย์เคยสอนวิชาอื่นมาก่อนหรือไม่ และอาจารย์เข้ามาสอนวิชาอาญากับครอบครัวได้อย่างไร
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “จริง ๆ ตอนเข้ามาครั้งแรกเป็นอาจารย์สัมมนาวิชากฎหมายหุ้นส่วนบริษัท น่าจะเป็นเซคชั่นอาจารย์ภาสกร” (ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร?) “ตอนนั้นก็รู้สึกตกใจ (หัวเราะ) เพราะว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้เตรียมตัวเข้าสู่วิชาในลักษณะนี้ แต่พอดีเป็นวิชาที่อาจจะต้องการผู้สอนก็เลยเข้าไปพัฒนาตัวเอง ก็ลองดูค่ะ แต่ก็สอนไม่นาน สอนได้แค่น่าจะเทอมเดียว ก็ต้องไปเรียนต่อค่ะ”
“สำหรับวิชาครอบครัว คือจริง ๆ ต้องบอกว่า วิชาครอบครัวก็เป็นการเชิญชวนของท่านอาจารย์ไพโรจน์ (ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ) นะคะ ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านด้วยที่ได้ให้โอกาสตรงนี้ ท่านก็ชักชวนมาว่าลองมาสอนวิชานี้ดู เพราะว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว แล้วก็อาจจะได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่นอาจจะได้ใช้ในชีวิตสมรสอย่างนี้เป็นต้น เป็นการล่อลวงเล็กน้อยนะคะ”
“วิชาอาญาก็เป็นอาจารย์ทวีเกียรติค่ะ (ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ) ซึ่งท่านก็ชวนเข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มค่ะ ก็ขอบคุณท่านเหมือนกันที่ให้โอกาสได้เข้ามา แล้วท่านก็เป็นอาจารย์พ่อที่น่ารักมาก คอยให้คำแนะนำแล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่น่าสนใจอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ”
คำถาม (2) : อาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ตัวเองเป็นผู้สอนทั้งวิชาสาขากฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “คือจริง ๆ จะบอกว่าเป็นความรู้สึกคงไม่ใช่เนอะ อาจจะเป็นว่าจังหวะมันเป็นแบบนั้นมากกว่าค่ะ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเนี่ยก็เริ่มตั้งแต่ตอนทำปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส ด้วยหัวข้อเป็นเรื่องของการคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะเป็นทั้งส่วนของกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา คือพาร์ทที่หนึ่งจะเป็นการพูดถึงการใช้อำนาจปกครองของคนในสถาบันครอบครัว การคุ้มครองเด็กภายใต้กฎหมายที่เป็นทางเลือกที่เกี่ยวกับอำนาจปกครอง แล้วพอมาเป็นพาร์ทที่สองก็จะเป็นเรื่องของกฎหมายอาญาที่มองว่าจะลงโทษในการใช้อำนาจปกครองของบุคคลในครอบครัวอย่างบิดเบือนยังไง หรือว่าคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำทางอาญาจากบุคคลภายนอกยังไง มันก็เลยกลายเป็นว่าเรามีความรู้สึกว่ากฎหมายแพ่งกับกฎหมายอาญาเนี่ย มันไม่ได้มีความแตกต่างกันคนละขั้วอย่างที่หลายคนเข้าใจ คือมันมีส่วนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้”
“แล้วพอกลับมาเมืองไทย พออาจารย์ไพโรจน์ท่านชักชวน หรืออาจารย์ทวีเกียรติท่านชักชวน ก็ไม่ได้ลังเลที่จะเข้าสู่ทั้งสองวิชา ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องการเหยียบเรือสองแคม หรือว่ามันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กับตัวเองอาจจะมองคนละมุม คือมองว่าเรื่องที่เราจะทำงานเนี่ยมันเป็นเรื่องที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นเนี่ยมันก็เกี่ยวข้องได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพราะเราเริ่มจบมาในด้านของความเชี่ยวชาญด้านเด็ก หลังจากนั้นมันก็เริ่มเห็นความสำคัญว่ากฎหมายในเรื่องครอบครัวที่เราสอน จริง ๆ ก็สัมพันธ์กับอาญาที่เราสอน เรียกว่าแยกกันแทบจะไม่ได้ แล้วท้ายที่สุดก็โชคดีด้วยคือมาได้ทำงานที่ต้องใช้ทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาในเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว มันก็เลยยิ่งเห็นว่าเราน่าจะมาถูกที่ถูกทางแล้วค่ะ”
คำถาม (3) : อีกวิชาหนึ่งที่อาจารย์เพิ่งเข้ามาสอนก็คือวิชากฎหมายลักษณะมรดก อยากให้เล่าว่าอาจารย์เข้ามาสอนได้อย่างไร
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “จริง ๆ แล้วไม่ทราบว่าจะต้องพาดพิงถึงผู้บรรยายร่วมหรือเปล่านะคะ เพราะรู้สึกเหมือนถูกฉ้อฉลหรือหลอกลวงให้เข้าสู่วิชานี้ (หัวเราะ) จริง ๆ ก็เป็นการชักชวนในภาวะที่คณะกำลังต้องการบุคลากรมาช่วยกันในวิชานี้ ก็ต้องบอกว่าอาจารย์กรศุทธิ์ (ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง) ก็พูดว่ามาช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยนะ (หัวเราะ) โดยครั้งแรกก็ประมาณว่ามาช่วยซักครั้งสองครั้งนะคะ ก็เลยคิดว่าก็ลองดูถ้าจะช่วยแบ่งเบาภาระกันได้”
(พอมาสอนจริง ๆ อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างกับวิชานี้?) “ก็รู้สึกว่าก็มีมุมที่น่าสนใจดี แต่ว่าถ้าถามถึงความชอบเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายอาญาที่สอนอยู่ ก็ยังมีความรู้สึกว่าชอบกฎหมายครอบครัวกฎหมายอาญามากกว่า เพราะว่ามันก็อยู่ใน field ที่เราค่อนข้างจะมีความสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราอยากจะพัฒนาตัวเองไปในทิศทางของการคุ้มครองเด็ก มันก็จะเห็นส่วนนี้ค่อนข้างชัด แต่พอเป็นเรื่องมรดกมันอาจจะค่อนข้างไกลนิดนึง เพราะว่ามันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราสนใจพื้นฐานโดยตรง แต่ว่ากฎหมายมรดกก็เป็นกฎหมายที่เรียกว่าเป็นสุดยอดวิชาอีกอันนึง คือคนที่จะสอนมรดกได้เนี่ยโดยส่วนตัวคิดว่าจะต้องมีความรู้ที่ค่อนข้างมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในหลาย ๆ กฎหมายก่อนที่จะมาสอนเรื่องนี้ เพราะว่ากฎหมายมรดกเป็นกฎหมายที่มีความพิเศษมาก ๆ ในหลายแง่มุมค่ะ ก็เป็นวิชาที่น่าสนใจค่ะ”
(แล้วอาจารย์คิดว่าจะสอนต่อไปเรื่อย ๆ ไหม?) “เป็นคำถามที่เหมือนถูกล่อลวงอีกแล้วนะคะ (หัวเราะ) อันนี้ก็ถ้าจะกรุณานะคะอาจจะต้องขอถอนตัวในเวลาหนึ่งถ้าหากมีผู้มีความสามารถที่เหมาะสมเข้ามาช่วยดูแล น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะว่าตัวเองถ้าสอนตรงนี้ก็คงอาจจะไม่สามารถพัฒนาไปในเนื้อหาที่ครอบคลุมได้มากกว่านี้ แต่ก็ต้องบอกว่าจะเป็นเซคที่อยู่ในตำนานและอยู่ในหัวใจตลอดไปแน่นอนค่ะ (หัวเราะ)”
(อาจารย์รู้สึกยังไงที่นักศึกษาเรียกทีมผู้สอนมรดกว่าเซค ‘Avengers’?) “(หัวเราะ) จะบอกว่าภูมิใจก็ไม่ค่อยกล้าพูดนะคะเพราะรู้สึกว่าเป็นนางมารร้ายจังเลย เพราะว่าที่เหลือเป็นท่านสุภาพบุรุษหมดเลย ดูตัวเองเป็นผู้หญิงที่โหดมากอยู่คนเดียว ก็จริง ๆ อาจจะเป็นเพราะนักศึกษาก็คงอาจจะได้ยินกิตติศัพท์ของแต่ละผู้สอนมาอยู่แล้วในแง่ของวิธีการตรวจข้อสอบ การสอนที่ค่อนข้างมีสไตล์ แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แล้วก็มีความพิเศษในเรื่องของวิธีการในการออกข้อสอบหรือให้คะแนน เพราะฉะนั้นพอมารวมตัวกันก็เลยดูจะเป็นเซคที่อลังการในความเห็นของนักศึกษานิดนึง”
คำถาม (4) : รูปแบบการสอนในวิชาอาญา และครอบครัว อาจารย์ใช้รูปแบบการสอนเหมือนกันไหม
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “คือจริง ๆ ต้องบอกว่าคนละแบบนะคะ เพราะว่ากฎหมายอาญาแต่เดิมก็จะสอนในปีสอง แต่ในปัจจุบันก็จะสอนในปีหนึ่ง แต่กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบประจำวัน เพราะฉะนั้นวิธีการสอนเราก็จะสอนค่อนข้างไม่ลึกซึ้งในเชิงเรื่องของความเข้าใจในทางสังคมมากนัก เราก็จะสอนในเรื่องของความเป็นมนุษย์ ให้เข้าใจตัวบทกฎหมายประกอบกับเรื่องของมนุษย์ว่ามนุษย์เนี่ยมีความรู้สึก อาจจะกลัวก็ต้องมีกฎหมายป้องกัน การกระทำบางอย่างอาจจะไม่อยากโต้ตอบกับผู้ก่อภัยก็ต้องมีเรื่องของจำเป็น หรือบางครั้งเราอาจจะระงับโทสะหรือความโกรธไม่ได้ก็เลยต้องมีเรื่องของการบันดาลโทสะ เราก็จะพยายามสอนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมศาสตร์เป็นหลัก”
“แต่พอมาถึงวิชากฎหมายครอบครัวมันจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนไปกว่านั้น แล้วนักศึกษาที่เรียนก็จะเป็นชั้นปีสูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นวิธีการเรียนการสอนในวิชาครอบครัวก็จะค่อนข้างเน้นในเรื่องของเบื้องหลัง หรือที่มาของกฎหมาย หรือวิธีคิดของบทบัญญัติของกฎหมาย รวมไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เราพยายามแทรกเข้าไปก็คือในเรื่องของการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิต เพราะในกฎหมายครอบครัวเนี่ยตัวบทไม่ได้มีความซับซ้อนนะคะ แต่เวลานำไปใช้มันจะมีความซับซ้อนเพราะว่าขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี แล้วเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่เป็นความรู้สึก เป็น emotional ที่มีความละเอียดอ่อนสูง เพราะฉะนั้นเราก็เลยค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของรายละเอียดเกี่ยวกับความคิด ความเข้าใจ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากกว่า”
คำถาม (5) : มาถึงคำถามที่หลายคนรอคอย หลายคนอยากถามและสงสัยมากว่า การสอนแบบ “โค้ชชิ่ง” (Coaching) คืออะไร แล้วทำไมอาจารย์จึงนำ การสอนแบบ “โค้ชชิ่ง” มาใช้?
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “คือจริง ๆ ต้องบอกว่าไม่ใช่ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโค้ชชิ่งนะคะ แต่อาจจะได้โชคดีมาจากที่คุณพ่อคุณแม่เนี่ยเป็นครู คุณพ่อเนี่ยเป็นศึกษานิเทศก์ ท่านก็จะพูดเสมอว่าการสอนหนังสือแบบ ‘one way communication’ ก็คือการให้อย่างเดียว แล้วก็ผู้ฟังเหมือนนักเรียนคือนั่งฟังเนี่ย มันทำให้พัฒนาการในด้านความรู้เนี่ยในการไปต่อยอดค่อนข้างเป็นไปได้ลำบาก เพราะฉะนั้นพอมาถึงระดับที่เป็นนักศึกษาที่ไม่ใช่นักเรียนแล้ว วิธีสอนที่น่าจะเป็นประโยชน์คือ ‘two way communication’ ก็คือการสื่อสารแบบไป-กลับ แต่ในคลาสที่มีนักเรียนค่อนข้างมากคือตั้งแต่ 25 คนขึ้นไปเนี่ย การใช้ two way communication เนี่ยค่อนข้างยาก เพราะว่าเราไม่สามารถโต้ตอบกับทุกคนได้”
“ก็เลยได้รับคำแนะนำว่าการสอนแบบโค้ชชิ่งก็คือการสอนให้คิด การสอนให้ลองทำ การสอนแบบแนะนำ ลองผิดลองถูกไปก่อน มันน่าจะช่วยให้นักศึกษากลุ่มใหญ่สามารถพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งจริง ๆ กลุ่มใหญ่ในความหมายก็ไม่ควรเกิน 50 คนอะนะคะ แต่ว่านี่ก็เป็นการทดลองว่าเราลองขยับจากกลุ่มที่สอนในวิชาอย่างเช่น คดีเด็กก็จะสอนในลักษณะโค้ชชิ่งอยู่ตลอดอยู่แล้วเพราะเป็นคลาสเล็ก แต่พอเราลองขยับเป็นคลาสใหญ่ขึ้น ก็ปีที่แล้วเป็นปีแรก ก็มี feedback ของนักศึกษาบางกลุ่มเหมือนกันที่เขาอาจจะไม่สามารถตามวิธีการสอนแบบนี้ได้ทัน เพราะว่าเขาอาจจะไม่ค่อยอยากจะคิดตาม อยากจะฟังคำตอบเลย หรือว่าไม่กล้าที่จะตอบเพราะว่ากลัวผิด หรือว่าไม่กล้าที่จะคิดเพราะว่าไม่รู้จะตั้งต้นจากวิธีคิดแบบไหน มันก็เลยอาจจะทำให้ช่วงปีแรกก็มีนักศึกษาจำนวนนึงที่อาจจะยังไม่ค่อยแน่ใจว่ามันคือการสอนแบบไหน แต่ว่าก็มีบางคนที่มาสะท้อนให้ฟังเหมือนกันว่าเขาโอเคกับวิธีนี้มาก เพราะมันทำให้เขาสามารถที่จะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น”
“ซึ่งจริง ๆ วัตถุประสงค์ของการสอนโค้ชชิ่งก็คือการสอนให้นักศึกษาหรือผู้ที่เข้าฟังการพูดต่าง ๆ เหล่านั้นเนี่ยสามารถคิดได้ด้วยตนเอง ถ้าเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ก็คือต้องอ่านเป็น อ่านเป็นแปลว่าไม่ใช่แค่อ่านได้ในสิ่งที่เขาเขียน แต่ว่าเห็นสาสน์ที่แฝงอยู่ในสิ่งที่เขียน แล้วก็เมื่อคิดเป็นอ่านเป็นแล้วเนี่ย เขาจะต้องเขียนเป็น เขียนเป็นเนี่ยสำคัญมาก คือถ้าสอนแบบโค้ชชิ่งเนี่ยเขาก็จะสามารถสื่อสารในลักษณะที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจสาสน์ได้ง่ายขึ้นแล้วก็ชัดเจนขึ้น อันนี้ก็คือเป้าหมายของการสอนโค้ชชิ่งทั้งหมดทั้งมวลวัตถุประสงค์ของการสอนโค้ชชิ่งเนี่ยก็คือเราต้องการให้นักศึกษาแต่ละคนพัฒนาศักยภาพตามคุณสมบัติพื้นฐานของตนเอง ไม่ใช่เป็น Block ในขณะเดียวกันก็ต้องการ feedback ก็คือมันเป็นเรื่องใครทำใครได้ เพราะฉะนั้นการสอนโค้ชชิ่งถ้านักศึกษาไม่พยายามคิดตาม ไม่พยายามตอบคำถาม ไม่พยายามลองผิดลองถูก ไม่พยายามทำด้วยตัวเอง เข้าใจว่าประสิทธิภาพเรื่องนี้ก็ค่อนข้างจะน้อย”
(แล้วการสอนห้องเล็กอาจารย์ใช้โค้ชชิ่งมานานหรือยัง?) “ห้องเล็กก็ใช้มาจริง ๆ ก็น่าจะ 6 – 7 ปีแล้วค่ะ แต่ว่าคดีเด็กเนี่ยจริง ๆ ต้องบอกว่าใช้มาตั้งแต่แรกเลย เพราะว่าคดีเด็กเป็นวิชาที่มีลักษณะเฉพาะ ในช่วงแรก ๆ จะมีนักศึกษาเรียนอยู่ประมาณสิบกว่าคน พอช่วงหลัง ๆ ก็เยอะขึ้นมาหน่อย เราก็ปรับเป็นโค้ชชิ่ง ที่ค่อนข้างจะลดรูปแบบบางกิจกรรมที่ไม่สามารถทำแบบกลุ่มใหญ่ได้ค่ะ”
(จากที่สอนมาหนึ่งปีอาจารย์คิดว่าโค้ชชิ่งใช้ได้กับห้องใหญ่ไหม?) “อันนี้จริง ๆ ต้องถามนักศึกษานะคะเพราะว่าตัวเองไม่กล้าประเมิน รู้แต่ว่าเรารู้สึกแค่บรรยากาศในการสอนแบบโค้ชชิ่งเนี่ย อย่างปีที่แล้วมีการสอนในชั้นปีหนึ่ง กับปีสอง ในวิชากฎหมายอาญา เราก็จะเห็นว่า feedback ของปีหนึ่ง ค่อนข้างจะดีกว่า เพราะว่าเหมือนกับว่าเขายัง fresh เวลาเราเอาอะไรใหม่ ๆ ไปให้เขาทำ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาอยากจะ participate ซึ่งหัวใจของการทำโค้ชชิ่งก็คือต้องมีการมีส่วนร่วม เราก็จะเห็นตัวนี้ชัด แต่ว่าการจะประเมินว่ามันมีประสิทธิภาพมั้ยคงต้องไปประเมินที่ปลายทางว่าเมื่อเขาเรียนแบบนี้แล้วเนี่ยเขารู้สึกอย่างไร”
“แต่ขณะเดียวกันการสอนแบบโค้ชชิ่งเนี่ยต้องบอกเลยว่าเวลาที่จะทำให้ประเมินผลประสบความสำเร็จได้น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีขึ้นไป คือเขาต้องซึมซับกระบวนการคิด วิธีการคิด การสังเกตแบบไล่สายว่าเราจะเริ่มต้นคิดอย่างไร แล้วก็ต้องบอกว่าโค้ชชิ่งที่นำมาใช้เนี่ยไม่ใช่โค้ชชิ่งเต็มรูปแบบนะคะ เป็นโค้ชชิ่งที่เราประยุกต์แล้วว่าคลาสใหญ่ ๆ แบบนี้ ดิฉันเลือกใช้โค้ชชิ่ง แบบ comparative เป็นหลัก ก็คือหมายความว่าเราจะสอนในลักษณะสอนให้คิดแบบเปรียบเทียบย้อนหลังกลับไป แล้วก็พยายามจะเพิ่มบางส่วนก็คือการคิดไปข้างหน้าว่าในอนาคตเนี่ยถ้าเราคิดจากฐานแบบนี้ แล้วปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ในเรื่องนี้ที่จะเรียนต่อ ๆ ไป มันควรจะคิดแบบไหนบนหลักการเรื่องนี้เรื่องเดียวกัน ควรจะคิดเหมือนกันหรือต่างกันยังไง”
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์สรุปปิดท้ายว่า โค้ชชิ่งคือการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลโดยไม่เน้นการเลียนแบบหรือเรียนรู้ในแบบบล็อคเดียวกัน
คำถาม (6) : อยากให้อาจารย์แชร์ประสบการณ์ในการเรียนจากเคยสอบได้คะแนนไม่สูงในช่วงปีแรก ๆ และมาได้คะแนนสูงในช่วงปีหลัง ๆ ของการเรียนปริญญาตรี
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “ตอนแรกเนี่ยก็เรียนแบบขอให้จบ เพราะว่าไม่ได้เข้ามาด้วยความที่อยากจะเรียนคณะนี้ตั้งแต่แรก คือประวัติความเป็นมาก็จริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเข้าคณะนิติศาสตร์ เพราะว่าอยากเรียนวิศวะฯ แต่ว่ามีข้อตกลงกับที่บ้านว่าคุณพ่อบอกว่าด้วยทักษะที่เรามีถึงแม้จะจบวิทย์-คณิตมาด้วยคะแนนที่ค่อนข้างสูง แล้วก็ฟิสิกส์ เคมี แล้วก็ในเรื่องของคณิตศาสตร์เนี่ยคะแนนก็ค่อนข้างสูงมากอยู่แล้ว แต่ว่าคุณพ่อเห็นว่าทักษะนี้น่าจะเรียนนิติศาสตร์ได้ดีด้วยเพราะว่าเป็นเรื่องของตรรกะเหตุผล แต่ตัวเองก็ไม่รู้จักแต่ก็ไม่ปฏิเสธ ก็ลองดู”
“พอลองดูช่วงแรก ๆ ก็คะแนนไม่ค่อยดี ก็ 60 กว่า ๆ มี 70 อยู่นิดเดียว อาจจะตัวสองตัวพอได้แบบต้น ๆ แต่ว่าพอดีท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ต้องกราบขอบพระคุณท่านเพราะว่าท่านเป็นคนสะกิดให้เราได้คิด เพราะวันนั้นจำได้ว่าเป็นช่วงปีสองไปไหว้ครู ท่านก็ถามไถ่ว่าเรียนเป็นยังไง ดิฉันก็บอกไปว่าไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ คะแนนไม่รู้จะรอดมั้ย ท่านก็พูดขึ้นมาประโยคนึงว่า ‘แล้วเรียนถูกวิธีมั้ย’ ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่าเพื่อนๆ นั่งกันอยู่หลายคนเหมือนกัน แต่ว่าตัวเองเนี่ยกลับไปคิดว่ามันเรียนผิดตรงไหน ก็เลยพยายามไปหาวิธีว่าเราเรียนผิดตรงไหน”
“สุดท้ายก็ได้พบว่าการเรียนนิติศาสตร์ที่ใช้วิธีท่องจำเนี่ยไม่ถูก มันต้องเรียนแบบคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์ คือใช้ตรรกะในการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล เรียนแบบคนตั้งข้อสงสัยในการเรียน เรียนแบบ predict เรียนแบบมีสมมติฐาน เรียนแบบพยายามสรุปหลักการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เราก็เลยเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่ อันนั้นเนี่ยก็เลยทำให้คะแนนเนี่ยเปลี่ยนไป จากที่แตะ 60-70 ต้น ๆ ก็เริ่มขึ้นมาที่ 80-90 อาจจะไม่ได้ 90 ทุกตัวนะคะแต่ว่าคะแนนก็ค่อนข้างขึ้นมาเยอะ เพราะว่าสุดท้ายแล้วคะแนนเฉลี่ยก็ยังเป็นเกียรตินิยมที่ 75.23 ซึ่งก็ไม่ได้เยอะนะคะ แต่เป็นผลพลอยได้จากการที่เราไปเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนในตอนท้าย แล้วก็ใช้เวลาอยู่แค่ประมาณปีครึ่ง ก็คือประมาณสามเทอมในการที่จะเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากค่าเฉลี่ยที่น่าจะ 60 กว่า ๆ มาเป็นเกียรตินิยมอันดับสองค่ะ”
คำถาม (7) : อาจารย์ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสโดยไม่มีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสเลย แต่อาจารย์เรียนจบปริญญาเอกด้วยผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่าอาจารย์ทำอย่างไร
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “จริง ๆ ตอนนั้นเป็นผลพวงจากการที่อย่างแรกคือเราคิดว่าเราค้นพบวิธีการเรียนนิติศาสตร์ที่น่าจะมาถูกทางแล้ว อาจารย์จะบอกว่าถูกทางสำหรับตัวเองดีกว่านะคะ เราอาจจะไม่ใช่คนที่ชอบอ่านอะไรเยอะ ๆ บ่อย ๆ แต่ว่าเป็นคนที่เรียนโดยระบบพออ่านเสร็จก็ชอบทำชาร์ต ชอบสรุปความจำ ชอบทำให้มันย่อ ให้มันสั้น ให้มันกระชับ ก็เลยเอาวิธีนี้ไปใช้เรียนในฝรั่งเศส จริง ๆ มันมาจากเรามีข้อจำกัดด้วยเพราะว่าภาษาเราไม่ได้แข็งแรงมาก เพราะฉะนั้นการที่เราจะมานั่งจดเลคเชอร์เยอะ ๆ ก็คงไม่ได้ ฟังเลคเชอร์ก็คงจดไม่ทัน เราก็เลยใช้วิธีที่เราได้เรียนมาก็คือการทำมายด์แมพ การทำชาร์ตต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการเรียน ทำให้เราสามารถจับประเด็นในการเรียนได้เร็วขึ้น แล้วก็ตามเรื่องต่าง ๆ ที่อาจารย์สอนได้เร็วขึ้น และก็ที่สำคัญที่สุดก็คือเราค้นพบว่าวิธีการเรียนนิติศาสตร์ที่น่าจะดีก็คือการเรียนเป็นกลุ่ม คือมีการแชร์ ดีเบตความคิดเห็นกันเรื่อย ๆ ซึ่งอันนี้ก็ได้ประโยชน์จากการที่จับกลุ่มจากเพื่อน ๆ แล้วก็แชร์กัน แล้วเราก็ใช้ความรู้ในเรื่องของการสรุปเป็นชาร์ตมายด์แมพ ไปแชร์กับเพื่อน แล้วเราติวเพื่อนโดยการใช้ชาร์ตบ่อย ๆ มันก็ทำให้เรายิ่งเข้าใจเรื่องที่เราทำมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาเราสอบมันก็เลยค่อนข้างจะได้ประสิทธิภาพ แล้วสุดท้ายมันก็นำระบบความคิดในเรื่องการทำชาร์ตมายด์แมพมาใช้ในการทำธีสิสด้วย มันก็ทำให้เราจัดระบบความคิดในงานของเราได้เป็นระบบมากขึ้น”
คำถาม (8) : มีนักศึกษาสงสัยว่าต้องตอบข้อสอบของอาจารย์อย่างไรถึงจะได้คะแนน 20 เต็ม
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “จริง ๆ เนี่ยตอบสไตล์ไหนก็ได้นะคะ แต่ว่าส่วนสำคัญก็คือต้องมี 3 อย่างครบในทุก ๆ ประเด็นของคำถาม ก็คือ มีธงคำตอบที่ชัดเจนว่าต้องลงจะตอบว่ายังไง ประเภทเหยียบเรือสองแคม หว่านแหเนี่ยคงไม่ได้
“อย่างที่สองก็คือเหตุผลที่เป็นหลักกฎหมายเนี่ยต้องชัดเจน แต่ว่าคำว่าชัดเจนก็คือหมายความว่าต้องแยกรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ ในคลาสว่ามีคนที่แยกได้ดีกว่าเขามั้ย ว่าอธิบายในแต่ละส่วนยังไง เช่น เจตนาฆ่าเนี่ย ถ้าตอบรวม ๆ ก็คือเจตนาฆ่า แต่ว่าถ้าแยกรายละเอียดได้ว่าเป็นฆ่าแบบประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลด้วย อันนี้ก็จะยิ่งได้คะแนนมากขึ้นเพราะว่ามีรายละเอียดที่ชัดเจน หรือว่ารับของโจร แยกได้ว่าการกระทำแบบนี้เรียกว่าเป็นการกระทำแบบไหนที่เข้าข่ายของการรับของโจร จะเป็นซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน ให้ไป อะไรก็ว่าไปนะคะ”
“ส่วนสุดท้ายก็คือส่วนของข้อเท็จจริง อันนี้สำคัญ ก็คือว่านักศึกษาหลายคนปรับหลักกฎหมายกับธงได้แต่ไม่สามารถชี้ให้เราเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงอันไหนที่มันสอดคล้องกับหลักกฎหมายไหนแล้วมันส่งผลต่อคำตอบยังไง ซึ่งตรงนี้ถ้านักศึกษาคนไหนทำได้คะแนนก็จะดี สรุปก็คือว่าตอบให้เป็นลำดับขั้นตอนเป็นระบบแล้วก็ครบในเรื่องของเหตุผลค่ะ”
คำถาม (9) : จากงานวิจัยที่อาจารย์ทำ ทำไมอาจารย์จึงเน้นทำวิจัยที่ส่งเสริมสิทธิของบุคคลเปราะบาง (Vulnerable Persons) หรือคนกลุ่มที่ต้องการการปกป้องเป็นพิเศษจากสังคม
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “คือเป็นคนที่มีความเชื่อว่าการที่ตัวเองได้มาอยู่ในจุดนี้ได้คิดว่ามันคงเป็นเพราะว่าเรามีหน้าที่ที่จะต้องมาดูแลคนที่เขาอาจจะต้องการการปกป้องมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ ก็เลยเชื่อว่ากฎหมายก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะให้ความคุ้มครอง หรือป้องกันอันตรายอันตรายที่จะเกิดกับกลุ่มคนที่เขาอาจจะต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นจากคนกลุ่มทั่ว ๆ ไป ก็เลยให้ความสนใจกับเด็กซึ่งแน่นอนว่าเราก็รู้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง แล้วก็ผู้หญิงในบางกลุ่มเช่นผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว”
“จริง ๆ กลุ่ม LGBTI เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นกลุ่มคนเปราะบางนะคะ แต่ว่าในเงื่อนไขที่สังคมไม่ยอมรับเขาเนี่ยก็ถือว่าการดำเนินชีวิตหรือการใช้ชีวิตของเขาค่อนข้างลำบาก เราก็เลยมองว่าถ้ากฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการทำให้เขาได้รับสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น เราก็น่าจะมีหน้าที่นั้น ก็เลยเลือกที่จะทำงานที่มีลักษณะที่จะไปส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียม หรือว่าช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางค่ะ”
(อยากถามความเห็นอาจารย์เกี่ยวกับการวิจัยเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ในกฎหมายไทย?) “ส่วนใหญ่เราก็จะนิยมดูแบบจากต่างประเทศ ซึ่งอันนี้ไม่ผิดนะคะ มันทำให้เราเรียนลัดได้ ไม่ต้องไปคิดเอาเอง แต่ว่าพอไปเห็นแล้วก่อนที่จะเอามาใช้ มันก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาหลักที่บอกว่า ‘ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย’ ส่วนตัวเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่ากฎหมายจะดีแค่ไหน มันก็คงดีเฉพาะในสภาพสังคมของเขาค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาจะเอามาใช้ในสังคมของเรา เราก็ต้องพินิจพิเคราะห์ว่ามันมีความสอดคล้องกับบริบท หรือสภาพแวดลอมสังคมไทย หรือพฤตนิสัยของคนชาติไทยได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างให้ความสำคัญในทุก ๆ ครั้งที่ทำงานวิจัย”
“ทีมวิจัยเองก็จะทราบนะคะว่าเวลาให้ไปศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อมาเปรียบเทียบก็จะเน้นเสมอว่าต้องมาตอบให้ได้นะว่ามันมาใช้ได้กับเราได้ไหม อย่างไร หรือว่ามันดีก็จริงแต่ว่ามันติดขัดหรือมีอุปสรรคตรงไหน เพราะว่าบางครั้งมีอุปสรรคแต่เราแก้ไขได้แล้วมันดีจริง ก็ต้องพยายามแก้ไขอุปสรรคเพื่อนำกฎหมายนั้นมาใช้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณทีมทุกคนที่ทำการทุ่มเทนะคะ เพราะว่าไม่ใช่แค่ไปค้นกฎหมายที่หาข้อมูลได้ แต่ต้องไปวิเคราะห์ด้วยว่ามันโอเคในระดับที่ไม่เสียเปล่ารึเปล่าจากการที่เราจะศึกษาเป็นต้นแบบค่ะ”
(ดูรายชื่อผลงานวิจัย ของผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/teacher/matalak-seramethakul/)
คำถามสุดท้าย : ในฐานะที่อาจารย์สอนกฎหมายครอบครัว อาจารย์คิดว่ากฎหมายครอบครัวมีอะไรที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับชีวิตจริงในปัจจุบันไหม
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ : “คือจริง ๆ แล้วกฎหมายครอบครัวกับการใช้ชีวิตจริงมีหลายอย่างที่สอดคล้องกันเลย โดยเฉพาะกฎหมายครอบครัวที่มีมาตั้งนานแล้วกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะฉะนั้นบทบัญญัติหลายมาตราหรือว่าหลายหมวดเนี่ย โดยส่วนตัวอยากให้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะหมวดเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามันไม่ใช่เรื่องประเภทผู้ชายทำงานคนเดียวแล้ว มันเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างช่วยกันทำงาน เราอาจจะต้องจัดให้มันเหมาะสมกว่านี้ หรือในเรื่องเกี่ยวกับบุตร ซึ่งการพิสูจน์ก็ไม่ต้องมานั่งสันนิษฐานแล้ว เพราะเทคโนโลยีก็ก้าวล้ำไปถึงขนาดสามารถตรวจดีเอ็นเอได้ การที่จะต้องมามีข้อสันนิษฐานมันอาจจะเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อมก็ได้ เพราะเด็กอาจจะถูกปฏิเสธจากบุตรสันนิษฐานแล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกกระทบกระเทือนต่อจิตใจ”
“หรือรวมไปถึงหมวดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการที่จะมีเงื่อนไขในการสมรส ซึ่งตรงนี้เราก็จะเห็นว่าหลายข้อได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และท้ายที่สุดที่เห็นชัดอีกอันนึงก็คือเหตุหย่า เรามีตั้งสิบสองเหตุ สิบอนุมาตรา แต่ปัญหาก็คือว่าเราไม่บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าที่ควร จริง ๆ แล้วการสมรสเนี่ยบางครั้งถ้าตกลงกันโดยความยินยอมไม่ได้ มันมีอีกหลายเหตุที่ไม่ใช่แค่สิบสองเหตุ สิบอนุมาตราที่เราเขียนไว้ที่อาจจะทำให้คนอยู่ด้วยกันไม่ได้ อย่างหลายประเทศก็เลี่ยงไปใช้คำว่า ‘การสมรสที่แตกร้าว’ ซึ่งเรามีนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทจบไปแล้วเหมือนกันว่า มันคืออะไร แล้วมันสามารถใช้ได้กว้างขวาง และเหมาะสมกว่าสิบอนุมาตรา สิบสองเหตุที่เรามีอยู่มั้ย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เรามองว่ากฎหมายครอบครัวอาจจะต้องมีการปรับแก้หรือว่าสังคายนากันอีกในระยะหนึ่งถ้าทำได้”
(เราถามอาจารย์มาตาลักษณ์ปิดท้ายเกี่ยวกับประเด็นพ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า อาจารย์คิดว่าสามารถแก้ไขบทบัญญัติในประมวลแพ่งและพาณิชย์เพื่อรับรองสิทธิของคู่ชีวิตโดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมายเฉพาะได้ไหม?)
“จริง ๆ ในส่วนตัวก็จะพูดอยู่ตลอดเวลานะคะทุก ๆ ครั้งที่มีโอกาสว่าเรื่องของการใช้ชีวิตครอบครัวเนี่ยถือว่าเป็นเสรีภาพในความเป็นส่วนตัวที่ไม่อาจจะก้าวล่วงได้ เพราะฉะนั้นความรักมันเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แล้วก็ในทุกลักษณะสถานการณ์ เพราะฉะนั้นในส่วนตัวเลยไม่คิดว่าจะต้องมีการแบ่งแยกกฎหมาย ก็ควรจะใช้ไปในประมวลแพ่งฯ รวมกัน ให้สิทธิและเสรีภาพในการเลือกภายใต้กรอบและเงื่อนไข แล้วก็สิทธิประโยชน์เดียวกันน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK