พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 48 จาก #TULAWInfographic
.
ไม่มีใครควรถูกลิดรอนสิทธิด้วยเหตุผลเรื่องเพศสภาพ
ไม่มีใครควรถูกดูถูกหรือเหยียดหยามเพียงเพราะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด
.
ถ้าหากทุกคนยอมรับได้ว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ได้มีเพียงแค่ 2 แต่มีมากกว่านั้น ก็จะทำให้เกิดการยอมรับเพื่อนมนุษย์ที่เป็นเพศที่ต่างจากเรา เกิดความคิดว่า พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์ และสมควรที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะมนุษย์ด้วยเช่นกัน
.
ด้วยความคิดนี้เองทำให้เกิดเป็นร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศขึ้นมามากถึง 3 ฉบับ ซึ่งแม้จะมีเนื้อหารายละเอียดที่ต่างกัน แต่เป้าหมายนั้นคือการมุ่งคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลายเหมือนกัน
.
เนื้อหาที่น่าสนใจของร่างทั้ง 3 ฉบับคืออะไร? ปัญหาของกฎหมายไทยตอนนี้คืออะไร? #TULAW สรุปเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่าง พรบ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ” มาให้แล้ว
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://youtu.be/iAnXgjt_RM8
.
ต้นแบบกฎหมายที่ยอมรับกันทั่วโลก
อัตลักษณ์ทางเพศคือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วก็ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้วติดตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิดนั้นคือ ลักษณะหรือคุณค่าเฉพาะที่สืบเนื่องมาจากความเป็นมนุษย์
.
เพราะฉะนั้นหลายประเทศจึงพยายามตรากฎหมายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการตรากฎหมายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศนั้นก็คือการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง
.
โดยประเทศอังกฤษ เป็นประเทศที่มีกฎหมายรับรองเรื่องเพศสภาพมาตั้งแต่ปี 2004 ชื่อว่า “The Gender Recognition Act 2004” โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้พูดถึงเรื่องของการให้สิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับใบรับรองเพศสภาพ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับหลาย ๆ ประเทศในเวลาต่อมา
.
กฎหมายอังกฤษเน้นไปที่ “Self Identification of Gender” หรือการแสดงเจตนากำหนดเพศสภาพของตัวเอง โดยที่พยายามไม่ให้เกิดภาระในการเรียกร้องให้เกิดการแปลงเพศก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะกฎหมายของประเทศอังกฤษตระหนักได้ว่า กระบวนการการแปลงเพศไม่ใช่สาระสำคัญของการที่จะได้รับการรับรองเพศ ซึ่งขัดกับประเทศไทยที่ยังคงมีความคิดว่า คนที่จะเปลี่ยนแปลงเพศสภาวะได้ หรือว่าขอใบรับรองเพศได้ต้องแปลงเพศก่อนเท่านั้น
.
อัตลักษณ์ทางเพศกับรัฐธรรมนูญไทย
รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้พูดถึงหลักการ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมองว่าบุคคลมีสิทธิที่จะกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศได้นั้นเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับหลากหลายประเทศในเวทีระหว่างประเทศด้วย ที่พยายามจะผลักดันว่า เรื่องการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศนี้เป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
.
อีกเรื่องหนึ่งคือการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เรื่องหลักความเสมอภาค ในวรรคที่ 3 ของมาตรา 27 บอกว่าบุคคลจะถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุทางเพศไม่ได้ โดยการตีความของนักกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งของ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) ได้ตีความคำว่าเพศว่า หมายความรวมถึงเพศสภาพด้วย ดังนั้นบุคคลกลุ่มคนเพศหลากหลายจึงถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้เช่นกัน
.
2 ปัญหาใหญ่ของกฎหมายไทย
ในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง UN ได้ให้ความสนใจ และพยายามผลักดันให้การรับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยได้มีรายงานฉบับหนึ่งของ UN ที่กล่าวถึงสถานการณ์การรับรองความหลากหลายทางเพศของประเทศไทยเอาไว้ มีเนื้อหาใจความแบบสรุปคือ อยากให้ประเทศไทยสนใจเรื่องการรับรองเพศสถานะในสังคม และชี้ให้เห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยยังก้าวหน้าไม่เพียงพอในเรื่องดังกล่าว
.
โดยปัญหาในประเทศไทยนั้นสามารถแยกได้เป็น 2 ประเด็นคือ
.
- ปัญหา “ตัวบทกฎหมาย”
ในเชิงตัวบทกฎหมายประเทศไทยยังไม่มีเรื่องของพระราชบัญญัติการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศเป็นการเฉพาะ และกฎหมายที่มีอยู่ก็เป็นการคุ้มครองในแบบที่กว้างจนเกินไป เช่น พรบ.ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ใช้เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาการถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุจากเพศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเพศหลากหลาย เพศชาย หรือเพศหญิง ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้คุ้มครองแบบกว้าง
.
หรือตัวบทที่ใกล้เคียงกันอย่าง พรบ.คุ้มครองแรงงาน ก็เป็นการคุ้มครองแบบเจาะจงเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจระหว่างนายจ้างลูกจ้าง หรือคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกันเท่านั้น เป็นการมุ่งเน้นไปที่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในภาคแรงงาน ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์เพียงพอกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศซึ่งควรจะเป็นการทั่วไปมากกว่านี้
.
- ปัญหา “การตีความกฎหมาย”
ประเด็นเรื่องของการตีความนั้น โดยรวมแล้วทิศทางการตีความมีทิศทางที่ดีมากขึ้นกว่าในอดีต ยกเว้นกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความในคดีเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเลือกที่จะให้เหตุผลในเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องเพศมีเพียงแค่ 2 เพศเท่านั้น ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นอย่างมาก
.
คำพิพากษาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการพิพากษาที่สวนกระแสกับองค์กรผู้มีอำนาจในการตีความเรื่องดังกล่าวอีก 2 องค์กรคือ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) และศาลปกครอง เป็นอย่างมาก โดยทั้ง 2 องค์กรมีการตัดสินในเรื่องดังกล่าวดังนี้
.
– คณะกรรมการ วลพ.
กรณีตัวอย่างที่สำคัญคือ คดีระหว่างทนายกับสภาทนายความ และคดีทนายความกับเนติบัณฑิตยสภา ที่ทั้ง 2 กรณีนี้ วลพ. ได้ขับเน้นถึงเรื่องเพศสภาพโดยตัดสินว่า เรื่องเพศสภาพไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติได้ในเรื่องของการแต่งกาย และอีกกรณีหนึ่งคือ คดีทนายความซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงได้ร้องเรียนประเด็นเรื่องการแต่งกายของทนายความว่า ทำไมถึงไม่มีโอกาสที่จะนุ่งกางเกงในการว่าความ
.
สำหรับการตัดสินในครั้งนั้น วลพ. ไม่ได้มุ่งไปที่ประเด็นว่า ทนายที่มาเรียกร้องมีเพศสภาพแบบไหน แตกต่างจากเพศกำเนิดหรือไม่ อันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการกำหนดเจตจำนงภายใน ไม่มีสิทธิไปเค้นเรื่องเพศสภาพ ประเด็นมีอยู่แต่เพียงว่า การแต่งกาย ไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบไหนก็มีสิทธิที่จะนุ่งกางเกงได้หรือไม่เท่านั้น ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของ วลพ. ฉบับนั้น ได้กล่าวถึงเรื่องหลักการกำหนดเจตจำนงในอัตลักษณ์ของตัวเอง เจตจำนงในการจะกำหนดตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรเอาไว้อีกด้วย
.
– ศาลปกครอง
สำหรับศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยที่สะท้อนทิศทางการตีความในเรื่องของความหลากหลาย และสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตัวเองไว้ได้เป็นอย่างดี คือคดีเรื่องใบ ส.ด. ที่ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า ในกรณีที่กระทรวงกลาโหมได้ใช้คำว่า โรคจิตถาวรในใบ ส.ด. เนื่องจากผู้ฟ้องมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม และส่งผลต่อการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติต่อมา
.
อีกกรณีหนึ่งคือคดีใหม่ที่เพิ่งตัดสินเมื่อปลายเดือนกันยายนเป็นกรณีการฟ้องศาลปกครองในประเด็นเรื่องการแต่งกายของเนติบัณฑิต ศาลปกครองกลางได้บอกให้เนติฯ ทบทวนให้มีการเพิกถอนการกำหนดเรื่องการแต่งกาย ซึ่งรวมถึงการสวมเสื้อคลุมเนติบัณฑิตสภาให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ไม่กำหนดไปกับการมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
.
ดังนั้นในภาพรวมจึงถือได้ว่าสังคมไทยมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นกว่าแต่เดิม เพียงแต่ว่าปัญหาคือ การจัดการความไม่เป็นธรรมทางเพศหรือการเลือกปฏิบัติจากอัตลักษณ์ทางเพศนั้น ยังคงเป็นการแก้ปัญหาแบบปลายเหตุ แก้เป็นรายกรณี และเน้นการตั้งรับเสียมากกว่า ยังขาดในเรื่องการกำหนดนโยบายที่จะใช้บังคับให้มีผลเป็นการทั่วไปโดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน
.
ประเด็นน่าสนใจในร่าง พรบ.
จากความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวทำให้ในปัจจุบันได้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติอัตลักษณ์ทางเพศเข้าสู่กระบวนการการรับรองทางกฎหมาย โดยได้มีการยกร่างด้วยกัน 3 ฉบับ และทั้ง 3 ฉบับ ได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิที่จะกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเอาไว้ ทั้งยังมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องคือ
.
– ประเด็นเรื่องอายุ
ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับได้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพได้ แต่สำหรับร่างของ ส.ส.พรรคก้าวไกลนั้น จะแตกต่างจากร่างทั้ง 2 ฉบับเล็กน้อย เนื่องจากกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 18 ปี ในขณะที่อีก 2 ร่าง กำหนดไว้ที่ 15 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะมุมมองความเห็นว่าอายุ 18 ปีนั้น คืออายุที่สามารถกระทำการตัดสินใจแทนตัวเองได้แล้วในเรื่องของเพศสภาพ รวมทั้งยังเป็นช่วงอายุที่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้แล้วนั่นเอง
.
– ประเด็นเรื่องคำนำหน้า
มีการกำหนดเรื่องการระบุคำหน้านามเอาไว้ในร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ โดยเมื่อบุคคลขอรับรองเพศแล้วก็สามารถใช้คำนำหน้าได้ตามเพศสภาพของตนที่ขอรับรองไว้ แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันไปโดยฉบับร่างของประชาชนจะกำหนดให้ Intersex ที่ยังไม่รับรองเพศสภาพ และบุคคลเพศสภาพอื่นที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศไม่ต้องระบุคำหน้านาม ฉบับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวนั้นเปิดช่องให้สามารถเลือกไม่ระบุคำนำหน้านามได้ และฉบับของพรรคก้าวไกลได้กำหนดให้ใช้คำนำหน้าว่า “นาม” แทน
.
– ประเด็นเรื่อง Intersex
ร่างทุกฉบับมีการกล่าวถึงการรับรองเพศ Intersex หรือภาวะเพศกำกวมเอาไว้ ซึ่งรวมวางกรอบเอาไว้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเรื่องการขอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ โดยในร่างของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และพรรคก้าวไกล ได้กำหนดเรื่องการห้ามผ่าตัดเลือกเพศของเด็กเอาไว้ เว้นแต่เพื่อสุขภาพของเด็ก เว้นแต่ฉบับที่เสนอโดยประชาชนเท่านั้นที่ไม่ได้กำหนดถ้อยคำ “เพื่อสุขภาพของเด็ก” เอาไว้
.
แนวทางการผลักดัน
– การออกมาเรียกร้อง
การออกมาเรียกร้องหรือ Call Out ของกลุ่มคนเพศหลากหลาย หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ทำให้สังคมได้เข้าใจและรับรู้ถึงปัญหา ทั้งยังทำให้สังคมโดยรวมตื่นตัวกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้นอีกด้วย จนนำมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายในปัจจุบันนี้เอง
.
– การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ
ทุกหน่วยงานทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง และเกี่ยวข้องควรมีการเตรียมตัว หรือเตรียมความพร้อมในการลงมือทำเพื่อรับรองเพศสภาพที่มีความหลากหลาย แม้กฎหมายรับรองเรื่องดังกล่าวจะยังไม่ออกมาก็ตาม อาทิ การทำสื่อเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้ตอบโจทย์ต่อสังคมในอนาคต
.
– การให้ความรู้ความเข้าใจ
ทำการพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาโรงเรียน ซึ่งควรจะกำหนดให้มีหลักสูตรในเรื่องการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรืออาจจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสังคมให้มากขึ้น
.
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “ร่าง พรบ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ”